สัญญาในระหว่างกรุงสยามกับกรุงอังกฤษฯ 10 มีนาคม ร.ศ. 127/เอกสารติดท้าย 2
ข้อ๑ศาลต่างประเทศนั้น จะได้ตั้งขึ้นในที่เห็นว่า ควรจะมีเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความให้ได้ตลอดดี จะตั้งที่แห่งใดบ้างนั้น ราชทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ กับเสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม จะต้องตกลงกันกำหนดสืบไป
ข้อ๒อำนาจของศาลต่างประเทศนั้น จะได้ใช้แผ่ออกไปถึงคดีที่กล่าวต่อไปนี้
ประการที่๑ในคดีความแพ่ง บรรดาความแพ่ง ฤๅคดีความในการค้าขาย ซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นคู่ความ
ประการที่๒ในคดีความอาญา บรรดาคดีที่ทำผิดต่อกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งคนในบังคับอังกฤษจะได้กระทำผิดก็ดี ฤๅจะเป็นผู้ที่ถูกคนอื่นกระทำร้ายก็ด้วยเหมือนกัน
ข้อ๓อำนาจที่จะเรียกถอนคดีในศาลต่างประเทศนั้น จะต้องใช้ตามความที่กล่าวไว้ในข้อ ๘ ของสัญญา ลงวันจันทร์ เดือนสิบ ขึ้นสองค่ำ ปีมแม เบ็ญจศ๑ก๖ จุลศัดราช ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๓ กันยายน รัตนโกสินทร์ศ๑ก๖ ๑๐๒ คฤสตศักราช ๑๘๘๓
แต่อำนาจเรียกถอนคดีนี้จะต้องเลิก ไม่ใช้ในคดีทั้งปวงซึ่งอยู่ในกฎหมายลักษณต่าง ๆ ฤๅพระราชบัญญัติที่ได้ประกาศออกตามแบบอย่างนั้น ในทันทีเมื่อได้ส่งกฎหมายฤๅพระราชบัญญัตินั้นให้สถานทูตอังกฤษที่กรุงเทพฯ ทราบแล้ว ถ้ามีคดีซึ่งพิจารณาค้างอยู่ในเวลาที่ส่งกฎหมายเช่นว่านี้ กระทรวงต่างประเทศ กับสถานทูตอังกฤษณกรุงเทพฯ จะได้ปฤกษาตกลงกันเพื่อที่จะให้พิจารณาคดีที่ค้างอยู่นั้นณศาลใดต่อไปให้สำเร็จตลอดด้วย
ข้อ๔คดีทุกเรื่อง ในศาลต่างประเทศก็ดี ในศาลฝ่ายสยามตามธรรมเนียมก็ดี ซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยฤๅผู้ต้องหานั้น ในศาลชัน้ต้น ต้องให้มีที่ปฤกษากฎหมายที่เป็นชาวยุโรปมานั่งด้วยผู้หนึ่ง
ถ้าเป็นคดีที่คู่ความเป็นคนในบังคับอังกฤษ เกิดเป็นคนอังกฤษ ฤๅที่แปลงชาติเป็นอังกฤษ แต่มิใช่เป็นชาติเชื้อชาวเอเซีย ก็ต้องให้มีที่ปฤกษากฎหมายที่เป็นชาวยุโรปผู้หนึ่งนั่งเป็นผู้พิพากษาพิจารณาความในศาลชั้นต้นนั้นด้วย แลในคดีที่คนในบังคับอังกฤษอย่างเช่นว่านี้เป็นจำเลยฤๅเป็นผู้ต้องหาแล้ว คำพิพากษาต้องเป็นไปตามความเห็นของที่ปฤกษากฎหมายนั้น
คนในบังคับอังกฤษที่เป็นจำเลยฤๅผู้ต้องหาในคดีอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกิดในหัวเมือง จะขอให้โยกย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลอื่นก็ได้ แลถ้าศาลเห็นสมควรที่จะโยก ก็ให้เอาคดีนั้นมาพิจารณาที่กรุงเทพฯ ฤๅพิจารณาต่อหน้าผู้พิพากษาซึ่งมีน่าที่พิจารณาคดีนั้นในศาลที่กรุงเทพฯ เมื่อมีคำร้องขอให้โยกย้ายศาลเช่นว่านี้แล้ว ต้องบอกให้กงสุลอังกฤษทราบด้วย
ข้อ๕ข้อ ๙ ของหนังสือสัญญา ลงวันจันทร์ เดือนสิบ ขึ้นสองค่ำ ปีมแม เบ็ญจศ๑ก๖ จุลศักราช ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๓ กันยายน รัตนโกสินทร์ศ๑ก๖ ๑๐๒ คฤศตศักราช ๑๘๘๓ นั้น เป็นอันยกเลิกเสีย บรรดาคดีอุทธรณ์คำตัดสินของศาลต่างประเทศที่ได้พิจารณาความในชั้นต้นนั้น ต่อไปให้ศาลอุทธรณ์ฝ่ายสยามที่กรุงเทพฯ พิจารณาแลพิพากษา แลบรรดาการอุทธรณ์เช่นนี้ต้องแจ้งความยังกงสุลอังกฤษผู้มีอำนาจที่จะเขียนความเห็นในคดีนั้นให้ติดไว้ในสำนวนคดีนั้นด้วย
คำตัดสินคดีชั้นอุทธรณ์จากศาลต่างประเทศก็ดี ฤๅจากศาลฝ่ายสยามตามธรรมเนียมก็ดีนั้น ต้องมีผู้พิพากษาชาวยุโรปลงชื่อด้วยสองนาย
ข้อ๖คดีอุทธรณ์ด้วยปัณหากฎหมายนั้น ให้ร้องได้จากศาลอุทธรณ์ที่กรุงเทพฯ ต่อศาลสูงที่สุด คือ ศาลฎ๊กา
ข้อ๗ในศาลหนึ่งศาลใดที่ได้พิจารณาคดีนั้น ถ้าจะมีคำร้องว่าด้วยศาลไม่มีอำนาจจะพิจารณาคดีนั้นตามข้อบังคับที่ว่าไว้ในหนังสือสัญญานี้แล้ว ก็ต้องให้ร้องขึ้นก่อนที่จะให้การแก้ความที่เป็นใหญ่ในคดีนั้น จึงควรฟัง
ข้อ๘เพื่อจะป้องกันความขัดข้องซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายน่าเพราะการโอนอำนาจศาลตามความในหนังสือสัญญาฉบับใหม่แลสัญญาฉบับนี้ จึงเป็นที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายดังนี้ คือ
(ก)บรรดาคดีทุกอย่างซึ่งได้ยื่นฟ้องภายหลังวันที่รติไฟหนังสือสัญญานี้แล้ว จะเป็นคดีที่มีเหตุเกิดขึ้นก่อนฤๅภายหลังวันแลกเปลี่ยนรติไฟนั้นก็ตาม ต้องยื่นต่อศาลต่างประเทศฤๅศาลสยามตามน่าที่ซึ่งจะได้พิจารณาแลพิพากษาจงทุกเรื่อง แล
(ข)บรรดาคดีทุกอย่างที่ยังค้างอยู่ในศาลอังกฤษในกรุงสยามในวันที่รติไฟหนังสือสัญญานี้ ก็ให้จัดการตามที่เคยทำมาจนตลอดไปในศาลนั้น ๆ แลในศาลอุทธรณ์ใด ๆ จนถึงที่สุด แลให้ศาลอังกฤษคงมีอำนาจเต็มที่ในคดีที่กล่าวนี้ด้วย
การบังคับแลจัดการให้เป็นไปตามคำตัดสินในคดีที่ค้างศาลเช่นว่ามานี้ ต้องให้ศาลต่างประเทศเป็นธุระทั้งสิ้น
สัญญานี้ทำที่กรุงเทพฯ เป็นสองฉบับ ความเดียวกัน ณวันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๔ก๑ ๑๒๘ คฤสตศักราช ๑๙๐๙
ประทับตรา | (เซ็น) | เทวะวงษ์วโรประการ | ||
ประทับตรา | (เซ็น) | ราลฟ์ แปชยิต |
หนังสือมิสเตอร์ราลฟ์แปชยิต อรรคราชทูตแลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษ ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
วันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๔ก๑ ๑๒๗
ด้วยเมื่อพิเคราะห์ดูถึงที่ตั้งของหัวเมืองฝ่ายอังกฤษในแหลมมลายู แลเฃตรแดนที่ติดต่อเนื่องกันในระหว่างหัวเมืองมลายูฝ่ายสยามกับดินแดนที่อยู่ในป้องกันของอังกฤษนั้นแล้ว รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษก็มีความปราถนาที่จะได้รับคำแสดงว่า รัฐบาลสยามจะไม่ยอมให้มีภยันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่ประโยชน์ของอังกฤษ เพราะเหตุที่นานาประเทศจะอาไศรยอาณาเขตรฝ่ายสยามแห่งหนึ่งแห่งใดในแหลมมลายูเพื่อประโยชน์ใช้ในการทหารบกฤๅทหารเรือนั้น
เพราะเหตุฉนี้ รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจึงขอว่า อย่าให้รัฐบาลสยามยอมยกที่ดินแดนแห่งหนึ่งแห่งใดในแหลมมลายูภายใต้เขตรแขวงมณฑลราชบุรี ฤๅเกาะทั้งหลายแห่งใดที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ให้เปนสิทธิ์แก่ต่างประเทศประเทศหนึ่งประเทศใด ฤๅให้เช่าที่เหล่านั้น อีกทั้งภายในเขตรที่กล่าวมาแล้วนี้ ขออย่าให้อนุญาตให้รัฐบาลฤๅบริษัทต่างประเทศตั้งที่ฤๅเช่าที่ไว้ถ่าน ทำการเป็นเจ้าของอู่สร้างฤๅซ่อมเรือ ฤๅเข้าตั้งอาไศรยอยู่สิทธิ์ขาดฝ่ายเดียวในท่าจอดเรือทั้งหลาย อันการที่เข้าตั้งอาไศรยอยู่นั้นจะเป็นที่เสียหายแก่ประโยชน์ของอังกฤษในทางกลศึกได้ด้วย
แต่เพราะเหตุว่า คำแสดงที่ปรารถนานี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการรักษาบ้านเมืองอย่างเดียวเท่านั้น คำที่ว่า ที่ไว้ถ่าน นั้น จะไม่ถือว่า กินความถึงกับที่เก็บถ่านไว้แห่งละเล็กละน้อยตามที่ต้องการใช้เพื่อประโยชน์ในการเดิรเรือค้าขายตามปรกติตามฝั่งในแหลมมลายูนั้น
(เซ็น)ราลฟ์แปชยิต
หนังสือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ แจ้งความมายังมิสเตอร์ราลฟ์แปชยิต อรรคราชทูตแลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษ
วันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๔ก๑ ๑๒๗
ด้วยข้าพเจ้าได้รับหนังสือของท่านลงวันนี้ ที่ท่านแจ้งความปราถนารัฐบาลอังกฤษว่า ขออย่าให้รัฐบาลสยามยอมยกที่ดินแดนแห่งหนึ่งแห่งใดในแหลมมลายูภายใต้เขตรแขวงมณฑลราชบุรี ฤๅเกาะทั้งหลายแห่งใดที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ให้เป็นสิทธิ์แก่ต่างประเทศประเทศหนึ่งประเทศใด ฤๅให้เช่าที่เหล่านั้น อีกทั้งภายในเฃตรที่กล่าวมาแล้วนี้ ขออย่าให้อนุญาตให้รัฐบาลฤๅบริษัทต่างประเทศตั้งที่ฤๅเช่าที่ไว้ถ่าน ทำการเป็นเจ้าของอู่สร้างฤๅซ่อมเรือ ฤๅเข้าตั้งอาไศรยอยู่สิทธิ์ขาดฝ่ายเดียวในท่าจอดเรือทั้งหลาย อันการที่เข้าตั้งอาไศรยอยู่นั้นจะเป็นที่เสียหายแก่ประโยชน์ของอังกฤษในทางกลศึกได้ด้วยนั้น
ในคำตอบ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า รัฐบาลสยามยอมแสดงคำให้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้แล้ว แลจำที่ท่านกล่าวไว้ด้วยว่า คำว่า ที่ไว้ถ่าน นั้น จะไม่กินความถึงกับที่เก็บถ่านไว้แห่งละเล็กละน้อยตามที่ต้องการใช้เพื่อประโยชน์ในการเดิรเรือค้าขายตามปรกติตามฝั่งในแหลมมลายูนั้น
(เซ็น)เทวะวงษ์วโรประการ
หนังสือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ แจ้งความมายังมิสเตอร์ราลฟ์แปชยิต อรรคราชทูตแลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษ
วันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๔ก๑ ๑๒๗
ด้วยเนื้อความข้อ ๔ ของสัญญาว่าด้วยอำนาจศาล ซึ่งมีความว่า บรรดาคดีทั้งหลายซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลยฤๅเป็นผู้ต้องหา จะต้องมีที่ปฤกษาชาวยุโรปนั่งในศาลด้วยผู้หนึ่งนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวความหวังใจแทนรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษคงจะได้คิดเตรียมไว้ว่า ในเวลาที่ควรจะพิจารณาการที่คิดแก้ไขความข้อนี้ ฤๅอีกนัยหนึ่ง จะเรียกว่า ยกเลิกความที่เป็นประกันนี้ เมื่อเห็นว่า ไม่ต้องการจะมีไว้อีกสืบไป แลในการที่จะปฤกษากันแก้ไขฤๅยกเลิกต่อไปในภายน่านั้น จะอาไศรยเหตุที่สมควรในข้อนั้นอย่างเดียว จะไม่มุ่งหมายว่า ต้องมีประโยชน์อย่างอื่นแลกเปลี่ยนกันด้วย
รัฐบาลสยามชอบใจในสัญญาอย่างที่ลงชื่อกันวันนี้ว่า เป็นที่หมายแห่งความเจริญของการรักษาความยุติธรรมในกรุงสยาม การที่ตกลงทำสัญญาอย่างเช่นนี้ก็เป็นพยานของความเจริญแล้วอยู่เอง ความประสงค์ของรัฐบาลสยามจะบำรุงการรักยุติธรรม ซึ่งได้ตั้งน่าจัดมาแลจัดการอยู่ช้านานแล้ว เพื่อให้คงอยู่อย่างดีชั้นสูง
ในการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรับว่า มิสเตอร์เยสะจวดแบลกได้ช่วยทำการนี้ด้วย
ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะกล่าวอีกด้วยว่า จะได้คิดจัดการที่จะคุมขังนักโทษชาวยุโรปนั้นให้เป็นไปเหมือนอย่างเช่นที่เคยเป็นอยู่แก่นักโทษในเมืองพม่าแลเมืองสเตรตซ์เสตเตอลเมนต์
(เซ็น)เทวะวงษ์วโรประการ
หนังสือมิสเตอร์ราลฟ์แปชยิต อรรคราชทูตแลผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษ ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
วันที่ ๑๐ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศ๔ก๑ ๑๒๗
ด้วยความว่าไว้เป็นประกันในวรรคต้น ข้อ ๔ ของสัญญาว่าด้วยอำนาจศาลนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะคิดเตรียมการไว้ว่า ในเวลาที่ควรจะพิจารณาการที่คิดแก้ไขความข้อนี้ ฤๅอีกนัยหนึ่ง จะเรียกว่า ยกเลิกความที่เป็นประกันนี้ เมื่อเห็นว่า ไม่ต้องการจะมีไว้อีกสืบไป รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเต็มใจอีกด้วยว่า ในการที่จะปฤกษากันแก้ไขฤๅยกเลิกต่อไปในภายน่านั้น จะอาไศรยเหตุที่สมควรในข้อนั้นอย่างเดียว จะไม่มุ่งหมายว่า ต้องมีประโยชน์อย่างอื่นแลกเปลี่ยนกันด้วย
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีความพอใจที่ได้ทราบว่า เป็นความประสงค์ของรัฐบาลสยามจะบำรุงการรักษายุติธรรม ซึ่งตั้งน่าจัดมาแลจัดการอยู่ช้านานแล้ว เพื่อให้คงอยู่อย่างดีชั้นสูงนั้น ข้าพเจ้าขอทูลให้พระเดชพระคุณทรงเชื่อว่า รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีความหมายแต่ที่จะอุดหนุนรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในความประสงค์ทางนี้
ข้าพเจ้าประสงค์จะทูลอีกด้วยว่า ศาลต่างประเทศที่กล่าวไว้ในข้อ ๑ ของสัญญาว่าด้วยอำนาจศาลซึ่งติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันนี้นั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่อีก ศาลมณฑลฤๅศาลเมืองนั้นจะตั้งใหเป็นศาลต่างประเทศณที่แ่หงใด ๆ ก็ได้ สุดแต่ที่นั้น ๆ จะมีคนในบังคับอังกฤษตั้งอยู่มากฤๅน้อยตามอำนาจของศาลนั้น ๆ ความจริงการที่คิดให้ศาลตามรบิลเมืองเป็นศาลต่างประเทศขึ้นนั้น ก็จะเป็นแต่เพียงให้ใช้ข้อความที่ว่าด้วยศาลต่างประเทศตามที่มีอยู่ในสัญญาว่าด้วยอำนาจศาลในศาลนั้นด้วย
(เซ็น)ราลฟ์แปชยิต
บรรณานุกรม
แก้ไข- "สัญญาว่าด้วยอำนาจศาลในกรุงสยาม สำหรับใช้แก่คนในบังคับอังกฤษ ติดท้ายหนังสือสัญญา ลงวันที่ 10 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 127 คฤศตศักราช 1909". (2452, 18 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 26, ตอน 0 ก. หน้า 709–718.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"