อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/เรื่อง 2
ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว (เมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก) ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร เหมือนด้วยพระนามสมเด็จพระนารายณ์อวตารอันผ่านกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนนั้น หนังสือเก่าทุก ๆ เรื่องบันดาที่ได้พบ ทั้งที่แต่งในภาษาไทยแลภาษามคธ ใช้พระนาม รามาธิบดี นี้เปนพระนามของพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาทุกเรื่อง แต่สร้อยพระนามเขียนแปลก ๆ กัน ยาวบ้าง สั้นบ้าง ข้าพเจ้าคัดตามที่ได้พบในที่ต่าง ๆ มาลงไว้ต่อไปนี้
๑ในกฎหมายลักษณอาญาหลวง สมเด็จพระรามาธิบดีบดินทร ศรีสุรินทรบรมมหาจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช ชาติหริหรินทร อินทรเดโชไชย มไหศุริยสวรรยา เทพาดิเทพตรีภูวนาถ บรมบาทบพิตร
๒ในกฎหมายลักษณโจร สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสฤษฏิรักษ จักรพรรดิราชาธิราช ตรีภูวนาธิเบศร์ บรมบพิตร
๓ในกฎหมายลักษณรับฟ้อง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรจักรพรรดิราชาธิราช ราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชย เทพตรีภูวนาธิเบศร บรมบพิตร
๔ในกฎหมายลักษณผัวเมีย สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราช บรมบพิตร
๕ในกฎหมายลักษณอาญาราษฎร์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช
๖ในโองการแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่านในพระราชพิธีศรีสัจปานการ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช
พระนาม รามาธิบดี นี้ ไม่ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในประเทศทางนี้ได้ใช้เปนพระนามก่อนพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาภายหลังปรากฎในศิลาจารึกกัลยาณีที่เมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าหงสาวดีพระองค์ที่เรียกพระนามในหนังสือราชาธิราชว่า พระเจ้าศรีสากยวงศธรรมเจดีย์ คือ พระมหาปิฎกธร นั้น ได้ใช้นาม รามาธิบดี เปนพระนามในจารึกพระองค์ ๑ พระเจ้ากรุงกัมพูชาที่ใช้นาม รามาธิบดี นี้ก็มีแต่ในสมัยภายหลังมาทั้งนั้น
เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินทั้งไทยทั้งพม่ารามัญตามที่เรียกกันแต่ก่อนมา ลัทธิของชาวประเทศทางนี้มีวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินถึง ๕ อย่างต่างกัน คือ
๑พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
๒พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
๓พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
๔พระนามตามที่ปากตลาดเรียกกันเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
๕พระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว
๑พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น ตามราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณ เมื่อจะทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ขึ้นผ่านพิภพ สมณพราหมณ์แลเสนาพฤฒามาตย์ที่เปนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองประชุมปรึกษากันถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น จารึกลงในแผ่นทองถวายเมื่อทำพิธีราชาภิเษก มักเปนพระนามมีสร้อยยืดยาวมาก
๒พระนามพิเศษที่ถวายเพิ่มพระเกียรติยศนั้น คือ ถ้าในแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเปนพระเกียรติยศพิเศษ จึงถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เช่น พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก” นี้เปนต้น ประเพณีถวายพระนามพิเศษที่ว่านี้เห็นจะมีมาเก่าแก่มาก พระเจ้าอโศกในมคธราฐ ที่เรียกพระนามในหนังสือว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศก ก็ดี ที่จารึกพระนามไว้ว่า พระเจ้าปิยทัสสี ก็ดี พระเจ้าดิศผู้เปนพุทธสาสนูปถัมภกพระองค์แรกในลังกาทวีปที่ใช้พระนามในหนังสือว่า พระเจ้าเทวานัมปิยดิศ ก็ดี เหล่านี้น่าจะเปนพระนามที่ถวายพิเศษ พระนามถวายพิเศษแรกปรากฎในสยามประเทศนี้มีเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทยพระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงพระราชศรัทธาสละราชสมบัติออกทรงผนวชคราว ๑ เมื่อลาผนวชแล้ว พระมหาสวามีสังฆราชซิงมาแต่ลังกาถวายพระนามว่า พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิตสุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช ดังนี้ มาในชั้นกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าเห็นว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ดี พระเจ้าทรงธรรม ก็ดี พระเจ้าปราสาททอง ก็ดี พระนารายณ์ ก็ดี เหล่านี้น่าจะเปนพระนามถวายพิเศษด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
พระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นจะมาแต่ ศรีตรีภพธรณีชิต ที่พระมหาสวามีสังฆราชถวายแด่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัย จะถวายพระนามนี้แด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อใดทราบไม่ได้ เห็นในบานแพนกกฎหมายตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใช้พระนามนี้แล้วว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ ยังมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นที่ใช้พระนามนี้ คือ มหาราชท้าวลกที่ครองราชสมบัติเมืองเชียงใหม่ในคราวเดียวกันแลเปนคู่รบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หนังสือข้างฝ่ายเหนือเรียกว่า ติโลกราช ที่เปนพุทธศาสนูปถัมภกเมื่อทำสังคายนาซึ่งนับในตำนานของเราว่าเปนครั้งที่ ๗ นั้น ต่อมาพระเจ้าทรงธรรมได้ใช้พระนามปรากฎในที่บางแห่งว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม ดังนี้ จึงเห็นว่า พระนาม พระบรมไตรโลกนาถ นั้นเปนพระนามพิเศษพระนาม ๑
พระนามที่เรียกว่า พระมหาจักรพรรดิ นั้น รู้ได้แน่ว่าเปนพระนามพิเศษ แม้ต้นตำราพราหมณ์หรือตำราที่มาในพระพุทธสาสนาก็ปรากฎว่า พระเจ้าแผ่นดินต่อบางพระองค์จึงจะเปนจักรพัตราธิราช พระนามนี้ชั้นกรุงเก่าเห็นจะถวายเมื่อมีช้างเผือกถึง ๗ ช้าง วิเศษกว่าที่จะเรียกเพียง พระเจ้าช้างเผือก
พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าทรงธรรม นั้น มาแต่คำว่า ธรรมราชา แน่ พระนามที่เรียกว่า ธรรมราชา มูลเหตุเดิมน่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งพระเจ้าอโศกด้วยเหตุแสดงพระองค์เปนธรรมราชา พระนามนี้พระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปคงจะเอามาใช้ แลพวกลังกาพาเข้ามาในประเทศนี้ ยกย่องว่าคู่กับจักรพรรดิราชา ปรากฎว่าได้ถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัยเปนครั้งแรก เห็นจะถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าทรงธรรมกรุงศรีอยุธยาเนื่องในเหตุที่พบรอยพระพุทธบาท ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุของวันวลิดวิลันดาว่า เรียกกันมาแต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าปราสาททอง นั้น ที่จริงพม่าเขาใช้ก่อน ดังจะแลเห็นได้ในหนังสือราชาธิราชที่เขาเรียกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่า พระเจ้ามนเทียรทอง พระนามนี้เห็นจะเอาอย่างพม่ามาถวายเมื่อสร้างพระวิหารสมเด็จเปนปราสาทปิดทองมีขึ้นองค์แรก มีปรากฎในจดหมายเหตุของวิลันดาว่าใช้แต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าพระนามนี้เกิดขึ้นเพราะขุดปราสาททองได้ในจอมปลวกดังกล่าวในหนังสือเรื่องคำให้การของชาวกรุงเก่า
พระนามที่เรียกว่า พระนารายณ์ นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเปนพระนามพิเศษ ด้วยได้พบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเปนฉบับหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้า” ทุกแห่ง แลพบหนังสือตำนานแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยาราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐอิกเรื่อง ๑ ที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง” หมายว่า สมเด็จพระนารายณ์พระองค์ที่สวรรคตที่เมืองหาง หนังสือนี้ทำให้เข้าใจว่า เวลาเมื่อแต่งจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่าพระนารายณ์กว่าพระองค์เดียว (คือ มีพระนารายณ์ลพบุรีขึ้นอิกองค์ ๑) จึงเรียกพระนารายณ์เดิมว่า พระนารายณ์เมืองหาง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้จึงเข้าใจว่า พระนามที่เรียกว่า พระนารายณ์ นั้นเปนพระนามพิเศษ ครั้งหลังที่ถวายพระนามพิเศษอย่างอธิบายมานี้คงยังจำกันได้อยู่โดยมาก คือ ที่ได้ถวายพระนาม “ปิยมหาราชาธิราช” แด่พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติยืนนานยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น ๆ ในสยามประเทศครั้งทำพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เพราะพระองค์เปนที่รักของประชาชนทั่วไป พระนามนี้จารึกอยู่ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งประชาชนชาวสยามพร้อมกันทำถวายสนองพระเดชพระคุณนั้น ยังอยู่ที่หน้าพระลานสวนดุสิตจนทุกวันนี้
๓พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือ ผู้ที่เปนข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือ พระเปนเจ้า หรืออย่างเราเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามฉเพาะพระองค์ ถ้าชาวเมืองอื่นเรียก ก็มักจะเรียกตามนามเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้น ๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่า พระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เปนต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ๆ เช่น เรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกตามนามเมืองหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ล้วนเปนคำของพวกเมืองอื่นเรียก
๔พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เปนต้น ตลอดจน ขุนหลวงบรมโกษฐ ขุนหลวงหาวัด แลพระที่นั่งสุริยามรินทร เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นว่า ขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เปนที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่า ขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นร้ายกาจ เรียกว่า ขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียกว่า ขุนหลวงหาปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นชอบทรงตกปลา พระนามที่เรียกว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ นั้น เปนพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่า ในพระโกษฐ นี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ (เปนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงศรีอยุธยาที่ได้ทรงพระโกษฐ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่ในพระบรมโกษฐ หรือในพระโกษฐ มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เปนกรมขุนพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทรนั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่า ขุนหลวง หรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเปนพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุ นหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่าขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เปนผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงศรีอยุธยา ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดดังนี้มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีไชยสิงห์ซึ่งเปนราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าชเลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต แลพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์ ๑ ในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่า พาคยีดอ แปลว่า พระเจ้าอาว์ ดังนี้ก็มี
๕พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้วเกิดแต่ความจำเปนที่จะต้องเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อน ๆ ให้ปรากฎพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกฉเพาะพระองค์ เรื่องนี้มีความลำบากเปนอุทาหรณ์ แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือ เมื่อรัชกาลที่ ๒ เรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เปนอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเปน ๒ รัชกาลขึ้น เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัย ดำรัสว่า ถ้ารัชกาลที่ ๑ เปนแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เปนแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ ก็จะกลายเปนแผ่นดินสุดท้าย เปนอัปมงคล จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างขึ้นเปนพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดไว้เปนยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เองให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปนธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้
พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงรัชกาลไปแล้วซึ่งสมมติเรียกในราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา เรียกตามต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏบ้าง เรียกตามพระนามพิเศษบ้าง แต่โดยมากนั้นเรียกตามพระนามเดิมที่ปรากฎแก่คนทั้งหลายเมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ๆ ได้ผ่านพิภพ ยกตัวอย่างดังพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า พระราเมศวร พระมหินทร พระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระรัษฎา พระยอดฟ้า พระเชษฐา พระอาทิตยวงศ์ เจ้าทองจันทน์ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เจ้าฟ้าไชย เหล่านี้เปนพระนามแต่ครั้งยังเปนลูกหลวงทั้งนั้น พระนามที่เรียกว่า พระบรมราชา พระรามราชา พระอินทราชา พระไชยราชา พระมหาธรรมราชา พระศรีสุธรรมราชา เหล่านี้ บันดาที่ใช้คำว่า ราชา ไว้ท้าย ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เปนพระนามสำหรับเจ้าครองเมือง พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เรียกพระนามพิเศษแลเรียกอย่างปากตลาดอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารมาปรากฎที่สมมตใช้ในราชการเปนอย่างอื่นมีอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าหลายพระองค์ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอนุมัตินำมาใช้ในพระราชนิพนธ์ คือ
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใช้ว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร
สมเด็จพระเพทราชา ใช้ว่า สมเด็จพระธาดาธิเบศร
สมเด็จพระเจ้าเสือ ใช้ว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใช้ว่า สมเด็จพระภูมินทราชาธิราช
สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ใช้ว่า สมเด็จพระมหาบรมราชา
(แต่พระนามนี้ เมื่อได้ต้นฉบับพม่ามาแปลสอบใน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรียกพระนามพระเจ้าบรมโกษฐในบางแห่งว่า พระมหาธรรมราชา เรียกพระมหาธรรมราชาซึ่งเปนพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรว่า พระสุธรรมราชา ดังนี้)
พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ใดจะมีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไร จะทราบในเวลานี้ไม่ได้แน่นอนอยู่เอง ข้าพเจ้าได้สอบพระนามตามที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา แลในบานแพนกกฎหมาย (ต้องขอบอกไว้หน่อยว่า ศักราชที่ลงไว้ในกฎหมายผิดอยู่หลายแห่ง บางทีศักราชจะพาให้ข้าพเจ้าหลงรัชกาลไปได้บ้าง) พระนามพิสดารตามที่พบมีอยู่ดังนี้
๑ในกฎหมายลักษณขบถศึก สมเด็จพระบรมนาถบพิตรสิทธิสุนทรธรรมเดชา มหาสุริยวงศ์ องค์บุรโษดม บรมมหาจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช (เข้าใจกันว่าพระนามนี้ผูกขึ้นเพราะ ⟨ๆ⟩ หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น)
๒กฎมนเทียรบาล สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสทุธิสุริยวงศ์ องค์พุทธางกูรบรมบพิตร
๓กฎหมายศักดินาในกรุง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายกดิลกผู้เปนเจ้า
๔กฎหมายศักดินาหัวเมือง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ
๕กฎหมายลักษณขบถศึก สมเด็จบรมมหาจักรพรรดิรามาธิบดี
๖กฎหมายลักษณขบถศึก สมเด็จบรมมหาจักรพรรดิศรรามาธิบดี (๕ กับ ๖ ถ้าศักราชพลาด คงเปนกฎหมายแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
กฎหมายลักษณรับฟ้อง สมเด็จมหาจักรพรรดิราชราเมศวรบรมนาถบรมบพิตร
กฎหมายลักษณพิศูจน์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดเลขา สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์วงศ์กุรสุริโยดม บรมมหาธรรมราชาธิราชราเมศร ปวเรศธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรเทพสมมติราช บรมบพิตร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา พระศรีสรรเพ็ชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิสวรรยราชาธิบดินทร ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวสัย สมุทัยตโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทราธาดาธิบดีศรีวิบุลย คุณรุจิตรฤทธิราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิคตา มกุฎเทศมหาพุทธางกูร บรมบพิตร
กฎหมายลักษณขบถศึกตั้งก่อนเสวยราชย์ สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
กฎหมายพระธรรมนูญ สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
กฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณอาญาหลวง ๒ แห่ง ลักษณเบ็ดเสร็จ รวม ๕ แห่งในกฎหมาย สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดีศรีสรรเพ็ชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวรธรรมธราธิบดี ศรีสฤษฎิรักษสังหาร จักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอกนิฐ จิตรรุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์ องค์เอกาทศรุทร์ วิสุทธิยโศดม บรมอาชวาธยาไศรย สมุทัยดโรมนต์ อนนตคุณวิบุลยสุนทรบวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนาถบดินทร์ วรินทราธิราชชาติพิชิต ทิศพลญาณสมันตมหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอศวรรยาธิบัติขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตนโมฬีศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์สรรเพ็ชญ์พุทธางกูร บรมบพิตร
กฎหมายลักษณรับฟ้อง สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดมบรมจักรพรรดิ
กฎหมายลักษณทาส สมเด็จพระรามาธิบดินทรนรินทรบรมมหาจักรพรรดิราเมศวร ราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร บรมบพิตร
กฎหมายลักษณทาสอิกแห่ง ๑ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมมหาจักรพรรดิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร บรมบพิตร
กฎหมายมูลคดีวิวาท สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชบรมจักรพรรดิศวรบรมบพิตร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา สมเด็จพระบรมราชามหาอดิศรบวรสุจริตทศพิธธรรมธเรศร โลกเชษฐนายกอุดม บรมนาถบพิตร
พิเคราะห์ดูพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฎดังแสดงมา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ต้นพระนามจะเหมือนกันโดยมาก ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองลงมาจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ทุกพระองค์ ถ้าจะใช้พระนามอื่น ก็มีเมื่อครั้งพระบรมราชาพงัวเข้ามาครองราชสมบัติ บางทีจะใช้พระนามขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะเวลานั้นสมเด็จพระราเมศวรซึ่งใช้พระนาม สมเด็จพระรามาธิบดี ยังมีพระองค์อยู่ แลพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นั้นที่ใช้พระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราช เอาอย่างก็จะมีบ้าง คือเจ้าสามพระยาเปนต้น นอกจากนี้ เห็นจะใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ทุกพระองค์มาจนสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติ เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ใช้พระนามขึ้นในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์ แลใช้พระนามนี้ต่อมาจนตลอดราชวงศ์นั้น ถึงพระเจ้าทรงธรรมใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ พระเจ้าปราสาทซึ่งพบหลักฐานรู้แน่ว่าอยู่ในราชวงศ์เดียวกันกับพระเจ้าทรงธรรม ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ใช้พระนามนี้ลงมาจนตลอดราชวงศ์ของพระเจ้าปราสาททองมาถึงสมเด็จสมเด็จพระเพทราชาตั้งราชวงศ์ใหม่ (ไม่พบหลักฐานว่าขึ้นต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไรแน่ แต่) ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะกลับใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ด้วยได้เห็นในบานแพนกกฎหมายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี แลในโองการแช่งน้ำของพราหมณ์ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี คงจะใช้พระนามนี้จนพระเจ้าสุริยามรินทร บางทีจะใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะขุนหลวงหาวัดยังมีพระองค์อยู่ ครั้นถึงกรุงธนบุรี กลับใช้พระนามว่า “สมเด็จพระเอกาทศรถ” อีกเปนแน่ ด้วยได้พบหนังสือพระราชโองการแลศุภอักษรที่มีในครั้งกรุงธนบุรีใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร หลายแห่ง ศุภอักษรที่เจ้าประเทศราชมีมายังใช้คำว่า “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร” ต่อมาจนในชั้นกรุงรัตนโกสินทร พึ่งมาเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๔ ตอนหลังว่า ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ จึงเปนเหตุให้เห็นว่า แต่ครั้งกรุงเก่าก็จะซ้ำกันเหมือนอย่างนี้ ลักษณขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระสุพรรณบัฏพึ่งมาเปลี่ยนเปนฉเพาะพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทรนี้สืบมา
พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายโดยมากใช้แต่ว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ไม่ได้ออกพระนามฉเพาะพระองค์ใด สร้อยพระนามก็ดูมักจะแต่งแต่โดยต้องการให้ไพเราะ จึงผิด ๆ กันไป แม้พระนามที่ขึ้นต้นบางทีก็หันไปเอาความไพเราะเปนสำคัญ จึงมีพระนามที่ใช้ในบานแพนกกฎหมายอยู่หลายแห่งซึ่งรู้ได้เปนแน่ว่ามิใช่พระนามที่ใช้ฉเพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่เปนดังนี้เปนด้วยอาลักษณ์ (หรือผู้ใด) ที่มีหน้าที่แต่งบานแพนกกฎหมายแต่โบราณไม่ได้คิดการยืดยาวมาถึงประโยชน์ของคนภายหลัง คิดฉเพาะแต่เวลานั้นเสมอจะเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างให้เพราะ ๆ ให้เปนพระเกียรติยศ คติที่ใช้พระนามตามที่ขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏจะมีแต่ในบางสมัยหรือในผู้แต่งบานแพนกแต่บางคน จึงเห็นได้ในบานแพนกกฎหมายที่ใช้พระนาม พระรามาธิบดี มีมากแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับพระเจ้าบรมโกษฐใช้พระนาม “พระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร” แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเปนมากกว่าแผ่นดินอื่น
ข้อวินิจฉัยในเรื่องลักษณพระนามต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดินในชั้นกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ ว่าตามความเห็นของข้าพเจ้าเอง จะผิดชอบอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีจะตัดสินเทอญ