อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม/เรื่อง 3

อธิบายเรื่องพระมหาอุปราช

คำที่เรียกว่า อุปราช หรือ ยุวราช ตามตำราที่มาจากมัธยมประเทศ จะมาโดยทางข้างพระพุทธสาสนาก็ตาม หรือในทางข้างไสยศาสตร์ก็ตาม ยุติต้องกันว่าเปนผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินอภิเษกไว้รับรัชทายาท เพราะฉนั้น โดยปรกติย่อมเปนสมเด็จพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในกฎมนเทียรบาลซึ่งตั้งขึ้นครั้งแผ่นเนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถบัญญัติเรื่องอุปราชนี้แปลกอยู่

กฎมนเทียรบาลที่พิมพ์ในบานแพนกว่าตั้งเมื่อปีชวด จุลศัดราช ๗๒๐ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นผิด จุลศักราช ๗๒๐ นั้นเปนปีจอ มิใช่ปีชวด ที่จริงควรจะเปนปีชวด จุลศักราช ๗๘๐ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพยานเห็นได้ในกฎหมายนั้นเองที่กล่าวถึงศักดินา ๆ เปนของที่ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังไม่มี

ในกฎมนเทียรบาลว่า “พระราชกุมารอันเกิดจากพระอัครมเหษีคือหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชกุมารเกิดจากแม่ยั่วเมืองเปนพระมหาอุปราช” ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่า พระราชกุมารที่จะอภิเษกเปนรัชทายาทนั้น ถ้าเกิดจากพระอัครมเหษี เรียก หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดจากพระมารดาซึ่งมีบันดาศักดิ์ชั้นรองลงมา จึงเรียกว่า พระมหาอุปราช แลมีเรื่องในพระราชพงศาวดารประกอบกฎหมายนี้แห่ง ๑ คือ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงตั้งพระอาทิตยวงศ์ให้เปนรัชทายาทเมื่อไปครองเมืองพิษณุโลก มีพระนามตามที่เรียกในฉบับหลวงประเสริฐว่า “สมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้า” ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มเรียก สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขาเรียก “สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร” ที่ถูกข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเปน หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าพระบรมราชา คือ ตั้งให้เปนหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตามกฎหมายนี้เอง มีพระนามที่เปนเจ้าครองเมืองว่า พระบรมราชา อย่างได้เคยมีมาแต่ก่อนหลายพระองค์ แต่การตั้งพระมหาอุปราชในพระราชพงศาวดารปรากฎครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงตั้งราชโอรสซึ่งฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า พระเชษฐา คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ให้เปนพระมหาอุปราช แต่คำที่ใช้ในหนังสือพระราชพงศาวดารเห็นจะยุติเอาเปนแน่ไม่ได้ว่า องค์ไหนเปนหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า องค์ไหนเปนพระมหาอุปราช เพราะเปนของแล้วแต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจะเขียนลงไปตามความเข้าใจของตน

ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน ยังมีตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ คน ๑ เรียกว่า เจ้าพระยามหาอุปราชชาติรวิวงศ์ องค์ภักดีบดินทร์ สุรินทรเดโชไชย มไหศุริยศักดิอาญาธิราช ขุนนางตำแหน่งนี้ได้พบในหนังสือเก่าว่า แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังมีตัว แต่จะมีอำนาจหน้าที่อย่างไรไม่ปรากฎที่อื่นนอกจากในหนังสือของมองซิเออร ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า เจ้าพระยามหาอุปราชเปนผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไม่อยู่ แลมีบันดาศักดิ์สูง นั่งเฝ้าได้ ไม่ต้องหมอบ ได้ความแต่เท่านี้ ตำแหน่งมหาอุปราชที่มีทั้งยศเจ้าแลยศขุนนางดังปรากฎในกฎหมายเช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประเพณีไทยแต่เดิมมา พระราชกุมารที่จะรับรัชทายาทคงจะเปนพระมหาอุปราชทั้งนั้น บันดาศักดิ์หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าแลเจ้าพระยามหาอุปราชเปนของที่ตั้งขึ้นทีหลัง แต่จะตั้งขึ้นด้วยเหตุใด ข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็น

พระมหาอุปราช (จะเรียกหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าก็ตาม หรือเรียกพระมหาอุปราชก็ตาม) ผู้ซึ่งได้รับอภิเษกเปนรัชทายาทนั้น ในชั้นเดิมคงจะเปนแต่พระราชโอรส แลคงจะมีทุกรัชกาล เว้นเสียแต่ที่มีความขัดข้อง เช่น พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ไม่ทันตั้ง เปนต้น พิเคราะห์ดูในพระราชพงศาวดาร ตำแหน่งพระมหาอุปราชมีเค้าอยู่อย่างนี้ คือ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ “มี” สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสเปนพระมหาอุปราช (ที่ว่า “มี” เพราะไม่ปรากฎว่าได้ตั้ง)

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้าทองลันทรงพระเยาว์ ยังไม่ทันตั้งเปนพระมหาอุปราช หรือจะได้ตกลงกันไว้ให้สมเด็จพระราเมศวรเปนมหาอุปราชก็จะเปนได้

สมเด็จพระราเมศวรมีสมเด็จพระรามราชาราชโอรสเปนพระมหาอุปราช

สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ มีแต่ลูกพระสนม ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช เจ้าอ้ายเจ้ายี่จึงเกิดแย่งราชสมบัติกัน

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งพระราเมศวรราชโอรส คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เปนพระมหาอุปราช

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตั้งพระเชษฐาราชบุตรเปนพระมหาอุปราช แต่ติดสมเด็จพระบรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ จึงไม่ได้ราชาภิเษกเปนพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ๓ ปี

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช เพราะราชสมบัติเปนของพระเชษฐาซึ่งเปนพระราชอนุชา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าพระบรมราชาเปนพระมหาอุปราช

สมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร (ที่จริงควรเรียก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔) พระรัษฎายังทรงพระเยาว์ ไม่ทันตั้งเปนพระมหาอุปราช

๑๐สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์ ไม่ทันตั้งเปนพระมหาอุปราช

๑๑ขุนวรวงศาธิราชพอได้ราชสมบัติก็ตั้งนายจันบ้านมหาโลกผู้น้องเปนมหาอุปราช จะเปนมหาอุปราชอย่างเจ้าหรืออย่างขุนนางรู้ไม่ได้ เปนได้สองสามวันก็ถูกกำจัดทั้งพี่ทั้งน้อง

๑๒สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งขุนพิเรนทรเทพเปนพระมหาธรรมราชาไปครองเมืองพิษณุโลก เข้าใจว่าตั้งไปเปนเจ้าครองเมืองตามแบบซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ทำนองเปนพระเจ้าประเทศราช มิใช่เปนรัชทายาท เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราเมศวรแลสมเด็จพระมหินทราธิราชเปนราชโอรสอยู่ถึง ๒ พระองค์ คงปลงพระทัยให้ใน ๒ พระองค์นี้เปนผู้รับรัชทายาท แต่ไม่ตั้งให้ออกไปครองเมือง เอาไว้ทำราชการในราชธานีทั้ง ๒ พระองค์

ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเอาพระราเมศวรกับสมเด็จพระมหินทราธิราชไว้ในราชธานี บางทีจะเปนด้วยเหตุเหล่านี้ คือ ประเพณีที่ตั้งเจ้านายไปครองเมือง แม้เปนประโยชน์อยู่ในเวลากำลังแผ่พระราชอาณาจักร ก็มีข้อเสียสำคัญที่มักเกิดเหตุแย่งชิงราชสมบัติกัน ความจำเปนที่ต้องมีเจ้าปกครองยังมีแต่เมืองพิษณุโลกซึ่งเปนราชธานีฝ่ายเหนือเมืองเดียว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาไปครองโดยยกย่องความชอบแลโดยเปนชาวเมืองพิษณุโลก เข้าพระทัยการงารทางนั้นอยู่ หรืออีกอย่างหนึ่ง จะไม่สู้ไว้พระทัยพระมหาธรรมราชานัก ไม่อยากจะแยกกำลังในราชธานีไปให้น้อย จึงเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้เปนกำลังในราชธานี แต่ก็คงจะได้ตั้งแต่งให้มีกำลังแลพระเกียรติยศขึ้น ไม่ให้พระราชโอรสที่จะรับรัชทายาทเลวกว่าพระราชบุตรเขยเปนแน่ สังเกตดูโดยพระนามที่ตั้งให้เปนพระราเมศวร (เหมือนกับผู้รับรัชทายาทแต่ก่อนมา) พระองค์ ๑ เปนพระมหินทรพระองค์ ๑ น่าเข้าใจว่าจะยกย่องให้มีพระเกียรติยศเปนพระมหาอุปราช ทำนองที่เรียกกันในชั้นหลังว่า พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย แต่ในครั้งนั้นจะเรียกอย่างไรแลให้กำลังวังชาอย่างไร ทราบไม่ได้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประเพณีที่มีเจ้านายซึ่งทรงศักดิ์สูงสุด ๒ พระองค์อยู่ในราชธานี ที่เขมรเรียกว่า มหาอุปโยราช แลมหาอุปราชก็ดี ที่ไทยเราเรียก พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยก็ดี วังหน้า วังหลังก็ดี น่าจะมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเปนปฐม

มีความกล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารเขมรแห่ง ๑ ว่า “ลุศักราช ๙๔๖ (ตรงรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ศกวอกนักษัตร แต่พระองค์ (นักพระสัฏฐา) ทรงราชย์มาได้ ๙ ปี พระชันษาได้ ๓๒ ปี พระองค์สบพระราชหฤทัยด้วยสมเด็จพระราชบุตรทั้ง ๒ พระองค์ ให้ทรงราชย์เปนเสด็จ คือ กษัตริย์ ทั้ง ๒ พระองค์ พระราชบุตรผู้พี่นั้นปีวอก พระชันษาได้ ๑๑ ปี ได้อภิเษกน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จเสด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี พระราชบุตรผู้น้อยนั้นปีชวด พระชันษาได้ ๖ ปี อภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระบาทบรมบพิตรทั้ง ๓ พระองค์ทรงราชย์” ดังนี้ เขมรชอบเอาอย่างไทยเปนปรกติ เห็นได้ตั้งแต่พระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาตลอดมา ก็เอาอย่างพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จะถ่ายแบบสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งพระราเมศวรกับพระมหินทรไปอภิเษกราชโอรสทั้ง ๒ องค์นั้นบ้างดอกกระมัง ดูเวลาศักราชก็พอต่อกันดี

ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ราชสมบัติ ก็มีสมเด็จพระราชโอรส ๒ พระองค์เหมือนกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงอภิเษกเปนสมเด็จพระนเรศวรพระองค์ ๑ เปนสมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์ ๑ เปนพระมหาอุปราชทำนองพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย อย่างที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงตั้งพระราเมศวรแลพระมหินทรมาแต่ก่อน สมเด็จพระเอกาทศรถจะได้มีพระเกียรติยศเปนพระมหาอุปราชพระองค์น้อยมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแล้ว เมื่อสมเด็จพระนเรศวรผ่านพิภพ ถ้าคงประเพณีอยู่อย่างแต่ก่อน ก็คงให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกเปนพระเจ้าประเทศราชอย่างสมเด็จพระราชบิดาแลพระองค์เองได้เคยครองมา แต่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงเลิกประเพณีที่ตั้งเจ้าใหญ่ไปครองเมืองเสียในครั้งนั้น (แลมิได้มีต่อมาอีก) ทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้เปนพระบัณฑูรมาด้วยกัน แลได้ทำศึกสงครามอย่างเพื่อนเปนเพื่อนตายกู้บ้านกู้เมืองมาด้วยกัน จึงดำรัสให้สมเด็จพระเอกาทศรถเปนพระมหาอุปราชอย่างวิสามัญ มีพระเกียรติยศแลใช้พระราชโองการเหมือนเปนพระเจ้าแผ่นดิน

ในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวถึงเรื่องสมเด็จพระเอกาทศรถว่า เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตนั้น สมเด็จพระนเรศวรถูกไปอยู่เปนตัวจำนำที่เมืองหงสาวดี ทางนี้ข้าราชการจึงยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ ๆ ไม่รับราชสมบัติ ว่า สมแด็จพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่ จะรักษาราชสมบัติไว้ถวาย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรหนีกลับมาได้ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระนเรศวร ถ้าเรื่องจริงเปนอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เปนเหตุอันสมควรแท้ทีเดียวที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถอย่างเปนพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ แต่หลักฐานมีมั่นคงว่า เรื่องจริงมิได้เปนอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ความจริงสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่ในเมืองไทยตลอดรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แลเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคต ได้ทำสงครามกับหงสาวดีหลายครั้งมาแล้ว จะเปนตัวจำนำอยู่ในเมืองหงสาวดีในเวลานั้นไม่ได้เปนอันขาด เพราะฉนั้น ข้อควรสังเกตในพระราชพงศาวดารมีแต่ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเปนพระมหาอุปราชพระองค์แรกที่เปนพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน แลเปนพระมหาอุปราชพระองค์เดียวในชั้นกรุงเก่าที่มีเกียรติยศอย่างเปนพระเจ้าแผ่นดิน