เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475/บทที่ 1
หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ได้เสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นมาจนถึงฉบับประจำวันที่ 11 มิถุนายน รวมเรื่องที่เขียนแล้วทั้งหมด 16 ตอน และยังมีเรื่องที่จะเขียนต่อไปข้างหน้าอีกหลายตอน
ในระหว่างที่ลงพิมพ์เรื่องนี้ ทางสำนักงานได้รับการติดต่อต้อนรับด้วยความชื่นชมยินดีจากผู้อ่านทั้งโดยทางโทรศัพท์และทางจดหมายมิเว้นวัน ถึงกระนั้นก็ดี ได้มีเหตุอันน่าเสียใจบังเกิดขึ้นเกี่ยวกับการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้เมื่อคืนวันพุธที่ 11
ในคืนที่กล่าวแล้ว นายมั่น นายคง ได้พูดทางวิทยุกระจายเสียงกล่าวคำตำหนิแสดงความไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ได้นำเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เสนอต่อประชาชน ทั้งที่เรื่องนี้ได้เรียบเรียงขึ้นจากการสัมภาษณ์ท่านเชษฐบุรุษโดยตรงก็ดี
ในเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านเชษฐบุรุษจึงได้ส่งคนมาแจ้งต่อบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นี้ว่า “ขอให้งดลงเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติเสียเถิด เพราะผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อคืนนี้เขาแสดงความไม่พอใจ” โดยที่ท่านเชษฐบุรุษเป็นผู้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เราจึงรับคำขอของท่านไว้ใคร่ครวญด้วยความเคารพ และเราขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อท่านเชษฐบุรุษที่ต้องมาพลอยได้รับความกระทบกระเทือนเพราะเหตุที่ได้กรุณาให้สัมภาษณ์อันมีค่ายิ่งแก่หนังสือพิมพ์ของเราเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนคนอ่าน
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแสดงความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ไม่ควรจะนำเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” มาเสนอเลย เพราะว่าผู้ก่อการทุกท่านยังมีชีวิตอยู่ จะทำให้ท่านเหล่านั้นมีความกระดากใจ อีกประการหนึ่ง ท่านเหล่านั้นได้ตั้งใจทำการปฏิวัติโดยเสียสละแล้วทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทนเลย แม้แต่คำยกย่องสรรเสริญ
เราขอตอบคารมข้อนี้ว่า การที่ผู้ก่อการไม่หวังผลตอบแทนตลอดจนคำสรรเสริญนั้น ไม่ได้แปลว่า ผู้ซึ่งเล็งเห็นคุณค่าในการปฏิวัติของคณะราษฎรจะสรรเสริญคณะราษฎรไม่ได้ หรือไม่ควรจะกล่าวคำสรรเสริญเสียทีเดียว ตรงกันข้าม เมื่อคณะราษฎรได้ประกอบกรรมอันดีไว้แล้ว และถ้าหากไม่มีผู้กล่าวสรรเสริญเลย ก็ดูจะเป็นเรื่องสลดใจนัก และจะดูเป็นเรื่องเนรคุณไปก็เป็นได้
การเขียนสรรเสริญคณะราษฎรนั้น มิใช่จะเพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว ได้มีผู้เขียนสรรเสริญกรณียกิจของคณะปฏิวัติตลอดมา โดยเฉพาะในวันที่ 24 มิถุนายน และในวันที่ 10 ธันวาคม ได้มีเรื่องสดุดีกันอย่างเซ็งแซ่ทุกปี และก็ไม่เคยมีใครตำหนิติเตียนว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะ “คณะผู้ก่อการยังมีชีวิตอยู่ และท่านเหล่านั้นจะมีความกระดากใจ”
แต่เมื่อหนังสือพิมพ์ของเราเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นบันทึกงานและวีรภาพของคณะราษฎรตามความเป็นจริง การกระทำของเราก็กลายเป็นโทษไป
ถ้านายมั่น นายคง ได้พูดอะไรไปแล้วไม่คิดที่จะกลับคืนคำง่าย ๆ ก็คงไม่ลืมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ผู้พูดได้ขอร้องให้หนังสือพิมพ์ลงแต่เรื่องที่เป็นการเชิดชูคุณงามความดีของบุคคล เหตุไหนเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกับคำชักชวนของผู้พูดเองจึงกลายเป็นเรื่องที่กอปร์ด้วยโทษไปได้ในคำวินิจฉัยของผู้พูดคนเดียวกัน!
อันการเขียนชีวประวัติบุคคลสำคัญในขณะที่ท่านเจ้าของประวัติยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ใช่เป็นของเหลวไหลอะไรเลย เป็นของที่ทำกันมามากต่อมากแล้ว ในต่างประเทศหนังสือจำพวกนี้มีอ่านกันไม่หวาดไหว ถึงในประเทศของเราก็มีหนังสือแสดงชีวประวัติของบุคคลสำคัญอยู่หลายเล่มซึ่งแต่งขึ้นในขณะที่เจ้าของประวัติของบุคคลสำคัญอยู่หลายเล่ม เช่นหนังสือชีวประวัติของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นอาทิ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นโดยท่านเจ้าของประวัติเองด้วยซ้ำ และได้พิมพ์ออกแจกจ่ายแต่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือที่จะอ้างได้อีกหลายเล่ม
อนึ่ง ผู้ที่เคยไปฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรย่อมจะจำได้ว่า ในวันเปิดสมัยประชุมสภานั้น รัฐบาลย่อมจะกล่าวสรรเสริญเยินยอสภา และสภาก็จะกล่าวสรรเสริญเยินยอรัฐบาล เป็นการกล่าวสรรเสริญกันต่อหน้าต่อตาทีเดียว แต่ทั้งสองฝ่ายมิได้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากระดากอดสูใจอะไร ทั้งนี้ เป็นประเพณีนิยมในการแสดงอัธยาศัยไมตรีต่อกัน ถึงแม้ว่าท่านเหล่านั้นตั้งใจทำงานโดยเสียสละก็ตาม ก็ไม่ทำให้การสรรเสริญเยินยอที่แสดงออกไปเป็นเรื่องเหลวไหลเลย
ตามที่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงกล่าวว่า เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติจะก่อความกระทบกระเทือนแก่ความรู้สึกของคนบางหมู่บางคณะนั้น เราไม่ทราบว่าผู้พูดหมายถึงความกระทบกระเทือนร้ายแรงขนาดไหน และจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บ้านเมืองอย่างไร ถ้าหมายถึงความกระทบกระเทือน ไม่ว่าเล็กว่าน้อยแล้ว เหตุการณ์ที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันก็อาจกล่าวได้ว่า มีความกระทบกระเทือนโน่นนิดนี่หน่อยทุกวัน ความดำริของรัฐบาลโดยมาก ถึงแม้เป็นความดำริที่ดีก็ตาม อาจกระทบกระเทือนคนหมู่นั่นหมู่นี่ได้เสมอ ถ้าจะทำอะไรโดยมิให้กระทบกระเทือนคนทั้งหลายเลยแล้ว ผลอาจเป็นว่า เราแทบไม่ต้องทำอะไรกันเลย เราจงมองดูกิจการทั้งหลายสักหน่อยเถิดว่า มีกิจการใดบ้างที่เมื่อได้กระทำไปแล้ว จะหวังให้เป็นที่พอใจคนทั้งหมดได้
ว่าตามจริง เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นั้นเป็นการแสดงประวัติการก่อตั้งคณะราษฎรด้วยความร่วมจิตร่วมใจเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่ปรากฏข้อแสลงแทงใจหมู่คณะใดในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อบ้านเมืองเลย เป็นการวาดภาพในด้านที่งดงามตามความเป็นจริงทั้งนั้น ซึ่งผู้อ่านทุกคนจะเป็นพยานได้ดี แต่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงก็ยังแสดงสำเนียงไปในทางข้างร้ายจนได้
ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “ความเคารพนับถือน่ะไม่ต้องการคำโฆษณาใด ๆ” ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่นายมั่น นายคง ได้ทำอะไรอยู่ทุกคืนเล่า ถ้ามิได้ทำการโฆษณา?
ผู้พูดได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “การเขียนเรื่องนี้ขึ้นนับว่ามีความมุ่งหมายที่ดี” แต่ในตอนท้ายการสนทนา ผู้พูดกลับตั้งข้อถามขึ้นว่า “การที่หนังสือพิมพ์นำเอาเรื่องนี้มาเขียน เขามีความมุ่งหมายอย่างไร?” และคู่สนทนาได้ตอบว่า “เป็นเรื่องน่าคิดอยู่” การพูดขัดกันเองเช่นนี้มักจะมีอยู่เสมอในบทสนทนาของนายมั่น นายคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะเข้าใจความประสงค์ของเขาได้
ความประสงค์หรือความมุ่งหมายในการเสนอเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นี้ได้แถลงไว้แล้วในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถ้าผู้พูดได้ไปพลิกดู ก็จะพบข้อความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งวีรภาพของบุคคลคณะนั้น ซึ่งอนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเยี่ยงอย่างอันดีไว้ อีกทั้งจะได้สืบรักษาอุดมคติของคณะราษฎรไว้ชั่วกาลนาน” แต่ถ้าผู้พูดยังไม่พอใจและจะพยายามแปลไปในทางร้ายให้จงได้แล้ว นั่นเป็นการล่วงพ้นอำนาจของเราที่จะตามชี้แจง นั่นเป็นเรื่องในขอบเขตอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
อนึ่ง นอกจากความประสงค์ดังกล่าวแล้ว เราขอชี้แจงเพิ่มเติมให้ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ทราบตระหนักไว้ด้วยว่า กรณียกิจสำคัญข้อหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือกันในวงการหนังสือพิมพ์ทั่วโลกก็คือ หนังสือพิมพ์จำจะต้องใฝ่แสวงหาข้อความจริงต่าง ๆ มาเสนอต่อประชาชน การที่หนังสือพิมพ์ของเราไปติดต่อขอทราบความจริงในเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” จากท่านเชษฐบุรุษนั้น ก็เป็นการแสดงความขวนขวายในการบำเพ็ญหน้าที่ของเราประการหนึ่ง นอกจากจะติดต่อข้อความจริงจากท่านเชษฐบุรุษแล้ว หนังสือพิมพ์ของเรายังได้ตั้งใจไว้ว่าจะไปติดต่อต่อกับท่านหัวหน้าคณะราษฎรคนอื่น ๆ อีก ดังที่เราได้ประกาศความตั้งใจข้อนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับประจำวันที่ 4 พฤษภาคม แล้วว่า “เรื่องที่จะเขียนในชุดแรกนี้จะบรรยายหนักไปในพฤติการณ์ของท่านหัวหน้าคณะราษฎร และเมื่อผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดแห่งพฤติการณ์ของท่านหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ แล้ว ก็จะได้บรรยายรายละเอียดแห่งพฤติการณ์ของท่านเหล่านั้นเป็นลำดับไป” ความข้อนี้จักเป็นพยานในความตั้งใจขวนขวายบำเพ็ญหน้าที่ของหนังสือพิมพ์นี้ได้อย่างดี แต่เมื่อทางการวิทยุกระจายเสียงได้พูดจาระรานออกมาเช่นนี้เสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาท่านผู้ใหญ่ที่อาจจะให้ข้อความจริงในเรื่องอันน่ารู้นี้ได้คงจะขอสงวนถ้อยคำของท่านเป็นแน่
อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่นายมั่นนายคงได้พูดถึงเรื่องหนังสือพิมพ์ เราสังเกตว่า ผู้พูดไม่มีความเข้าใจในหน้าที่ของหนังสือพิมพ์เลย โดยเฉพาะในข้อที่เราได้กล่าวข้างต้น และด้วยความไม่เข้าใจนั่นเอง ผู้พูดจึงมักจะเกณฑ์ให้หนังสือพิมพ์ต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ ซึ่งโดยมากเป็นการขัดขืนฝืนวิสัยหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ถึงกระนั้นก็ดี ผู้พูดเขาก็ยังพอใจให้โอวาทแก่หนังสือพิมพ์อยู่เนือง ๆ เราก็ได้แต่จะปล่อยให้เขารื่นรมย์ไปตามหนทางของเขาเท่านั้น
การวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเรานั้น ถ้าผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้กระทำด้วยอารยวิธีแล้ว เราก็ต้อนรับด้วยความยินดีเต็มใจ แต่ถ้าปฏิบัติไปในทางตรงกันข้าม เราก็มีความสลดใจเป็นธรรมดา
การที่ทางการวิทยุกระจายเสียงปล่อยให้ผู้พูดวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเรานั้น เราไม่ขัดข้องเลย แต่เราเสียดายอยู่ข้อหนึ่งว่า เราไม่มีโอกาสจะใช้เครื่องมืออันเดียวกันแก้คารมของผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ ซึ่งดูไม่เป็นการชอบธรรมอยู่สักหน่อย ถ้าเมื่อใดผู้พูดได้วิพากษ์หนังสือพิมพ์แล้ว และท่านอธิบดีกรมโฆษณาการได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกวิพากษ์ได้แถลงแก้ความโดยทางวิทยุกระจายเสียง อันมิใช่เป็นการปล่อยให้พูดได้ข้างเดียวแล้ว เราก็จะต้อนรับการวิพากษ์กิจการของเราทางการวิทยุกระจายเสียงด้วยความชื่นชมยินดี
เราขอร้องเรียนยืนยันต่ออธิบดีกรมโฆษณาการว่า การที่กรมโฆษณาการปล่อยให้เจ้าหน้าที่แต่งข้อกล่าวหาปรักปรำหนังสือพิมพ์ของเรา และนำออกโฆษณาโดยทางวิทยุกระจายเสียงนั้น เป็นการปฏิบัติต่อเราโดยไม่เป็นธรรม จริงอยู่เรามีโอกาสแถลงตอบข้อกล่าวหานั้นโดยทางหนังสือพิมพ์ได้ แต่ท่านอธิบดีย่อมทราบแล้วว่า จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์กับจำนวนผู้ฟังวิทยุนั้นย่อมแตกต่างห่างกันไกล เห็นได้ชัดในข้อที่ว่า ผู้อ่านหนังสือไม่เป็นเลยก็สามารถฟังการโฆษณาทางวิทยุได้ ถ้าท่านอธิบดีกรมโฆษณาการพอใจจะให้เจ้าหน้าที่โฆษณาการวิพากษ์หนังสือพิมพ์ของเราต่อไปแล้ว เราไม่ขออะไรเลย นอกจากขอความเป็นธรรมที่จะได้รับโอกาสแถลงตอบทางวิทยุกระจายเสียงอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าท่านอธิบดีให้ความเป็นธรรมแก่เราแล้ว เราก็จะขอบใจเป็นอันมาก และเราจะมีความยินดีเต็มใจฟังข้อวิพากษ์ทางวิทยุกระจายเสียงตลอดไป
คำแถลงตอบข้อวิพากษ์ของวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในหนังสือพิมพ์ของเราฉบับประจำวันเสาร์นั้น ถึงแม้จะได้ลบล้างข้อกล่าวหาของผู้พูดได้แล้วก็ดี แต่ทางวิทยุกระจายเสียงก็ยังไม่พอใจ ในคืนวันเสาร์ผู้พูดได้ตั้งข้อปรักปรำขึ้นใหม่เป็นคำรบสอง
ผู้พูดได้เริ่มว่า เขามีความยินดีที่ได้ทราบว่า ท่านเชษฐบุรุษได้ขอร้องให้หนังสือพิมพ์ของเรางดลงเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ เขาภูมิใจในผลสำเร็จแห่งการพูดจาระรานของเขา เราก็เชื่อว่า วิธีการระรานที่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงกำลังใช้แก่คนทั่ว ๆ ไปในเวลานี้คงจะอำนวยความสำเร็จสมประสงค์อีกหลายอย่างโดยมิต้องคำนึงว่า ในหัวคิดจิตใจของคนทั้งหลายเขารู้สึกอย่างไรบ้าง
เมื่อเราได้แถลงตอบไปแล้วว่า การเขียนชีวประวัติของบุคคลสำคัญในขณะที่ท่านเจ้าของประวัติยังมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่เขาทำกันมามากต่อมากแล้ว ไม่เป็นของเหลวไหลหรือน่ากระดากใจอะไรเลย วิทยุกระจายเสียงก็ดูไม่ติดใจอีก แต่เมื่อเราแก้ข้อกล่าวหาอันนี้ตกไปแล้ว ผู้พูดได้ตั้งข้อปรักปรำขึ้นใหม่ว่า การที่เราเสนอเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติขึ้นนี้ทำให้พวกก่อการเป็นอันมากน้อยใจ เพราะว่าคณะก่อการมีหลายสายหลายกลุ่มด้วยกัน เมื่อเราเสนอเรื่องหนักไปในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเช่นนี้ กลุ่มอื่น ๆ ก็จะน้อยใจ เขาว่า การปฏิวัติเป็นแต่ฉากแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางคนมีบทบาทน้อยในฉากแรก แต่ได้มามีบทบาทมากในฉากหลัง ๆ ก็จะน้อยใจ เขาว่า นี้คือลักษณะที่เป็นโทษของเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ
เมื่อเราได้สำเหนียกสำเนียงเช่นนี้ เราก็ตะลึงไป เรารู้สึกว่า ผู้เรียบเรียงบทสนทนาเรื่องนี้กับคณะของเราเป็นคนที่อยู่กันคนละโลกและพูดจากันคนละภาษาทีเดียว เป็นการยากอย่างยิ่งที่เราจะตามเข้าใจความประสงค์ของเขาได้
เมื่อคืนวันพุธนี่เอง เขาได้พูดอยู่หยก ๆ ว่า คณะผู้ก่อการทุกคนได้ทำการปฏิวัติด้วยความยอมเสียสละแล้วทุกอย่าง ไม่หวังผลตอบแทนอะไรเลย แม้แต่คำยกย่องสรรเสริญ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงว่า เราไม่ควรจะมาสรรเสริญคณะผู้ก่อการในเวลานี้เลย เพราะจะทำให้ท่านพวกนั้นกระดากใจ
บัดนี้ เมื่อคืนวันเสาร์นี่เอง เขากลับพูดว่า การสรรเสริญนั้นเป็นของที่พึงกระทำ แต่การสรรเสริญหนักไปน้อยไปนั้นเป็นโทษ เพราะจะทำให้ผู้ที่ได้รับการสรรเสริญน้อยเกิดโทมนัสน้อยใจ
ตกลงข้อปรักปรำที่เขาตั้งมาใหม่จึงเป็นอริกับคำพูดของเขาเองที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อ 3 คืนก่อน!
ท่านผู้เรียบเรียงบทสนทนา, เราจำเป็นจะต้องตอบข้อปรักปรำอันนี้ของท่านด้วยหรือ ในเมื่อท่านเองก็ไม่รู้ว่า ท่านได้พูดอะไรออกมา?
ท่านบอกว่า คณะผู้ก่อการยอมเสียสละแล้วทุกอย่าง ไม่หวังผลตอบแทนอะไรเลย แม้แต่คำยกย่องสรรเสริญ แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็บอกว่า ผู้ก่อการเป็นอันมากน้อยใจเพราะหนังสือพิมพ์สรรเสริญท่านน้อยไป
บุคคลที่ยอมเสียสละแล้วทุกอย่าง และไม่ต้องการคำสรรเสริญเลย แต่บุคคลเดียวกันนั้นจะกลับมาน้อยใจที่ได้รับการสรรเสริญไม่เพียงพอ บุคคลที่ท่านได้วาดภาพไว้เช่นนี้จะมีตัวตนจริง ๆ อยู่ในโลกนี้ได้ละหรือ? ถ้าจะมีบุคคลเช่นนี้จริง ก็คงจะมีได้แต่ในโลกของผู้เรียบเรียงบทสนทนาเท่านั้น
บุคคลที่ยอมเสียสละแล้วทุกอย่าง เช่นคณะผู้ก่อการเป็นต้นนั้น ย่อมจะไม่มาคิดหยุมหยิมในเรื่องสรรเสริญเยินยอเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นนี้เลย ท่านผู้เรียบเรียงบทสนทนาไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะไปคาดหมายจิตใจของท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้นจากจิตใจของท่านเอง ซึ่งในชั่วเวลา 3 วันเท่านั้น จิตใจของท่านก็แบ่งออกได้เป็น 2 ภาค และปรากฏออกมาเป็นถ้อยคำที่เป็นอริต่อกัน!
เมื่อวันพุธ ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงก็ได้กล่าวว่า บันทึกเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติที่หนังสือพิมพ์ของเราได้นำเสนอนั้น เขาเชื่อว่าเป็นความจริงทุกประการ และอีก 3 คืนต่อมา เขาพูดว่า ผู้ก่อการเป็นอันมากซึ่งเป็นผู้ยอมเสียสละแล้วทุกอย่างน้อยใจในบันทึกอันเป็นความจริงนั้น! ท่านผู้เรียบเรียงไม่ทราบหรือว่า ท่านได้พูดอะไรออกมา ท่านยกย่องคณะผู้ก่อการซึ่งท่านว่าท่านมีความเคารพ หรือว่าท่านได้ดึงเอาท่านเหล่านั้นลงมาเกลือกกลั้วกับอะไร?
เคราะห์ดีที่ไม่มีใครจะเชื่อว่า คณะผู้ก่อการผู้มีเกียรติจะมีจิตใจเช่นที่ผู้เรียบเรียงบทสนทนาได้สมมุติหรือคาดหมายเอาเองโดยอาศัยมาตรฐานแห่งจิตใจของผู้เรียบเรียงบทสนทนาเอง
ข้อที่ผู้พูดกล่าวว่า คณะผู้ก่อการมีหลายสายด้วยกัน แต่เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติบรรยายหนักไปในสายเดียวกันหรือกลุ่มเดียวนั้น ความข้อนี้ไม่ควรที่จะนำมากล่าวปรักปรำอีกเลย เพราะได้ปรากฏหลักฐานอยู่แล้วว่าไม่ใช่ความประสงค์ของเราที่จะบรรยายเรื่องนี้แต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์เราก็ได้นำถ้อยแถลงความประสงค์ของเราที่ได้พิมพ์ไว้ตั้งแต่ในฉบับที่เริ่มเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติมาพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองแล้วว่า “เมื่อผู้เขียนได้ศึกษารายละเอียดแห่งพฤติการณ์ของท่านหัวหน้ากลุ่มต่าง ๆ ตลอดแล้ว ก็จะได้บรรยายรายละเอียดแห่งพฤติการณ์ของท่านเหล่านั้นเป็นลำดับไป”
ตามที่ผู้พูดกล่าวว่า ผู้ก่อการบางท่านซึ่งแสดงบทบาทไม่สำคัญในฉากแรก แต่ได้มาแสดงบทบาทสำคัญในฉากหลังนั้น ก็จริงอยู่ แต่การเขียนหนังสือนั้นก็เป็นธรรมดาที่ใคร ๆ จะต้องเริ่มแต่บทที่ 1 มาก่อนมิใช่หรือ เราจะเขียนบทที่ 5 หรือบทที่ 10 ก่อนบทที่ 1 ได้อย่างไร ใครบ้างที่เขียนหนังสือเริ่มจากบรรทัดสุดท้ายไปหาบรรทัดต้น?
ถ้าวิทยุกระจายเสียงไม่มาทำลายงานของเราเสียกลางคันแล้ว การบันทึกเรื่องงานของคณะปฏิวัตินี้ เมื่อได้ทำสำเร็จบริบูรณ์ลงแล้ว เราก็มีความมั่นใจว่า จะเป็นบันทึกที่ซื่อตรงต่อความเป็นจริง และเป็นการบันทึกที่ให้ความเป็นธรรมอย่างยิ่งแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านทีเดียว
วิทยุกระจายเสียงได้กล่าวคำปรักปรำที่ฉกรรจ์อีกข้อหนึ่งว่า การเสนอเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัตินี้จะทำให้เกิดรอยร้าวกระเทือนไปถึงคณะรัฐบาลราชาธิปไตย กระเทือนแผลเก่า เขาว่า หนังสือพิมพ์ไม่ควรจะพูดถึงเรื่องไม่ดีของระบอบเก่าอีก จะทำให้คณะเก่าขัดเคืองจนถึงจะเกิดจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้นอีกต่อไป จะทำให้บ้านเมืองถึงแก่ฉิบหายล่มจมได้
เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัตินี้ก็ได้พิมพ์เป็นหนังสือมีประจักษ์หลักฐานพยานอยู่แล้ว เพื่อที่จะตัดคำชี้แจงของเราให้สั้นลง เราจึงใคร่จะขอให้วิทยุกระจายเสียงได้ชี้ระบุว่า ข้อความตอนไหนบ้างในเรื่องนั้นที่จะทำให้คณะเก่าขัดเคือง “จนถึงจะเกิดจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้นอีก และจะทำให้บ้านเมืองถึงแก่ฉิบหายล่มจมได้”
สรุปข้อความที่เขานำมาพูดก็คือ
ข้อ1.เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติมีโทษ เพราะให้คำสรรเสริญไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้ก่อการมากคนไม่พอใจ เขาว่า การสรรเสริญถ้าทำหนักไปเบาไปก็เป็นโทษ เขายกตัวอย่างเช่นความสำเร็จในเรื่องการเรียกร้องดินแดนครั้งนี้ ถ้าหนังสือพิมพ์ชมคณะผู้แทนที่ไปเจรจามากไป บรรดาทหารที่ไปรบก็จะน้อยใจ จะชมใครก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี แปลว่า ต่อไปนี้เรื่องติเป็นอันไม่ต้องพูดกันละ ถึงแม้หนังสือพิมพ์จะชมใคร ก็ต้องระวังตัวลีบทีเดียว เพราะถ้าชมมากไปน้อยไป ก็จะถูกวิทยุกระจายเสียงชี้เอาว่าเป็นโทษได้ง่าย ๆ ดังนั้น สำนักหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็จะต้องมีเครื่องชั่งสำหรับชั่งคำชมทุกอัน มิฉะนั้น ความตั้งใจดีจะกลายเป็นโทษไป
แต่ถ้าหนังสือพิมพ์เห็นว่าดูเป็นเรื่องยุ่งยากเหลือทนนัก เลยไม่ชมใครเสียเลย เราก็ไม่ทราบว่า วิทยุกระจายเสียงจะปรับบทลงโทษหนังสือพิมพ์ว่ากระไรต่อไปอีก
ข้อ2.เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติได้กล่าวขวัญถึงคณะรัฐบาลราชาธิปไตยในทางไม่สู้ดี จะทำให้คณะเก่าขัดเคืองจนถึงจะเกิดจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้นอีก เขาว่า เดี๋ยวนี้ท่านพวกคณะเก่าทั้งหมดชื่นชมยินดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบใหม่แล้ว เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไปหนังสือพิมพ์จะออกความเห็นติเตียนระบอบเก่าต่อไปไม่ได้ แม้แต่จะพูดถึงเรื่องไม่ดีของระบอบนั้นสักเล็กน้อยก็ไม่ได้ แต่นี้ไปหนังสือพิมพ์ก็จะต้องพินอบพิเทาเอาอกเอาใจท่านหัวเก่าให้ดี อย่าไปแตะต้องเรื่องราวของระบอบเก่าเป็นอันขาด ถ้าไปแตะเข้าแล้ว วิทยุกระจายเสียงเขาก็จะประกาศโทษ หนังสือพิมพ์ที่ทำเช่นนั้นต่อสาธารณชนว่า “เป็นผู้ที่จะทำให้เกิดการจลาจลจนถึงรบราฆ่าฟันกันขึ้น เป็นผู้ที่จะทำให้บ้านเมืองถึงแก่ฉิบหายล่มจมได้"
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันฉลองความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายใต้การนำของคณะปฏิวัติแล้ว พวกเราหนังสือพิมพ์คงจะอยู่ในฐานะที่ลำบากยากใจที่สุด หนังสือพิมพ์จะกล่าวความกระทบไปถึงระบอบเก่าแม้แต่เล็กน้อยก็จะกลายเป็นโทษไป จะกล่าวสรรเสริญคณะราษฎรก็จะถูกหาความจากวิทยุกระจายเสียงว่าเป็นผู้ทำให้ท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้นต้องกระดากใจ หรือถ้ากล่าวสรรเสริญหนักไปเบาไป ก็จะต้องโทษในข้อที่ว่าได้ทำให้คณะผู้ก่อการมากท่านน้อยใจ
ท่านผู้เรียบเรียงบทสนทนาทางวิทยุกระจายเสียง, ถ้าท่านมีข้อความใดจะบัญชาลงมายังหนังสือพิมพ์อีกแล้วไซร้ ขอได้โปรดรีบบัญชาลงมาเสียให้หมดสิ้นทีเดียว พวกเราจะได้วินิจฉัยกันเสียทีว่า เราจะเลิกทำงานหนังสือพิมพ์ได้หรือยัง เพื่อที่จะช่วยตัวเราให้พ้นจากทุกขเวทนาที่ต้องมาทนทำสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ทั่วโลกเขาไม่เรียกว่าหนังสือพิมพ์อีกต่อไป.
บัดนี้ เราก็จะต้องเขียนคำแถลงตอบวิทยุกระจายเสียงเป็นคำรบสาม เพราะว่าเมื่อคืนวันอังคาร วิทยุกระจายเสียงยังคงดำเนินการเสียดสีวิพากษ์หนังสือพิมพ์ของเราต่อไป
เราได้กล่าวไว้แต่คำแถลงครั้งแรกแล้วว่า เราไม่ขัดข้องเลยที่วิทยุกระจายเสียงจะวิพากษ์การกระทำของเรา ถ้าการวิพากษ์นั้นได้กระทำไปโดยอารยวิธี เราเสียดายอยู่ข้อหนึ่งก็ที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรมพอในการโต้ตอบ เพราะเหตุไม่มีโอกาสจะใช้เครื่องมืออันเดียวกัน
บัดนี้ เรามีความเสียดายเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง กล่าวคือ ในการโต้ตอบระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรากับวิทยุกระจายเสียงนั้น ทางวิทยุกระจายเสียงดูไม่ใคร่ใส่ใจจะให้เป็นเครื่องเพิ่มพูนปัญญาแก่ผู้ฟังแต่ประการใด เพราะทางวิทยุกระจายเสียงคอยแต่จะหลีกเลี่ยงการโต้ในประเด็นข้อใหญ่ใจความและหลีกเลี่ยงการโต้ด้วยเหตุผล ดังจะเห็นได้ในการพูดเมื่อคืนวันอังคาร วิทยุกระจายเสียงไม่ได้ตอบประเด็นข้อใหญ่ใจความตามที่เราได้กล่าวแก้ไปเลย เช่นในข้อที่เรากล่าวว่า ข้อปรักปรำที่เขาตั้งมาใหม่เป็นอริกับคำพูดของเขาเองที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อ 3 คืนก่อน และในข้อที่เขาปรักปรำว่า เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติจะก่อให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันอีก และเราได้ขอให้เขาชี้ระบุว่ามีข้อความตอนไหนบ้างในเรื่องนั้นที่จะทำให้คณะระบอบเก่าขัดเคือง “จนถึงจะทำให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้น และจะทำให้บ้านเมืองถึงแก่ฉิบหายล่มจมได้”
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงหาได้โต้ตอบประเด็นข้อโต้เถียงข้อใหญ่ใจความทั้งสองข้อนี้ไม่ ผู้พูดได้อวดอ้างว่า เขาตักเตือนเราด้วยเหตุผล แต่ตัวเขาเองสิกลับไม่กล้าเผชิญต่อข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่เราได้เสนอให้เขาพิจารณา
การพูดของเขาเมื่อคืนวันอังคารแทบไม่มีเนื้อหาอะไรที่เราจะต้องนำมาคำนึง เพราะเขาเลี่ยงไปพูดในเรื่องที่ไร้สาระเสียทั้งสิ้น ถึงกระนั้นก็ดี เราก็ใครจะชี้ให้ประชาชนได้เห็นว่า คารมซึ่งแสดงมาตรฐาน ปัญญา และจิตใจของผู้เรียบเรียงบทสนทนาขนาดนั้น สมควรละหรือที่จะปล่อยให้เป็นผู้ใช้เครื่องมือวิทยุกระจายเสียงพูดโฆษณาความคิดของเขาให้ประชาชนฟังอยู่ทุกคืน
เขาว่า เขาตักเตือนเราด้วยหวังดี ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม เพราะฉะนั้น เราจะต้องเชื่อฟังเขาและยอมรับว่าเขาเป็นฝ่ายถูกต้อง
อาศัยหลักเกณฑ์ข้อนี้ของเขา การก็จะเป็นว่า ใคร ๆ ก็ตาม ถ้าได้กล่าวตักเตือนใครโดยมีข้ออ้างว่า “ตักเตือนด้วยหวังดี และด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” แล้ว ผู้ที่ได้รับตักเตือนก็จะต้องเชื่อฟังทีเดียว ถ้าผู้พูดยึดถือหลักเกณฑ์ข้อนี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เมื่อหนังสือพิมพ์ตักเตือนกรมโฆษณาการให้เปลี่ยนตัวผู้เรียบเรียงบทสนทนาเสียใหม่ ซึ่งเป็นคำ “ตักเตือนด้วยหวังดี และด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” แล้ว กรมโฆษณาการก็ควรจะจัดการทันทีเช่นเดียวกันมิใช่หรือ?
เขาว่า ถ้าหนังสือพิมพ์ของเราไม่เชื่อฟังแล้ว ก็เป็นการแสดงว่าเราไม่ฟังเสียงประชาชนและถือตนว่าเป็นผู้ที่ทำอะไรไม่มีผิด
ถ้าเราไม่เชื่อฟังเขาแล้ว ด้วยเหตุอะไรในโลกนี้เล่าเราจึงจะต้องกลายเป็นผู้ที่ถือคติเช่นนั้นไป? เสียงของเขาเป็นเสียงของประชาชนเช่นนั้นหรือ? ว่าตามจริง ถ้าเขาเป็นผู้นับถือเสียงของประชาชนแล้ว เขาก็จะต้องรีบถอนข้อปรักปรำของเราต่อเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เสียทีเดียว เพราะข้อติเตียนปรักปรำของเขาในเรื่องนี้ได้ปรากฏเปิดเผยแล้วว่าเป็นอริต่อเหตุผลและความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง
วิญญูชนโปรดพิจารณาดูเถิดว่า คารมของผู้พูดมีสาระหรือไม่ คารมของผู้พูดแสดงมาตรฐานปัญญาของเขาขนาดไหน? และก็เขาผู้มีมาตรฐานปัญญาขนาดเช่นนี้แหละ คือผู้ที่อวดอ้างแก่เราทั้งหลายว่าเป็นเสียงของทางราชการ เป็นเสียงของรัฐบาล เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยแนะนำ ตักเตือน สั่งสอน พวกเราเหล่าประชาชนทั้งหลาย!
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแถลงอย่างไว้อำนาจว่า วิทยุกระจายเสียงเป็นของราชการ จะยอมให้ใครมาใช้โต้กับผู้พูดไม่ได้ แปลว่า มีไว้เพื่อพูดซึ่งเป็นข้าราชการ จะได้ใช้เล่นงานใครต่อใครได้ข้างเดียว และก็แน่ละ ในการเล่นงานเช่นนั้นก็จะต้องถือว่าเป็นการเล่นงาน “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” เมื่อผู้พูดบริภาษประชาชนที่นุ่งกางเกงแพรว่าเป็นคนป่าเถื่อน และได้พูดจาก้าวร้าวเสียดสีด้วยประการต่าง ๆ นั้น ผู้พูดก็บริภาษ “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” ผู้พูดย่อมจะใช้วิทยุกระจายเสียงบริภาษใครต่อใครได้ทั้งนั้น เมื่อผู้พูดเพียงแต่อ้างว่า “เพื่อประโยชน์ของทางราชการ” หรือ “เพื่อประโยชน์ของชาติ” ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยช่างมีอำนาจกว้างใหญ่ไพศาลนี่กระไร!
เขาว่า การที่จะยอมให้เราได้รับโอกาสใช้วิทยุกระจายเสียงโต้ตอบกับเขานั้นย่อมเป็นสิ่งที่พ้นวิสัย เช่นเดียวกับที่เราย่อมจะไม่ยอมให้เขาได้มาใช้หน้ากระดาษของเราเพื่อที่จะตอบโต้กับเราเองเป็นแน่
ถ้อยแถลงข้อนี้ของเขาทำให้เราแน่ใจยิ่งขึ้นว่า ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นคนที่อยู่กันคนละโลกกับเราทีเดียว และเขามักจะคาดหมายจิตใจของผู้อื่นโดยอาศัยมาตรฐานแห่งจิตใจของเขาเองเสมอ เพราะว่าตามจริงแล้วเราพร้อมที่จะให้หน้ากระดาษของเราต้อนรับข้อโต้ตอบของผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงทุกเมื่อ ถ้าหากเขาจะมีความพอใจ และถ้าหากข้อโต้ตอบของเขาดำเนินตามอารยวิธี เป็นต้นว่าใช้คารมสุภาพพอ
การเปิดโอกาสให้แก่ผู้ซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกับเราได้ใช้หน้ากระดาษของเราเองนั้น มิใช่ว่าเราเพิ่งจะมาบอกอนุญาตให้แก่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก แต่เพราะว่าเป็นวิสัยจิตใจแห่งหนังสือพิมพ์ของเราที่จะแสวงหาเหตุผลและข้อความจริงจากการวิพากษ์โต้เถียงกัน เพื่อที่จะได้ข้อยุตติ (Conclusion) ที่ดีที่สุด เราจึงเปิดโอกาสให้แก่ความคิดเห็นซึ่งแม้ไม่ตรงกับของเรา และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของเรานั้นได้เคยมีลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ของเราอยู่เนือง ๆ นี่เป็นธรรมนิยมแห่งหนังสือพิมพ์ของเราและหนังสือพิมพ์ทั่วโลกที่ดำเนินการโดยอารยชน
ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงคงจะมีความอายใจที่ได้คาดหมายจิตใจของเราผิดไปจากจิตใจของเขา อย่างไรก็ดี ถ้าผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงพูดมุ่งประโยชน์ส่วนรวมจริงแล้ว และมิใช่ตั้งใจมุ่งร้ายหนังสือพิมพ์ของเราและมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแล้ว ก็ชอบที่จะเห็นว่า เราควรได้รับโอกาสอันเป็นธรรมที่จะแสดงความเห็นของเราต่อสาธารณชนโดยทางวิทยุกระจายเสียงได้เหมือนกัน การแลกเปลี่ยนความเห็นกับการด่าหรือทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นของคนละอย่างต่างกัน แต่ดูเหมือนผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงจะมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งทั้งสองนี้และกำลังจะเอาไปปนกัน
ถ้าทางการวิทยุกระจายเสียงถือว่า การวิพากษ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เป็นการวิพากษ์เพื่อสาธารณประโยชน์ จนถึงยอมให้เจ้าหน้าที่ใช้วิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลวิพากษ์ได้แล้ว ทางการวิทยุกระจายเสียงก็ควรจะถือว่า การโต้ตอบข้อวิพากษ์เป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ และดังนั้นก็ควรจะให้หนังสือพิมพ์ของเราได้รับโอกาสใช้วิทยุกระจายเสียงเช่นเดียวกัน เราเชื่อว่า ท่านอธิบดีกรมโฆษณาการคงจะไม่คิดเห็นไปว่า มีแต่เจ้าหน้าที่ในกองวิทยุกระจายเสียงเท่านั้นที่มีหัวคิดพอที่จะใช้วิทยุกระจายเสียงเพื่อสาธารณะประโยชน์ได้
ตามที่ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้พูดอยู่เนือง ๆ ว่า เขาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้ความดิบความดีในทางส่วนตัวเลยนั้น ขอให้เลิกพูดกันเสียที มันเป็นเรื่องน่าละอายแก่ใจ เพราะผูพูดเป็นข้าราชการกินเงินเดือนอย่างงดงามอยู่แล้ว และก็หวังความเจริญก้าวหน้าในทางส่วนตัวเพราะการพูดอยู่แล้ว ว่าตามจริงหนังสือพิมพ์เสียอีกอยู่ได้ด้วยความสนับสนุนของประชาชนแท้ ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์ทำอะไรโง่ ๆ บ้า ๆ ลงไปแล้ว ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ทีเดียว เช่น ถ้าเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เป็นเรื่องเหลวแหลกจนถึงจะก่อให้เกิดการจลาจลรบราฆ่าฟันกันขึ้นแล้ว ประชาชนย่อมจะเลิกอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเราจนถึงต้องล้มไปเป็นแน่ หรือถ้าคำแถลงอย่างโง่ ๆ บ้า ๆ ไม่เป็นรสเป็นเรื่องแล้ว ประชาชนก็จะเลิกอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเราเช่นเดียวกัน แต่ถ้าผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงพูดอะไรออกมาอย่างเหลว ๆ ดั่งที่ประชาชนและหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เคยแสดงความไม่พอใจมาแต่ก่อนและกำลังแสดงอยู่ในบัดนี้ ผู้พูดก็ยังใช้วิทยุกระจายเสียงพูดอยู่ได้ทุกคืน ไม่ว่าประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม กองการกระจายเสียงก็ไม่ล้มไปเป็นแน่!
เพราะฉะนั้น ขอผู้พูดจงสังวรณ์อย่าพูดพล่ามในเรื่องทำงานตามมติประชาชนและทำงานเพื่อชาตินักเลย คำว่าชาติจะกลายเป็นของที่เปล่าสาระไป ผู้พูดยิ่งตะโกนดังออกไปเท่าใด ก็จะยิ่งแสดงถึงความว่างเปล่าภายในคำพูดมากเท่านั้น
เมื่อคืนวันพุธ วิทยุกระจายเสียงยังคงดำเนินการวิพากษ์เสียดสีหนังสือพิมพ์ของเราต่อไปเป็นคำรบสี่ การที่ผู้พูดใช้เครื่องมือโฆษณาทางราชการพูดวิพากษ์เสียดสีหนังสือพิมพ์ของเรามาได้ 4 คืน รวมทั้งที่ได้กล่าววาจาก้าวร้าวเสียดสีหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อีก 1 คืนเป็น 5 คืนนั้น ประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็พิศวงงงงวยไปตาม ๆ กันในนโยบายของการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ดี คารมของผู้พูดเมื่อคืนวันพุธก็เป็นสิ่งซึ่งปราศจากเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับคืนก่อน ข้อนี้เองที่ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย เอือมระอา และรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์จากการฟังเสียเลย เวลาอันมีค่ายิ่งในการกระจายเสียงบทสนทนาก็ได้ล่วงไปโดยไร้ประโยชน์และทิ้งความเอน็ดอนาถไว้เบื้องหลัง
ในระยะ 2–3 วันนี้ เสียงหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเสียงของประชาชนโดยแท้นั้น ได้แสดงความไม่พอใจในบทสนทนาของนายมั่น–นายคงทวีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ก็มีปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ คือ “ไทยใหม่” “เสียงไทย” “หลักเมือง” “ไทยหนุ่ม” “หญิงไทย” “ประชามิตร” “ประชาชาติ” และ “วารศัพท์” รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับแล้ว
ทั้งที่มีเสียงหนังสือพิมพ์แสดงความไม่พอใจในบทสนทนาของนายมั่น นายคง อย่างเกรียวกราวปานนี้แล้ว ผู้พูดก็ยังปิดหูปิดตาพูดอย่างหน้าเฉยตาเฉยอยู่ได้บ่อย ๆ ว่า “ขอให้หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” จงฟังเสียงประชาชนดูบ้าง “เราต้องยอมรับว่า เขาใช้สีข้างของเขาเก่งจริงในการที่ให้คำเตือนแก่เราเช่นนี้
โดยที่ได้มีเสียงในหนังสือพิมพ์ ทั้งที่เป็นเสียงของหนังสือพิมพ์เอง และเสียงของประชาชนคนอ่านรวมกัน แสดงความไม่พอใจแพร่หลายออกไปเช่นนี้” ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงจึงมีความกังวลใจเป็นอันมาก ดังนั้น ในคืนวันพุธ เขาจึงแสดงสิ่งที่เขาเรียกของเขาเองว่า “ศิลปในการโฆษณา” ออกมาอีกครั้งหนึ่ง คือ ศิลปในการกลับถ้อยคำของเขาหรือกลืนถ้อยคำของเขาเองที่เขาได้กล่าวไว้เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 15
ในคืนวันนั้น เขาได้กล่าววาจาก้าวร้าวเสียดสีหนังสือพิมพ์ที่คัดค้านคำชักชวนของเขาในเรื่องให้บุรุษไทยเลิกนุ่งกางเกงแพรและผ้านุ่งโจงกระเบน เขาว่า หนังสือพิมพ์คัดค้านเขาก็ด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยประสงค์จะได้สตางค์มาก ๆ ในการขายหนังสือพิมพ์เท่านั้น หนังสือพิมพ์ไม่มีอุดมคติในการคัดค้านแต่ประการใด ท่านผู้เรียบเรียงบทสนทนาดูหายใจเป็นเรื่องบาทสตางค์ไปเสียหมด ในหัวคิดจิตใจของท่านเต็มไปด้วยเรื่องบาทสตางค์เสียจริง ๆ ดูท่านช่างไม่คิดเสียเลยว่า ความอภิรมย์ในชีวิตนั้นจะมีอะไรได้อีกนอกจากเรื่องบาทสตางค์อย่างเดียว!
ผู้พูดได้กล่าวบริภาษหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อยู่เมื่อ 3 คืนก่อนนี่เอง ต่อมาในวันพุธ เขาเห็นว่าไม่เข้าที เพราะดูอาการหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เริ่มจะต่อต้านการคุกคามของเขาอีกแล้ว เขาก็กลับคำพูดเสียทันทีโดยชี้แจงว่า ขอหนังสือพิมพ์อื่น ๆ อย่าเดือดเนื้อร้อนใจไปเลย หนังสือพิมพ์อื่น ๆ ไม่ได้ก่อกวนความยุ่งยากอะไร จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” และ “ประชามิตร” 2 ฉบับเท่านั้น
แต่ถ้อยคำบริภาษหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่เขากล่าวเมื่อคืนวันอาทิตย์ยังก้องกังวาฬอยู่ในหูของนักหนังสือพิมพ์ทั่วไป นี่แหละคือสิ่งที่ผู้เรียบเรียงบทสนทนาเรียกว่า “ศิลปในการโฆษณา” ศิลปในการกลับกลืนคำของผู้พูดเอง! และก็เขาผู้เดียวกันนี้แหละได้ประกาศตนว่าเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งนั้งจากราชการให้คอยประทานโอวาทานุศาลน์แก่พวกเราเหล่าประชาชนทั้งหลายโดยทางวิทยุกระจายเสียงทุกคืน!
เพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมหนังสือพิมพ์ทั้งหลายมิให้มาโต้เถียงกับเขาอีกต่อไป ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า นิ้วไหนร้ายก็จะตัดแต่นิ้วนั้น และนิ้วร้ายที่เขาต้องการจะตัดก็คือ “นิ้วสุภาพบุรุษ” และ “ประชามิตร”
บัดนี้ ผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงก็ได้สำแดงเจตนาของเขาที่มีต่อหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ออกมาโดยเปิดเผยแล้วว่ามีอยู่ประการใด โดยที่ประชาชนมิต้องเดาด้วยความฉงนสนเท่ห์อีกต่อไป เดิมทีก็อาจมีใคร ๆ ซึ่งรวมทั้งคณะของเราด้วยเชื่อตามที่เขากล่าวว่า เขาออกความเห็นแนะนำในเรื่องนี้ด้วยความหวังดี แล้วแต่เมื่อคืนวันพุธ ผู้พูดได้ประกาศเจตนาอันแท้จริงของเขาออกมาว่า เขาต้องการจะกำจัดหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เขาถือว่า หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เป็นนิ้วที่เขาเรียกว่า “นิ้วร้าย” ในวงการหนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เป็นนิ้วร้ายในสายตาของเขา ก็เพราะว่าหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ไม่อยู่ในโอวาทและไม่อยู่ในบังคับบัญชาความเชื่อฟังของเขา เพราะว่าหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” เคยคัดค้านความคิดเห็นของเขา
ประชาชนเมื่อได้ฟังเขาประกาศว่าจะตัดหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ออกจากวงการหนังสือพิมพ์เพราะเหตุผลอันประหลาดดังกล่าวแล้ว ก็คงจะตลึงจังงังไปเท่านั้น
ถ้าหากจะมีผู้ใคร่ทราบว่า คณะของเราเล่ารู้สึกอย่างไรในคำประกาศของเขา เราก็ขอปล่อยให้กิจการงานประจำวันของเราเป็นผู้ตอบปัญหาข้อนี้ต่อไป