เหตุใดจึงปล่อยให้ใช้วิทยุกระจายเสียง
ก่อการวิวาทกับเอกชนเช่นหนังสือพิมพ์

เมื่อตอนเที่ยงวันวานนี้ได้มีข่าวแพร่สะพัดอยู่ในวงการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมู่หนึ่ง ซึ่งในขณะที่ทราบข่าวนั้นว่ามีจำนวนประมาณ 30 นาย ได้เข้าชื่อกันยื่นหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีให้นำเสนอท่านนายกรัฐมนตรีเกี่ยวด้วยขอบเขตอำนาจของผู้เรียบเรียงบทสนทนาของนายมั่น–นายคงออกโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง

ข้อเสนอถามอันนี้ ตามที่เจ้าหน้าที่ข่าวของเราสืบทราบมา มีหัวข้อคำถามอยู่ 3 ข้อ มีใจความดังต่อไปนี้

ข้อ1.ทางราชการได้วางนโยบายไว้อย่างไรในการจัดให้มีการสนทนาระหว่างนายมั่น นายคง ทางวิทยุกระจายเสียง

ข้อ2.ตามที่นายมั่น–นายคงวิพากษ์การกระทำของมิสเตอร์ฮอเบลิซา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ และมิสเตอร์วินสตัน เชอชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกี่ยวกับการถามและตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ พาดพิงมาถึงการจำกัดเสรีภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยนั้น รัฐบาลเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่สนทนาทางวิทยุกระจายเสียงเป็นการเหมาะสมละหรือ

ข้อ3.เหตุใดทางราชการจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้วิทยุกระจายเสียงมาดำเนินการก่อการพิพาทกับองค์การของเอกชนเช่นที่กำลังปฏิบัติต่อหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ในกรณี “เรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติ”

ข้อเสนอถามท่านนายกรัฐมนตรีของบรรดาสมาชิกดังกล่าวนี้ เมื่อบ่ายวันวาน เราได้สอบถามไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่ได้รับข้อถามนั้น แต่เป็นที่คาดหมายกันว่า ข้อเสนอถามของบรรดาสมาชิกคงจะไปถึงมือสำนักนายกรัฐมนตรีโดยด่วน

คำร้อง “มั่น–คง” ส่งถึงเลขานายกแล้ว
สมาชิกว่า เบื้องหลังการปฏิวัติเป็นเรื่องปรกติ

ตามที่ได้เสนอข่าวไว้แต่วันวานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎมีจำนวนประมาณ 30 นายได้เข้าชื่อกันมีหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาการกระทำอันไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้พูดทางวิทยุกระจายเสียงนั้น เจ้าหน้าที่ข่าวของเราได้พบกับสมาชิกสภาผู้หนึ่งซึ่งได้ร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งได้ให้คำตอบรับรองข่าวเรื่องนั้น และได้แถลงเพิ่มเติมว่า บรรดาสมาชิกสภาได้ยื่นคำร้องเรียนดังกล่าวแล้วต่อนายจิตตเสน ปัญจะ เลขานุการนายกรัฐมนตรี แต่ในวันที่ 19 เป็นที่คาดหมายกันว่า หนังสือร้องเรียนคงจะไปถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว

เกี่ยวกับเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นั้น เจ้าหน้าที่ข่าวของเราได้รับการชี้แจงว่า บรรดาสมาชิกสภาได้แสดงความเห็นไว้ในหนังสือร้องเรียนด้วยว่า ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสอ่านเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” แต่ต้นตลอดมา เห็นว่า เป็นบันทึกข้อความจริงตามทำนองของประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่เห็นมีข้อเสียหายประการใด การที่เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้โฆษณาข้อปรักปรำกล่าวหาเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ไปในทางแง่ร้ายต่าง ๆ อันเป็นทางก่อการทะเลาะวิวาทกับราษฎรนั้น เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลและไม่พึงกระทำอีกต่อไปเลย

ผลแห่งการวินิจฉัยของท่านนายกรัฐมนตรีต่อการร้องเรียนของบรรดาสมาชิกสภาจะเป็นประการใด เจ้าหน้าที่ข่าวของเราจะได้รายงายข่าวคืบหน้าต่อไป

คำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี เรื่อง การสนทนา
ระหว่างนายมั่นกับนายคงทางวิทยุกระจายเสียง

ตามที่นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ พร้อมด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 19 นายได้ร่วมกันทำหนังสือยื่นต่อท่านนายกรัฐมนตรี แสดงข้อข้องใจบางประการเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย นั้น บัดนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือชี้แจงไปยังนายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ แล้ว ดังสำเนาหนังสือต่อไปนี้

สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ชี้แจงเรื่องการสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงทางวิทยุกระจายเสียง
จาก นายกรัฐมนตรี
ถึง นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ ส.ส.

หนังสือของท่านและท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 19 นาย ลงวันที่ 18 เดือนนี้ แสดงข้อข้องใจบางประการเกี่ยวกับการสนทนาระหว่างนายมั่น ชูชาติ กับนายคง รักไทย นั้น ได้รับทราบแล้วด้วยความยินดี และขอบคุณ ขอรับไว้พิจารณาต่อไป

แต่ใคร่จะขอชี้แจงว่า การสนทนาก็ดี ผู้เขียนมาสนทนาก็ดี ต่างย่อมมุ่งหวังในทางที่ดี มิได้เจตนาอื่นเจือปนเลย เมื่อเขาเห็นว่าสิ่งที่จะกล่าวเป็นประโยชน์ จึงได้จัดทำเป็นบทสนทนาขึ้น ส่วนเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัตินั้น เขามีประสงค์เพียงแต่ให้หนังสือพิมพ์เลิกโฆษณาเท่านั้น เพราะเห็นว่าจะเป็นโทษมากกว่าคุณ ส่วนโทษที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ คนไทยต้องมาทะเลาะกันเอง และข้าพเจ้าเองก็ต้องรับคำตักเตือนจากท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฐานเป็นหัวหน้าราชการ เมื่อหนังสือฉบับนั้นเลิกลงเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติแล้ว การสนทนาได้เลิกไปเองในตัว ข้าพเจ้าทราบดีว่า การสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงนั้นย่อมจะมีผู้ไม่ชอบบ้าง เพราะเป็นปากเสียงของทางราชการแก้ข่าวต่างประเทศอยู่เนือง ๆ ถ้าทางต่างประเทศได้แฝงมาให้ความเห็นแก่พวกเรา โดยพวกเรารับเข้าได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบเรื่องราว ก็เป็นธรรมดาที่การสนทนาจะต้องถูกตำหนิ ท่านเองก็จะเห็นได้แล้วว่า การสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงได้ทำลายการโฆษณาชวนเชื่อของต่างประเทศที่ไหลบ่าเข้ามาให้ค่อยคลายหายไป ซึ่งแสดงอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดศัตรู ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับกองทัพไทยซึ่งต่างประเทศย่อมไม่ชอบและคอยแต่จะคิดทำลายเสียเป็นธรรมดา ยิ่งอินโดจีนฝรั่งเศสด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องการทำลายอย่างมากที่สุด ฉันใดก็ดี การสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงก็ฉันนั้น การสนทนาระหว่างนายมั่นกับนายคงเท่ากับเป็นปากเสียงของชาติ คอยต่อสู้ทุกทางมิให้ใครมาทำลายชาติของเราด้วยการโฆษณาชวนเชื่อได้ จึงต้องถูกเขาชังตลอดเวลา

ในส่วนสถานการณ์ภายในประเทศนั้น ท่านย่อมทราบแล้วว่า เราได้เปลี่ยนการปกครองมายังไม่ถึง 10 ปี ย่อมยังมีผู้นิยมระบอบเก่าคอยคิดทำลายรัฐบาลอยู่ ฉะนั้น จึงไม่มีปัญหาอันใดที่จะต้องมาใส่ร้ายกันบ้างเป็นธรรมดา ทางราชการได้ฟังการสนทนานี้สอนผู้คิดมิชอบและเป็นการปรับความเข้าใจด้วยภาษาง่าย ๆ แก่พี่น้องชาวไทย เมื่อการสนทนาเป็นการทำลายพิธีโฆษณาชวนเชื่อเสียดังนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องถูกตำหนิด้วยวิธีต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีสิ่งลี้ลับอยู่มากมายซึ่งเหลือที่จะนำมาเผยแพร่ให้แก่ประชาชนได้ทราบเพื่อจะได้ช่วยกันป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อจากทิศทางต่าง ๆ ได้ เสียงโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวแล้วเป็นเสียงที่ข้าพเจ้าวิตกอยู่อย่างยิ่งและใคร่จะเรียนให้ทราบว่าสุดความสามารถที่จะยับยั้งไว้ได้แล้ว เพราะบ่อเกิดของการโฆษณาชวนเชื่อย่อมมาจากทุกทิศทุกทางทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนผู้รับโฆษณาชวนเชื่อคือพี่น้องของเราซึ่งยังไหวไม่ทันเช่นในต่างประเทศเขา ครั้นจะพูดว่ากล่าวกันขึ้น ก็เป็นการดูหมิ่นชาติเดียวกัน ทางราชการกลับถูกหาว่าโง่บ้าง หลู่เกียรติบ้าง ลบล้างเสรีภาพบ้าง ในที่สุดรัฐบาลก็ไม่มีทางจะทำอะไรลงไปได้ นอกจากปล่อยไป และพยายามเอาชีวิตร่างกายเข้าแลกเป็นบาปกรรมอย่างที่นายมั่น–นายคงได้ทำอยู่ทุกวันนี้

ขอท่านได้โปรดช่วยชี้แจงให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 19 นายได้ทราบด้วย

ขอแสดงความนับถือ
(ลงนาม) พิบูลสงคราม