อ่อนโยนเหมือนแกะ กล้าหาญเหมือนสิงห์

ในวันหนึ่งในปี พ.ศ. 2470 บนถนนในบริเวณโรงเรียนนายร้อยทหารบก ข้าพเจ้าได้เดินสวนทางกับนายทหารปืนใหญ่ผู้หนึ่ง ร่างใหญ่ เดินก้มหน้า กิริยาเสงี่ยม ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังว่า ท่านผู้นั้นคือนายพันโท พระสรายุทธสรสิทธิ์ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก กิริยาอาการของท่านผู้นี้ต่างกับอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารอีกผู้หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยพบบนถนนในบริเวณโรงเรียนนายร้อยทหารบกเช่นเดียวกัน ท่านอาจารย์ใหญ่อีกคนหนึ่งมักจะเดินเคียงคู่ไปกับนายพลตรี พระยารามรณรงค์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันที่สโมสร ท่านผู้นี้เดินตัวตั้งตรง ใส่หมวกเอียงน้อย ๆ หน้าเชิดนิดหน่อย และชอบเดินคุยมาในระหว่างทาง ดูเป็นคนพากภูมิ

ท่านอาจารย์ใหญ่คนหลังนี้คือนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้เป็นเสนาธิการของคณะก่อการปฏิวัติ ท่านอาจารย์ใหญ่คนแรก นายพันโท พระยาสรายุทธสรสิทธิ์ ผู้มีกิริยาเสงี่ยมคนนั้นเอง ได้กลายมาเป็นนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะก่อการปฏิวัติอันมีนามว่า “คณะราษฎร”

ถึงแม้จะได้เคยพบเคยเห็นท่านหัวหน้าคณะราษฎรมาแต่ พ.ศ. 2470 แล้วก็จริง แต่ข้าพเจ้าไม่เคยได้วิสาสะกับท่านผู้นี้เลย จนกระทั่งในราวกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ท่านได้ลาออกจากคณะรัฐบาลพระยามโหนฯ วันหนึ่งหรือ 2 วัน ในครั้งนั้น ข่าวที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” จั่วหัวว่า “สี่ทหารเสือลาออก” นั้น เป็นข่าวตื่นเต้นและกระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชนอย่างแรง เพราะว่าในต้นเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม ผู้เป็นมิ่งขวัญแห่งระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องออกจากคณะรัฐบาลไปคนหนึ่งแล้ว อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกสั่งปิด และยังมีข่าวสี่ทหารเสือลาออกอีกเล่า ประชาชนก็พากันวิตกหวั่นหวาดว่า ระบอบประชาธิปไตยเห็นจะไปไม่ถึงฝั่งเป็นแน่ และคงจะอับปางลงในไม่ช้า

ในชั่วโมงแห่งความเป็นหรือตาย ในชั่วโมงแห่งการอยู่หรือรอดของระบอบประชาธิปไตยนี้เอง ข้าพเจ้าได้รับโอกาสเป็นครั้งแรกสนทนาวิสาสะกับท่านเชษฐบุรุษ ประมุขคณะราษฎร กิริยาเสงี่ยมสุภาพที่ข้าพเจ้าเคยพบที่ท่านนายพันโท พระยาสรายุทธสรสิทธิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2470 นั้น ข้าพเจ้ายังคงได้พบอยู่อย่างบริบูรณ์ เมื่อได้มานั่งอยู่ต่อหน้านายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ในตอนเช้าของวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476

เมื่อได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะกับท่านผู้นี้แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า กิริยาอาการที่ท่านต้อนรับ และน้ำคำที่ท่านได้กล่าวคำปราศรัยต่อข้าพเจ้านั้น ยังแสดงให้เห็นความสุภาพอย่างน่าจับใจยิ่งไปกว่าจะเห็นได้จากกิริยาการภายนอกเสียอีก ท่านเจ้าคุณทราบอยู่ดีแล้วว่า หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” เป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนอุดมคติของคณะปฏิวัติอย่างเต็มกำลังอย่างไม่คำนึงถึงภัยใด ๆ ดังนั้น จึงได้ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าเพื่อสนทนากับท่านได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าท่านจำเป็นจะต้องระมัดระวังถ้อยคำตามสมควรในการตอบข้อถามของข้าพเจ้าเพื่อนำไปลงหนังสือพิมพ์ก็ดี แต่อาการกิริยาของท่าน และถ้อยคำบางตอนที่ท่านได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าเป็นการเฉพาะตัวและข้าพเจ้ามิได้นำมาลงพิมพ์นั้น เป็นการเปิดเผยพอที่ข้าพเจ้าจะทราบได้ว่า การลาออกของท่านนั้นเป็นการลาออกด้วยความขมขื่นใจอย่างที่สุด คำตอบของท่านประโยคหนึ่งที่ให้แก่ข้าพเจ้าว่า “ท่านเป็นโรคเจ็บปวดที่หัวใจ” และถ้อยคำของท่านประโยคนั้น เมื่อได้นำลงในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” แล้ว ก็เป็นดั่งสัญญาณบอกกล่าวอาการของโรคที่ไม่ปรากฏในใบลา

การที่ข้าพเจ้าได้รับโอกาสสนทนาวิสาสะกับท่านหัวหน้าคณะราษฎร ณ ที่บ้านตำบลบางซื่อนั้น ข้าพเจ้าได้พบลักษณะนิสัยอันเป็นที่จับใจในท่านผู้นี้หลายประการ ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง เหมาะจะเป็นผู้นำคณะในยามเสี่ยงชีวิตจริง ๆ เป็นผู้ที่ห่วงใยในระบอบประชาธิปไตยซึ่งท่านได้เป็นผู้นำในการประดิษฐานจริง ๆ เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับท่านอีกครั้งหนึ่งในเช้าวันที่ 19 มิถุนายน และระหว่างที่ข้าพเจ้ากำลังสนทนาอยู่กับท่านที่บ้านบางซื่อ และพวกเราคนหนึ่งได้นำคำสั่งปิดโรงพิมพ์ “ประชาชาติ” ไปเสนอแก่ข้าพเจ้าต่อหน้าท่านนั้น เสียงที่ท่านร้องออกมาด้วยความคั่งแค้นในเวลานั้นยังกังวานอยู่ในหูของข้าพเจ้าตลอดมา

เมื่อเสือคำรามแล้ว ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 มิถุนายน ข้าพเจ้าก็ได้ทราบว่า พระยาพหลฯ ได้นำคณะยึดอำนาจการปกครองเป็นคำรบสองด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันของคณะนายทหารหนุ่มอันมีนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นประธาน ซึ่งในภายหลังท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และได้ก้าวขึ้นสู่ความสำคัญเป็นลำดับมา

แต่ความดลใจอะไรเล่า เหตุอะไรเล่า ที่บรรดาลให้พระยาพหลฯ คิดเปลี่ยนการปกครองและยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน วันที่ประชาชาติไทยได้รับยกย่องเป็นวันชาติ? ข้าพเจ้าจะบรรยายให้ท่านฟังในวันต่อไป

มูลเหตุจูงใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ความคิดที่จะปฏิวัติระบอบการปกครองนนได้เกิดขึ้นก่อนหน้าลงมือเปลี่ยนการปกครองเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2–3 ปี ยิ่งทางฝ่ายคณะพลเรือน คือ คณะหลวงประดิษฐ์ฯ นั้น ท่านได้รับทราบว่า ได้คิดกันมาตั้งแต่ยังอยู่เมืองนอกเป็นเวลาตั้ง 6–7 ปี เมื่อได้รับข้อถามว่า มีเหตุอะไรดลใจให้ท่านคิดเปลี่ยนการปกครอง เจ้าคุณพหลฯ ตอบว่า “ผมเป็นทหาร เหตุทางฝ่ายผมจึงได้เริ่มมาจากหน้าที่ทางการทหารของผม”

ในเบื้องต้นทีเดียว เกิดความรู้สึกว่า ราชการบ้านเมืองในเวลานั้น ดูพวกข้าราชการผู้ใหญ่และพวกเจ้านายทำกันตามอำเภอใจ ไม่ใคร่จะเอาใจใส่ในความเห็นของผู้น้อย ซึ่งแม้ว่าจะมีเหตุผลควรเชื่อถือก็ตาม พวกผู้ใหญ่มักจะถือเสียว่า ความเห็นของผู้น้อยนั้นจะดีหรือไม่ดีไม่สำคัญ หากสำคัญอยู่ที่ว่าจะถูกใจท่านหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกผู้น้อยซึ่งอาจมีสติปัญญาดี ๆ ก็เกิดความท้อถอย ไม่อยากแสดงความคิดความเห็น ทั้ง ๆ ที่เชื่อแน่ว่าจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และเมื่อการบริหารราชการบ้านเมืองดำเนินไปตามความเห็นของพวกผู้ใหญ่ไม่กี่คน ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างเก่า ๆ และแคบ ๆ ด้วยแล้ว ก็อาจชักนำให้บ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย

ตามประวัติการศึกษาของพระยาพหลฯ แสดงว่าท่านเป็นผู้มีการศึกษาอย่างดี กล่าวคือ เมื่อศึกษาอยู่ในโรงเรียนทหารบกนั้น จากผลแห่งการสอบไล่ซึ่งได้เป็นที่ 1 ท่านได้รับทุนเล่าเรียนของรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาต่อที่เยอรมันนีเมื่อ พ.ศ. 2447 ครั้นสำเร็จวิชาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่นั่นแล้ว ก็ยังได้รับการฝึกฝนราชการทหารอยู่ในกองทัพบกเยอรมันอยู่จนถึงปลายปี พ.ศ. 2455 จึงได้ไปศึกษาวิชาเฉพาะต่อไปอีกในเดนมาร์ก รวมเวลาที่ท่านได้ใช้ศึกษาวิชาการในต่างประเทศรวม 10 ปี

เมื่อได้รับการศึกษามาอย่างดีเช่นนี้ และทั้งเมื่อกลับเข้ามารับราชการในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว ก็ยังเอาใจใส่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ก็เป็นธรรมดาในระหว่างที่รับราชการ พระยาพหลฯ ย่อมจะใส่ใจในความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเป็นอันมาก และถ้าความคิดความเห็นที่ได้แสดงออกไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองไม่ได้รับความนำพาจากผู้ใหญ่แล้ว ก็คงจะไม่พอใจเป็นแน่

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ความรู้สึกไม่พอใจอย่างแรงอันแรกเกิดขึ้นเนื่องในการประชุมประจำปีของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นในปี พ.ศ. 2473 หรือก่อนนั้นท่านจำไม่ได้แน่ การประชุมปรึกษาข้อราชการประจำปีที่กระทรวงกลาโหมนั้นมีประเพณีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานเป็นจอมทัพ ทรงนั่งเป็นประธาน ในที่ประชุมประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่พวกแม่ทัพและผู้บัญชาการต่าง ๆ ชั้นนายพลประมาณไม่ต่ำกว่า 30 คน ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เข้าร่วมในการประชุมด้วยในตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ท่านกล่าวว่า ท่านเป็นผู้อ่อนอาวุโสที่สุดในที่ประชุม การประชุมนายทหารผู้ใหญ่ประจำปีเช่นนี้เป็นการประชุมเพื่อจะฟังความคิดความเห็นนายทหารผู้ใหญ่ในเรื่องทั่ว ๆ ไปในราชการทหาร พระยาพหลฯ ได้เสนเรื่องสำคัญให้ที่ประชุมพิจารณา 2 เรื่อง ท่านจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่จำได้แน่นอนว่า ได้รับการโต้แย้งคัดค้านจากพระยาสุรเสนา เจ้ากรมเกียกกาย เมื่อได้ตอบโต้กันอยู่พักหนึ่ง ปรากฏว่า ความเห็นของเจ้าคุณพหลฯ มีน้ำหนักเป็นที่พอใจของที่ประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อนายทหารผู้ใหญ่ได้คัดค้านความเห็นของท่าน องค์จอมทัพผู้เป็นประธานก็ให้ถือตามความเห็นของผู้มีอาวุโส เรื่องสำคัญสองเรื่องที่ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เสนอขึ้นในท่ามกลางที่ประชุมนายทหารผู้ใหญ่ชั้นนายพลนั้นก็เป็นอันตกไป

อีกครั้งหนึ่ง มีเรื่องรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอขายปืนสโตร๊คบันให้แก่กองทัพไทย ท่านจเรทหารปืนใหญ่เป็นผู้ที่อ่านหนังสือว่าด้วยการทหารของเยอรมันอยู่เป็นนิจ ความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธยุทธภัณฑ์ จึงไม่ใคร่จะผ่านความรู้ของท่านไปได้ และเกี่ยวกับปืนสโตร๊คบันที่ฝรั่งเศสได้เสนอขายให้แก่กองทัพไทยนี้ พระยาพหลฯ ได้ทราบว่า เป็นปืนที่ได้ออกใช้ตั้งแต่ครั้งมหายุทธสงคราม ค.ศ. 1914–1918 ซึ่งเมื่อตกมาถึงสมัยนี้ก็นับว่าเป็นปืนที่ล้าสมัยเสียแล้ว ดังนั้น ในการประชุมนายทหารผู้ใหญ่เพื่อปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งมีกรมขุนสิงห์ฯ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ประกอบด้วยนายทหารผู้ใหญ่หลายท่าน มีหม่อมเจ้าอลงกฏ พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาเสนาสงคราม พระยาเสนีณรงค์ฤทธิ์ พระยาอภัยสงคราม (ท่านผู้นี้เวลานี้เป็นกรรมการที่ปรึกษาป้องกันพระราชอาณาจักร) และนายทหารผู้ใหญ่อื่น ๆ อีก โดยที่ได้รู้ประวัติของปืนสโตร๊คบันดังกล่าวแล้ว เจ้าคุณพหลฯ จึงได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า ปืนสโตร๊คบันเป็นปืนที่ล้าสมัย ไม่สมควรจะซื้อไว้ใช้ในกองทัพไทย ถึงแม้จะได้อ้างหลักฐานประกอบคำชี้แจงแล้วก็ดี แต่ก็ไม่ได้รับความสนับสนุนจากที่ประชุม เป็นอันว่าความเห็นของนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่ยังเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้อยู่นั่นเอง แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ประกอบด้วยหลักฐานและเหตุผลก็ตาม

เมื่อเอ่ยนามพระยาอภัยสงคราม เจ้าคุณพหลฯ หัวเราะแล้วพูดว่า “ผมจำได้ดีว่า ในครั้งนั้น เมื่อเลิกประชุมแล้ว ผมยังได้พูดต่อว่าพระยาอภัยสงครามว่า ทำไมไม่ช่วยกันคัดค้านเล่า พระยาอภัยฯ ยังได้ตอบว่า ก็อยากจะช่วยค้านเหมือนกัน แต่เห็นว่าจะค้านไปก็ไม่ไหว จึงเลยนิ่งเสีย”

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เล่าต่อไปว่า ต่อมาในคืนวันหนึ่ง ก็มีการกินเลี้ยงกันในบรรดานายทหารผู้ใหญ่ที่วังพญาไท ซึ่งมีทูตทหารฝรั่งเศสร่วมรับประทานอยู่ด้วย เจ้าคุณพหลฯ ได้โอกาสจึงถามทูตทหารฝรั่งเศสตามตรงว่า “ปืนที่รัฐบาลของท่านเสนอขายให้แก่กองทัพไทยนั้น เป็นปืนรุ่นเก่าแต่ครั้งมหาสงครามใช่หรือไม่” ท่านทูตผู้นั้นอึกอักอยู่ครู่หนึ่งแล้วกลับย้อนถามว่า “ท่านทราบได้อย่างไรเล่า” เจ้าคุณพหลฯ จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าทราบเพราะว่าข้าพเจ้าศึกษาความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของอาวุธต่าง ๆ จากหนังสือข่าวทหารต่างประเทศอยู่เสมอ” เมื่อได้รับการยืนยันเช่นนั้น ทูตทหารฝรั่งเศสจึงยอมรับว่าเป็นความจริง เจ้าคุณพหลฯ จึงถามต่อไปว่า “เมื่อท่านเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ปืนสโตร๊คบันเป็นอาวุธที่ล้าสมัยดังนั้นแล้ว เหตุใดจึงเสนอขายให้แก่กองทัพของเราเล่า? ท่านมิได้คิดหรือว่า กองทัพไทยก็ควรจะมีอาวุธที่ทันสมัยไว้ใช้ในการป้องกันประเทศของตน” ทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นตอบเลี่ยงไปว่า “ข้าพเจ้าไม่คิดว่า เมืองไทยจะต้องรบกับใคร ในเวลานี้กองทัพไทยควรจะมีอาวุธก็แต่สำหรับใช้ปราบการจลาจลภายในบ้านเท่านั้น และถ้าเพื่อความประสงค์ข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็คิดว่า ปืนสโตร๊คบันจะทำประโยชน์ได้อย่างเป็นที่พอใจทีเดียว”

เริ่มแก้ปัญหา

ปืนสโตร๊คบันที่ทูตฝรั่งเศสกล่าวว่า เหมาะสำหรับใช้ปราบการกบฎจลาจลภายในบ้านเมืองนั้น เมื่อฝรั่งเศสรบกับไทยในการพิพาทเรื่องดินแดนคราวนี้ ฝรั่งเศสก็ได้นำออกใช้ต่อสู้กับไทยด้วย ชะรอยฝรั่งเศสจะคิดว่า การรบกับไทยนั้นไม่แตกต่างกับการปราบกบฎภายในกี่มากน้อยกระมัง แต่อย่างไรก็ดี ผลที่สุด ฝรั่งเศสก็ได้รับบทเรียนแล้วว่า การรบกับไทยนั้นเป็นการจำเป็นอยู่ที่ฝรั่งเศสจะต้องจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยสักหน่อย

อย่างไรก็ดี ตามที่ท่านทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นได้แสดงความเห็นว่า ปืนสโตร๊คบันเหมาะสำหรับใช้การปราบกบฎจลาจลภายในบ้านเมืองนั้น เมื่อเขาได้ทราบในภายหลังแล้วว่า นายพันเอกทหารปืนใหญ่ผู้คัดค้านการซื้อปืนสโตร๊คบันนั้นเองในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติดังนี้แล้ว เขาคงจะตื่นเต้นและพิศวงเป็นอันมากทีเดียว ในที่สุด เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองแล้ว และกองทัพไทยก็มิได้พิจารณาซื้อปืนสโตร๊คบันของฝรั่งเศสไว้ใช้นั้น ท่านทูตทหารฝรั่งเศสผู้นั้นคงจะไม่ประหลาดใจเลย

หลังจากที่ท่านนายพันเอกทหารปืนใหญ่ได้ฟังคำตอบของทูตทหารฝรั่งเศสในการกินเลี้ยงร่วมกันในคืนวันนั้นแล้ว ก็ได้แต่นึกโทรมนัสอยู่ในใจว่า ไทยเราจะถูกเขาต้มเป็นแน่แล้ว แต่เมื่อที่ประชุมนายทหารชั้นนายพลไม่ยอมรับนับถือความเห็นของท่านพันเอก ท่านก็ไม่มีทางจะแก้ไขอะไรได้

ถ้าท่านนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่เป็นเช่นคนธรรมดาทั้งหลาย เมื่อได้นึกโทรมนัสไปสักพักหนึ่งแล้ว ก็คงจะไม่ใส่ใจกับปัญหาเรื่องนั้นอีกต่อไป แต่ท่านนายพันเอกบังเอิญเป็นคนที่เกิดมาสำหรับกู้ราชการบ้านเมือง เป็นคนที่มีความตั้งใจจะระเบิดเปิดทางก้าวหน้าอยู่เสมอ เมื่อไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ในเวลาหนึ่ง ก็คิดว่าจะมีอีกทางหนึ่งที่จะทำอะไรได้ในเวลาอื่น

ตั้งแต่ได้ประสพความขมขื่นในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสำคัญ ๆ มา 2 ครั้งแล้ว นับแต่นั้นมา ท่านายพลเอกก็ครุ่นคิดอยู่แต่ว่า ทำอย่างไรหนอบรรดาความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ราชการแผ่นดินจึ่งจะไม่ถูกละเลยทอดทิ้งไปเสียเพราะเหตุแต่เพียงว่า มันเป็นความเห็นของผู้น้อย และผู้ใหญ่ท่านไม่เห็นด้วย ทำอย่าไงรหนอการบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของพวกเจ้าและพวกเสนาผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นอยู่เรื่อย ๆ ไปแล้ว และฉวยพวกผู้ใหญ่เกิดดำริอะไรโง่ ๆ ขึ้นมามิหยุดหย่อน และพวกผู้น้อยที่มีปัญญา ซึ่งในบางคราวก็อาจจะมีความเห็นดี ๆ ได้นั้น จะขืนขัดทัดทานไว้ก็มิฟัง แล้ว ก็อาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองประสพความล่มจมได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวันเจริญก้าวหน้าเทียมทันประเทศเพื่อนบ้านเขาได้เป็นแน่

ทะแกล้วทหารสามเกลอ

พระยาพหลฯ มีเพื่อนเกลอที่สนิทชิดชอบกันอย่างที่สุดอยู่ 2 ท่าน คนหนึ่งได้แก่นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช และอีกคนหนึ่งได้แก่นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เจ้ากรมยุทธการทหารบก ความสนิทชิดชอบระหว่างท่านนายพันเอกหัวเยอรมันทั้ง 3 นี้เป็นที่ปรากฏชัดแจ้งแก่นายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป จนถึงท่านเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หม่อมเจ้าอลงกฎ ได้ประทานฉายาแก่ท่านทั้ง 3 ว่า “ทะแกล้วทหาร 3 เกลอ” แห่งกองทัพไทย ทรงเรียกพระยาทรงฯ ว่า ดาตายัง เรียกพระยาศรีฯ อาโธส และเรียกพระยาพหลฯ ว่าปอโธส ทั้งนี้ถือตามรูปลักษณะของท่านทั้ง 3 และก็เป็นที่ปรากฏแก่กองทัพบกไทยในเวลานั้นว่า ท่านนายพันเอกซึ่งสำเร็จวิชาการทหารจากประเทศเยอรมันทั้ง 3 ท่านนี้เป็นผู้มีชื่อเสียงเฟื่องในวิชาการทหารสมกับที่ท่านเสนาบดีกลาโหมได้ประทานฉายาว่า “ทะแกล้วทหาร 3 เกลอ” แห่งกองทัพบกไทยจริง ๆ

เมื่อพระยาพหลฯ เกิดความรู้สึกไม่พอใจบรรดาเจ้านายและนายทหารผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมฟังความเห็นของผู้น้อย จนถึงเป็นห่วงว่า การปฏิบัติราชการเช่นนี้อาจนำประเทศชาติไปสู่ความหายนะได้ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว พระยาพหลฯ จึงได้ปรารภความรู้สึกของท่านแก่เพื่อนเกลอทั้ง 2 เกลอทั้งสองก็รับว่า ต่างมีความรู้สึกตรงกันกับพระยาพหลฯ และเห็นพ้องต้องกันว่า ภาวะแห่งราชการแผ่นดินเช่นนี้สมควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข มิฉะนั้น ประเทศชาติก็ไม่มีทางจะเจริญก้าวหน้าได้

เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันกับเพื่อนเกลอเช่นนั้นแล้ว และเมื่อได้ใช้เวลาครุ่นคิดต่อไป พระยาพหลฯ จึงได้ข้อยุติในที่สุดว่า การที่จะแก้ภาวะราชการแผ่นดินในเวลานั้น จะแก้ในทางอื่นก็ขัดสนจนปัญญา เห็นมีอยู่แต่ทางเดียว คือ คิดเปลี่ยนระบอบการปกครอง ซึ่งเป็นการแก้จากรากฐานทีเดียว ครั้นพระยาพหลฯ แย้มพรายความคิดข้อนี้แก่พระยาศรีสิทธิสงคราม หวังจะชวนให้ร่วมความคิดด้วย พระยาศรีสิทธิสงครามก็เป็นแต่เพียงพยักเอา แต่ก็ไม่แสดงออกมาให้แน่ชัดว่าจะล่มหัวจมท้ายหรือไม่ พระยาพหลฯ ได้เพียรพูดจูงใจพระยาศรีฯ อยู่หลายคราว พระยาศรีฯ ก็ประหยัดถ้อยคำ ไม่แสดงความคิดให้ปรากฏออกมาอยู่นั่นเอง

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าในวันก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนนั้น พอพระยาศรีสิทธิสงครามได้ข่าวว่า มีคณะนายทหารก่อการปฏิวัติขึ้น พระยาศรีฯ ก็รีบตรงมาที่บ้านพระยาพหลฯ ด้วยไม่ทราบว่า ท่านเกลอของท่านเป็นผู้นำในการปฏิวัติ ครั้นทราบความจริงแล้ว พระยาศรีฯ ก็หลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านพระยาพหลฯ นั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านนายพันเอกผู้เป็นปิยมิตรคู่นี้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 ก็ได้มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างยิ่งเกิดขึ้น ดังได้ทราบกันทั่วไปแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้ท่านอาโธสคุมกองทัพมาโรมรันกับปอโธสผู้เคยเป็นปิยมิตรของท่านด้วยความเห็นแตกต่างกันในทางคติการเมือง และท่านอาโธสศรีสิทธิสงครามก็ได้ถึงแก่ความตายในการรบที่ปากช่อง ซึ่งเป็นการเปิดฉากอวสานแห่งกองทัพของฝ่ายกบฎด้วย

เมื่อเสร็จศึกแล้ว ท่านหัวหน้าคณะราษฎรก็ได้นำพวงมาลาไปคำนับศพปิยมิตรของท่านเป็นการไว้อาลัย

ได้พระยาทรงเป็นคู่คิด

ในส่วนพระยาทรงสุรเดชนั้น เมื่อพระยาพหลฯ ได้แจ้งความคิดที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองบ้านเมืองให้ทราบแล้ว ก็ได้ตกลงปลงใจยอมร่วมความคิดด้วยโดยมิได้อิดเอื้อนเลย เพราะว่าพระยาทรงฯ เองก็มีความไม่พอใจในการกระทำของพวกเจ้านายและเสนาผู้ใหญ่มาช้านานแล้ว ครั้นได้ทราบว่า เพื่อนสนิทมามีความคิดเห็นตรงกันเข้าเช่นนี้ ก็รับตกลงด้วยความยินดี

เป็นอันว่า ในขั้นเริ่มแรกนั้น พระยาพหลฯ จึงได้แต่พระยาทรงฯ ผู้เดียวเป็นผู้ร่วมคิดเปลี่ยนการปกครอง ส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ถึงแม้จะไม่พอใจในการปฏิบัติราชการแผ่นดินของรัฐบาลเจ้า และถึงแม้จะไม่ปฏิเสธความคิดของพระยาพหลฯ เสียทีเดียวก็ดี แต่เมื่อไม่แสดงความคิดความอ่านออกมาให้เห็นแน่ชัดลงไปว่าจะเอาหรือไม่เอาดังนี้แล้ว พระยาพหลฯ ก็จำต้องปล่อยพระยาศรีสิทธิสงครามไว้พลางก่อน

อย่างไรก็ดี ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้บอกแก่ข้าพเจ้าตามตรงว่า ความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองซึ่งได้อุบัติขึ้นในชั้นแรก ๆ นั้น ท่านเองรู้สึกอยู่ว่า เป็นความคิดที่อยู่ข้างเป็นเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ หรือเป็นความคิดคลุ้มคลั่งมากกว่า เพราะเหตุว่าเป็นความคิดที่ยังไม่ประกอบด้วยความหวังอะไร ภาวะของประชาชนในเวลานั้นดูไม่แสดงว่ามีความกระตือรือร้นต่อการบ้านเมืองอย่างใด คนทั่วไปดูอยู่กันอย่างสงบและใจเย็น ใคร ๆ ก็คงจะรักตัวกลัวตาย ฉะนั้น ท่านจึงไม่อาจคาดหมายว่าจะได้สมัครพรรคพวกเพียงพอที่จะมาร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน และแปลความคิดของท่านให้เป็นการกระทำมาได้

ทั้งที่มีความหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ เช่นนั้นก็ตาม พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ได้คบคิดปรึกษาหารือกันด้วยเรื่องจะคิดการปฏิวัติระบอบการปกครองตลอดมา และได้สอดส่องฟังความคิดเห็นของเพื่อนนายทหารทั่ว ๆ ไปว่าจะมีความไม่พอใจในราชการแผ่นดินประการใดบ้าง เพื่อจะได้ชักชวนให้มาร่วมคิดการใหญ่ด้วยกันสืบต่อไป แต่ได้สอดส่องเสาะหาสมัครพรรคพวกมานาน ก็ยังไม่พบบุคคลที่วางใจได้ว่า เมื่อได้แย้มพรายความคิดให้ฟังแล้ว จะไม่คิดหักหลังในภายหลัง

ได้น้องชายเบิกทาง

จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง นายพันตรี จมื่นสุรฤทธิพฤธิไกร แห่งกรมทหารมหาดเล็ก ผู้เป็นร้องร่วมสายโลหิต ได้มาหาพระยาพหลฯ ณ บ้าน และได้บ่นแก่พี่ชายถึงความเหลวแหลกของการบริหารราชการแผ่นดิน พระยาพหลฯ ก็ฟังด้วยความสนใจ ครั้นแล้ว ท่านจมื่นสุรฤทธิฯ ผู้น้อง ก็ได้ปรารภแก่พี่ชายสืบต่อไปว่า เมื่อภาวะของราชการบ้านเมืองกำลังจะผันแปรไปสู่ความหายนะดังนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งเกิดมาเป็นลูกผู้ชายที่มีสติปัญญาจะต้องคิดกู้บ้านเมืองไว้ อนึ่ง บิดาของท่านทั้งสองก็เป็นชาติทหาร และตัวท่านเจ้าคุณพหลฯ เองเล่าก็เป็นนายทหารผู้ใหญ่ที่ได้ชื่อว่ามีสติปัญญาผู้หนึ่งในกองทัพบก สมควรจะมีความเจ็บร้อนแทนคนทั้งปวง และคิดการกู้ราชการบ้านเมืองเสียแต่ในเวลาที่ยังไม่สายเกินไป

พระยาพหลฯ ได้ฟังน้องชามาปรารภเป็นการจริงจังดังนั้น ก็ได้สดับตรับฟังด้วยความตื่นเต้นสนใจ เมื่อจบคำปรารภของท่านจมื่นผู้น้อง พระยาพหลฯ ใคร่จะฟังความคิดความอ่านของท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็กต่อไป จึงได้ตอบไปว่า อันความเหลวแหลกของราชการบ้านเมืองนั้น ตัวท่านก็เห็นประจักษ์แก่ตาอยู่ แต่การที่จะให้คิดกู้บ้านเมืองนั้น ใคร่ทราบว่า จมื่นมีความเห็นประการใดเล่า

ท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็กได้ไขความว่า การกู้บ้านเมืองนั้นเห็นมีอยู่แต่ทางเดียว คือ พี่ท่านจะต้องคิดอ่านเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน บริหารราชการบ้านเมืองให้ชอบด้วยธรรมและชอบด้วยประโยชน์ของประชาราษฎร ล้มเลิกบรรดาเอกสิทธิของเจ้านาย และกำจัดขุนนางกังฉินสอพลอฉ้อราษฎร์บังหลวงให้หมดสิ้นไป ประชาราษฎรก็จะได้อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองก็จะพ้นจากหายนะและมีทางเจริญก้าวหน้าต่อไป

พระยาพหลฯ ได้แสวงหาบุคคลที่จะมาพูดกับท่านถึงเรื่องเหล่านี้มาช้านานแล้ว เมื่อได้ฟังน้องชายมาพูดถูกใจดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง แต่สู้สกดความปรีดาปราโมทย์ไว้และแสร้งพูดว่า เรื่องที่จะคิดเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินนั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก เกินกำลังของเราทั้งสองจะคิดได้ตลอด ถ้าจะคิดการเรื่องนี้แล้ว ก็จะต้องมีสมัครพรรคพวกเป็นอันมาก และการเช่นนี้ฉวยคิดพลาดพลั้งลงไปประการใดแล้ว หัวก็จะขาดด้วยกันหมด คงจะไม่มีใครเอาคอของเขามาให้เราทดลองเป็นแน่ พระยาพหลฯ จึงว่า เห็นไม่มีทางสำเร็จดอก ขอน้องชายจงเลิกคิดการเรื่องนี้เสียเถิด

กล่าวตอบท่านจมื่นไปดังนั้นแล้ว พระยาพหลฯ สังเกตสีหน้าของน้องชาย เห็นว่ายังเต็มไปด้วยความมั่นใจอยู่เช่นเดิม ก็มีความพอใจ แล้วท่านจมื่นสุรฤทธิพฤทธิไกรได้กล่าวตอบว่า ข้อที่ท่านเป็นห่วงว่าจะไม่มีคนร่วมความคิดด้วยนั้นขอจงสบายใจเถิด ผู้ที่จะเอาคอของเขามาเสี่ยงเพื่อแลกกับการล้มอำนาจสิทธิขาดของกษัตริย์และจัดให้มีสภาการปกครองแผ่นดินนั้นได้มีอยู่พร้อมแล้ว ถ้าพี่ท่านยอมร่วมความคิดกับเขาแล้ว ก็จะได้สมัครพรรคพวกเป็นอันมาก

พระยาพหลฯ ได้กล่าวตอบว่า มันจะไม่จริงดังน้องเราว่านะซี อนึ่ง การที่จะคิดการใหญ่เช่นนี้ คนที่จะมาร่วมความคิดกันก็จะต้องรู้จักหัวนอนปลายตีนกันก่อน จะด่วนทำผลีผลามไปไม่ได้ ฉวยเกิดหนอนบ่อนไส้ขึ้นมา ก็จะพากันเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินเลย ขอน้องเองจงดูคณะก่อการปฏิวัติ ร.ศ. 130 เป็นเยี่ยงอย่าง ที่คิดการไปไม่ตลอดรอดฝั่งนั้นก็เพราะโดนพระยากำแพงภักดีพวกเดียวกันเองเป็นผู้ทำลายพิธีเสีย พระยาพหลฯ จึงว่า ถ้าจะให้ตัวท่านตกลงปลงใจร่วมความคิดด้วยแล้ว ก็ขอให้จมื่นแจ้งนามบุคคลเหล่านั้นแก่ท่าน จะได้พิเคราะห์ดูว่าสมควรจะเชื่อถือไว้วางใจได้เพียงใด

แนะนำประยูร ภมรมนตรี

ท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารมหาดเล็กได้บอกพี่ชายของท่านว่า ผู้ที่มาติดต่อจะคิดการปฏิวัตินั้นคือนายประยูร ภมรมนตรี ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอาจารย์เก่าของเจ้าคุณพหลฯ นั่นเอง เจ้าคุณพหลฯ ก็รับว่า รู้จักดี นอกจากบิดาของเขาเคยเป็นอาจารย์ของท่านแล้ว ถึงมารดาของเขาก็เคยเป็นอาจารย์ของท่านเหมือนกัน กล่าวคือ ได้เป็นผู้สอนภาษาเยอรมันแก่ท่านก่อนที่ท่านจะไปศึกษาวิชาทหารเพิ่มเติม ณ ประเทศเยอรมัน

อย่างไรก็ดี เมื่อท่านจมื่นออกนามประยูร ภมรมนตรี นั้น เจ้าคุณพหลฯ ได้ท้วงว่า “ประยูรมันดูยังเป็นเด็กอยู่ไม่ใช่หรือ? จะมาคิดอ่านเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินได้อย่างไร”

ท่านนายพันตรีผู้น้องได้ตอบว่า “คุณพี่อย่าเพิ่งประมาทเขาว่าเป็นเด็ก เดี๋ยวนี่คุณประยูรเขาไม่เป็นเด็กดังแต่ก่อนแล้ว เดี๋ยวนี้เขามีความคิดความอ่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ผมได้สนทนาซักถามฟังความคิดเห็นของเขาตลอดแล้วเห็นว่า เขาเป็นคนพอจะเชื่อถือไว้วางใจได้ เขาบอกกับผมว่า เวลานี้เขาติดต่อกับบรรดาบุคคลที่จะล้มอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว ยังขาดอยู่ก็แต่นายทหารผู้ใหญ่ซึ่งเขาต้องการจะได้มาเป็นผู้นำคณะของเขาเท่านั้น ในข้อนี้เขาก็มีความหวังอยู่ในตัวคุณพี่ เพราะได้ทราบกิตติศัพท์มาว่า เป็นคนซื่อตรงและเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง ทั้งมีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ประหวั่นพรั่นภัย เหมาะสมที่จะนำคณะนายทหารก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเสียใหม่ แต่เขาเจียมตัวว่าเป็นผู้น้อย มีความยำเกรงว่าคุณพี่เป็นผู้ใหญ่ ไม่อาจมาพูดจาชักชวนคุณพี่ด้วยตนเอง จึงขอให้ผมมาพูดจาฟังลาดเลาความคิดของคุณพี่ดูก่อน ต่อเห็นว่าคุณพี่มีแก่ใจยอมรับร่วมมือด้วยแล้ว ตัวคุณประยูรก็จะมาพูดชี้แจงความคิดและความเป็นไปต่าง ๆ ให้คุณพี่ทราบด้วยตนเองในภายหลัง ผมเห็นว่า เขาพูดจามีหลักฐานน่าฟัง และทั้งเห็นว่า คุณพี่เองก็ไม่พอใจในราชการบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว จึงหวังว่า คุณพี่คงยินดีร่วมความคิดกับเขาเป็นแน่”

เมื่อได้ชี้แจงมายืดยาวแล้ว จมื่นสุรฤทธิ์ฯ จึงลงท้ายด้วยคำวิงวอนว่า “คุณพี่ก็มีอายุอยู่มาได้เห็นโลกจนพ้นครึ่งคน นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว หาควรจะอาลัยใยดีในชีวิตที่เหลืออยู่ไม่ ขอจงเห็นแก่ความเจริญของบ้านเมือง รับร่วมมือกับคุณประยูรเพื่อให้การใหญ่ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วงไป แม้จะมีภัยถึงแก่ชีวิต ก็จะได้ชื่อปรากฏในพงศาวดารว่าต้องตายเพราะคิดกู้แผ่นดิน ถึงจะทำการมิสำเร็จ ก็จะปรากฏเกียรติคุณเป็นเยี่ยงอย่างแก่ชนชั้นหลังไปชั่วกาลนาน”

พระยาพหลฯ ได้ฟังน้องชายพูดพรรณนาน่าเลื่อมใสเช่นนั้น ก็มีความเชื่อถือและพอใจเป็นอันมาก จึงได้นัดหมายให้จมื่นสุรฤทธิ์ฯ พานายประยูร ภมรมนตรี มาพบกับท่าน เพื่อจะได้ฟังความคิดเห็นและรายละเอียดจากปากคำของชายหนุ่มผู้เป็นบุตรอาจารย์เก่าต่อไป

ข้อความเพิ่มเติม
เรื่องปืนสโตร๊คบัน

เกี่ยวกับเรื่องปืนสโตร๊คบันที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอขายให้แก่กองทัพไทยในสมัยรัฐบาลเจ้า และพระยาพหลฯ ได้คัดค้านมิให้ซื้อ โดยกล่าว่าเป็นปืนที่ล้าสมัย ตามที่ได้ลงพิมพ์ในวันก่อนนั้น เพื่อที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจความถูกต้องแม่นยำตรงตามความคิดเห็นของเจ้าคุณพหลฯ ผู้เขียนใคร่ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่เจ้าคุณพหลฯ ติเตียนความล้าสมันของปืนสโตร๊คบันนั้น หมายถึงปืนสโตร๊คบันที่รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอขายในครั้งนั้น มิใช่หมายถึงปืนสโตร๊คบันโดยทั่วไป เพราะว่าปืนสโตร๊คบัน หรือที่เรียกในภาษาทหารของไทยว่าปืนใหญ่สนามเพลาะหรือเครื่องยิงลูกระเบิดนั้น ยังเป็นอาวุธที่พึงปรารถนาในกองทัพทั่วไป ในเมื่อเปลี่ยนใช้กลไกอย่างทันสมัยแล้ว กล่าวคือ ในเวลาตั้งยิงข้าศึกนั้น สามารถหมุนกลไกให้ปืนยิงไปได้รอบตัวโดยมิจำต้องเปลี่ยนที่ตั้งปืนใหม่ ซึ่งเป็นการงุ่มง่ามเสียเวลามาก ปืนสโตร๊คบันที่รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอขายแก่ไทยนั้นเป็นปืนชนิดที่ยังมิได้ปรับปรุงกลไกให้หมุนได้รอบตัว ดังนั้น เมื่อจะจัดเปลี่ยนทางยิงครั้งหนึ่ง ก็จะต้องจัดการตั้งปืนใหม่ด้วยแรงคน ซึ่งเสียเวลามาก และไม่เหมาะแก่การยุทธสมัยใหม่ ทั้งนี้ ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส คือ นายพันเอก รูห์ ก็ไม่อาจปฏิเสธข้อตำหนิอันนั้น เจ้าคุณพหลฯ จึงได้คัดค้านมิให้ซื้อปืนสโตร๊คบันชนิดที่ล้าสมัยไว้ใช้ในกองทัพไทย และพระยาพหลฯ ได้แนะนำแก่ที่ประชุมว่า ถ้ากองทัพไทยจะซื้อปืนสโตร๊คบันไว้ใช้แล้ว ก็ควรจะซื้อปืนสโตร๊คบันชนิดที่ได้ปรับปรุงกลไกใหม่แล้ว คือ ชนิดที่สามารถทำการยิงได้รอบตัวโดยกลไกลของมันเอง

จมื่นสุรฤทธิพฤทธิไกร

เมื่อกล่าวถึงบทบาทของท่านจมื่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะได้บรรยายลักษณะนิสัยและความเป็นไปของท่านผู้นี้ตามสมควร เพราะว่าทั้งที่ท่านผู้นี้ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนด้วยก็ตาม แต่ก็มีน้อยคนที่ได้ทราบว่า ภายหลังเปลี่ยนการปกครองแล้ว ท่านนายพันตรีแห่งกรมทหารหมาดเล็กผู้นี้ได้ทำอะไร ข่าวคราวเกี่ยวกับท่านผู้นี้ดูเงียบเชียบประหนึ่งว่าไม่มีนามของท่านผู้นี้อยู่ในบัญชีคณะผู้ก่อการ

การที่ไม่ปรากฏข่าวคราวของท่านผู้นี้เลย ก็เนื่องมาแต่ลักษณะนิสัยอันเป็นสิ่งพิเศษเฉพาะตัวของท่านจมื่นนั่นเอง ท่านจมื่นเป็นผู้มีอัธยาศัยฝักใฝ่ในทางธรรมมากกว่าในทางโลก เป็นผู้ที่มีความพอใจในการครองชีวิตอย่างง่าย ๆ มีความรู้สึกซาบซึ้งเบิกบานในธรรมสันโดษ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้ว ก็ไม่ยอมรับตำแหน่งราชการใด ๆ พอใจในชีวิตอันสงบเงียบ และประกอบอาชีพในทางค้าขายบ้างตามสมควร เมื่อรัฐบาลดำริตั้งกรมพัสดุแห่งชาติขึ้น จมื่นสุรฤทธิ์ฯ ได้รับมอบให้เป็นผู้จัดวางโครงงาน แต่เมื่อทางการจะแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการรับเงินเดือนประจำ ก็ปฏิเสธ ทางราชการจึงจำต้องจ่ายให้แต่เพียงเป็นค่ารถเท่านั้น เวลานี้ท่านนายพันตรีนอกราชการก็ไปช่วยราชการโรงเลื่อยของกรมพลาธิการทหารบก แต่ก็ไม่ยอมรับตำแหน่งประจำและเงินเดือนอยู่นั่นเอง

เมื่อยังรับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กนั้น เจ้าคุณพหลฯ ได้เคยแนะนำให้น้องชายของท่านบวช แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ถ้าบวชก็เห็นจะติดคุกเป็นแน่ พี่ชายถามว่า เพราะเหตุอะไรเล่า ท่านจมื่นได้ตอบว่า เมื่อออกบวชและรับบิณฑบาตรจากประชาชน รู้สึกบุญคุณของเขาเหล่านั้น ก็คงจะต้องบอกกล่าวชี้แจงความเหลวแหลกของราชการบ้านเมืองแก่เขาเหล่านั้นเป็นการตอบแทนบุญคุณตามสมควร และเมื่อรู้ตัวว่า ถ้าบวชก็คงจะอดเทศนาแก่ประชาชนตามนัยเช่นนั้นไม่ได้ แล้วก็เห็นว่า การบวชจะกลายเป็นโทษแก่ตัวเป็นแน่

อยู่ต่อมาได้ทราบว่าจะต้องถูกย้ายจากกรมมหาดเล็กไปประจำกรมทหารราบกองพัน 3 และดูเหมือนเนื่องแต่การย้ายนี้มีเลศนัยแฝงอยู่ข้างหลัง มิใช่เป็นการกระทำที่สะอาด จมื่นสุรฤทธิ์ฯ ก็ไม่พอใจ จึงลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพทางการค้าขายอยู่พักหนึ่ง ก่อนหน้าเปลี่ยนการปกครอง ท่านจมื่นได้ใช้ชีวิตอยู่เงียบ ๆ โดยมิได้ประกอบกิจการอะไรเลย ทั้งนี้ อาจมุ่งประสงค์เพื่อจะอุทิศเวลาเพื่อแก่การนี้อย่างเต็มที่ก็เป็นได้

เจ้าคุณพหลฯ กล่าวว่า น้องชายของท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีลักษณะเป็นคนจริงคนหนึ่ง มีความคิดลึกซึ้งรอบคอบ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้บวชก็ตาม แต่ก็เป็นผู้เลื่อมใสและเคร่งครัดในธรรมอย่างยิ่ง เมื่อถูกชวนให้ร่วมรับราชการ ก็ปฏิเสธโดยอ้างว่า การดำเนินการเมืองเป็นเรื่องครึกโครม ไม่ต้องอัธยาศัยของท่านจมื่น การที่เข้าร่วมในการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินนั้นก็เพราะเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นเดิมแล้ว ราษฎรก็จะประสพความทุกข์ยาก ท่านจมื่นประสงค์แต่จะร่วมมือเพียงเท่าที่การเปลี่ยนการปกครองจะสำเร็จไปได้เท่านั้น เมื่อกิจขั้นนี้สำเร็จไปแล้ว ก็ใคร่จะให้ตัวท่านได้ถูกปล่อยไว้แต่ลำพัง

ท่านผู้นี้เป็นผู้ต้องการชิตอันสงบเงียบ เรื่องเงินทองไม่เป็นปัญหาสำหรับท่าน เพราะท่านพอใจในการครองชีวิตอย่างง่าย ๆ ชอบความงามตามธรรมชาติและศิลป มีความเบิกบานในการใช้เวลาว่างรวบรวมของเก่า ๆ ที่หาได้ยาก เป็นผู้มีใจเผื่อแผ่อารี เจ้าคุณพหลฯ กล่าวในตอนหนึ่งว่า “เกือบจะเรียกได้ว่า น้องชายผมเขาพอใจใช้ชีวิตอยู่อีกโลกหนึ่งต่างหากจากคนทั่ว ๆ ไป” ท่านเจ้าคุณคงหมายถึงโลกที่บริสุทธิ์งดงามอย่างเหลือเกิน

ประยูร ภมรมนตรี พบพระยาพหลฯ

เมื่อจมื่นสุรฤทธิ์ฯ ได้มาพบปรึกษาสนทนากับพี่ชายได้การแล้ว ก็แจ้งข้อที่ได้สนทนากับพระยาพหลฯ ให้นายประยูร ภมรมนตรี ทราบทุกประการ ต่อมานายประยูรก็ได้ไปพบกับพระยาพหลฯ ณ บ้านของท่าน และรายงานความเป็นไปต่าง ๆ แก่ท่านนายพันเอกโดยละเอียด

พระยาพหลฯ ได้ทราบจากคำบอกเล่าของนายประยูรว่า ในเวลานั้นได้มีข้าราชการหนุ่ม ๆ ทั้งทางฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งได้รวบรวมกันเป็นคณะใหญ่คณะหนึ่ง ได้ติดต่อร่วมคิดกันจะทำการปฏิวัติการปกครองแผ่นดิน ทางฝ่ายทหารบกมีนายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เป็นนายทหารเสนาธิการและนายทหารปืนใหญ่ไว้ได้กลุ่มหนึ่ง และนายร้อยเอก หลวงทัศนัยนิยมศึก ประกอบด้วยพรรคพวกนายทหารม้าแห่งกองร้อยรถรบกลุ่มหนึ่ง ทางฝ่ายทหารเรือ นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ได้รวบรวมสมัครพวกนายทหารเรือไว้กลุ่มหนึ่ง ทางฝ่ายพลเรือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รวบรวมสมัครพรรคพวกไว้ได้กลุ่มหนึ่ง และยังมีนายตั้ว ลพานุกรม และหลวงนฤเบศรมานิต ก็ยังรวบรวมสมัครพรรคพวกทางฝ่ายพลเรือนไว้ได้อีก 2 กลุ่ม

ต้องการ 3 นายพันเอก

นายประยูร ภมรมนตรี ได้แจ้งแก่พระยาพหลฯ ว่า กำลังสมัครพรรคพวกที่บรรดาห้วหน้าเหล่านั้นได้รวมไว้ได้แล้วนั้น นับว่าเป็นการเพียงพอที่จะดำเนินการปฏิวัติได้ ยังขาดอยู่ก็แต่ความร่วมมือของนายทหารผู้ใหญ่เท่านั้น บรรดาหัวหน้ากลุ่มเหล่านั้นใคร่จะเชิญพระยาพหลฯ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีก 2 ท่านผู้เป็นเพื่อนสนิทของท่านให้ร่วมมือด้วย คือ พระยาทรงสุรเดช หนึ่ง และพระยาศรีสิทธิสงคราม หนึ่ง ถ้าได้นายทหารผู้ใหญ่ทั้ง 2 ท่านนี้ร่วมมือด้วยแล้ว กำลังของคณะก็จะเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น

ในส่วนพระยาทรงสุรเดชนั้น นายประยูรกล่าวว่า ได้เคยพบปะกับคณะที่ปารีส และได้ทาบทามฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองดูแล้ว ได้ความสอดคล้องต้องกันดี สังเกตเห็นว่า ถ้าได้รับคำชักชวนแล้ว ก็คงจะร่วมมือด้วย แต่ในส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามนั้นเป็นคนอ่านยาก เพราะว่าเป็นที่ไม่ใครเปิดเผยความคิด ทำให้นึกหวั่นอยู่บ้างว่า ถ้าได้ร่วมทำการเปลี่ยนการปกครองสำเร็จแล้ว อ้างตั้งตนเป็นนะโปเลียนที่หนึ่งภายหลังก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี เท่าที่เกี่ยวกับอัธยาศัยของพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น ทางคณะของนายประยูรยังไม่รู้จักดี จึงขอมอบให้เป็นธุระของพระยาพหลฯ พิจารณาดูต่อไป

เมื่อพระยาพหลฯ ได้ซักถามข้อความต่าง ๆ จากนายประยูร ภมรมนตรี จนเป็นที่พอใจในน้ำใสใจคอของบรรดาบุคคลที่นายประยูรได้ออกนามมาแล้ว พระยาพหลฯ ก็รับตกลงว่าจะร่วมมือด้วย และรับเป็นธุระจะไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเกลอทั้ง 2 คนต่อไป เกี่ยวกับพระยาทรงฯ นั้น พระยาพหลฯ คาดหมายว่าคงจะไม่ปฏิเสธ เพราะรู้ความคิดความอ่านกันอยู่ดีแล้ว แต่ในส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามนั้น พระยาพหลฯ ไม่มีความมั่นใจเท่าใด เพราะได้เคยติดต่อพูดจากันมาบ้างแล้ว พระยาศรีฯ ก็ได้แต่นิ่งฟัง ถึงกระนั้นก็ดี พระยาพหลฯ ก็รับแก่นายประยูรว่าจะเพียรไปพูดจาเกลี้ยกล่อมดูอีกครั้งหนึ่ง

พระยาพหลฯ พบพระยาทรงฯ

เมื่อได้ตอบตกลงปลงใจไปกับนายประยูรเป็นที่มั่นเหมาะแล้ว พระยาพหลฯ ก็ได้รีบไปพบกับพระยาทรงฯ ณ บ้านของพระยาทรงฯ ด้วยความปรีดาปราโมทย์ พอเห็นหน้ามิตร พระยาพหลฯ ก็ร้องขึ้นว่า “อ้ายเพื่อนเอ๋ย กันได้ไปพบขุมทรัพย์เข้าแล้วละ การที่เราได้คิดกันไว้ช้านานคงจะสำเร็จเป็นแน่” พระยาทรงฯ ย้อนถามออกไปด้วยความตื่นเต้นว่า ไปพบขุมทรัพย์อะไร พระยาพหลฯ ก็เล่าให้เพื่อนสนิทฟังถึงเรื่องน้องชายแนะนำนายประยูร ภมรมนตรี ให้มาพบ ตลอดจนนายประยูรได้มาพบและสนทนากันโดยละเอียดถี่ถ้วนทุกประการ พระยาทรงฯ ก็มีความโสมนัสยินดีและได้ตกลงปลงใจร่วมมือด้วยโดยมิได้อิดเอื้อนเลย อนึ่ง เมื่อพระยาพหลฯ ปรารภกับพระยาทรงฯ ว่าจะไปพูดจาชักชวนให้พระยาศรีฯ มาร่วมมือด้วยนั้น พระยาทรงฯ ส่ายหน้าบอกว่า เพื่อนของเราคนนี้อ่านใจของเขายากจริง เพราะเป็นคนไม่ค่อยจะพูด แต่ถ้าพระยาพหลฯ จะลองไปพูดจาชักชวนดูแล้ว พระยาทรงฯ ก็ไม่ขัดข้อง ส่วนพระยาทรงฯ เองนั้นขอตัวที่จะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาศรีฯ เพราะคาดว่ามีความสำเร็จน้อยเต็มที

นับแต่นั้นมา ท่านนายพันเอกทั้งสองก็ปรึกษาร่วมคิดกันที่จะดำเนินเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินอย่างจริงจัง และสอดส่องแสวงหาสมัครพรรคพวกร่วมใจเพิ่มเติมอยู่มิเว้นวาย

พระยาพหลฯ พบพระศรีฯ

ต่อมาพระยาพหลฯ ได้พบสนทนากับพระยาศรีสิทธิสงครามอยู่เนือง ๆ เพื่อพูดจาทาบทามฟังความคิดเห็นของพระยาศรีฯ ว่าจะเห็นชอบด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินหรือไม่ แต่พระยาพหลฯ ก็ได้ระมัดระวังที่จะไม่พูดจาให้พระยาศรีฯ ได้รู้ความเป็นไปลึกซึ้ง เพราะมิสู้วางใจว่าพระยาศรีฯ จะเล่นด้วยพระยาพหลฯ นัก ได้ปรารภถึงการเรื่องนี้ครั้งใด พระยาศรีฯ ก็ได้แต่นิ่งฟัง ไม่ทักท้วงและไม่สนับสนุนประการใด พระยาพหลฯ ก็เพียรพบสนทนากับพระยาศรีฯ หลายครั้ง พระยาศรีฯ ก็ไม่เปิดเผยความคิดอยู่นั่นเอง พระยาพหลฯ ก็จนปัญญาและไม่กล้าจะเปิดเผยรายละเอียดของคณะให้พระยาศรีฯ ทราบ เมื่อเห็นแน่ว่าพระยาศรีฯ คงไม่ร่วมความคิดด้วยแล้ว พระยาพหลฯ ก็จำต้องตัดใจปล่อยพระยาศรีฯ ผู้เพื่อนสนิทไว้แต่ลำพัง

พระยาศรีสิทธิสงคราม

เมื่อได้กล่าวขวัญถึงพระยาศรีสิทธิสงครามในตอนนี้แล้ว ผู้เขียนก็ใคร่จะบรรยายข้อความเกี่ยวกับพระยาศรีสิทธิสงครามสักเล็กน้อย ตามที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า พอพระยาศรีสิทธิสงครามได้ทราบข่าวในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายนว่า คณะนายทหารได้ก่อการปฏิวัติขึ้น ก็ได้รีบออกจากบ้านตรงไปยังบ้านพระยาพหลฯ นั้น ก็ด้วยหมายใจว่าจะไปปรึกษาหาทางหนีทีไล่กับปิยมิตรของตน โดยที่นับแต่พระยาศรีฯ ได้รับการทาบทามให้ร่วมมือในการปฏิวัติ และพระยาศรีฯ มิได้ตอบตกลงปลงใจไปประการใด ทั้งต่อมาพระยาพหลฯ ก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องนี้อีกเลย เหตุนั้นเอง พระยาศรีฯ จึงไม่คาคิดว่า พระยาพหลฯ จะได้เข้าร่วมในการปฏิวัติและเป็นผู้นำในการปฏิวัติเสียเอง

เมื่อพระยาศรีฯ มาที่บ้านพระยาพหลฯ ในเช้าวันนั้น และไม่พบพระยาพหลฯ ทั้งไต่ถามเรื่องราวจากภริยาของท่านนายพันเอก ก็ไม่ได้ความว่าพระยาพหลฯ ไปไหน พระยาศรีฯ ร้อนใจใคร่จะพบปรึกษาหารือกับพระยาพหลฯ จึงพักอยู่ที่บ้านพระยาพหลฯ จนกระทั่งบ่ายจึงได้ทราบข่าวว่า พระยาพหลฯ เป็นผู้นำในการปฏิวัติ พระยาศรีฯ จึงค่อยคลายใจ จวบจนเวลาเย็น พระยาศรีฯ จึงได้กลับไปสู่บ้านของตน

ฝ่ายทางพระยาพหลฯ นั้น เมื่อยึดอำนาจการปกครองได้เรียบร้อยแล้ว ก็สั่งให้คนไปตามตัวพระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้รับคำสั่งได้ติดตามทั้งที่บ้านและที่ทำการก็ไม่ได้ตัว เพราะว่าในระหว่างนั้นพระยาศรีฯ ไปอยู่เสียที่บ้านพระยาพหลฯ ซึ่งพระยาพหลฯ ก็คาดไม่ถึง การที่พระยาพหลฯ ให้คนไปตามตัวพระยาศรีฯ มาพบนั้น ก็ด้วยประสงค์จะฟังความเห็นของพระยาศรีฯ เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าพระยาศรีฯ รับว่าจะร่วมมือบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบใหม่แล้ว ก็จะได้เสนอให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในชุดเริ่มสถาปนาระบอบใหม่คนหนึ่ง และจะได้ขอให้ช่วยราชการต่อไป แต่เมื่อไปตามตัวไม่พบแล้ว พระยาพหลฯ ก็มิได้เสนอนามพระยาศรีฯ ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่แน่ว่าพระยาศรีฯ จะเต็มใจร่วมมือด้วยหรือไม่

อยู่ต่อมาอีก 2–3 วัน ภายหลังที่ได้แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว พระยาศรีฯ ได้ขอให้ภริยาของหัวหน้าคณะราษฎรนำตัวมาพบกับท่านหัวหน้าคณะราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้สนทนาปราศรัยและซ้อมความเข้าใจกันดีแล้ว พระยาศรีฯ ก็กลับไป

ภายหลังพระยาศรีฯ ได้ถูกย้ายจากตำแหน่งราชการทหารมารับตำแหน่งราชการทางกระทรวงธรรมการ อยู่มาจนกระทั่งพระยาพหลฯ พร้อมด้วยนายทหารผู้ใหญ่อีก 3 นายลาออกจากคณะรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ด้วยมีเรื่องขัดใจกับพระยามโนฯ พระยามโนฯ หวังจะเอาพระยาศรีฯ ไว้เป็นกำลังต่อไป จึงได้แต่งตั้งพระยาศรีฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ในวันที่พระยาศรีฯ จะไปรับมอบหมายงานการที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง พระยาพหลฯ ก็นำคณะยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนฯ เป็นคำรบสองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พระยาศรีฯ จึงไม่ได้รับตำแหน่งนั้น

อย่างไรก็ดี พระยาพหลฯ และหัวหน้าบางคนในคณะของท่านก็ใคร่จะได้พระยาศรีฯ ไว้ช่วยราชการต่อไปเหมือนกัน พระยาพหลฯ จึงได้ทำความเข้าใจกับพระยาศรีฯ ว่า การที่ไม่จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งทางทหารเวลานั้น ก็เป็นด้วยเมื่อได้ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และเป็นในยามมืดมนอนธกาลเช่นนี้ เพื่อที่จะให้คนทั้งปวงมีความมั่นใจในความสงบของบ้านเมือง ตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางราชการทหารจำต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ขอให้พระยาศรีฯ ได้อยู่อย่างสงบไปพลางก่อน ต่อผ่านระยะแห่งความยุ่งยากไปแล้ว ก็จะได้จัดการให้พระยาศรีฯ ได้รับตำแหน่งในราชการทหารสืบต่อไป ทั้งนี้เป็นความรู้สึกฉันทมิตรอันจริงใจของพระยาพหลฯ และนายทหารชั้นหัวหน้าของคณะผู้ก่อการบางคนที่มีต่อพระยาศรีสิทธิสงคราม

อย่างไรก็ดี พระยาศรีฯ คงจะมีความเข้าใจผิดคิดไปว่าปิยมิตรไม่ไว้วางใจในตนเสียเสียแล้ว ก็คงจะมีความโทรมนัสใจ และประกอบกับคงจะมีความเข้าใจผิดในคติการเมืองของคณะราษฎรในบางประการ จึงเป็นเหตุบรรดาลให้พระยาศรีฯ ไปร่วมมือกับพระองค์เจ้าบวรเดชก่อการกบฏต่อรัฐบาลคณะราษฎรขึ้น จนถึงได้นำทหารหัวเมืองมาทำยุทธการกับเหล่าทหารของรัฐบาล ในที่สุดฉากแห่งชีวิตของท่านนายพันเอกผู้นี้ก็ปิดลงด้วยการสู้รบจนถึงแก่ความตายในสมรภูมิสมเยี่ยงอย่างชายชาติทหาร

พระยาทรงฯ ชักชวนพระยาฤทธิฯ

ในการแสวงหาสมัครพรรคพวกนั้น ก็มีความจำเป็นอยู่ที่จะต้องเพ่งเล็งไปในทางแสวงหากำลังอาวุธไปพร้อมกันด้วย พระยาพหลฯ ระลึกได้ว่า นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์ ซึ่งเป็นผู้บังคับการทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์อยู่เวลานั้น เป็นผู้ที่ชอบพอรักใคร่กันอยู่ พระยาพหลฯ หวังจะได้รถยนต์บรรทุกปืนใหญ่ไว้ใช้บรรทุกทหารในวันทำการปฏิวัติ จึ่งได้ปรึกษากับพระยาทรงฯ ว่า ถ้าจะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมพระยาฤทธิฯ ให้ร่วมมือด้วย พระยาทรงฯ เห็นว่าจะได้การหรือไม่ พระยาทรงฯ ว่า เห็นท่าจะได้การอยู่บ้าง และได้รับอาสาว่าจะไปฟังลาดเลาความคิดของพระยาฤทธิฯ เอง เมื่อพระยาทรงฯ ได้ไปพบปะสนทนากับพระยาฤทธิฯ มาแล้ว ก็ได้รายงานต่อพระยาพหลฯ ว่า พระยาฤทธิฯ ได้รับว่าจะร่วมมือด้วย แต่สังเกตกิริยาอาการแสดงว่า น้ำใจยังมิสู้มั่นคงนัก อาจจะกลับใจไม่ยอมล่มหัวจมท้ายในภายหลังก็เป็นได้

โดยเหตุที่ยังมีความควางแคลงใจพระยาฤทธิ์ฯ อยู่เช่นนี้ เมื่อได้ชักนำให้พระยาฤทธิฯ ไปเข้าประชุมร่วมกับบรรดาบุคคลชั้นหัวหน้าอื่น ๆ ในครั้งแรกแล้ว ในคราวประชุมครั้งต่อ ๆ มา พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ ก็มิได้ชักนำให้พระยาฤทธิฯ ไปเข้าร่วมการประชุมอีกเลย ท่านนายพันเอกทั้งสองได้ตกลงกันว่าจะไปบอกกล่าวเอาตัวพระยาฤทธิฯ มาร่วมมือด้วยต่อในวันลงมือทำการทีเดียว เพระาว่าในเวลาจวนแจเป็นยามเป็นยามตายเช่นนั้น ถึงจะมีใจมั่นคงหรือไม่ก็ตาม พระยาฤทธิฯ ก็คงจะไม่แปรปากหลากคำไปเป็นแน่

เกี่ยวกับพระยาฤทธิอัคเนย์ เห็นสมควรจะกล่าวเพิ่มเติมไว้ในที่นี้ด้วยว่า เมื่อพระยาพหลฯ ได้ลาออกจากรัฐบาลพระยามโนฯ และเตรียมการจะยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระยามโนฯ ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นั้น พระยาพหลฯ ก็ได้แจ้งความคิดข้อนี้ และได้ขอให้พระยาฤทธิ์ฯ เข้าร่วมด้วยเหมือนกัน แต่พระยาฤทธิฯ ปฏิเสธ และกลับชักชวนพระยาพหลฯ ว่า อย่าเล่นเลยการเมือง เป็นเครื่องเดือดร้อนคำราญใจ เป็นการหาภัยใส่ตัวโดยใช่เหตุ ไปทำมาหากินอย่างอื่นและอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า ส่วนตัวพระยาฤทธิฯ เองนั้นขอล้างมือแล้ว

พระประศาสน์ฯ และคณะ

เมื่อได้พระยาฤทธิฯ มาเข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วยแล้ว พระยาทรงฯ ก็ได้ชักชวนนายพันโท พระประศาสน์พิทยยุธ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นผู้ที่นับถือพระยาฯ ทรงมาแต่อก่อน พระประศาสน์ฯ ก็เต็มใจเข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วย แล้วพระยาทรงฯ ก็ได้พูดจาชักชวนนายทหารซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกหลายคน มีนายพันตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป (เวลานี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงเกษตรและอธิบดีกรมป่าไม้) นายร้อยเอก หลวงสวัสดิรณรงค์ (เวลานี้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม) และนายร้อยเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เป็นอาทิ ให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกด้วย บรรดานายทหารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่นับถือพระยาทรงฯ ในฐานะเป็นอาจารย์อยู่แล้ว ก็ได้รับคำชักชวนด้วยความมั่นคงเต็มใจ

นัดประชุมหัวหน้าครั้งแรก

เมื่อพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ เกลี้ยกล่อมได้คณะนายทหารเป็นสมัครพรรคพวกร่วมใจพอควรแก่การแล้ว ท่านทั้งสองก็ได้ติดต่อไปยังนายประยูร ภมรมนตรี ให้นัดหมายบรรดาบุคคลชั้นหัวหน้ามาประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จำนวนบุคคลที่จะเข้าร่วมการประชุมนั้น พระยาพหลฯ ได้แนะไปว่า อย่าให้เกินจำนวน 8 คน การกำหนดตัวเลขไม่เกิน 8 นี้ พระยาพหลฯ คำนวณจากคติของโหรซึ่งเกี่ยวกับปีเดือนวันเกิดของท่านอันได้ความว่าเป็นทางให้เกิดความมงคล นอกจากเหตุข้อนี้แล้ว ก็มีความมุ่งหมายในข้อที่จะมิให้การประชุมเป็นการเอิกเกริกเกินไป เพราะการประชุมต้องกระทำกันอย่างลักลอบ จึงได้จำกัดจำนวนผู้เข้าประชุมไว้ไม่เกิน 8 คน ข้อกำหนดอันนี้ที่ประชุมได้ถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดมา เพราะว่าในการประชุมของคณะผู้ก่อการรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง ไม่ปรากฏว่ามีผู้เข้าประชุมเกินกว่าจำนวน 8 คนเลย

เจ้าคุณพหลฯ แจ้งว่า ไม่ได้จดไว้และจำไม่ได้ว่า การประชุมครั้งแรกได้มีขึ้นในเดือนใดวันใด จำได้แต่ว่า เป็นเพลากลางคืน ปี 2475 ณ ที่บ้านของนายประยูร ภมรมนตรี ตำบลหลังสถานีสามเสน การประชุมครั้งแรกนั้นมีการขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะผู้ที่ได้รับนัดหมายไม่ได้ไปประชุมครบถ้วน ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกมีจำนวนเพียง 5 ท่าน คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ หลวงพิบูลฯ และนายประยูร ในการประชุมครั้งแรกนั้นได้มีการประชุมปรึกษาพิจารณาปัญหาใหญ่ ๆ 4 ข้อ

ข้อแรก นายประยูรได้เสนอบัญชีรายนามคณะผู้ร่วมก่อการให้ที่ประชุมทราบ บัญชีรายนามคณะผู้ก่อการนั้นได้ทำเป็นรูปบัญชีสินค้า เพื่อว่าถ้าเกิดพลาดพลั้บถูกจับกุมขึ้นเมื่อใด ก็จะพอมีทางแก้ไขให้พ้นภัยได้

ข้อเสนอที่ปรึกษาข้อที่ 2 ก็คือ ที่ประชุมได้ทำความตกลงกันว่า คณะผู้ก่อการจะไม่ลงมือกระทำการในระหว่างที่มีงานมหกรรมฉลองพระมหานครและเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า

ข้อที่ 3 พระยาทรงฯ ได้เสนอให้พระยาพหลฯ เป็นผู้นำคณะ และที่ประชุมรับรองเห็นด้วย

ข้อที่ 4 ที่ประชุมได้ปรึกษากันถึงแผนการที่จะยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งในที่สุดได้มอบหมายให้พระยาทรงฯ เป็นผู้ร่างแผนการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาในคราวหน้า

ในเวลาประชุมนั้น ที่ประชุมได้นำเครื่องมือเล่นการพนันไปแสดงไว้ในการประชุมทุกคราว เพื่อว่าถ้ามีการจับกุมกันขึ้น ก็จะยอมรับข้อหาว่าได้มีการมั่วสุมกันลักลอบเล่นการพนัน ในการประชุมทุกนัดที่ได้มีที่บ้านนายประยูร ภมรมนตรี นั้น นายประยูรมักจะได้รับมอบหมายให้ไปคอยระแวดระวังต้นทาง และได้เข้าร่วมประชุมบ้างเป็นครั้งคราว

ผู้นำคณะปฏิวัติ

ในวันที่พระประศาสน์ฯ กับคณะนำรถเกราะไปคุมกรมพระนครสวรรค์ฯ ที่วังบางขุนพรหมในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน และนำมากักพระองค์ไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เมื่อได้ทรงเผชิญหน้ากับนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ณ พระที่นั่งอนันตฯ พระองค์ได้รับสั่งแก่พระยาพหลฯ ด้วยความประหลาดพระทัยและขมขื่นพระทัยว่า “ตาพจน์ก็เอากับเขาเหมือนกันรึนี่?” (พระยาพหลมีชื่อเดิมว่าพจน์) ท่านหัวหน้าคณะราษฎรก็ถวายคำนับด้วยกิริยาอันสุภาพนอบน้อมเป็นปรกติดุจเช่นนายพนเอกจะพึงกระทำความเคารพต่อท่านจอมพล

การที่มีนามของท่านนายพันเอกจเรทหารปืนใหญ่ร่วมอยู่ในคณะที่คิดการปฏิวัติ และทั้งได้รับความยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะด้วยนั้น ในวงการนายทหารผู้ใหญ่และในบรรดาเจ้านายที่รู้จักคุ้นเคยกับพระยาพหลฯ ต่างก็มีความประหลาดใจกันทั่วไป ไม่แต่กรมพระนครสวรรค์ฯ เท่านั้น การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในเวลาปกติแล้วท่านนายพันเอกผู้นี้เป็นผู้มีกิริยาสงบเสงี่ยมสุภาพอ่อนน้อมต่อผู้บังคับบัญชาและนายทหารผู้ใหญ่ทั่วไป เป็นผู้ที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่ามีความเคารพและภักดีต่อเจ้านาย เป็นคนซื่อตรง และประกอบด้วยเมตตากรุณาธรรม คนโดยมากจึงมิได้คาดคิดเลยว่า บุคคลที่ประกอบด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้จะเป็นผู้คิดการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์ของตน

ผู้ที่รู้จักลักษณะนิสัยของพระยาพหลฯ ตามนัยที่กล่าวแล้วนี้ก็มิใช่ว่าได้รู้จักลักษณะนิสัยของพระยาพหลฯ ผิดไป ความจริงนับว่าได้รู้จักท่านถูกต้องแล้ว เป็นแต่ยังไม่รู้จักลักษณะนิสัยที่สำคัญ ๆ ของท่านโดยครบถ้วน ส่วนที่คนโดยมากยังไม่รู้จักนี้แหละเป็นส่วนที่บรรดาลให้พระยาพหลฯ คิดการปฏิวัติและได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำของคณะทีเดียว

พระยาพหลฯ เป็นผู้ที่บูชาความยุติธรรมเป็นชีวิตจิตใจ เป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกผิดชอบของตนเอง เป็นผู้ที่ซื่อตรงต่อหน้าที่ และในประการสุดท้าย เป็นคนที่เมื่อได้ตกลงปลงใจว่าจะต่อต้านการกระทำผิดใด ๆ ของบุคคลใดแล้ว ก็ย่อมจะต่อต้านอย่างสุดกำลัง ถึงจะมีภัยอันตรายมาขวางหน้า ก็ไม่ยอมถอยหลังเป็นอันขาด นี่เป็นลักษณะนิสัยอันแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเอาจริงของพระยาพหลฯ ในเมื่อต้องเผชิญความคับขันฉุกเฉิน และนี่เองเป็นลักษณะนิสัยสำคัญที่ทำให้พระยาพหลฯ ได้รับความยกย่องให้เป็นผู้นำของคณะ

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ที่มีความสงบเสงี่ยม ไม่ตีราคาความฉลาดปราชญ์เปรื่องของตนเอง และพอใจสรรเสริญความฉลาดปราชญ์เปรื่องของคนอื่น เช่นได้เคยสรรเสริญความปรีชาสามารถของหลวงพิบูลสงครามในการดำเนินการบ้านเมืองและในการรักษาความเป็นปึกแผ่นของหมู่คณะไว้ได้ ได้สรรเสริญความปราชญ์เปรื่องของพระยาทรงสุรเดชฯ ในวิชายุทธวิธี ได้สรรเสริญปรีชาสามารถของหลวงประดิษฐมนูธรรมในการดำเนินงานฝ่ายการเมือง ในส่วนตัวท่านเองนั้น พระยาพหลฯ มักจะตอบแก่คนอื่น ๆ ว่า ท่านเป็นคนมีปัญญาพอประมาณ เมื่อถูกซักว่า เมื่อมีปัญญาแต่พอประมาร ไฉนจึงสอบไล่ได้ที่หนึ่งจนถึงได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนให้ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศเล่า คนที่มีปัญญาพอประมาณหรือปานกลางจะเอาชนะคนอื่น ๆ ในการเล่าเรียนจนถึงสอบไล่ได้ที่หนึ่งนั้นดูเป็นการฝืนความจริงอยู่ ท่านหัวหน้าคณะราษฎรหัวเราะแล้วตอบข้อซักถามอันนี้ว่า ท่านจำเป็นจะต้องยอมรับว่าความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นผลแห่งความบากบั่นของท่านในระหว่างที่เล่าเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยนั้น โดยที่ไม่ทนงว่าเป็นผู้มีปัญญาชั้นเลิศ ท่านจึงบากบั่นในการศึกษาเล่าเรียนโดยมิคิดถึงความเหนื่อยยาก ในขณะที่เพื่อนนักเรียนกำลังหลับสนิทและหลับอย่างสบายในตอนใกล้รุ่งนั้น ตัวท่านเองจะฝืนใจตื่นขึ้นมาแต่เวลา 4.00 น. และดูหนังสือไปจนถึงเวลาที่จะต้องทำกิจอย่างอื่นตามกำหนดการของโรงเรียน การลุกขึ้นมาดูหนังสือแต่เวลาตีสี่เช่นนี้เป็นกิจวัตร์ของท่านที่ได้ปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอในระหว่างที่เรียนอยู่ในชั้นสูง ความสำเร็จของท่านจึงกล่าวได้ว่าอยู่ที่ความมานะบากบั่นนี่เอง

เมื่อท่านออกไปศึกษาวิชาทหารต่อที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมันนั้น ก็มีเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะนิสัยอันแข็งแกร่งของท่านอยู่ข้อหนึ่งในที่จะต่อสู้เอาชนะความดูหมิ่นของผู้อื่น ครั้งหนึ่งเมื่อกำลังศึกษาวิชาประวัติศาสตร์อยู่ในห้องเรียนนั้น ท่านผู้บังคับการได้ไปตรวจดูการเรียนของนักเรียนในห้องต่าง ๆ เมื่อเข้าไปในห้องเรียนของท่านนั้นเป็นเวลาที่ท่านอาจารย์ได้ตั้งคำถามในวิชาประวัติศาสตร์ให้ท่านตอบ 2–3 ข้อ และท่านตอบไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว ท่านผู้บังคับการประสพเหตุการณ์เช่นนั้นก็พิโรธ จึงได้เรียกท่านออกมาติเตียนต่อหน้านักเรียนทั้งหลายด้วยคำแรง และโดยที่ท่านเป็นนักเรียนต่างประเทศ คำติเตียนซึ่งมีความพาดพิงไปถึงประเทศบ้านเกิดเมืองมารดรของท่านด้วย จึงทำให้ท่านมีความละอายและขมขื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นท่านนักเรียนต่างประเทศผู้เป็นคนไทยนั้นก็ได้ไปหาซื้อสมุดหัวข้อวิชาประวัติศาสตร์มาท่องด้วยความบากบั่นอย่างทรหด และเมื่อมีการเล็คเชอรวิชาประวัติศาสตร์ ได้ฟังด้วยความเอาใจใส่อย่างที่สุด ได้พากเพียนใส่ใจศึกษาวิชาประวัติศาสตร์โดยวิธีเช่นนั้นมาจวนถึงวันสอบไล่ชั้นสุดท้ายซึ่งจะออกเป็นนายทหาร บังเอิญในวันที่นักเรียนนายร้อยไทยจะไปสอบวิชาประวัติศาสตร์นั้นได้มีโอกาสพบกับท่านผู้บังคับการเข้า ท่านผู้บังคับการจึงปราศรัยว่า “วันนี้เจ้าจะไปสอบวิชาอะไร?” นักเรียนนายร้อยไทยตอบว่า “กระผมจะไปสอบวิชาประวัติศาสตร์” ท่านผู้บังคับการซึ่งยังจำเหตุการณ์ในห้องเรียนวันนั้นได้ดี ก็โคลงศีรษะช้า ๆ แสดงความสมเพทเวทนา นักเรียนนายร้อยไทยเห็นอาการของผู้บังคับการเช่นนั้นก็เดาใจท่านได้ จึงได้เรียนผู้บังคับการว่า “กระผมได้ใส่ใจฝึกฝนวิชานี้มาพอเป็นที่วางใจได้ ขอท่านผู้บังคับการอย่าได้วิตกในตัวกระผมเลย” ท่านผู้บังคับการมองจ้องหน้านักเรียนนายร้อยไทยคนนั้นด้วยความพิศวงและด้วยประกายนัยน์ตาแสดงความกรุณา และได้พูดในที่สุดว่า “ดีแล้ว ฉันจะไปดูการสอบของเจ้า”

ในการสอบนั้น ผู้สอบจะต้องเข้าไปสอบครั้งละสี่คน นักเรียนไทยคนนั้นจึงเข้าสอบร่วมกับนักเรียนเยอรมัน 3 คน การตอบข้อสอบนั้น เมื่อผู้ถูกถามคนแรกตอบไม่ได้ นักเรียนคนต่อมาก็จะต้องตอบแทน และถ้าติดอีก คนต่อมาก็ต้องตอบแทนเป็นลำดับไป ในการสอบไล่ครั้งนั้น นักเรียนไทยไม่แต่จะตอบข้อถามวิชาประวัติศาสตร์ในส่วนที่ตนถูกถามได้ทุกข้อเท่านั้น ยังสามารถตอบข้อถามแทนนักเรียนนายร้อยเยอรมันทั้ง 3 นั้นได้ทุกข้อ

เสร็จการสอบและในขณะเดินผ่าน ท่านผู้บังคับการได้เรียกนักเรียนนายร้อยไทยเข้าไปหา พลางเอามือตบหลังแล้วพูดว่า “ลูกเอ๋ย คำติเตียนของฉันก็ได้ทำประโยชน์ให้แก่เจ้ามิใช่หรือ? วันนี้เจ้าได้ทำให้ฉันมีความภาคภูมิใจในตัวเจ้าเป็นอันมาก”

นักเรียนนายร้อยไทยผู้นั้นกล่าวคำขอบคุณท่านผู้บังคับการด้วยน้ำตาคลอตา

ถึงแม้ว่าท่านผู้นำคณะราษฎรจะเป็นผู้ที่มีกิริยาสงบเสงี่ยมสุภาพเพียงใด จะเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายเพียงใดก็ดี แต่โดยที่เป็นผู้ที่บูชาความยุติธรรมอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ซื่อตรงต่อหน้าที่และต่อความรู้สึกผิดชอบของตนนั้นเอง อาจจะทำให้ใคร ๆ ได้พบท่านผู้นี้ในลักษณะที่เป็นมนุษย์ใจเหล็กไปได้เป็นครั้งคราว ในเมื่อท่านต้องเผชิญกับการกระทำผิดอย่างไร้เหตุผลของบุคคล ไม่เลือกว่าจะเป็นเจ้านายใหญ่โตหรือเป็นใครก็ตาม

ทั้งที่ได้มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายดังกล่าวแล้ว แต่โดยที่เป็นคนมีลักษณะนิสัยซื่อตรงต่อความรู้สึกผิดชอบของตนเอง ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ พระยาพหลฯ จึงมักมีเรื่องเป็นที่ขัดเคืองพระทัยของเจ้านายใหญ่โตแทบทุกองค์ นับแต่กรมหลวงพิษณุโลกฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ และสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อครั้งยังรับราชการทหารและยังมิได้เสวยราชย์ และได้มีเรื่องทุ่มเถียงกับเจ้านายอื่น ๆ อีกหลายพระองค์ เกี่ยวกับกรมพระนครสวรรค์ฯ นั้น พระยาพหลฯ ได้เคยมีหนังสือโต้เถียงกับพระองค์ท่านด้วยอาการรุนแรงครั้งหนึ่ง เนื่องด้วยพระองค์ท่านกล่าวตำหนิการปฏิบัติราชการของพระยาพหลฯ ในโอกาสที่ได้ถูกส่งไปราชการในประเทศญี่ปุ่น โดยไม่ทรงรู้เท่าถึงการณ์ ต่อภายหลังได้ทรงสอบสวนทราบตระหนักในข้อเท็จจริงแล้ว ได้ทรงถอนคืนคำตำหนินั้น แต่ก็ช้าไป เพราะหนังสือตอบโต้อย่างตรงไปตรงมาตามลักษณะนิสัยซื่อตรงของพระยาพหลฯ ได้สวนทางมาเสียแล้ว ถึงจะทรงทราบดีว่ามิใช่ความผิดของพระยาพหลฯ ก็จริง แต่เมื่อได้รับหนังสือตอบโต้อย่างที่ทรงรู้สึกว่าผู้เขียนขาดความยำเกรงพระทัยเช่นนั้น ก็ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก และนับแต่นั้นมาก็ไม่ทรงติดต่อรับสั่งสนทนากับพระยาพหลฯ อีกเลยเป็นเวลาถึง 3 ปี

ความซื่อตรงต่อหน้าที่และความรู้จักตำแหน่งแห่งที่ของตนนั้น พระยาพหลฯ เป็นผู้ถือเคร่งครัดนัก เมื่ออยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านก็วางตนอย่างหนึ่ง ท่านเจ้าคุณได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านไปพักผ่อนหย่อนใจที่บางเขน ขณะกำลังนั่งตกปลาอยู่นั้น แลเห็นรถยต์ครั้งหนึ่งแล่นมาแต่ไกล มีรถจักรยานยนต์ตำรวจแล่นนำหน้ามา ท่านจำได้ว่าเป็นรถนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านก็วางคันเบ็ดลงและลุกขึ้นยึน เมื่อรถของนายพลตรี หลวงพิบูลฯ ผ่านมาถึง ท่านก็กระทำคำนับในฐานที่ท่านายพลตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของท่าน

“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำของประเทศนั้นเป็นตำแหน่งสูงสุด” เจ้าคุณพหลฯ กล่าวต่อไป “เมื่อผู้ใดได้ดำรงตำแหน่งอันสูงสุดอันประกอบด้วยความรับผิดชอบใหญ่หลวงเช่นนี้แล้ว ผมก็มีหน้าที่จะต้องแสดงความเคารพต่อท่านผู้นั้น จริงดอกผมได้เคยครองตำแหน่งอันสูงสุดนี้มาแล้ว และได้รับนับถือว่าเป็นผู้มีอาวุโสในคณะผู้ก่อการ แต่เพื่อรักษาระเบียบวินัยอันดีงามของสังคมแล้ว คนทุกคนจำต้องรู้จักตำแหน่งหน้าที่ของตน และจำต้องเคารพต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งอันพึงเคาพในปัจจุบันเสมอ จริงอยู่ในส่วนตัวคุณหลวงพิบูลสงครามนั้น คุณหลวงพิบูลฯ เป็นผู้มีอัธยาศัยดีอย่างยิ่ง เวลามีข้อราชการอะไรที่ผมจะต้องไปติดต่อปรึกษาหารือกับท่าน พอท่านทราบ ท่านก็มักจะขอร้องมิให้ผมไปพบกับท่าน และบางทีท่านก็รีบมาพบกับผมเสียเอง นี่เป็นการแสดงอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่งของท่านนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ดี ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกลาโหมซึ่งนับว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของผมโดยตรง เมื่อมีกิจราชการที่จะไปติดต่อกับท่าน ผมก็จะต้องพยายามไปพบกับผู้บังคับบัญชา มิใช่ปล่อยให้ผู้บังคับบัญชามาหาผม” เจ้าคุณพหลฯ เป็นผู้ที่เคร่งต่อระเบียบวินัยในการปฏิบัติกับคนทั่วไป เฉพาะในเรื่องความรู้จักตำแหน่งหน้าที่และความซื่อตรงในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าคุณพหลฯ ได้กล่าวย้ำว่าเป็นข้อสำคัญนัก

การที่ได้กล่าวลักษณะนิสัยของผู้นำคณะมา 2 ตอนนั้น ก็เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่า การที่ที่ประชุมหัวหน้าผู้ก่อการได้รับรองยกย่องให้พระยาพหลฯ เป็นผู้นำในการปฏิวัตินั้น ท่านได้รับการยกย่องเพราะอาศัยลักษณะนิสัยในข้อใดบ้าง

ความปลงใจที่จะดำเนินการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน หรือกล่าวอย่างที่สามัญชนเข้าใจกันก็คือการคิดกบฏต่อพระราชานั้น นับว่าเป็นความปลงใจที่ประกอบด้วยความเสียสละอันใหญ่หลวง เพราะว่าถ้าฉวยพลาดพลั้งลงไปอย่างใดเป็นเหตุให้แผนการไม่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว บรรดาผู้คิดการเช่นนั้นก็อาจต้องเสียชีวิตหรือถูกจำคุกตลอดชีวิตก็ได้ ดังที่ได้ปรากฏตัวอย่างการกระทำของคณะ ร.ศ. 130 มาแล้ว โดยที่มีตัวอย่างอยู่เช่นนี้ คณะราษฎรในการคิดเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน จึงได้ปลงใจไปในทางสละชีวิตเป็นส่วนมาก

ความปลงใจเช่นนี้ พระยาพหลฯ กล่าวว่า มิใช่เป็นของที่กระทำได้ง่าย ๆ เลย ว่าที่แท้เป็นกิจอันยากยิ่งที่สุดที่มนุษย์จะพึงกระทำให้ชั่วชีวิตของคนหนึ่ง ๆ

“ทั้งที่ได้ตกลงปลงใจไว้แล้ว ในบางครั้งบางคราวก็ยังมีใจวอกแวกหวลอาลัยในชีวิตอยู่เหมือนกัน” พระยาพหลฯ กล่าวด้วยความจริงใจ “เพราะว่าผมก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ ในบางขณะก็อดระลึกเป็นห่วงถึงครอบครัวที่อยู่ภายหลังไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ผมได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าคณะ ผมย่อมจะสำนึกในความรับผิดชอบของผมอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้น นับแต่ที่ได้ไปประชุมกับหัวหน้าคณะต่าง ๆ และได้ทำความตกลงกันในที่ประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ผมก็ได้ทำความเพียรข่มจิตของผมให้แน่วแน่อยู่ในความปลงใจอันนี้ และเมื่อได้เพียรบำเพ็ญกิจอันนี้สืบต่อกันมาโดยสม่ำเสมอในเวลาอันควรแล้ว จิตของผมก็แน่วแน่อยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผมต่อประเทศชาติโดยไม่วอกแวกผันแปรอีกเลย”

วิธีที่พระยาพหลฯ ได้นำมาใช้ในการข่มจิตนั้นได้ถือตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ท่านได้เล่าว่า ภายหลังที่ได้รับอาหารเย็นแล้วทุกวัน เว้นเสียแต่ในวันที่มีกิจธุระเป็นพิเศษ ท่านได้ลงไปในสวนและนั่งลงภายใต้ร่มไม้แล้วก็กระทำสมาธิเพ่งเล็งอยู่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว ได้ใช้เวลาตรึกตรองลู่ทางที่จะทำการไปบ้าง และในบางขณะเมื่อใจวอกแวกออกนอกทาง ก็ได้ใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องข่มบังคับ เมื่อเกิดความประหวั่นใจว่าจะทำการไปมิสำเร็จ ก็ได้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า จะเกิดเหตุอะไรต่อไปเล่า? จะต้องถูกจับกุมจองจำด้วยโซ่ตรวนคยู่ในคุกตลอดไปจนชั่วชีวิตก็เป็นได้ ภาวะเช่นนั้นเป็นของเหลือวิสัยที่ผู้รักชาติบ้านเมืองอย่างแรงกล้าจะทนได้หรือไม่? เมื่อได้ตรึกตรองทบทวนดูแล้วก็ได้คำตอบว่า จะเป็นไรไปเล่า แต่ความจริงอาจไม่ชั่วแต่ถูกจำคุกไปจนตลอดชีวิต หากอาจถูกลงโทษถึงประหารชีวิตเสียทีเดียวก็เป็นได้ เมื่อระลึกถึงข้อนี้แล้ว พระยาพหลฯ ก็ตั้งคำถามต่อไปว่า เพื่อที่จะใช้ชีวิตให้สมค่าที่สุดนั้น คนเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรเล่า? ถ้าเราไม่ตายในวันนี้ เราจะไม่ตายในวันหน้าหรือ ถ้าเราต้องตายในวันนี้เพื่อแก่ชาติบ้านเมือง จะไม่ดีกว่าการผัดไว้ตายในพรุ่งนี้โดยปราศจากความความมุ่งหมายอะไรเลยหรือ? แล้วก็ครอบครัวบุตรภรรยาของเราที่จะอยู่ต่อไปในภายหลังโดยปราศจากความอุปถัมภ์ของเราเล่า? คำตอบก็ปรากฏขึ้นว่า ถ้าเราจะต้องตายในวันพรุ่งนี้ บุตรภรรยาของเราก็จะถูกปล่อยไว้แต่ลำพังเช่นเดียวกับเราที่จะต้องตายในวันนี้เหมือนกัน นอกจากนั้น บุตรภรรยาของคนอีกตั้งหมื่นตั้งแสนที่ได้ถูกปล่อยให้ต่อสู้กับเคราะห์กรรมไปแต่ลำพังในโลกนี้ คนเหล่านั้นเขาอยู่มาอย่างไร และอาจประสพความสุขความเจริญในชีวิตได้อย่างไรเล่า ถ้าคนเหล่านั้นเขาอยู่มาได้อย่างไร และอาจประสพความสุขความเจริญมาได้อย่างไร บุตรภรรยาของเราก็ย่อมจะอยู่ไปได้เช่นคนทั้งหลายเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงจากเราก็ตาม

ในขณะที่เกิดความประหวั่นพรั่นใจและความคิดวอกแวกนอกลู่นอกทางนั้น เมื่อได้ตั้งคำถามและตอบข้อถามได้ปลอดโปร่งโล่งใจตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ความคิดก็เข้าสู่แนวเดิมแน่วแน่ไม่แปรผันต่อไปอีก พระยาพหลฯ ได้ปฏิบัติกิจวัตรบำเพ็ญสมาธิอยู่หลายเดือน จิตใจก็แน่วแน่อยู่แต่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว และกำลังใจก็ได้แก่กล้าขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในเวลาตีสี่ของวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งพระยาพหลฯ ได้ออกจากบ้านไปทำการซึ่งถ้าไม่สำเร็จก็ตายนั้น เมื่อก้าวลงจากบันไดบ้านขั้นแรกแล้ว พระยาพหลฯ มิได้เหลียวหลังกลับไปสู่เรือนของท่านอีกเลยแม้แต่แวบเดียว น้ำจิตแน่วแน่มั่นคงอยู่แต่ในการกระทำที่รออยู่ข้างหน้าเท่านั้น

พระยาทรงเสนอแผนการณ์

การประชุมครั้งแรกนั้น ว่าตามจริงยังไม่ถือว่าเป็นการประชุมที่จริงจังนัก เพราะว่ามีผู้ไปประชุมไม่ครบถ้วนตามนัดหมาย การประชุมครั้งต่อมาได้ประชุมในตอนกลางคืนต้นปี พ.ศ. 2475 ณ บ้านนายประยูร ภมรมนตรี การประชุมครั้งนี้ได้มีผู้เข้าประชุมรวม 8 ท่านครบถ้วนตามกำหนด คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิฯ พระประศาส์นฯ หลวงพิบูลฯ หลวงประดิษฐ์ฯ และนายประยูร พระยาฤทธิฯ นั้นเมื่อได้เข้าประชุมครั้งนี้แล้ว พระยาพหลฯ ก็มิได้ชักนำให้ร่วมประชุมอีกเลย จนกระทั่งเมื่อได้กำหนดวันเวลาที่จะเริ่มการแล้ว พระยาพหลฯ จึงแจ้งให้พระยาฤทธิฯ ทราบ

การประชุมครั้งนี้ เรื่องใหญ่ที่นำออกปรึกษากันในที่ประชุมก็คือ แผนการณ์ในการดำเนินการยึดอำนาจตามที่ได้มอบหมายให้พระยาทรงฯ เป็นผู้กำหนดและนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา พระยาทรงฯ ได้เสนอแผนการณ์ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ว่า จะใช้กำลังคนเป็นจำนวนมากจู่โจมเข้ายึดพระราชวังที่ประทับพระเจ้าอยู่หัวในเพลาดึก ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จโดยฉับพลัน แล้วจะบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวลงนามในรัฐธรรมนูญ แผนการณ์นี้เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายกันแล้ว ส่วนมากมีความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดความตื่นเต้นหวาดเสียวแก่ประชาราษฎรมากเกินไป ที่ประชุมจึงได้ตกลงกันให้พระยาทรงฯ ร่างแผนการณ์เสนอใหม่ให้มีความละมุนละม่อมกว่าแผนการณ์อันแรก

การประชุมครั้งที่สาม

การประชุมครั้งที่สามเปิดขึ้นในเวลาเช้า เจ้าคุณพหลฯ ไม่ได้จดไว้ว่าเป็นวันใดเดือนใด แค่คะเนว่าไม่ห่างไกลกับเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนลงมือทำการนัก ในการประชุมครั้งนีขาดพระยาพหลฯ ไปคนหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 ท่านด้วยกัน คือ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงประดิษฐ์ฯ จมื่นสุรฤทธิ์ฯ และนายตั้ว ลพานุกรม การประชุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งก่อน ได้ใช้เวลาส่วนมากปรึกษาพิจารณาแผนการณ์ยึดอำนาจอันใหม่ที่พระยาทรงฯ ได้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา แผนการณ์อันใหม่มีข้อกำหนดที่เป็นสาระสำคัญอยู่ว่า เวลาลงมือทำการนั้นกำหนดให้เป็นเวลาเช้าวันอาทิตย์ แทนที่จะเป็นเวลากลางคืน คณะปฏิวัติจะจัดการชุมนุมกำลังทหารไว้ที่ลานพระบรมรูป บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติจะได้พร้อมกันเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ ณ พระที่นั่งอัมพร และบังคับให้พระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เมื่อได้ปรึกษาพิจารณากันโดยรอบคอบแล้ว ที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนการณ์อันใหม่นี้ถึงแม้ว่าจะบรรเทาความตื่นเต้นหวาดเสียวลงมาบ้าง เพราะได้เปลี่ยนจากยามดึกมาเป็นยามเช้าก็จริง แต่ที่ประชุมยังมีความเห็นว่า คงจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้กันอย่างเลือดนองแผ่นดินไปไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อที่คณะปฏิวัติไม่ปรารถนาเลย และใคร่จะหาทางหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกันอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนั้น ในการดำเนินการเพื่อที่จะเปลี่ยนการปกครองของแผ่นดินนี้ คณะปฏิวัติใคร่จะกระทำลงไปด้วยความพยายามที่จะให้เกิดความกระทบกระเทือนทางพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่น้อยที่สุด ดังนั้น เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายแผนการณ์ยึดอำนาจของพระยาทรงฯ อันที่สองแล้ว ที่ประชุมก็ได้ตกลงให้ระงับแผนการณ์อันนี้ไว้ และได้มอบให้พระยาทรงฯ ไปร่างแผนการณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความประสงค์ของที่ประชุมดังกล่าวแล้ว

แผนการณ์อันที่สาม

บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติได้เปิดประชุมเป็นครั้งที่ 4 ณ บ้านนายประยูร ภมรมนตรี การประชุมเริ่มเวลา 7.00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน เราจะเห็นได้ว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้แล้วอีก 12 วันก็ถึงวันที่คณะราษฎร์ได้ลงมือทำการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินทีเดียว การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าประชุมรวม 8 ท่าน คือ พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงประดิษฐ์ฯ นายตั้ว ลพานุกรม และนายประยูร ภมรมนตรี พระยาทรงฯ ได้เสนอแผนยึดอำนาจอันที่สามให้ที่ประชุมพิจารณา

เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ และเพื่อที่จะไม่ให้เป็นการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์เกินสมควรไป แผนการณ์ใหม่นี้ได้กำหนดว่า ให้ลงมือทำการในขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประทับที่หัวหิน อนึ่ง เพื่อจะให้ที่ประชุมได้รับรองแผนการณ์ยึดอำนาจให้เสร็จสิ้นไปในการประชุมครั้งนี้ พระยาทรงฯ จึงได้เสนอวิธีดำเนินการมา 3 วิธีเพื่อให้ที่ประชุมเลือกเอาวิธีใดวิธีหนึ่ง วิธีดำเนินการอันแรกมีอยู่ว่า ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยหรือแสดงอาการว่าจะขัดขวาง ก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างจัดการประชุมนายทหารครั้งนี้ ให้จัดคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ และภายหลังที่จะทำการประชุมนายทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว ให้นำบุคคลสำคัญ ๆ มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตฯ หรือบนเรือรบ

วิธีดำเนินการ

วิธีดำเนินการยึดอำนาจอันที่สองได้กำหนดว่า ให้จัดส่งหน่วยต่าง ๆ ไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ และในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยออกทำการตัดการสื่อสารติดต่อ เช่นการโทรเลขและโทรศัพท์เป็นอาทิ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปโดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่ แล้วประกาศเปลี่ยนการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น เวลาตกตลึงพรึงเพริดทหารเหล่านั้นคงจะไม่ทำการขัดขวางอย่างใด และเมื่อนายทหารคณะผู้ก่อการให้เข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิมแล้ว ทหารก็คงจะฟังคำสั่งจากผูับังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงจะสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน

วิธีดำเนินการอันที่สามมีกำหนดการว่า ให้หน่วยทหารหน่วยหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพหรม และเข้ากุมพระองค์กรมพระนครสวรรค์ฯ มาประทับที่พระที่นั่งอนันต์เพื่อเป็นประกันความปลอดภัยของคณะราษฎร และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามทำนองที่กล่าวแล้วในวิธีที่สอง

บรรดาหัวหน้าคณะผู้ก่อการได้พิจารณาแผนการณ์ที่พระยาทรงฯ เสนอแล้ว เห็นวิธีดำเนินการอันหลังนี้เป็นวิธีที่แยบคายกว่าวิธีอื่น จึงได้ตกลงรับรองแผนการยึดอำนาจตามวิธีดำเนินการอันที่สาม ที่ประชุมได้กำหนดเอาวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนเป็นวันลงมือ

อย่างไรก็ดี คณะปฏิวัติได้สืบทราบว่า โดยปรกติกรมพระนครสวรรค์ฯ มักจะทรงเลือกเอาวันเสาร์เป็นวันเสด็จประพาสสำราญพระอิริยาบถตามลำน้ำเจ้าพระยา และมักจะประทับแรมคืนอยู่บนเรือพระที่นั่ง และจะไม่เสด็จกลับวังจนกว่าจะถึงวันจันทร์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะลงมือทำการในวันอาทิตย์แล้ว ก็อาจจะไม่ได้พระองค์กรมพระนครสวรรค์ฯ มาเป็นตัวประกัน บรรดาหัวหน้าก่อการจึงติดต่อปรึกษากันให้เลื่อนการลงมือทำการไปเป็นวันอังคารที่ 21 มิถุนายน

มีปัญหาเกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี ในระหว่างเวลาเข้าด้ายเข้าเข็มนี้ ได้เกิดมีปัญหาสำคัญ ๆ ที่จะต้องขบอยู่บ่อย ๆ บรรดาหัวหน้าคณะก่อการจึงมีการติดต่อพบปะปรึกษาหารือกันอยู่เสมอ ในวันอาทิตย์ที่ 19 หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงทัศนัยฯ และนายตั้ว ได้ไปประชุมปรึกษาหารือกันอยู่ที่บ้านพระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ ได้ไปสมทบภายหลัง ปรึกษากันด้วยเรื่องกำหนดวันลงมือทำการ ในวันเดียวกันนั้นได้มีการประชุมบรรดาหัวหน้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการประชุมครั้งที่ 5 ผู้เข้าร่วมประชุม คือ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงสินธุฯ หลวงทัศนัยฯ หลวงประดิษฐฯ และนายประยูร รวม 8 ท่านด้วยกัน ปรึกษาหารือกันในเรื่องกำหนดวัน แต่ก็ยังไม่มีข้อตกลงอันแน่นอน เพราะที่ประชุมจะต้องรอฟังรายงานข่าวเหตุการณ์เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ที่ประชุมจึงได้ตกลงให้มีการประชุมวินิจฉัยปัญหาข้อนี้อย่างเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้น เวลา 18.30 น. ณ บ้านนายประยูร ภมรมนตรี

เลื่อนเป็นครั้งที่สอง

ผลของการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปรากฏว่า ที่ประชุมได้ตกลงให้เลื่อนวันลงมือทำการไปวันพฤหัสบดีที่ 23 ซึ่งเป็นวันตัวของท่านหัวหน้าคณะราษฎร ทั้งนี้เพราะเหตุว่าที่ประชุมได้รับรายงานว่า ในวันอังคาร เรือยามฝั่งยังไม่กลับ ถ้าลงมือในวันอังคาร ก็จะขาดกำลังความร่วมมือของคณะทหารเรือไปมาก ถ้ารอไปจนถึงวันพฤหัสแล้ว ก็จะได้กำลังทหารเรือมาเพิ่มกำลังอย่างเป็นที่น่าอุ่นใจทีเดียว

ในวันนี้ ที่ประชุมได้ปรึกษาวางข้อกำหนดดำเนินการอันแน่นอนลงไว้ด้วย เพราะว่าจะไม่มีการประชุมปรึกษาอะไรกันอีกจนกว่าจะถึงวันกำหนดนัดซึ่งผู้ก่อการจะได้ลงมือปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมายทันที ที่ประชุมได้กำหนดเวลา 4.30 น. เป็นเวลานัดชุมพลหมู่ผสมซึ่งพระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ เป็นผู้นำ จะไปชุมพลที่หน้ากองเสนารักษ์ที่ริมทางรถไฟตรงทางสามแพร่ง เมื่อได้รับคำชี้แจงมอบหมายหน้าที่การงานจากหัวหน้าแล้ว ทุกคนก็จะแยกย้ายกันไปทำการ กำหนดให้เคลื่อนขบวนเวลา 5.00 น. บรรดาคณะก่อการที่ได้แยกย้ายกันไปทำทหารเหล่าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ด้วยนั้นจะไปชุมนุมพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปเวลา 6.00 น. ณ ที่นั้นและในเวลานั้น ท่านหัวหน้าคณะราษฎรจะได้ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองต่อบรรดาทหารที่มาชุมนุมอยู่ ส่วนการเข้าควบคุมวังเจ้านายและบรรดานายทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้น ให้เริ่มแต่เวลา 4.30 น. เป็นต้นไป

วันที่ 24 มิถุนายน

ถึงแม้จะได้เลื่อนมาแล้วเป็นครั้งที่สอง และถึงแม้จะกำหนดการลงไปแน่นอนแล้วจนไม่มีทางคิดว่าจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นอีกก็ดี แต่ในวันที่ 22 นั้นเอง ทางพวกหัวหน้าก็ได้รับรายงานว่า พรรคพวกทั้งฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นทั้งหมด 115 คนนั้น มีหลายคนยังไม่พร้อมที่จะลงมือทำการ ทำให้บรรดาหัวหน้าต้องมีการปรึกษาหารือกันเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และในที่สุดได้ตกลงให้เลื่อนวันลงมือทำการออกไปอีก 1 วัน คือ เป็นวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน ทั้งนี้ให้ถือว่าเป็นวันกำหนดแน่นอน ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงอีก ไม่ว่าใครจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม เป็นอันว่าจะต้องลงมือละ จะมัวรีรออยู่ไม่ได้ บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติต่างมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า การที่จะยืดเวลาออกไปนั้นก็เท่ากับรอเวลาให้ภัยใกล้เข้ามาเท่านั้น เพราะว่าดูเหมือนในระหว่างนั้นทางราชการตำรวจก็เริ่มสงสัยแล้วว่า มีบุคคลหมู่หนึ่งจะคิดกบฏต่อพระราชา และดูเหมือนมีการสืบสวนเบาะแสหลักฐานในเรื่องนี้อยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมัวยืดยาดเวลาต่อไปอีกนานแล้ว ก็เท่ากับให้โอกาสแก่ตำรวจได้มีเวลาสืบสวนจนได้เบาะแส และคณะปฏิวัติก็คงจะถูกจับกุมเสียก่อนที่จะได้ลงมือเป็นแน่ ดังนั้น บรรดาหัวหน้าคณะปฏิวัติจึงได้ตกลงปลงใจว่าจะเริ่มการในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนเป็นแน่นอน พรรคพวกจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ก็ขอเลือกไปตายเอาดาบหน้า

เราทั้งหลายย่อมทราบกันแล้วว่า กำหนดวันทำการที่คณะปฏิวัติได้ตกลงกันครั้งหลังที่สุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนนั้นเป็นอันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใด

เผยความคิดแก่ภรรยา

เมื่อข้าพเจ้าเรียนถามท่านหัวหน้าคณะราษฎรว่า ในคืนที่จะออกไปทำการนั้น ท่านได้สั่งความข้อใดแก่ภรรยาของท่านบ้าง เจ้าคุณพหลฯ หัวเราะ และแทนที่จะตอบคำถามข้อนี้ในทันที ท่านกลับย้อนไปเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่เริ่มคิดการปฏิวัติใหม่ ๆ

ท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้เล่าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า ในเวลาที่ตกลงปลงใจว่าจะทำการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินนั้น ภรรยาของท่านกำลังเริ่มตั้งครรภ์บุตรคนแรก ท่านว่า ความคิดที่จะดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดินครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างความเป็นความตายก้ำกึ่งกัน และว่า ตามจริงในส่วนตัวเจ้าคุณพหลฯ เองมองเห็นข้างตายมากกว่าข้างเป็น เมื่อทำความใคร่ครวญดูแล้ว ท่านจึงรู้สึกว่า แม้นมิได้บอกความคิดเรื่องนี้ให้ภรรยาได้ทราและได้พูดจาสั่งเสียการภายหน้าแก่ภรรยาไว้บ้างแล้ว ก็จะไม่วายห่วง จริงอยู่พระยาทรงฯ ได้เคยพูดกำชับท่านไว้ว่า อย่าได้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ผู้ใดล่วงรู้เป็นอันขาด เว้นเสียแต่ผู้ที่ร่วมเป็นร่วมตายด้วยกันเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ดี เจ้าคุณพหลฯ เองเห็นว่า ท่านควรจะถือภรรยาเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายได้คนหนึ่ง

ดังนั้น เพลาเย็นวันหนึ่ง ท่านหัวหน้าคณะราษฎรจึงได้เรียกภรรยาไปสนทนากับท่านสองต่อสอง และเผยความคิดเรื่องนี้ให้ฟัง ได้ชี้แจงแก่ภรรยาของท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า การที่คิดจะเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ ก็มิได้แน่ใจว่าจะทำไปสำเร็จดอก มองเห็นข้างศรีษะจะหลุดจากบ่านั้นมากกว่า แต่ที่เห็นแน่ตระหนักในใจก็คือ ถ้าไม่เร่งรัดจัดเปลี่ยนระบอบการปกครองเสียแต่ในเวลานี้แล้ว ต่อไปภายหน้าบ้านเมืองก็คงจะประสพความหายนะถึงล่มจมลงไปเป็นแน่ เพราะฉะนั้น จึงรู้สึกเป็นความจำเป็นที่จะต้องนำชีวิตเข้าเสี่ยงภัย ที่ว่ารู้สึกเป็นความจำเป็นนั้น อาศัยเหตุว่าบิดาของท่านเคยเป็นนายทหารผู้ใหญ่ก็ข้อหนึ่ง และตัวท่านเองก็เป็นนายทหารผู้ใหญ่ซึ่งได้รับความอุดหนุนของบ้านเมืองให้ออกไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ ก็จำต้องคิดถึงบุญคุณของบ้านเมืองอีกข้อหนึ่ง เมื่อเห็นภัยจะมีมาสู่ประเทศของตน จะนิ่งนอนใจอยู่มิได้ จำต้องรู้สึกถึงความรับผิดชอบพลีชีวิตออกเสี่ยงภัยเพื่อกู้บ้านเมืองไว้ตามสติปัญญาที่จะทำได้ ดังนั้น จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จำต้องทำ

ภรรยาของท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้ฟังสามีชี้แจ้งเหตุผลประกอบความตกลงปลงใจดังนั้นแล้ว ก็มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ นอกจากจะมิได้ทำการขัดขวางแต่อย่างใดแล้ว ยังได้ให้ความสนับสนุนในทางกำลังใจอย่างเต็มที่

สั่งความแก่ภรรยา

เมื่อได้เผยความคิดและได้รับความสนับสนุนเห็นชอบของภรรยาแล้ว พระยาพหลฯ ก็ได้สั่งความแก่เพื่อนร่วมชีวิตของท่านมีข้อใหญ่ใจความ 2 ประการ ประการที่ 1 ถ้าท่านทำการมิสำเร็จและต้องประสพอันตรายถึงแก่ชีวิตแล้วไซร้ อยู่ภายหลังขอให้คุณหญิงของท่านจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า การที่ตัวท่านคิดการเปลี่ยนการปกครองแผ่นดินครั้งนี้มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่ประการใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดินเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง แทนที่พวกผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจะผูกขาดการแสดงความคิดความเห็นไว้แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังความเห็นของผู้น้อยเลยดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งมีแต่จะชักนำบ้านเมืองไปสู่ความหายนะเท่านั้นเอง

เมื่อได้สั่งความข้อแรกแล้ว พระยาพหลฯ ได้สั่งความในเรื่องส่วนตัวเป็นข้อที่สองต่อไปว่า ถ้าท่านหาชีวิตไม่แล้ว ก็ขอให้ตั้งหน้าอบรมเลี้ยงดูบุตรของท่านให้จงดีให้สมกับที่เขาเกิดมาเป็นบุตรของท่าน และขอให้สงเคราะห์เลี้ยงดูบุคคลซึ่งเป็นที่รักของท่านด้วยความเมตตาอารีดุจเดียวกับท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่

เมื่อได้สั่งความ 2 ประการ และภรรยาของท่านได้รับคำด้วยความเต็มใจมั่นคงแล้ว พระยาพหลฯ ก็สิ้นกังวล และได้ตั้งหน้าดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินโดยมิได้เป็นห่วงถึงครอบครัวอีกเลย และภรรยาของท่านก็ได้รักษาความลับในเรื่องนี้ไว้อย่างเคร่งครัดสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากสามี แม้จนกระทั่งในวันลงมือทำการปฏิวัติ คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อพระยาศรีสิทธิสงครามไปถามหาพระยาพหลฯ ที่บ้าน คุณหญิงของท่านก็มิได้แจ้งให้ปิยมิตรของสามีทราบว่า สามีกำลังทำอะไรและกำลังไปอยู่ที่ไหน พระยาศรีสิทธิสงครามได้ทราบว่าใครเป็นใครในคณะปฏิวัติก็ต่อเมื่อได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้น

คืนวันที่ 23 มิถุนายน

ในคืนวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันตัดสินความเป็นความตายของคนเรานั้น น้อยคนนักที่จะนอนหลับได้ เพราะว่าในจิตคงจะมีความกระสับกระส่ายไม่มากก็น้อย แต่ประหลาดที่ภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแก่จิตใจของท่านหัวหน้าคณะราษฎรเลย พระยาพหลฯ มีจิตใจสงบเยือกเย็นเป็นปกติ จะยิ่งกว่าปรกติไปอีกก็คือ ได้บอกกล่าวร่ำลาภรรยาไปนอนแต่หัวค่ำ ก่อนเข้านอนได้พูดจาสั่งเสียภรรยาของท่านเป็นครั้งสุดท้าย การที่ได้กล่าวอำลาสั่งเสียแต่เพลาก่อนเข้านอนนั้นก็เท่ากับว่าท่านหัวหน้าคณะราษฎรได้ตั้งใจไว้ว่าในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นจะไม่พูดจาร่ำลาอะไรกันอีก

เมื่อได้สั่งความส่วนตัวเสร็จแล้ว ก็ได้สั่งความเรื่องการงานไว้ว่า เพลาประมาณสามยามครึ่ง พระประศาสน์พิทยายุทธจะเอารถยนตร์มารับท่านที่บ้าน ฉะนั้น ขอให้ปลุกท่านแต่เพลาตีสาม จะได้รับประทานอาหารนิดหน่อยและแต่งตัวไว้ให้เสร็จ อาหารที่จะรับประทานนั้นขอให้ทำโกโก้แต่เพียงถ้วยเดียว ไม่ต้องมีอะไรมากกว่านั้น สั่งความเรียบร้อยแล้ว พระยาพหลฯ ก็เข้านอนแต่หัวค่ำด้วยใจสงบ ระงับ และปราศจากกังวล ล้มตัวลงนอนไม่กี่นาทีก็หลับสนิทไป

ฝ่ายภรรยาของท่านนายพันเอกก็ได้ตระเตรียมการต่าง ๆ เพื่อให้สำเร็จเรียบร้อยตามคำสั่ง และเป็นธรรมดาคุณหญิงย่อมจะเป็นกังวลด้วยภาระกิจอันใหญ่หลวงของสามี และย่อมจะเฝ้าระวังระไวให้การณ์เป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น คงจะมิได้หลับนอนแทบตลอดคืน

ในคืนวันนั้น เพลาราวตีสอง คุณหญิงซึ่งคอยเฝ้าระวังระไวเหตุการณ์อยู่ แลเห็นมีรถตำรวจผ่านไปทางหน้าบ้าน ก็หวั่นใจว่าชรอยทางราชการตำรวจสงสัยมาสืบเบาะแสร่องรอยก็เป็นได้กระมัง จึงเข้าไปปลุกสามีแลเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง พระยาพหลฯ ทราบว่ามีรถตำรวจผ่านหน้าบ้านไป ก็ชี้แจงแก่ภรรยาว่า ตำรวจเขาออกตรวจการณ์ตามปรกติ มิใช่เป็นเครื่องแสดงภยันตรายอะไรดอก อย่าเป็นกังวลไปเลย แล้วพระยาพหลฯ ได้กล่าวต่อไปว่า พรุ่งนี้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิรู้ ฉะนั้น ในค่ำวันนี้ขอนอนให้เต็มตื่นสักหน่อยเถิด นี่ก็เพิ่งตีสอง ยังมีเวลาอีก 1 ชั่วโมงเต็ม พระยาพหลฯ จึงให้ภรรยาออกมาอยู่ภายนอก แล้วก็ล้มตัวลงนอนต่อไป และหลับได้สนิทเช่นเคย

ครั้นถึงเวลานัดหมาย นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ออกจากบ้านถนนวัดราชาธิวาสตรงไปยังบ้านพระยาพหลฯ ณ บางซื่อ เพลานั้นคุณหญิงพหลฯ เฝ้าคอยระวังภัยอยู่ในบ้าน แว่วเสียงสหายร่วมตายของสามีมาเคาะประตูบ้าน ก็ยังมิสู้ไว้ใจ เกรงเกลือกจะเป็นอุบายของตำรวจ ก็ร้องถามทานน้ำเสียงผู้เรียกเสียก่อน ต่อได้ยินพระประศาสน์ฯ ขานรับ

แน่น้ำเสียงดีแล้ว จึงได้ลุกไปเปิดประตู และรับพระประศาสน์ฯ เข้ามาในบ้าน ขณะนั้นพระยาพหลฯ รับประทานอาหารและแต่งตัวพร้อมสรรพแล้ว นายทหารเสือทั้งสองซึ่งมีอาวุธแต่เพียงปืนพกคู่มือคนละกระบอกก็พากันขึ้นรถยนต์มุ่งหน้าไปสู่ที่นัดหมาย ณ ริมทางรถไฟตรงทางสามแพ่ง สมทบกับมิตรร่วมตาย เพื่อจะทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระราชาผู้ซึ่งมีกำลังกองทัพและกำลังตำรวจอันมหึมาสรรพด้วยกำลังอาวุธเกรียงไกรรองรับพระราชบัลลังก์อยู่

ก่อนจะถึงเวลา 5.00 น. คณะผู้ก่อการเปลี่ยนการปกครองฝ่ายนายทหารบกประมาณ 10 ท่านก็ได้ไปชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย มีพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระประศาสน์ฯ หลวงพิบูลฯ หลวงทัศนัยฯ หลวงชำนาญฯ หลวงสวัสดิฯ หลวงสฤษดิฯ หลวงรณสิทธิฯ เป็นอาทิ ฝ่ายคณะนายทหารเรือซึ่งมีหลวงสินธุฯ และหลวงศุภฯ เป็นหัวหน้า ได้รับการนัดหมายให้นำกำลังทหารเรือประมาณ 150 ถึง 200 นายประกอบด้วยอาวุธปืนเล็กยาวไปชุมนุมกำลังรอคอยอยู่ ณ ลานพระบรมรูป ฝ่ายคณะนายทหารบกจะได้เดินอุบายทำการรวมกำลังอาวุธและรี้พลไปสมทบในเวลา 6.00 น. การดำเนินการยึดอำนาจที่จำเป็นจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในชั่วเดียว คือ จาก 5.00 น. ถึง 6.00 น. จุดแรกของการเข้ายึดกำลังได้แก่เข้ายึดคลังอาวุธ และรถรบ รถยนต์หุ้มเกราะ ณ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ โดยที่เป็นผู้มีร่างพ่วงพีแข็งแรง พระยาพหลฯ จึงได้รับมอบให้เป็นผู้ปฏิบัติการเข้ายึดคลังอาวุธ ซึ่งจะต้องใช้กำลังทำลายประตูคลังด้วย ในการนี้มีหลวงสฤษดิยุทธศิลป์เป็นผู้ช่วยส่วนพระประศาสน์ฯ ได้รับมอบให้เข้าทำการยึดรถรบ รถยนต์หุ้มเกราะ พร้อมด้วยความร่วมมือของหลวงทัศนัยฯ และนายทหารรถรบอีก 3 นาย ฝ่ายพระยาทรงฯ นั้นเป็นผู้อำนวยการทั่วไป นายทหารนอกนั้นก็เตรียมพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการที่จำเป็น เมื่อได้ตกลงมอบหมายซักซ้อมหน้าที่กันแล้ว คณะปฏิวัติก็เคลื่อนจากที่นัดพบตรงไปยังกรมทหารม้าที่ 1 ในเวลาลงมือทำการยึดอำนาจการปกครองทั้งประเทศนั้น คณะปฏิวัติกลุ่มน้อยคงมีแต่กำลังใจและกำลังปัญญาเท่านั้น หาได้มีกำลังอาวุธและกำลังทหารอันเป็นกลุ่มก้อนปึกแผ่นแต่อย่างใดไม่ อาศัยกำลังใจความกล้าหาญเสี่ยงภัยต่อชีวิตและกำลังปัญญาเดินอุบายต่าง ๆ จึงทำให้คณะปฏิวัติของไทยสัมฤทธิ์กิจใหญ่หลวงซึ่งโดยปรกติอาจต้องการกำลังความร่วมมือทำการของคนนับหมื่นนับแสน

ก่อนจะเข้าสู่กรมทหารม้าที่ 1 คณะปฏิวัติต้องเผชิญหน้ากับกองรักษาการณ์เป็นด่านแรก นายทหารเสือทั้งสามจึงเรียกหาตัวผู้บังคับการและอุบายแต่งความขึ้นว่า บัดนี้เกิดการจลาจลขึ้นในกลางพระนครแล้ว ตัวผู้บังคับการยังมิรู้อีกหรือ ฝ่ายผู้บังคับการกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นนายหารชั้นผู้น้อยเมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารผู้ใหญ่ทั้งสาม อีกทั้งเคยอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ของตนมาแต่ก่อนด้วย ก็เชื่อคำลวงนั้นอย่างสนิท ผู้อำนวยการจึงออกคำสั่งให้นายร้อยผู้บังคับการบอกทหารรักษาการณ์ให้เป่าแตรสัญญาณเหตุสำคัญเรียกประชุมทหารทั้งกรมขึ้นในทันที พอทหารเป่าแตรสัญญาณบอกเหตุขึ้นแล้ว ทหารม้าทั้งกรมก็ตื่นขึ้นด้วยความตื่นเต้นจังงัง ในชั่วขณะแห่งความชุลมุนจังงังนั้นเอง พระยาพหลฯ ก็ตรงเข้าไปในกรม รีบรุดไปยังคลังอาวุธ ใช้กรรไกรซึ่งเตรียมไปพร้อมแล้วเข้าตัดโซ่กุญแจประตูคลังอันเต็มไปด้วยหีบกระสุนและปืนกลเบา ฝ่ายพระประศาสน์ฯ ก็ตรงไปยังโรงเก็บรถรบ รถยนต์หุ้มเกราะ และรถยนต์บรรทุก และบัญชาให้ทหารเข้านั่งประจำในที่จับและนำรถออกมาจากโรง ส่วนตัวพระประศาสน์ฯ นั้นนั่งมาในรถเกราะคันสุดท้าย ครั้นแล้วฝ่ายบัญชาการของคณะปฏิวัติก็สั่งให้ทหารขนหีบกระสุนและปืนกลเบาขึ้นรถบรรทุก แล้วก็สั่งทหารทั้งปวงออกเดิน การเข้ายึดกำลังทหารทั้งกรมและคลังอาวุธนั้น คณะปฏิวัติทหารบกได้กระทำเสร็จสิ้นภายในเวลาราวครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วคณะปฏิวัติก็นำขบวนทหารกรมทหารม้าที่ 1 ตรงมายังลานพระบรมรูป ณ ที่นั้น คณะปฏิวัติทหารเรือได้นำคณะทหารเรือมาชุมนุมกำลังคอยทีอยู่ก่อนแล้ว นอกจากคณะทหารเรือ พระยาฤทธิอัคเณย์ยังนำขบวนทหารปืนใหญ่สรรพด้วยอาวุธปืนใหญ่ปืนเล็ก และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยซึ่งได้รับคำสั่งจากพระยาทรงฯ ในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหาร ให้นำนักเรียนนายร้อยมารับการฝึกพิเศษ ก็ได้นำขบวนนักเรียนนายร้อยมาชุมนุมอยู่ด้วย ทหารทั้งปวงที่มาชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันนั้นต่างได้มาโดยมิรู้ว่ากำลังมีการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากพระราชาของตน เมื่อขบวนทหารและขบวนรถซึ่งพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ เป็นผู้นำมา ถึงยังลานพระบรมรูปแล้ว ฝ่ายบัญชาการก็ออกคำสั่งให้ทหารทั้งปวงที่ชุมนุมอยู่ในที่นั้นเคลื่อนขบวนเข้าไปตั้งอยู่ภายในบริเวณพระที่นั่งอนันตฯ

ฝ่ายพระประศาสน์ฯ นั้นยังได้รับมอบภาระให้กระทำอีกอย่างหนึ่ง คือ การไปเชิญเสด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ มาคุมไว้ที่พระที่นั่งอนันตฯ เป็นตัวประกัน พร้อมทั้งไปคุมเอาตัวพระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก และพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ซึ่งนับถือกันว่าเป็นทหารเสือของราชาอยู่ในเวลานั้นด้วย

โดยมิให้เสียเวลาแม้แต่เพียงนาทีเดียวจากลานพระบรมรูป ทหารเสือแห่งคณะปฏิวัตินั่งรถเกราะมีกำลังทหารหมู่หนึ่งประกอบด้วยนักเรียนนายร้อย นายทหารปืนใหญ่ และนายทหารเรือบางท่านติดตามมา มุ่งตรงไปยังวังบางขุนพรหม การเข้าไปเชิญเสด็จหรือนัยหนึ่งเข้าไปจับกรมพระนครสวรรค์ฯ จนถึงที่ประทับนั้น นับว่ามีภัยจะต้องเสี่ยงอยู่ ด้วยเหตุว่าการลอบคิดก่อการปฏิวัตินั้น เมื่อตกมาถึงเวลาใกล้วันลงมือ ทางราชการตำรวจก็ได้ทราบวี่แววและกำลังเตรียมการจะเข้ารวบตัวผู้ก่อการอยู่แล้วเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายนนั้นเอง ทั้งอธิบดีกรมตำรววจ พระยาอธิกรณ์ประกาศ และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พระยาอาษาพลนิกร ได้ไปเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ อยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนของคณะปฏิวัติไปถึง ก็ได้เผชิญกับนายตำรวจใหญ่ทั้งสอง และนายตำรวจดังกล่าวได้ส่งกระสุนทักมาเป็นรายแรก

ทั้งที่เป็นเวลาถึงเป็นถึงตายปานนั้นก็ดี พระประศาสน์ฯ ก็ยังมีใจเยือกเย็นพอที่จะเลือกวิธีการปฏิบัติต่อเจ้านายผู้ใหญ่อย่างละมุนละม่อมที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ กล่าวคือ ได้หยุดรถที่สถานีตำรวจหน้าวังบางขุนพหรม เรียกนายตำรวจสถานีนั้นให้มาพบ แจ้งให้ทราบว่า คณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจการปกครองไว้แล้ว ขอให้เข้าไปด้วยกัน คณะปฏิวัติจะให้เขาเข้าไปเฝ้าทูลเชิญเสด็จแทนที่คณะปฏิวัติจะจู่เข้าไปจับกุมพระองค์โดยตนเอง หากยังไม่มีความจำเป็นจะต้องทำถึงขั้นนั้น เมื่อแจ้งความประสงค์สั้น ๆ แล้ว พระประศาสน์ฯ ก็นำตัวนายตำรวจผู้นั้นขึ้นนั่งรถเกราะไปด้วยกัน กองทหารรักษาการณ์หน้าประตูวังได้ปล่อยให้ขบวนรถของคณะปฏิวัติผ่านเข้าไปโดยอาการตกตลึง และทั้งสองฝ่ายก็มิต้องแลกเปลี่ยนกระสุนกันแม้แต่นิดเดียว รถเกราะของพระประศาสน์ฯ ได้แล่นนำหน้าเข้าไป ขณะนั้นพระยาอาษาพลนิกรยืนอยู่ที่ลานหญ้าหน้าตำหนัก พอแลเห็นรถเกราะแล่นตรงมาสู่หน้าตำหนัก ก็ชักปืนพกยิงเปรี้ยงเข้าไปที่รถเกราะทันที พลประจำปืนในรถจึงลั่นปืนกลยิงขู่ออกไป พระยาอาษาพลนิกรจึงหลบกระสุนวิ่งอ้อมไปทางหลังตำหนัก ครั้นแล้วพระประศาสน์ฯ ก็ลงจากรถเกราะและสั่งให้นักเรียนนายร้อยขยายแถวเพื่อเตรียมรับการต่อสู้ ซึ่งตามรูปการณ์ในขณะนั้นแสดงให้เห็นว่ามีทางเป็นไปได้อย่างยิ่ง ถึงแม้คาดหมายภัยเฉพาะหน้าอยู่ก็ดี พระประศาสน์ฯ ก็ยังมั่นคงในวิธีการเชิญเสด็จในทางละมุนละม่อมอยู่นั่นเอง ได้ออกคำสั่งแก่นายตำรวจให้ขึ้นไปบนตำหนัก ทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯ และให้เวลาสำหรับพระองค์ท่านแต่งองค์หรือประกอบกิจใด ๆ ถึงครึ่งชั่วโมง

อย่างไรก็ดี เมื่อนายตำรวจผู้นั้นลับกายเข้าไปในตำหนักจนเวลาล่วงไปครึ่งชั่วโมง กรมพระนครสวรรค์ฯ ก็มิได้เสด็จออกมาพบ และนายตำรวจผู้นั้นก็มิได้กลับมารายงานเหตุการณ์อะไรเลย พระประศาสน์ฯ จึงออกคำสั่งให้นักเรียนนายร้อยและพรรคพวกนายทหารที่ไปด้วยกันขยายแถวลุกล่ำผ่านตำหนักหลังใหญ่เข้าไป ก็แลเห็นกรมพระนครสวรรค์ฯ ประทับอยู่ ณ ตำหนักท่าน้ำในท่ามกลางบริพารประมาณ 100 คนพร้อมด้วยอาวุธปืนและอื่น ๆ รวมทั้งท่านอธิบดีกรมตำรวจและพระยาอาษาพลนิกร พระประศาสน์ฯ ได้สั่งกำชับพรรคพวกร่วมใจว่า อย่าใช้อาวุธทำร้ายผู้ใดเป็นอันขาด เว้นแต่ทางฝ่ายเจ้าจะดำเนินการต่อสู้และใช้อาวุธทำร้ายขึ้นก่อน สั่งการแล้วพระประศาสน์ฯ ก็เดินตรงเข้าไปเฝ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ซึ่งเมื่อเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตรแล้ว ก็รับสั่งทักด้วยน้ำพระเสียงแสดงความรู้สึกขมขื่นว่า “ตาวัน (นามตัวพระประศาสน์ฯ) ก็เป็นกบฏกับเขาด้วยรึ?” พระประศาสน์ฯ มิได้ทูลตอบความข้อนั้น หากได้ทูลให้ทราบถึงความประสงค์ของคณะปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย และทูลให้ทราบว่า ที่มาเฝ้านั้นก็ประสงค์เพียงแต่จะเชิญเสด็จพระองค์ท่านไปประทับที่พระที่นั่งอนันตฯ ชั่วคราว เพื่อเป็นประกันมิให้เกิดอันตรายแก่คณะราษฎร ส่วนอันตรายอันจะเกิดแก่พระองค์ท่านนั้น พระประศาสน์ขอเป็นผู้รับประกัน ทรงฟังแล้วก็ตรัสตอบว่า ไม่จำเป็นที่พระองค์จะเสด็จไปประทับที่อื่น ถึงแม้พระประศาสน์จะได้ทูลวิงวอนต่อไป ก็ทรงอิดเอื้อนอยู่ท่าเดียว พระประศาสน์ฯ จึงทูลเชิญให้เสด็จออกไปพูดจากันที่หน้าตำหนักใหญ่ ก็ทรงยอมเสด็จออกมา และพระยาอธิกรณ์ฯ ก็ได้ตามเสด็จออกมาด้วย พระประศาสน์ฯ ได้ทูลชี้แจงวิงวอนอยู่พักใหญ่ ก็ทรงปฏิเสธยืนคำอยู่ ขณะนั้นพระยาอธิกรณ์ฯ เกิดบันดาลโทษะขึ้นมา ก็ชักปืนคอลท์ 9 ม.ม. ออกมา จะยิงพระประศาสน์ฯ ฝ่ายหลวงนิเทศกลกิจ สหายร่วมใจ ยืนคุมเชิงอยู่ในที่ใกล้เคียงกันนั้น ก็กระโดดเข้าเตะแขนพระยาอธิกรณ์ฯ ปืนก็กระเด็นจากมือไป พระประศาสน์ฯ จึงเก็บปืนมารักษาไว้ และก็มิได้ว่ากล่าวหรือทำอันตรายแก่พระยาอธิกรณ์ฯ แต่อย่างใด เป็นแต่ได้ปลงใจทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์ฯ เป็นคำขาด ทรงเห็นว่า เหตุการณ์เข้าที่คับขันนักแล้ว ก็ทรงยอมตาม แต่ได้ทรงขอเวลาขึ้นไปแต่งพระองค์ พระประศาสน์ฯ คิดเห็นว่า ได้เสียเวลาไปมาก และก็ได้ผ่อนผันให้มากแล้ว อีกประการหนึ่ง หากปล่อยให้ขึ้นไปบนตำหนัก เกลือกไปกลับพระทัยเสียและรับสั่งให้บริพารทำการต่อสู้ ก็จะเสียชีวิตเลือดเนื้อกันไปโดยใช่เหตุ พระประศาสน์ฯ จึงตกลงใจขอเชิญเสด็จในทันที ทรงเกี่ยงให้จัดรถที่ภาคภูมิกว่ารถบรรทุกมารับเสด็จ พระประศาสน์ฯ ก็ทูลว่า เวลาจวนแจเต็มที่ ไม่อาจจัดถวายได้ เมื่อเห็นว่า พระประศาสน์ฯ ได้พูดเป็นคำขาด จะทรงขัดขืนเกี่ยงงอนต่อไปก็ไร้ประโยชน์แล้ว ที่สุดก็ทรงยอมตาม เสด็จขึ้นนั่งบนรถบรรทุกตอนหน้าเคียงข้างคนขับ ในเวลานั้นทรงฉลองพระองค์กางเกงแพร สวมเสื้อกุยเฮง และพระชายามาขอตามเสด็จด้วย พระประศาสน์ฯ ก็ผ่อนผันให้

เมื่อได้ตัวกรมพระนครสวรรค์ฯ แล้ว พระประศาสน์ฯ ก็มิได้เอาธุระแก่อธิบดีและพระยาอาษาพลนิกรซึ่งพยายามจะสังหารชีพท่านตามหน้าที่ของท่านทั้งสอง จากนั้นขบวนรถของคณะปฏิวัติได้มุ่งตรงไปยังวัดโพธิ์ บ้านพักพระยาสีหราชเดโชชัยผู้ซึ่งคณะปฏิวัติรู้ดีว่าเป็นผู้มีใจเข้มแข็งอาจหาญ และมีอาวุธปืนพกติดตัวอยู่เป็นนิจ บนโต๊ะหนังสือของท่านเจ้าคุณทหารเสือผู้นี้มีปืนพกวางประจำอยู่เสมอ ถึงบ้านเจ้าคุณสีหราชฯ พระประศาสน์ฯ สั่งให้จอดรถไว้ข้างนอก ตัวคุณพระพร้อมด้วยนายทหารร่วมใจกับนักเรียนนายร้อยได้พากันลงเดินเข้าไปในบ้าน พระประศาสน์ฯ คาดหมายว่า ถ้าได้พบเจ้าคุณในเวลามีปืนอยู่ในมือแล้ว ก็คงจะไม่ยอมให้จับโดยดี และจะต้องมีการต่อสู้กันเป็นแน่ แต่เป็นการเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่คนใดคนหนึ่งจะไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ จึงประจวบกับที่พระประศาสน์ฯ เข้ามาถึงบันไดบ้านนั้น ก็พอดีพระยาสีหราชออกมาจากห้องน้ำซึ่งอยู่ข้างเชิงบันไดนั้นเอง พระประศาสน์ฯ จึงตรงเข้าถึงตัวและแจ้งความประสงค์ว่าจะมาคุมเอาตัวไป เจ้าคุณเสือฮึดฮัดกัดฟันด้วยความโกรธ เวลานั้นมีเครื่องคลุมกายแค่ผ้าขาวม้าผืนเดียว ขอไปแต่งตัวก่อน พระประศาสน์ฯ ขัดข้องโดยอ้างว่า เวลาสายมากแล้ว จะสละเวลาให้ไม่ได้ จะเสียการของคณะไป พระยาสีหราชฯ ก็ได้แต่แสดงกิริยาฮึดฮัดกัดฟันและจำต้องยอมมาขึ้นรถบรรทุกอีกคันหนึ่งทั้งที่มีเครื่องคลุมกายแต่เพียงผ้าขาวม้าผืนเดียว เมื่อพระประศาสน์ฯ นำตัวเจ้าคุณเสือมามอบให้พระยาพหลฯ นั้น พอเผชิญหน้ากัน เจ้าคุณเสือก็ตั้งท่าจะชกเอาพระยาพหลฯ ทีเดียว ดังนั้น ถ้าท่านผู้นี้มีปืนพกอยู่ในมือแล้ว ก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าจะไม่มีการแลกลูกกระสุนกัน

โดยที่ต้องไปเสียเวลานานเกินควรในการเชิญเสด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ ดังนั้น ถึงแม้ได้รับมอบหมายจากคณะให้ไปนำตัวพระยาเสนาสงครามอีกท่านหนึ่ง พระประศาสน์ฯ ก็ได้ตัดสินใจขบปัญหาเฉพาะหน้าโดยเลือกเอาทางละพระยาเสนาฯ ไว้ก่อน โดยรีบรุดตรงไปยังพระที่นั่งอนันตฯ เพื่อมอบพระองค์กรมพระนครสวรรค์ฯ ให้แก่คณะตามกำหนดเวลานัดหมายกันไว้ มิฉะนั้น พรรคพวกทางโน้นจะคอยอยู่ด้วยความกังวล และแผนการต่าง ๆ ก็อาจได้รับความกระทบกระเทือน อย่างไรก็ดี ได้ทราบกันในภายหลังว่า ในเช้าวันนั้น พระยาเสนาสงครามได้โดนกระสุนปืนของขุนศรีศรากรที่ท้อง ฉะนั้น แทนที่จะนำตัวไปกักไว้ที่พระที่นั่งอนันตฯ จึงต้องนำส่งยังโรงพยาบาล

ระหว่างทางจากวัดโพธิ์มาสู่พระที่นั่งอนันตฯ คณะปฏิวัติได้พบหลวงวีระโยธา ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นำทหารในบังคับบัญชามารับการฝึกอยู่ ณ ท้องสนามหลวง พระประศาสน์ฯ จึงลงจากรถเกราะ บอกหลวงวีระโยธาว่า กำลังมีการจลาจลเกิดขึ้น ให้หลวงวีระฯ รีบเร่งคุมทหารไปสมทบกำลังที่พระที่นั่งอนันตฯ โดยด่วน หลวงวีระฯ พาซื่อ ก็คุมทหารติดตามไป

เมื่อพระประศาสน์ฯ คุมพระองค์กรมพระนคมสวรรค์ฯ และพระยาสีหาราชฯ ไปมอบให้พระยาพหลนั้น ได้มีทหารกรมต่าง ๆ ไปชุมนุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปและในบริเวณพระที่นั่งอนันตฯ แล้วหลายกรม มีกรมทหารช่าง กรมทหารสื่อสาร และกรมทหารมหาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ได้ถูกลวงให้มารวมกำลังอยู่ทั้งนั้น พระยาทรงฯ เป็นผู้ดูแลอำนวยการกำลังทั้งปวง และโดยที่คิดเห็นว่า นายทหารและทหารที่มีความจงรักภักดีต่อพระราชาโดยแน่นแฟ้นก็คงจะรวมอยู่ในที่นั้นด้วยเหมือนกัน และเพื่อที่จะตัดกำลังของคนพวกนั้น พระยาทรงฯ จึงจัดให้นายทหารสับเปลี่ยนกันไปบังคับบัญชาทหารที่มิใช่เหล่าของตน เกลือกนายทหารบางคนมีใจดื้อดึง จะทำการขัดขวางเอาซึ่งหน้า ก็จะสั่งการแก่ทหารที่มิใช่เหล่าของตนได้ถนัด อนึ่ง นอกจากกรมพระนครสวรรค์ฯ แล้ว คณะปฏิวัติยังได้จัดการเชิญเสด็จเจ้านายองค์อื่น ๆ มาคุมตัวไว้อีกหลายพระองค์ อาทิ กรมพระนริศฯ กรมพระยาดำรงฯ หม่อมเจ้าวงศ์ชิรชร หม่อมเจ้านิลประภัศร เจ้ากรมยุทธศึกษา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก

เมื่อได้จัดการชุมนุมกำลังทหารในพระนครและเชิญเสด็จเจ้านายมากักตัวไว้เป็นประกันสำเร็จลุล่วงตามอุบายและแผนการแล้ว พระยาพหลฯ ก็ประกาศวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแก่ทหารทั้งปวง สิ้นคำประกาศแล้ว หามีผู้ใดแสดงการคัดค้านต่อต้านแต่ประการใดไม่ ต่อจากนั้นพระยาพหลฯ ก็ได้ประกาศตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารชั่วคราว และได้สั่งพระยาประเสริฐสงคราม ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ให้ออกคำสั่งไปยังกรมกองทหารทั่วพระราชอาณาจักรให้ตั้งอยู่ในความสงบ และฟังคำบังคับบัญชาของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารต่อไป

บทบาทการยึดอำนาจการปกครองโดยฝ่ายทหารก็ได้บรรลุความสำเร็จนับแต่นาฑีนั้น ต่อจากนั้นได้มีการประชุมเสนาบดีเพื่อดำเนินราชการฝ่ายพลเรือนต่อไป พระยาพลหฯ ได้นั่งเป็นประธานในที่ประชุม และถึงตอนนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หัวหน้าคณะปฏิวัติฝ่ายพลเรือน ก็ได้เริ่มแสดงบทบาทเป็นกำลังเอกของคณะปฏิวัติในการดำเนินการราชการพลเรือนในที่ประชุมเสนาบดี

เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระนคร หากเสด็จไปประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระที่นั่งไกลกังวล หัวหิน คณะปฏิวัติจึงแต่งให้หลวงศุภฯ ลงเรือรบไปรับเสด็จเข้าสู่พระนคร เพื่อคณะปฏิวัติจะได้เข้าเฝ้ากราบทูลความประสงค์ในการเปลี่ยนการปกครองให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้กลับสู่พระนครโดยทางรถไฟ ประทับอยู่ ณ วังสุโขทัย และคณะปฏิวัติได้ส่งพระประศาสน์ฯ ไปเฝ้ากราบบังคมทูลความประสงค์ในวันที่เสด็จมาถึงนั้น เมื่อได้ทรงทราบว่า คณะปฏิวัติมิได้ประสงค์จะกระทำล่วงเกินพระราชอิสริยยศแต่ประการด หากประสงค์เพียงแต่จะได้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินตามแบบอย่างนานาอารยประเทศเท่านั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า รับพระราชทานให้ตามประชาอัฌชาสัย