คำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๔๙๔/๒๕๕๔
หน้านี้ขาดแหล่งที่มาของเนื้อหา ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นเอกสารต้นฉบับที่สแกนมาอัปโหลดไว้ที่วิกิมีเดียคอมมอนส์แล้วจัดทำแบบพิสูจน์อักษร หรือถ้าไม่สามารถอัปโหลดต้นฉบับเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็ควรระบุแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเนื้อหาได้ |
(ตาม พ.ร.บ.ฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ)
เรื่อง ขอให้ระงับการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔
ที่ ๔๔๙๔/๒๕๕๔ |
พลตรี ณพล คชแก้ว ที่ ๑ | ผู้ร้อง | ||
นายสมคิด หอมเนตร ที่ ๒ | |||
ระหว่าง | |||
นายกรัฐมนตรี ที่ ๑ | ผู้ถูกกล่าวหา | ||
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๒ |
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสามฉบับ โดยไม่ผ่านการออกเสียงประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และลงคะแนนล่วงหน้าในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ มีการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อในระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ได้ร่วมประชุมกับนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ เพื่อกำหนดวิธีการและหลักการหาเสียงโดยไม่ให้กระทบกระเทือนอ้างอิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการแทรกแซงการทำงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสิบเจ็ดคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย มิได้คัดค้านหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปัจจุบันสละสัญชาติไทยไปแล้ว ปล่อยให้มีการชี้นำพรรคเพื่อไทยและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กรณีการเข้าไปแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย อนุญาตให้นายชวรัตน์ ชาญวีระกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้ามารับการอบรมหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ ๒ โดยมิได้วินิจฉัยคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ในประเด็นที่ภรรยาและบุตรถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานของรัฐ มิได้ดำเนินการที่เป็นรูปธรรมกรณีนายบรรหาร ศิลปอาชา และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง เข้าไปมีบทบาทและเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วคงเจตนารมณ์ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยที่จะเป็นพรรคแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มิได้ดำเนินการที่เป็นรูปธรรมกรณีที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลภพ นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหะพงษ์ชนะ และว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว เข้าไปแทรกแซงให้พรรครวมชาติพัฒนาและพรรคเพื่อแผ่นดินร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นพรรคการเมืองเดียวกัน คือ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน โดยเป็นพรรคขนาดกลางที่จะเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และถูกแรงกดดันจากกลุ่มการเมือง คือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการรณรงค์ให้ประชาชนกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (vote no) รวมทั้งแกนนำของรัฐบาลภายใต้การนำของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๑ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งภายใต้แรงกดดันของกลุ่มพลังการเมืองทั้งสองกลุ่มดังกล่าว โดยถูกต่อต้านและป้ายโฆษณาที่ถูกทำลาย เจ้าพนักงานของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการหาผู้กระทำความผิดได้ ความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองดังกล่าวอาจนำไปสู่การล่มสลายของประเทศ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒, ๑๕๗ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา มีคำสั่งระงับการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มีคำสั่งระงับการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนสามร้อยเจ็ดสิบห้าเขต ระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มีคำสั่งระงับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ มีคำพิพากษาหรือคำสั่งระงับหรือยกเลิกเพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ หรือระงับการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว พิพากษาให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าคน จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ขอให้ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานองคมนตรี และนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกัน เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายคืนพระราชอำนาจแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนำพลตรี จำลอง ศรีเมือง และ/หรือนายสนธิ ลิ้มทองกุล รวมทั้งพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และ/หรือพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๙ วรรคสาม บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และมาตรา ๒๓๙ วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๑ บัญญัติรับรองไว้ทำนองเดียวกันว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทั้งในกรณีให้รับสมัครและเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด และให้ดำเนินการสรรหาใหม่ ในกรณีที่การสรรหาเดิมมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา ๑๓๔ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๓ ได้บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้บุคคลใดระงับการดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ ใช้เงิน หรือทรัพย์สิน หรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้รับสมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง หรือดำเนินการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด เมื่อศาลเห็นว่า การดำเนินการของบุคคลนั้นมิได้เป็นไปเพื่อให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามคำร้องขอผู้ร้องทั้งสอง ปรากฏเหตุในการร้องขออยู่สองประการ เหตุประการแรก คือ การขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๘ เป็นกลไกหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายบริหารใช้ในการบริหารประเทศ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการใช้อำนาจนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชนในผลอันเกิดจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร การร้องขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง รวมทั้งการขอให้มีคำสั่งระงับการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มีคำสั่งระงับการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยเจ็ดสิบห้าเขต ระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ มีคำสั่งระงับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ มีคำพิพากษาให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งห้าคน และคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการร้องขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็ไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ส่วนเหตุประการที่สอง คือ การขอให้ศาลหารือร่วมกับบุคคลต่าง ๆ ตามคำร้อง เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายคืนพระราชอำนาจนั้น ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่จะพิจารณาดำเนินการให้ได้ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้
จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา
- วัส ติงสมิตร
- ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว
- สมศักดิ์ เนตรมัย
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"