บันทึกรับสั่งฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล/เรื่อง 2
เหตุ ที่จะเกิดปัญหาเรื่องนี้ เนื่องมาจากความข้องใจที่ได้อ่านในพงศาวดารถึงเรื่องการศรีอยุธยาว่า เป็นเพราะที่กรุงศรีอยุธยากุ้งปลาชุมบ้าง เป็นเพราะเกิดโรคห่าขึ้นที่เมืองเดิมบ้าง ฯลฯ น่าจะมีความสำคัญอื่นในทางการเมือง และฐานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาดูก็เหมาะสำหรับที่จะปกครองอาณาจักรไทยในครั้งนั้นมากกว่าอย่างอื่น
ปัญหา การที่พระเจ้าอู่ทองมาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น เป็นเพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นทำเลที่มีอาหารการกินอุดม และเพราะเกิดโรคห่าขึ้นที่เมืองอู่ทองเดิมเท่านั้นหรือ หรือว่า มีเหตุลึกลับอื่นทางการเมืองแฝงอยู่ เพราะพิจารณาดูฐานที่ตั้งภูมิศาสตร์ ดูจะเป็นเพราะความบังคับทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น
ตอบ เรื่องสร้างกรุงศรีอยุธยานี้ ในพงศาวดารทีพิมพ์ไว้แล้วฟังไม่ได้ ความหนึ่งที่ว่า พระเจ้าอู่ทองลงมาจากเมืองเทพนคร คิดดูผู้แต่งเห็นโลกเป็นเหนือสวนสราญรมย์มีปลามากก็ย้ายลงมาอยู่ ดูคล้าย ๆ กับว่า พลเมืองนั้นยัดใส่กระเป๋าลงมาได้ง่าย ๆ เหมือนของเล็ก ๆ น้อย ก็การอพยพพลเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จะทำกันอย่างนั้นดูฟังยาก อีกความหนึ่งในพงศาวดารเหนือกว่า พระเจ้าอู่ทองหนีห่ามาจากเมืองสุพรรณ มีจริงอยู่เพียงมาแต่สุพรรณ และบางทีจะมีห่าด้วย แต่คงไม่ใช่ห่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่เหตุที่มาตั้งกรุงศรีอยุธยานั้นมันมีอยู่อย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องของการตั้งประเทศแข่งเมืองสุโขทัย จับตรงที่สามแพร่ง เพื่อจะบีบจมูกกรุงสุโขทัยทีเดียว การมาตั้ง ก็เพียรมาเป็นเวลาถึงสามสิบปี ไม่ใช่ของเร็ว ดูไม่ใช่เรื่องห่า เพราะเหตุไรคิดดูไม่ใช่ของง่าย แต่ก็ไม่เกินปัญญาคนนัก พอจะเห็นได้ เมื่อก่อนกรุงสุโขทัยตั้งเป็นอิสสระนั้น เป็นเมืองของพวกขอมอยู่ตลอดไป ขอมตั้งเมืองละโว้เป็นราชธานี ๆ ของขอมอยู่ใกล้ ๆ กับกรุงศรีอยุธยา และข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้แต่งพงศาวดารไม่ได้สังเกตตรงที่เมืองอยุธยานั้นว่า เป็นประตูบ้านของกรุงสุโขทัย การตั้งเมืองที่อยุธยานั้นเป็นการจับประตูบ้านทีเดียว ฉะนั้น จึงไม่เป็นการเล็กน้อยเลย และไม่ใช่เป็นการที่ทำได้เร็ว เมืองอยุธยาเดิมเรียกว่า เมืองอโยธยา พิจารณาดูให้ละเอียดจะเห็นได้ว่า เมืองเดิมนี้ตั้งก่อนเมืองอู่ทองมาถึงหลายสิบปี คงเป็นที่ลุ่ม เป็นทำเลเรือ คงสังเกตได้ในพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ ขึ้นต้นปูมวันสร้างพระเจ้าพนัญเชิงก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาหลายปี การสร้างพระโตเช่นนี้ คิดดูง่าย ๆ ก็จะเห็นว่า ต้องสร้างในที่ ๆ มีคนมาก ในพงศาวดารก็รับอยู่แล้วว่า เป็นเมืองอยู่ และว่า พระเจ้าอู่ทองมาอยู่ที่เวียงเหล็กวัดพุทไธศวรรย์ก่อน จับเค้าในพงศาวดารกรุงสุโขทัย ๆ นั้นมีอำนาจมากอยู่ในรัชกาลพระร่วง คือ พระเจ้ารามคำแหง รัชกาลเดียว ได้ละโว้อยุธยาลงไปจนนครศรีธรรมราชเป็นอาณาเขตต์ เสวยราชย์นานราว ๔๐ ปีจึงสวรรคต พระเจ้าเลอไทยได้รับรัชทายาท อำนาจเสื่อม เมื่องมอญเป็นขบถ พงศาวดารพะม่าว่า ทางกรุงสุโขทัยปราบก็ปราบไม่ลง พวกพระเจ้าราชาธิราชตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่เป็นอิสสระแต่นั้นมา ในเวลาที่เมืองสุโขทัยเสื่อมอำนาจนั้นเอง พวกใต้ คือ พวกละโว้ราชธานีขอมแต่เป็นของไทย คือ คนไทยอยู่ เป็นพวกเดียวกับอยุธยา ได้พยายามตั้งเมืองอยุธยาขึ้น ได้เค้าในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าเมืองอู่ทองนี้ไม่ใช่เชื้อวงศ์อู่ทอง แต่เป็นเขย ในพงศาวดารเหนือว่าเป็นลูกเศรษฐีนั้นไม่จริง เข้าใจว่า พระเจ้าอู่ทองคงเป็นเชื้อทางละโว้ ไปเป็นเขยเมืองอู่ทอง และคบคิดกับพระยาอู่ทองตั้งเป็นอิสสระ ไม่ช้าทางกรุงสุโขทัยพระยาเลอไทยก็สวรรคต พระยาลือไทยมหาราชได้ราชสมบัติ จะปราบก็ปราบไม่ลง กำลังไม่พอจะปราบกรุงศรีอยุธยา จึงขอไมตรีกับพระเจ้าอู่ทองเป็นการเสมอกัน ไมตรีนี้เป็นมาตลอดสมัยพระเจ้าอู่ทอง มีอยู่ในกฎหมายลักษณะลักพาปรากฏความว่า นายสามขลาทูลพระเจ้าอู่ทองว่า ข้ารักเจ้า บ่าวรักนาย พาผู้คนไปสระหลวงสองแควสุโขทัยชะเลียง ฯลฯ เดี๋ยวนี้เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว จะไปตามจับผู้คนท่านได้หรือไม่ ความนี้เป็นหลักไมตรีระหว่างสองพระนคร พวกพระเจ้าอู่ทองสังเกตดูไม่ค่อยจะกลมเกลียวกันนัก คือ ราชวงศ์ลพบุรีฝ่ายพระเจ้าอู่ทอง กับราชวงศ์สุพรรณฝ่ายพระมเหสี ถ้าดูพงศาวดารด้วยความสังเกตจะเห็นได้ว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้มอบให้พระราเมศวรรัชทายาทไปครองเมืองลพบุรี คือ เมืองเดิม กับให้ขุนหลวงพงั่ว ซึ่งต่อมาเป็นพระบรมราชา ไปครองเมืองสุพรรณซึ่งเป็นเมืองของอัครมเหสี ในตำนานพระพุทธสิหิงค์กล่าวว่า พระบรมราชาองค์นี้อยากตีเมืองสุโขทัยนัก หากขัดด้วยพระเจ้าอู่ทองไม่เห็นชอบด้วย จึ่งจำยอม ไมตรีระหว่างกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาจึงดีตลอดสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อพระเจ้าอู่ทองสวรรคตแล้ว พระบรมราชาได้ราชสมบัติ ยกทัพไปตีเมืองสุโขทัยทันที และตีจนได้เมือง ด้วยเหตุที่วงศ์ลพบุรีและวงศ์สุพรรณเป็นญาติห่าง เป็นสองเชื้อสาย เมื่อพระบรมราชาสวรรคต เจ้าทองลั่นเสวยราชย์ พระราเมศวรจึงจับฆ่าเสีย และเมื่อพระรามราชาครองราชย์ต่อพระราเมศวร ก็ปรากฏว่า วิวาทกันกับเจ้าพระยามหาเสนา ๆ ไปเชิญเจ้านครอินทร์ หลานพระบรมราชาพงั่ว มาปราบปราม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เล็กน้อย ต้องการเวลาและการค้นคว้าอีกมาก.