ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 10/ผู้วายชนม์

ประวัติของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน

 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตย์ณนันทราชวงษ์ (สุริย ณน่าน) พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ป,จ. ป,ม. ท,ช. ร,จ,พ. เปนบุตรเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้าสุนันทาเปนมารดา พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ประสูตรในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๙๓ พระพุทธศักราช ๒๓๗๔ ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระยาราชวงษ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่าที่เจ้าอุปราชนครน่าน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเปนพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครน่าน แต่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมารวมเวลา ๖๓ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ประชวรเปนโรคชรา อาการทรงบ้างทรุดบ้างเสมอมา จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ อาการมากขึ้น แพทย์หลวงแลแพทย์ชเลยศักดิประกอบยารักษาโดยเต็มกำลัง อาการหาคลายไม่ ถึงวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๔ นาฬิกา ๕๐ นาทีก่อนเที่ยง พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ถึงแก่พิราไลย อายุได้ ๘๗ ปี ๒ เดือน ๒๘ วัน ครองนครน่านมาได้ ๒๕ ปี

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้รับราชการพิเศษ ดังนี้ ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ ได้เปนหัวน่าสร้างพลับพลาประทับแรมที่ตำบลนาริน ท้องที่อำเภอเมือง ๆ น่าน รวมเวลาทำจนเสร็จเดือน ๑ แล้วลงไปรับเสด็จกรมหลวงวงษาธิราชที่ท่าอิฐ เมืองพิไชย เสด็จขึ้นมานครน่าน คราวเสด็จไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมเวลาไปมา ๑๐ วัน

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้ตามเสด็จกรมหลวงวงษาธิราชสนิทไปราชการทัพเมืองเชียงตุง รวมเวลาไปมา ๗ เดือนเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ได้นำตัวพญาหลวงบังคม พญาเมืองเชียงรุ้ง มาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ รวมเวลาไปมา ๔ เดือนเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ได้ไปกวาดต้อนครอบครัวลื้อเมืองพง เขตรสิบสองปันนา ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในบังคับฮ่อ ให้เข้ามาอยู่ในเขตรเมืองน่าน ประมาณคนพันเศษ ได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเชียงม่วนแลเมืองเชียงคำ รวมเวลาไปมา ๕ เดือน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ได้คุมนางรมาดลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ รวมเวลาไปมา ๔ เดือนเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้คุมช้างพลายสีปลาดลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ รวมเวลาไปมา ๔ เดือนเศษ

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้คุมนางรมาดลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพฯ อิกครั้งหนึ่ง รวมเวลาไปมา ๔ เดือนเศษ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปจัดรวบรวมเสบียงอาหารที่เมืองเชียงคำส่งกองทัพนายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิมนตรี เมื่อครั้งเปนเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เปนแม่ทัพขึ้นมาปราบฮ่อที่เมืองพระบาง แลได้ไปในกองทัพด้วย รวมเวลาที่จัดการลำเลียงส่งเสบียงอาหารแลไปมา ๔ เดือนเศษ

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มีบำเหน็จความชอบในราชการปรากฎในประกาศเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัตร ดังนี้

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๖ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม สะสะสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จาตุทสีดิถี พุฒวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ พฤศจิกายนมาศ อัฏฐารสมมาสาหะคุณพิเศษ ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ ฯลฯ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริห์ว่า เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน แลได้เคยไปราชการทัพศึก มีบำเหน็จความชอบมาแต่ยังเปนตำแหน่งเจ้าราชวงษ์ในนครเมืองน่าน ครั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ก็อุสาหปกครองบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณโดยซื่อสัตย์สุจริต มีความโอบอ้อมอารี เปนที่นิยมนับถือของเจ้านายท้าวพระยาแลไพร่บ้านพลเมืองทั่วไปเปนอันมาก ทั้งมีความสวามิภักดิต่อราชการเปนนิจ แม้มีราชการสำคัญเกิดขึ้นข้างฝ่ายเหนือคราวใด เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้พร้อมใจกับเจ้านายบุตรหลานช่วยราชการโดยแขงแรงทุกคราวมา จนเมื่อเกิดเหตุผู้ร้ายก่อการจลาจลขึ้นในมณฑลพายัพเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ นี้ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็ได้จัดเจ้านายบุตรหลานแลท้าวพญาไพร่พลนครเมืองน่านช่วยปราบปรามผู้ร้าย แลเปนกำลังจัดเสบียงอาหารพาหนะส่งกองทหาร ได้รับราชการเปนที่พอพระราชหฤไทยเปนอันมาก

อนึ่ง เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยเฉภาะ แม้อยู่เมืองไกล ก็มิได้คิดแก่ความลำบาก อุสาหฝ่าทางกันดารมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ ผิดกับเจ้านครเมืองน่านแต่ก่อน ๆ มา เปนเหตุให้ทรงพระกรุณาสนิทชิดชอบพระราชอัธยาไศรยเปนอันมาก

ทรงพระราชดำริห์ว่า นครเมืองน่านก็เปนนครใหญ่อันหนึ่งในหัวเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑสิมา เจ้านายที่ปกครองนครเมืองน่านต่างพระเนตรพระกรรณสืบตระกูลวงษ์ต่อ ๆ กันมา ยังหาได้มีเจ้าตนใดได้เคยรับพระราชทานเกียรติยศเปนพระเจ้าประเทศราชไม่ แลบัดนี้ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ก็เจริญชนมไวยยิ่งกว่าบรรดาเจ้าประเทศราชทั้งปวง ทั้งมีอัธยาไศรยเปนสัตย์ธรรมมั่นคง จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทเนืองนิจ แลมีความชอบความดีมาในราชการเปนอันมาก สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องอิศริยยศเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้เปนเกียรติยศแก่นครเมืองน่านแลตระกูลวงษ์สืบไปได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนยศถานันดรศักดิเจ้านครน่านขึ้นเปนพระเจ้านครน่าน มีนามตามจาฤกในสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน ได้ปกป้องเจ้านายบุตรหลานแสนท้าวพญาลาวราษฎรในเมืองน่านแลเมืองขึ้นทั้งปวงให้ปรากฎเกียรติยศเดชานุภาพสืบไป ขอจงเจริญชนมายุพรรณศุขพลปฎิภาณคุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิพิพัฒมงคลทุกประการ ปกป้องพระราชอาณาเขตรขัณฑสิมาโดยความซื่อตรงต่อกรุงเทพมหานคร ดำรงอยู่ยืนยาวสิ้นกาลนาน เทอญ

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์แลเหรียญต่าง ๆ ดังนี้ คือ ตราช้างเผือก ชั้นที่ ๓ เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ ตรามงกุฏสยาม ชั้นที่ ๑ ร.ศ. ๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ ตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตราช้างเผือก ชั้นที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔ ตราปฐมจุลจอมเกล้า ร.ศ ๑๒๒ พ.ศ. ๒๔๔๖ เหรียญจักรพรรดิมาลา เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา เหรียญประพาศมาลา เหรียญทวีธาภิเศก เหรียญรัชมงคล เหรียญรัชมังคลาภิเศก แลได้พระราชทานเครื่องยศ คือ สังข์เลี่ยมทองคำ ๑ หีบหมากไม้แดงหุ้มทองคำ ๑ กากระบอกทองคำ ๑ กระบี่ฝักทองคำ ๑ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานสิ่งของสำหรับพระเกียรติยศอิกหลายอย่าง มีชฎาเปนต้น

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มีชายา ๗ คน คือ

ชายาที่ ๑ ชื่อ แม่เจ้ายอดหล้า มีบุตรธิดารวม ๑๓ คน บุตรที่ ๑ เจ้าคำบุ ที่ ๒ เจ้าคำเครื่อง ที่ ๓ เจ้ายศ ที่ ๔ เจ้านางอัมรา ที่ ๕ เจ้าน้อยรัตน ได้เปนเจ้าราชวงษ์ ที่ ๖ เจ้าน้อยบริยศ ที่ ๗ เจ้านางบัวเขียว ได้เจ้าบุรีรัตน (บรม) เปนสามี ที่ ๘ อำมาตย์ตรี เจ้าบุรีรัตน (สุทธิสาร) ที่ ๙ เจ้าราชภาติกวงษ์ (จันทวงษ์) ที่ ๑๐ เจ้าหนานบุญรังษี ที่ ๑๑ เจ้าราชภาคินัย (น้อยมหาวงษ์) ที่ ๑๒ เจ้าราชดนัย (น้อยยอดฟ้า) ที่ ๑๓ เจ้านางสมุท

ชายาที่ ๒ ชื่อ แม่เจ้าคำปลิว มีบุตร ๔ คน ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว

ชายาที่ ๓ ชื่อ แม่เจ้าจอมแฟง มีบุตรธิดารวม ๓ คน คือ ๑ แม่เจ้าบัวแว่น ได้เจ้าราชบุตร (น้อยอนุรุท) เปนสามี ๒ เจ้าแหว ๓ เจ้าน้อยครุธ

ชายาที่ ๔ ชื่อ แม่เจ้าคำเกี้ยว มีธิดา ๒ คนคือ ๑ เจ้านางเกี๋ยงคำ ๒ เจ้านางคำอ่าง

ชายาที่ ๕ ชื่อ แม่เจ้ายอดหล้า มีบุตรธิดารวม ๗ คน ๑ เจ้านางเทพมาลา ๒ เจ้านางเทพเกสร ๓ เจ้านางอินแสงสี ๔ เจ้านางจันทวดี ๕ เจ้านางศรีสุภา ๖ เจ้านางดวงมาลา ๗ เจ้านางประภาวดี

ชายาที่ ๖ ชื่อ นางสีคำ มีบุตรธิดารวม ๗ คน ถึงแก่กรรมไปแต่ยังเล็ก ๆ ๕ คน ที่ยังเหลืออยู่ คือ ๑ เจ้านางแว่นแก้ว ๒ เจ้านางสีพรหมา เปนหม่อมหม่อมเจ้าสิทธิพร ๑

ชายาที่ ๗ นางบัว มีบุตร ๗ คน ถึงแก่กรรมไป ๔ ยังอยู่ ๓ คือ ๑ เจ้านางต่อมแก้ว ๒ เจ้าก่ำ ๓ เจ้านางเกียรทอง

อนึ่ง พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เปนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ไว้ในตัวเปนเนืองนิจ มีจิตรคิดบริจาคทรัพย์ออกก่อสร้างสิ่งถาวรไว้ในพระพุทธสาสนา แลเปนผู้อุปการะแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ทำให้สมณะพราหมณาจารย์ได้ความศุขสบายเปนอันมาก ยากที่จะหาผู้เปรียบปานได้ จึงให้จาฤกไว้ในศิลาวัดแช่แห้ง ดังมีถ้อยความแจ้งต่อไปนี้

 ศิริวิสุทธวิมลพหมังคลสวัสดิ อภิวาทนบพระไตรรัตน โอกาสะ ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๒๖๗ ตัวมเสงสะนำกัมโพชขอมพิไสย เสด็จเข้ามาในคิมหานะฤกษ์จิฐมาศบุณมีพุทธวาฬไถง ไทยภาษาว่าปีดับไส้ เดือน ๗ น่านเพ็ง เม็งวันพุฒ ไทยเบิกไจ้ ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ ทิวาทิฐถี ๑๕ นาที ทิฐถี ๔๕ จันทจรณะยุคติ เสด็จเข้ามาเทียมนักขัตฤกษ์ดวงถ้วน ๑๑ ชื่อบุบผลคุณะ มหาทะนะ เทวตานาที่ ๔๙ ปรากฎในกรณะผะอะโบระวายสี อดีตชินสาสนาอันล่วงไปแล้ว ๒๔๔๙ พรรษา อนาคตวรพุทธสาสนาจักมาภายน่าบ่อน้อย ๒๕๕๑ พรรษาปลาย ๑๕ วัน ตั้งวันฉลองพุทธาภิเศกตามคำภีร์สาสนติกาจาริยมารีสังเกต

เหตุนั้น ปฐมราชศรัทธาพระเจ้าน่านองค์ถ้วน ๕ อันทรงพระนามว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงษาธิบดี สุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิกิติไพศาล ภูบาลบพิตร สถิตย์ณนันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน องค์ทงพระอธิปทานะ บังเกิดด้วยราชศรัทธาในโอกปัณณ อจลศรัทธาญาณสัมปยุตต สุทธอสังขาริกจิตร ติดในสัมมาสัมพุทธสพัญญูตัญญาณอันยิ่ง จิงประกอบด้วยขันตีอุสาหวิริยอันล้ำเลิศ บังเกิดด้วยบุพเพภาคเจตนาอันใหญ่ยิ่ง จึงได้ยกเอาทุนทรัพย์สมบัติอันสุจริตอันชอบประกอบด้วยมุติธรรม จัดซื้อปิตโลหตันลูปหุ้มมหาเจติยเกษาธาตุ แลติดด้วยทองคำปิว แล้วจึงจ้างบุรุษทั้งหลายเลิกสร้างยังพระวิหารหลวงแล้ว จึงได้สร้างแปลงวิหารหลวงขึ้นอิกใหม่ กว้าง ๗ วา ยาว ๑๗ วา ๒ ศอก สูง ๗ วา ๑ ศอก สร้างก่ออิฐกำแพงศาลาบาตมุงด้วยอิฐกกุ้มเปนบริวัตถะสมันต ๔ ด้าน ด้านวันตกวันออกด้านไหนยาว ๔๐ วา ด้านใต้ด้านเหนือด้านไหนยาว ๓๘ วา มีประตูขงออก ๔ ด้าน แลสร้างใบศรีแวดตีนธรณีมหาเจดียธาตุเจ้า แลสร้างรูปสิงโต ๒ ตัว สร้างวิหารพระทันใจกุ้มบาทะเทียมพระบาท สร้างรูปนาค ๒ ตัว ใหญ่ ๒๐ กำ ยาว ๕๐ วา ยอหัวสูง ๓ วา ๓ ศอก สร้างถนนหว่างนาคกว้าง ๒๐ วา ยาว ๕๐ วา สร้างท้องที่ข่วงแก้วอารามเหนือภูเพียงแช่แห้ง อันพระสัมมาสัมพุทธโคดมเจ้าแส้งไว้เปนโมนถานะตราบ ๕๐๐๐ พระวะษา

พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เปนเค้ากว่าอรรคฉายาศรีนุกัญญา ราชบุตตา ราชบุตรี แลราชเสวก ไวยาวจังกร ทาษาทาษีทั้งหลาย ได้ปฎิสังขรณ์เสร็จแล้ว จึงได้มีผละนาผายแผ่ ถึงแก่มหาขัติยราชวงษานุวงษ์ แลข้าหลวงบริเวณ แลนายแขวงนาแคว่นแก่บ้านรัฐประชาในจังหวัดนครน่าน ให้มาพัตตาอนุโมทนาเหมียดหมายทาน เปนมหาสมัยกาลอันประเสริฐล้ำเลิศอุดม สมดังเจโตวรปณีธานะผาทนา จำนวนพระรัตนสังฆเจ้า มีพระราชาคณะทงนามว่า พระชยานันทมุนี ที่สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่เปนเค้ากว่าสังฆเจ้าทั้งหลายไปรับไทยทานต่าง ๆ ได้ถวายอาหารบิณฑบาตตั้งแต่วันเดือน ๗ น่านขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำจึงเปนปริโยสาน แลจัดคณะพระสังฆเจ้ามี ๑๑๘๒ พระองค์แล ด้วยการซ่อมสร้างพระธาตุเจ้าแลพระวิหารหลวงแลแผ่นทองหลูปพระธาตุแลที่ต่าง ๆ รวมเบ็ดเตล็ดทั้งสิ้นเปนมูลทรัพย์สมบัติ ๔๘๖๙๙ บาทกับ ๓๒ อัฐแล

อิมินาปุญญกัม์มํผลํ ปฏิสังขารณํ อันโต สาสเนนโจถกา นิยาวปัญจสหัสสวัสสานิวพุทธสาสนํ ติไถยา มวาปนอิมินานิสัพพวัตถุทานานิ อเนชะอสาธารณ สัพพโลกิย โลกุตร สัพพสัมปตีนังยาว สัพพัญญูตัญญานัง ยาว มรรคผละ นิพานะ ปริโยสาสนํ ปัจโยโหนตุโน ฯ

ศักราช ๙๕๐ ตัว พระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม เจ้านครน่าน ได้ปฏิสังขรณ์วิหารแช่แห้งนี้เปนครั้งแรก แต่นั้นมานานได้ ๓๑๗ ปี ถึงศักราช ๑๒๖๗ ตัว พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่านได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอิกเปนครั้งที่สองแล ฯ

จาฤกเขาแก้วดังต่อไปนี้

 ศิริศุภมัสดุ จุลศักราชได้ ๑๒๖๘ ตัว มเมียสนำกัมโพชะขอมพิไสย เสด็จเข้ามาในโคนวิถีเหมันตนฤกษตุมิคสิรมาเส กึสนปัก์เขเอกวีสติ ดิถียัง พึคุวาฬไถง ไทยภาษาว่าปีรวายสง้า ฤดูเดือน ๓ น่านแรม ๖ ค่ำ เม็งวันเสาร์ ไทยเต้าสง้า ทิวาทิฐถี ๒๑ นาที ทิฐถี ๖๐ เทวตานาที ๔๐ จันทรจรณยุคติ เสด็จเข้ามาเทียมทัน ขสันคบคู่โมทติอยู่กับด้วยนักขัตฤกษ์ดวงถ้วน ๑๐ ชื่อว่ามาฆะทริโทเข้าสถิต ปรากฎอยู่ในสิงหะเตโจราสี อตีตวรพุทธสาสนา ๓ ล่วงแล้ว มีตามบาฬีว่า เอกุณปัญญาสจตุสัตเทวสหัสสสัง ๒๔๔๙ พรรษา สัตมาเสปลาย ๗ เดือน เอกวีสติทิวาปลาย ๒๑ วันทั้งวันนี้ อนาคตวรชินสาสนายังจักมาณะเบื้องน่า ยังมีตามบาฬีว่า โสตถิ ปัญจสตัง เท๎วสหัสสสัง ยังบ่น้อย ๒๕๖๐ พรรษา จตุมาเสปลาย ๔ เดือน อัตถทิวาปลาย ๘ วัน นับตั้งวันพุกถูกโบราณ พลึงคโหราร ฤกษสีสนถิกาบาฬี สังเกตุ

เหตุนั้น หมายมีพระราชศรัทธา มหาอุปาสกะ พระเจ้าองค์ทงนามว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน ที่นี้เปนประธานกว่าอรรคชายาราชเทวีผู้มีนามว่า เจ้านางยอดหล้า แลราชบุตรกุลวงษานุวงษ์ เสนาอามาตย์ราชบริวารทุกท่านทุกคน บังเกิดมหากามาวจรกุศลจิตร ติดในพระรัตนัตยาธิคุณเปนอันยิ่ง จึงลำเพิงหันภูเขาแก้วซึ่งตั้งอยู่ทิศตวันตกเวียงนครน่านที่นี้ ก็นับเปนที่ถาปันนายังพระเจติยสาริกธาตุ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าไชยสงครามเปนพนักงานจัดการต่างพระองค์ คือ ให้เลิกลื้อของเก่าที่ชำรุดเสีย แล้วโปรดทรัพย์ส่วนพระองค์ออกสร้าง จ้างม่านผู้หนึ่งชื่อว่า หม่องยิ เปนสล่าก่อซ้อมสร้างองค์พระเจดีย์นั้นใหญ่ ๓ วา ๒ ศอกสี่เหลี่ยมจัตุรัสเสมอกัน สูงแต่ธรณีขึ้นไปถึงยอด ๗ วา ๓ ศอก ต่างเสวตรฉัตร ๙ ใบ ขดกำแพงออกหื้อไกลพระเจดีย์ ๑ วา ด้านกว้าง ๘ วา ๓ ศอก ๖ แม่สี่ด้านเสมอกัน สูง ๔ ศอก ๕ แม่ มีประตูเข้าออก ๓ ด้าน ต่างใบสิมา ๑๐๓ ใบ รวมทรัพย์ซึ่งใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้างพระเจดีย์นี้ รวมสิ้นไป ๓๕๐๑ บาท ๘๗ สตางค์

อนึ่ง พระองค์ซ้ำโปรดให้สร้างจ้างให้ปลูกพระวิหารไว้ทิศตวันออกพระเจดีย์เจ้า พระวิหารกว้าง ๔ วา ๒ ศอก ยาว ๑๐ วา ๒ ศอก สูงแต่ธรณีขึ้นไป ๕ วา ๑ ศอก ได้โปรดให้ยกเอาหอคำขึ้นไปเปนไม้เครื่อง ๑ หลัง รวมทรัพย์ซึ่งได้ใช้จ่ายการต่าง ๆ ในการปลูกสร้างพระวิหารสิ้นไป ๖๓๖๘ บาท ๒๕ สตางค์ รวมทั้งสองรายเปนเงิน ๙๘๗๐ บาท ๑๒ สตางค์ การก่อสร้างสองรายนี้นานได้ ๗ ปี จึงเปนการสำเร็จแล้วบริบูรณ์ ถึงเมื่อปีกุญ ตรีศก จุลศักราช ๑๒๗๓ ตัว ในอัชชะวิถี คิมหันตนะฤกษ์ตุไพสาขมเส กึสสนะปักเข เตวีสติดิถิยัง โสรีวาฬไถง ไทยภาษาเรียกว่า ปีล้วงไก้ เดือน ๘ น่านแรม ๘ ค่ำ เม็งวันเสาร์ไทยกดยี่ทิวาทิฐถี ๒๓ นาที ทิฐถี ๖๐ นาทีฤกษ์ ๔๐ จันทรจรหลอนเข้าสู่ ปรากฎอยู่กับด้วยนักขัตฤกษ์ดวงถ้วน ๒๕ ชื่อปัพสาโท พิชฆาศ ปรากฎในพฤษภา ปถวีราสี อดีตวรพุทธสาสนาล่วงแล้ว ๒๔๕๔ พรรษา กับเศษ ๒๓ วัน นับตั้งแต่วันนี้เปนวันปัจจุวาร ยังพระพุทธสาสนากาลส่วนอนาคตซึ่งจะกำหนดเปนไปเบื้องน่าบ่อน้อย ๒๕๔๕ พรรษา ปลาย ๑๑ เดือน กับเศษอิก ๗ วัน รวมพระพุทธสาสนกาลทั้ง ๓ ส่วนมาประมวญณที่อันเดียวกัน จึงบรรจบครบถ้วน ๕๐๐๐ พระวะษาแล เดิมเมื่อแรกก่อสร้างองค์พระเจ้ามีชนมพรรษาได้ ๗๔ ปี เมื่อเสร็จแล้วบริบูรณ์ฉลองทานชนมพรรษาได้ ๘๑ ปีแล

ครั้นวันที่ ๓๐ มกราคม ศก ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันเสาร์ไทยกดยี่ เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ จุลศักราชได้ ๑๒๗๐ ปีเบิกสัน ๑ หมาย มีพระราชศรัทธา พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่าน ประกอบด้วยพระราชศรัทธาในการกุศล จึงมีพระอะวะจะนะพระเจดีย์แช่แห้งน้อย อันมหาราชศรัทธา พระยามหาวงษาธิราช เจ้านครน่านองค์ถ้วน ๕ หากปฏิสังขรณ์ไว้ นับตั้งแต่วันศุกรไทยกดสี เดือน ๙ ลง ๑๑ ค่ำ ปีระวายสง้า จุลศักราช ๑๒๐๘ ตัวนั้น นานได้ ๖๓ ปี ก็ชำรุดโบถพังลงนานได้หลายปี แล้วพระเจ้าก็มีพระไทยเหลี้ยมใสยิ่งนัก ๒ องค์พระเจ้าน่าน ก็บังเกิดด้วยพระราชศรัทธาอันยศยิ่ง เพื่อจะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เจ้าดวงนี้ขึ้นอิก จึงมีพระบัญชาสั่งเหนือเกล้าให้เจ้าขุนในหอคำทั้งหลาย มีเจ้าราชดนัย ผู้สำเร็จราชการหอคำ เปนต้น ได้เรียกเอาตัวน้อยยอด คนเมืองลำพูน ซึ่งได้มามีภรรยาอยู่บ้านภูมินทร์นครน่านมาแล้ว จึงสั่งให้น้อยยอดได้เปนสล่าก่อสร้างพระเจดีย์นี้ ให้มีรูปเหมือนอย่างรูปมหาเจดีย์พระธาตุทโด่งเจ้านั้น น้อยยอดก็กราบทูลรับกระทำตามพระราชประสงค์ขององค์พระเจ้าทุกประการแล้ว พระเจ้าฯ ก็พระราชทานค่าจ้างให้แก่น้อยยอดเปนเงินตราสยาม ๓๐๐๐ บาท แต่สิ่งของทั้งหลายที่จะก่อสร้างพระเจดีย์นั้นเปนของพระองค์พระเจ้าทั้งสิ้นตามแจ้งในสัญญานั้นแล้ว มีแสนหลวงราชสมภาร ขุนในหอคำ ผู้เปนพ่อเมียน้อยยอด เข้ามารับพระราชทานเปนพนักงานตรวจตราดูแลในการก่อสร้างพระเจดีย์นี้ตราบตลอดเสร็จการกุศลรายนี้ องค์พระเจ้าก็มีพระอนุญาตให้แสนหลวงราชสมภารได้เปนพนักงานตามศรัทธาแสนหลวงราชสมภาร แล้วองค์พระเจ้าก็แผ่กุศลรายนี้ให้ตราบแก่เจ้านายบุตรหลานชายหญิงแลข้าหลวงประจำเมืองนี้ แลข้าราชการทหารพลเรือนนายอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านราษฎรแล้ว ก็จึงมีราชนิมนต์ท่านพระครูนันทสมณาจารย์ที่สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่ แลพระสงฆเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะให้ไปกระทำปริตไชยมงคลตามแจ้งต่อไปนี้

๓ ครั้นวันที่ ๓๐ มกราคม ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันเสาร์ไทยกดยี่ เดือน ๕ น่านขึ้น ๙ ค่ำ ได้ฤกษ์ ๒ ตน ชื่อพระณีมหาทนะ เวลา ๓ โมงเช้า พระสงฆ์ก็กระทำปริตไชยมงคลสูตถอนแลลื้อรูปพระเจดีย์นี้เสียตามธรรมเนียม ถึงเวลา ๕ โมงเช้า องค์พระเจ้าเปนประธานกว่าอรรคชายาผู้มีนามว่า แม่เจ้ายอดหล้า ราชบุตตาบุตรี แลขัติยวงษ์ ข้าราชการ เสนาอามาตย์ราชบริวารทั้งหลาย ก็เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่ถานด้านตวันออกเคียงกับพระธาตุแช่แห้งน้อย แล้วก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน แลคิลานปัจจัยไทยวัตถุทาน แก่พระสงฆเจ้า ๔๓ รูป มีท่านพระครูนันทสมณาจารย์ (วงษ์) ที่สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่เปนประธานกว่าพระสงฆ์ทั้งหลาย ครั้นพระสงฆ์ฉันเพนแล้ว ถึงเวลาเที่ยงวัน ลักษณาอยู่ในโบสถปถวีรวายสี พระสงฆเจ้าทั้งหลายก็เจริญพรแลสวดมนตทั้ง ๕ จบแล้ว องค์พระเจ้าก็ถือเอาอิฐปิดคำปิวอันลงยันต์นั้นแล้ว พระสงฆ์ก็สวดชยันโต, พุทโธมังคะละ องค์พระเจ้าก็เอาก้อนอิฐนั้นวางลงไว้ในขุมที่ขุดไว้ ๔ ด้านพระธาตุเจ้านั้น คือ ด้านวันออก ด้านใต้ ด้านวันตก ด้านเหนือ เลี้ยวไปด้านวันออกอิก มีพระสงฆ์ ๕ รูปสวดพุทโธมังคะละยะถิน ตามเสร็จทั้ง ๔ ด้าน เจ้านายข้าราชการทั้งหลายก็เอาก้อนอิฐอันปิดเงินคำลงวางในขุมตามเสร็จทั้ง ๔ ด้านตราบเสร็จการกุศลครั้งแรก ด้วยเจ้านายบุตรหลานทั้งหลาย แลข้าราชการทั้งหลาย แลขุนในหอคำอันตามไปกระทำการกุศลในวันเดียวนี้ แต่จะบอกนามปรากฎแต่ผู้สำคัญเท่านั้น เจ้านายบุตรหลานผู้ชาย คือ นายพันโท เจ้าอุปราช เสนามหาดไทย องค์เปนน้อง ๑ เจ้าบุรีรัตน เสนานา ๑ เจ้าราชภาติกวงษ์ เสนาวัง ๑ เจ้าราชภาคิไนย ๑ เจ้าราชดนัย ๑ เจ้าไชยสงคราม เจ้าจันทวงษ์ เจ้าหนานบุญรังษี นายหนานมหายศ เจ้าน้อยอินแสง นายหนานยารังษี ขุนในหอคำ คือ พญาสิทธิวังราช พญาสารมณเฑียร พญาอินต๊ะสมบัติ นายน้อยอินทปัญญา แสนหลวงราชสมภาร แสนหลวงกุศล แลขุนในหลายคน ท้าวพญาเดิม คือ พญาหลวงจ่าแสน พญาหลวงธรรมดูล พญานันทปัญญา พญาสิทธิสาร แสนหลวงรวังยศ แสนท้าวหลายคน ฝ่ายข้าราชการที่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมานั้น คือ ท่านพระอาทร ข้าหลวงประจำเมือง หลวงนรอรรถ ผู้พิพากษา นายร้อยเอก เปิ้ม ข้าราชการหลายคน ฝ่ายเจ้านายบุตรีหลานผู้หญิง คือ แม่เจ้าศรีโสภา ชายาเจ้าอุปราช แม่เจ้ายอดมโนลา แม่เจ้าบัวเขียว แม่เจ้าสุพรรณวดี เจ้าเทพมาลา เจ้าเทพเกสร เจ้านายบุตรีหลายคน แลมีเจ้านายบุตรหลานผู้ชายซึ่งเปนมหาดเล็กหลายคนด้วยกัน แลมีมหาชนทั้งหลายเปนอันมากก็ได้ติดตามไปกระทำการมหากุศล เฉภาะซึ่งพระเจดีย์นี้ครั้งแรก

แลอนึ่ง ในวันเดียวมีอัศจรรย์เกิดขึ้นสองอย่าง หนึ่ง ยังมีงูตัวหนึ่ง มีหัวอันแดง มีเนื้อตัวหลายสี คือ ขาว เขียว ดำ เปนรายก่านป้อง มีตัวใหญ่ประมาณเท่านิ้วมือแห่งคน ยาวประมาณ ๑ ศอก ปรากฎอยู่บนผ้าพรมที่นั่งของพระสงฆ์ในกลางพระสงฆ์ ไม่กระทำร้ายอะไร อยู่นานสัก ๕ มินิตก็หายไป ๒ เมื่อเสร็จการกุศลที่พระธาตุนี้แล้ว องค์พระเจ้าจะเสด็จไปบูชาแลนมัสการพระมหาธาตุแช่แห้งใหญ่ แลพระรัตนไตรยในพระวิหารหลวง แลพระพุทธรูปทันใจอิก ครั้นเสด็จไปถึงนอกบริเวณพระมหาธาตุเจ้านั้น มีฝนห่าหนึ่งตกมาแต่ทิศตวันออก มีเมล็ดใหญ่ประมาณเท่าหมากพูชา ตกลงถูกกายของมหาชนทั้งหลาย ในเวลานั้นไม่มีฝ้าเมฆแลลมอะไร เปนอันสว่างดีนานสักครู่หนึ่ง ก็อันตรายหายไป ควรอัศจรรย์นัก เห็นจะเปนเพื่อเหตุองค์พระเจ้ามีศรัทธาเลื่อมใสในโลกุตตรมรรคธรรมอันประเสริฐ แลเปนเหตุให้มีศรัทธาอันหยั่งเชื่อในการกุศลต่อ ๆ ไป ตราบองค์พระเจ้าได้ตรัสสัพพัญญูตัญญาณในอนาคตกาลชาติบ่คลาศคลา เพราะในปัจจุบันชาตินี้ องค์พระเจ้าก็ได้ปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุแช่แห้งใหญ่ แลพระวิหารใหญ่ พระวิหารทันใจ แลสร้างศาลาบาตรอบบริเวณทั้งสิ้น แลได้ปราบที่ป่าแลถานทั้งหลายให้ราบเพียง สร้างนาค ๒ ตัวแลถนนแลกองมหากุศลอันจะยังสร้างขึ้นอิก ยังเปนกำลังสร้างขึ้นเวลานี้ ๑ คือ พระวิหารที่พระธาตุเขาแก้ว ๒ พระวิหารพระนอน ๓ โรงเรียนใหญ่ที่วัดช้างค้ำ ๔ สพานข้ามน้ำสมุน อันเปนกองกุศลใหญ่แล แต่อันเล็กน้อยยังไม่เอามาปรากฎ ในงานพระธาตุแช่แห่งนี้ หนภายในมีท่านพระครูถาปนกิจโกศล เจ้าวัดพญาพู เปนองค์ชี้แจงในการงานทั้งมวญ อุดหนุนสมภารขององค์พระเจ้า ครั้นเสร็จการกุศลรายนี้ครั้งแรกแล้ว องค์พระเจ้าเสด็จมาพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลาน ข้าราชการเสนามาตย์ราชบริวารเสด็จมาสู่หอคำตามธรรมเนียม เสร็จการกุศลในพระเจดีย์แช่แห้งน้อยครั้งแรกเท่านี้แล

รวมที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้บริจาคทรัพย์สร้างสิ่งถาวรถวายเปนของรัฐบาลแลถวายไว้ในพระสาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้ ร.ศ. ๑๒๓ พ.ศ. ๒๔๔๗ สร้างออฟฟิศไปรสนีย์โทรเลขประจำจังหวัดน่านหนึ่งหลัง ทำด้วยไม้สักรูปปั้นหยามีน่ามุขหนึ่งด้าน แลซื้อที่ดินที่ตั้งออฟฟิศรวม ๒ รายเปนเงิน ๑๖๐๐ บาท ร.ศ. ๑๒๕ พ.ศ. ๒๔๔๙ สร้างพระวิหาร วัดดอยธาตุเขาน้อยหนึ่งหลัง ๖ ห้อง ๆ ไหนกว้าง ๕ ศอก ยาว ๘ วา ๒ ศอก มีน่ามุขออก ๓ ด้าน ก่อฐานพระประธานไว้กลางพระวิหาร พระวิหารเครื่องไม้สักก่ออิฐโบกปูนหลังคามุงกระเบื้อง ไม้สักประกับแก้วแลปิดทองทำด้วยงดงาม พระสมุห์อินวัดหัวขว่างเปน สล่า สิ้นเงิน ๔๘๓๙ บาท

ร.ศ. ๑๒๖ พ.ศ. ๒๔๕๐ สร้างพระวิหารพระพุทธไสยาศน์ที่วัดแช่แห้ง ๑ หลัง ยาว ๑๐ วา ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว กว้าง ๔ วา ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว แลซ่อมแซมฐานพระไสยาศน์พระวิหารก่ออิฐถือปูนมุงกระเบื้องไม้ยมเพดานลงรักปิดทอง แลก่อกำแพงแก้วรอบพระวิหาร ๔ ด้าน ยาวด้านละ ๑๘ วา ๒ ศอก ๑๐ นิ้ว หม่องจ่าปีน ชาติพม่า เปนสล่า สิ้นเงิน ๔๐๐๐ บาท

ใน พ.ศ. เดียวนี้ สร้างโรงเรียนสุริยานุเคราะห์ เปนโรงเรียนหนังสือไทยประจำเมือง จีนซาง จีนอิ๋ว เปนสล่า ๑ หลัง ทำด้วยไม้ตะเคียน รูปปั้นหยา มีน่ามุข พื้นกระดาน ฝากระดาน หลังคามุงกระเบื้องไม้ยม กั้นเปนห้อง ๆ ๖ ห้อง โดยยาว ๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา มีเพไลยออกหนึ่ง ด้านยาวตามโรงเรียนทาสีขาว โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในกำแพงวัดช้างค้ำ สิ้นเงิน ๖๑๐๐ บาท

ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ สร้างกุฎีสำหรับพระครูนันทสมณาจารย์ เจ้าคณะจังหวัด ๑ หลัง ๘ ห้อง ยาว ๙ วากับ ๒ ศอก กว้าง ๖ วา พื้นกระดานฝากระดานไม้ตะเคียน แลไม้สักบ้าง หลังคามุงกระเบื้องไม้สักแลไม้ยม มีเพไลยยาวตามกุฎี ๑ ด้าน มีน่ามุขออก ๑ ข้าง แลมีเพดานตลอด กั้นฝาเปนห้อง ๆ ๘ ห้อง สูงตั้งแต่พื้นดินถึงพื้น ๔ ศอก ตั้งแต่พื้นถึงขื่อ ๘ ศอก ตั้งแต่ขื่อถึงอกไก่ ๑๐ ศอก ทำเปนรูปปั้นหยา สิ้นเงิน ๒๕๐๐ บาท

ในศกเดียวนี้ สร้างพระเจดีย์แช่แห้งน้อย ๑ หลัง ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เข้าประดิษฐานในโกษฐทำด้วยทองคำ แล้วเอาประจุโกษฐแก้ว แล้วเอาเข้าบรรจุในหีบกำปั่นใหญ่ แลมีดอกไม้ทองคำทำเปนพวงๆ มีเครื่องสักการบูชาหลายอย่างหลายประการ บรรจุในกำปั่น แล้วเอาเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังนี้ ดังแจ้งในจาฤกนั้นแล้ว การก่อสร้างสิ้นเงิน ๔๔๐๖ บาท ๙๒ สตางค์ แลสร้างสพานสมุน ๑ สพาน ทำด้วยไม้ตะเคียนอย่างแน่นงดงาม สิ้นเงินหมื่นบาท

ร.ศ. ๑๒๘ พ.ศ. ๒๔๕๒ สร้างพระเจดีย์ในบริเวณวิหารพระไสยาศน์แช่แห้ง ๑ หลัง ทำเปนรูปพระปรางค์ แลก่อหลูบพระเจดีย์ซึ่งชำรุดอยู่สิ้นเงิน ๑๓๐๐ บาท

ร.ศ. ๑๒๙ พ.ศ. ๒๔๕๓ ก่อสร้างหอพระไตรปิฎก ในบริเวณวัดช้างค้ำ ๑ หลัง ๘ ห้อง ยาว ๑๖ วา ๑ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ ๑๓ วา หลังคาทำเปนซด ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานน่าจั่ว ๒ ข้าง แลเพดานทำเปนลวดลายต่าง ๆ ลงรักปิดทอง แลประดับด้วยแก้วสีต่าง ๆ พระสมุหอินทร์ เจ้าวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋ว จีนซาง เปนสล่า สิ้นเงิน ๒๓๕๕๘ บาท

ในศกเดียวนี้ สร้างโรงอุโบสถวัดแช่แห้งน้อย ๑ หลัง เครื่องบนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องไม้สัก ก่ออิฐถือปูน จีนเลือดเปนสล่า ข้างในมีเพดานลงรักปิดทอง แลปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมากรในอุโบสถนั้นอิก ๓ องค์ ลงรักปิดทองใหม่ สิ้นเงิน ๔๐๐๐ บาท

ร.ศ. ๑๓๑ พ.ศ. ๒๔๕๕ สร้างพระเจดีย์หลังอุโบสถแช่แห้งน้อย ๑ หลัง ก่ออิฐถือปูน สิ้นเงิน ๘๐๐ บาท

ในศกเดียวกันนี้ สร้างพระวิหารวัดสวนหอมตำบลหัวเวียง ๑ หลัง ก่ออิฐถือปูน มีเพดาน ลงรักปิดทอง น้อยทะเปนสล่า สิ้นเงิน ๔๖๐๐ บาท

ในศกเดียวนี้ ปฏิสังขรณ์พระวิหารใหญ่วัดช้าง ๑ หลัง เปลี่ยนเครื่องบนไม้สัก แลต่อน่ามุขออก ๑ ห้อง รวมเปน ๘ ห้อง ทำตามรูปเดิม เปนแต่น่ามุขแลเปลี่ยนเครื่องบน หลังคามุงกระเบื้องดิน ประดับตกแต่งเสาในพระวิหาร แลเพดานกันน่าจั่วทั้ง ๒ ข้าง ทำเปนลวดลายลงรักปิดทอง แลประดับแก้วสีต่าง ๆ กับซ่อมแซมฐานพระประธานแลธรรมาศน์ ลงรักปิดทอง กับปิดทองพระประธานในพระวิหารนี้ แลมีการทำบุญฉลองเปนการใหญ่โตครึกครื้นมาก สิ้นเงิน ๑๒๔๑๙ บาท ๘๕ สตางค์ พระสมุห์อินทร์วัดหัวข่วงเปนสล่า

ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๗ สร้างกุฎีวัดแช่แห้ง ๒ หลัง เสาก่ออิฐถือปูนเครื่องไม้กระยาเลย หลังคามุงกระเบื้องดิน หนานกัน เปนสล่า สิ้นเงิน ๓๓๒ บาท ๕๐ สตางค์

ในศกเดียวนี้ ได้ซ่อมแซมหัวนาควัดแช่แห้งซึ่งแตกหักลงทั้งสองหัว สิ้นเงิน ๓๐๐ บาท หนานกัน น้อยธะ เปนสล่า แลสร้างสระน้ำที่วัดแช่แห้งหัวถนนที่จะขึ้นไปพระธาตุแช่แห้ง ๑ สระ กว้าง ๑๒ วา ๔ ด้าน ด้านเท่า ๆ กัน ก่ออิฐถือปูน เพื่อให้สัตว์ได้อาไศรยน้ำ สิ้นเงิน ๓๐๐ บาท แลสร้างพระเจดีย์ใหญ่ในวัดสวนตาล เวลานี้ยังไม่สำเร็จ ก่อสำเร็จไปแล้ว ยังแต่ทาสทายแลโบกปูนเท่านั้น พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มาถึงพิราไลยเสียก่อน นายพลตรี เจ้าอุปราช ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมือง ผู้เปนน้อง แลเจ้านายบุตรหลาน จะได้จัดการซ่อมสร้างต่อไปจนสำเร็จ ๚