ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/เรื่องที่ 4
ได้ทราบว่า เดิมเมืองยะโฮ เมืองตานี เมื่อยังเปนปรกติอยู่นั้น เจ้าเมืองยะโฮมีน้องสาว ๒ คน ชื่อ ตนกูบุหลัน ๑ ตนกูบุหวัน ๑ เมืองตรังกานูยังเปนบ้านเล็กเมืองน้อย มีบ้านเรือนเรี่ยรายตำบลละ ๒–๓ เรือน หาเปนภูมิ์บ้านเรือนไม่ เจ้าเมืองยะโฮจึงตั้งให้มะหมัดเปนเจ้าเมืองตรังกานู เกลี้ยกล่อมจีนแขกต่างเมืองมาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่เมืองตรังกานูช้านาน
แลตุวันซาเอ็ดอาลีประสา ผู้พี่ ตุวันมาโซ ผู้น้อง ร่วมมารดาเดียวกัน แต่ต่างบิดา เปนเชื้อผู้ดีบุตรหลานเจ้าเมืองตานี ไปอยู่ที่เมืองยะโฮช้านาน ตุวันมาโซรับอาษาเจ้าเมืองยะโฮไปตีเมืองลิงาได้ ตุวันมาโซจึงเอาปืนบาเรี่ยมทอง ๔ บอกสำหรับเมืองลิงาให้เจ้าเมืองยะโฮ ๆ มีความรักใคร่ตุวันซาเอ็ดอาลีประสา ตุวันมาโซ เปนอันมาก เจ้าเมืองยะโฮจึงยกตนกูบุหลันให้เปนภรรยาตนกูซาเอ็ดอาลีประสา ตนกูบุหวันให้เปนภรรยาตุวันมาโซ อยู่ณเมืองยะโฮ
ครั้นอยู่มา มะหมัด เจ้าเมืองตรังกานู ถึงแก่กรรม วงษ์ตระกูลมะหมัดนั้นก็สาบสูญไป หาได้ปรากฏออกชื่อเสียงต่อมาไม่
ครั้งนั้น เจ้าเมืองยะโฮเห็นว่า ตุวันมาโซเปนคนมีสติปัญญาดีกว่าตุวันซาเอ็ดอาลีประสา ผู้พี่ เจ้าเมืองยะโฮให้ปืนแก่ตุวันมาโซ ๖ บอก แล้วตั้งให้ตุวันมาโซมาเปนเจ้าเมืองตรังกานู ตุวันซาเอ็ดอาลีประสาก็พาบุตรภรรยาไปอยู่กับพระยาตรังกานูมาโซด้วย พระยาตรังกานูมาโซ ตุวันซาเอ็ดอาลีประสา พากันยกกองทัพไปตีเมืองกลันตันได้ จึงยกเมืองกลันตันไปขึ้นแก่เมืองตรังกานู ครั้งนั้น ลูกค้าชาวเมืองตรังกานู เมืองกลันตัน ได้เข้ามาค้าขายณกรุงเทพฯ สินค้าขาเข้ามีพิมเสน, หมาก, หวายตะค้า, สินค้าขาออกมีเกลือเปนต้น
เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จพระราชดำเนินยกกองทัพออกไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพไปตีเมืองตานี
พระยาตรังกานูตกใจกลัวพระเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ พระยาตรังกานู มาโซ ตุวันซาเอ็ดอาลีประสา จึงจัดทำต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการ กับของกำนันท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อย ให้ศรีตวันกรมการคุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายขอเปนเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ พระยาตรังกานู มาโซ มีบุตรชายชื่อ ตนกูแยนา ๑ ตนกูมะหมัด ๑ ตนกูบาระเฮม ๑ ตนกูอิตำ ๑ ตนกูกาเด ๑ ตนกูดุรมาน ๑ รวม ๖ หญิงชื่อ ตนกูละเมาะปลู ๑ รวม ๗ คน
ครั้นพระยาตรังกานู มาโซ ถึงแก่กรรมแล้ว บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้เรียกชื่อศพพระยาตรังกานู มาโซ ว่า บาระหุมยางตะ เพราะไว้หนวด
แล้วบุตรหลาน ศรีตวันกรมการ มีใบบอกมายังเมืองสงขลาว่า พระยาตรังกานูถึงแก่กรรมแล้ว จะขอรับพระราชทานตนกูแยนา บุตรที่ ๑ บาระหุมยางตะ เปนที่พระยาตรังกานูทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป พระยาสงขลาบอกส่งต้นหนังสือเข้ามายังกรุงเทพฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูแยนาให้เปนที่พระยาตรังกานูสืบไป พระยาตรังกานู แยนา มีบุตรชายชื่อ ตนกูอามัด ๑ ตนกูอับดุลมาน ๑ ตนกูสมะแอ ๑ ตนกูมังโซ ๑ สี่คน บุตรหญิงชื่อ ตนกูนิ ๑ ตนกูปะสา ๑ ตนกูมะติเมาะจิ ๑ รวม ๓ คน การบ้านเมืองครั้งตนกูแยนาเปนเจ้าเมืองอยู่นั้นมั่งคั่งบริบูรณ์ ด้วยเมืองสิงคโปร์ยังเปนเมืองเล็กน้อย เรือลูกค้ามาค้าขายที่เมืองตรังกานูมาก พระยาตรังกานู แยนา ว่าราชการเมืองอยู่ได้ ๑๖ ปีถึงแก่กรรม ตนกูมะหมัด ๑ ตนกูบาระเฮม ๑ ตนกูอิตำ ๑ ตนกูกาเด ๑ ตนกูดุรมาน ๑ รวม ๕ คน ผู้น้องพระยาตรังกานู ตนกูอามัด ๑ ตนกูอับดุลมาน ๑ ตนกูสะมะแอ ๑ ตนกูมันโซ ๑ สี่คน ผู้บุตรพระยาตรังกานู กับศรีตวันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันให้เรียกชื่อศพพระยาตรังกานู แยนา ว่า บาระหุมตาแดง
แล้วปฤกษากันว่า ควรจะยกตนกูอามัด บุตรที่ ๑ บาระหุมตาแดง ให้ว่าราชการเมืองต่อไป จึงมีใบบอกมายังเมืองสงขลาตามธรรมเนียมเหมือนพระยาตรังกานูคนก่อน พระยาสงขลาบอกส่งต้นหนังสือเข้ามา ณกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาททุกประการแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูอามัดเปนพระยาตรังกานู ตั้งตนกูดุระมาน ผู้น้องพระยาตรังกานู อามัด เปนที่รายามุดา ได้มอบเครื่องยศให้ศรีตวันกรมการคุมออกไปพระราชทานพรยาตรังกานูแลรายามุดาณเมืองตรังกานูโดยสมควร
พระยาตรังกานูรักษาบ้านเมืองเปนปรกติ ไม่ได้มีทัพศึกสลัดศัตรูสิ่งใด บ้านเมืองใกล้เคียงก็ไปมาค้าขายโดยสดวก เมืองสะระวะนั้นเปนเมืองเกาะ เดิมเจ้าเมืองเปนมะลายู สินค้ามีพิมเสน สาคู ลูกค้าบรรทุกมาค้าขายณเมืองตรังกานูมิได้ขาด
ครั้นเซอเยมบรุกไปตีเมืองได้แล้ว เซอเยมบรุกก็ว่าราชการเมือง ก็ขึ้นกับอังกฤษมาจนทุกวันนี้ ระยะทางที่จะไปมาที่เมืองตรังกานูประมาณ ๑๔–๑๕ วัน เมืองกุนเตียน เมืองสมปัก เมืองเกาะ ชาวเมืองเปนมลายู เมืองนี้ขึ้นแก่ชาติวิลันดา ไม่มีสินค้าสิ่งใด ต้องมาซื้อสินค้าที่เมืองตรังกานู ระยะทางที่จะไปมาเมืองตรังกานูประมาณ ๒๐ วัน
ครั้งนั้นหลวงโกชาอิศหาก หลี เปนข้าหลวงออกไปจัดซื้อปืนบาเรียม หยุดพักณเมืองตรังกานู หลวงโกชาอิศหาก ก็ไปเมืองกะหลาป๋ากลับมาแวะที่เมืองตรังกานูฟังราชการอิกครั้งหนึ่ง ชาวเมืองตรังกานูซึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ มีแต่ศรีตวันกรมการที่คุมต้นไม้เงินทองกับพวกลูกค้า แต่ตนกูบุตรหลานเจ้าเมืองนั้นไม่มีผู้ใดได้เข้ามาณกรุงเทพฯ
พระยาตรังกานู อามัด มีบุตรชายชื่อ ตนกูเดาโหด ๑ ตนกูอุมา ๑ ตนกูมะมุด ๑ สามคน บุตรหญิงชื่อ ตนกูลีปอ ๑ รวม ๔ คน ตนกูลีปอเปนภรรยาเจ้าเมืองสิงคา มีบุตร คือ สุลต่านมะหะมุด ๑ ตนกูสะเปีย ๑ พระยาตรังกานู อามัด ว่าราชการเมืองอยู่ ๑๘ ปีก็ถึงแก่กรรม รายามุดา อับดุลมาน ๑ ตนกูสะมะแอ ๑ ตนกูมังโซ ๑ สามคน ผู้น้องพระยาตรังกานู อามัด กับบุตรหลาน ศรีตววันกรมการ ปฤกษาพร้อมกันว่า ให้เรียกชื่อศพพระยาตรังกานูอามัดว่า บาระหุมริฝิน
แล้วบุตรหลาน ศรีตวันกรมการ พร้อมกันเห็นควรยกรายามุดา อับดุลมาน ขึ้นว่าราชการบ้านเมืองต่อไป จึงมีใบบอกเข้ามายังเมืองสงขลา ๆ บอกเข้ามาณกรุงเทพฯ ขอรับพระราชทานรายามุดา อับดุลมาน บุตรพระยาตรังกานู บาระหุมตาแดง เปนที่พระยาตรังกานูทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งรายามุดา อับดุลมาน เปนที่พระยาตรังกานู พระราชทานเครื่องยศบาระหุมริฝินให้แก่พระยาตรังกานูอับดุลมานต่อไป
การบ้านเมืองก็เปนปรกติเหมือนแต่ก่อน พระยาตรังกานู อับดุลมาน มีบุตรชายชื่อ ตนกูอับดะละ ๑ พระยาตรังกานู อับดุลมาน ว่าราชการเมืองได้ ๕ ปีก็ถึงแก่กรรม ตนกูสะมะแอ ตนกูมังโซ ผู้น้อง กับบุตรหลานพระยาตรังกานู อับดุลมาน แลศรีตวันกรมการ พร้อมกันเรียกชื่อศพพระยาตรังกานู อับดุลมาน ว่า บาระหุมอับดุลมาน แลศรีตวันกรมการปฤกษาพร้อมกันให้ตนกูเดาโหด บุตรพระยาตรังกานู บาระหุมริฝิ่น ว่าราชการเมืองต่อไป ตนกูเดาโหดได้ว่าราชการเมืองอยู่เดือน ๑ ก็ถึงแก่กรรม ตนกูมังโซ บุตรพระยาตรังกานู บาระหุมตาแดง กับตนกูอุมา บุตรพระยาตรังกานู บารหุมริฝิน ชิงที่เปนเจ้าเมือง สู้รบกันอยู่ ๓ วัน ตนกูอุมาสู้ไม่ได้ พาสมัคพรรคพวกหนีไปอาไศรยอยู่เมืองสิงคา แล้วออกเที่ยวเปนสลัดตีเรืออยู่ตามทะเล
ตนกูอุมาไปที่เมืองสงขลาครั้ง ๑ ได้พบปะพูดจากับพระยาสงขลา (เซ่ง) ๆ ว่า จะพาตนกูอุมาเข้ามายังกรุงเทพฯ ตนกูอุมาก็หาเข้ามาไม่
ตนกูมังโซได้ว่าราชการเมือง แล้วมีใบบอกมายังเมืองสงขลา ๆ ก็บอกนำเข้ามาณกรุงเทพฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูมังโซเปนพระยาตรังกานู แต่เครื่องยศนั้น เมื่อรบกับตนกูอุมา หายไป จึงไม่ได้มอบเครื่องยศกับตนกูมังโซซึ่งเปนพระยาตรังกานู ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ยกกองทัพไปตีเมืองตานี ครอบครัวเมืองตานีแตกหนีไปอาไศรยอยู่เมืองตรังกานู พระยาตรังกานูหาพามาส่งกองทัพไม่
สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่จึงให้พระราชวังสรรค์ หลวงโกชาอิศหาก หลี คุมเรือรบ ๘ ลำไปเมืองตรังกานูต่อว่าแก่พระยาตรังกานูว่า พระยาตรังกานูเปนข้าขอบขัณฑเสมากรุงเทพฯ พระยาตรังกานูคบครอบครัวหัวเมืองตานีพวกขบถไว้ไม่ส่งกองทัพนั้น พระยาตรังกานูมีความผิดข้อ ๑ แลพระยาตรังกานูแต่งให้ปังลิมาไปช่วยพระยาตานีรบต่อกองทัพกรุงเทพฯ ก็มีความผิดอิกข้อ ๑ ให้พระยาตรังกานูส่งตัวปังลิมาดามิด ปังลิมามะมุด ปังลิมาแปะ ปังลิมาอามัด ชาวเมืองตานี กับสมัคพรรคพวก ครอบครัว มาให้สิ้น ถ้าพระยาตรังกานูไม่ส่ง จะจับพระยาตรังกานูทำโทษเสมอขบถ พระยาตรังกานูรู้สึกตัวกลัวผิดแล้ว จึงให้อุรังกายอคุมพวกครัวเมืองตานีกับปืนบาเรียมทองของพระยาตรังกานูคู่ ๑ ตามพระราชวังสรรค์มาส่งสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ที่เมืองสงขลา สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่จึงยกโทษให้พระยาตรังกานูครั้ง ๑ พระยาตรังกานู มังโซ มีบุตรชาย ๒ คนชื่อ ตนกูมะหมัด ๑ ตนกูเงาะ ๑ พระยาตรังกานูมังโซว่าราชการเมืองอยู่ได้ ๗ ปีถึงแก่กรรม แล้วบุตรหลาน ศรีตวันกรมการ พร้อมกันได้เรียกชื่อศพพระยาตรังกานูมังโซว่า บาระหุมมังโซ
ตนกูมะหมัด ผู้บุตร ว่าราชการเมือง ให้ศรีตวันกรมการคุมต้นไม้เงินทองเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ทันมรสุม เรือค้างลมว่าวอยู่ที่เมืองชุมพร ต่อเดือน ๓ เดือน ๔ จึงได้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูมะหมัดเปนที่พระยาตรังกานู ว่าราชการเมืองอยู่ได้ ๓ ปีเศษ ณปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๒๐๑ ปี ตนกูอุมา บุตรพระยาตรังกานู บาระหุมริฝิน พาสมัคพรรคพวกมาเรือ ๒๐ ลำ คนชายหญิงประมาณ ๒๐๐ คน ยกเข้ามาเมืองตรังกานู รบกับพระยาตรังกานู ๆ สู้ไม่ได้ หนีไปอาไศรยอยู่เมืองกลันตัน พระยาตรังกานู มะหมัด ถึงแก่กรรมที่เมืองกลันตัน
ศรีตวันกรมการพร้อมใจกันให้ตนกูอุมาว่าราชการเมือง แล้วณปีชวด โทศก ตนกูอุมาบอกส่งต้นไม้เงินทองแลเครื่องราชบรรณาการให้อุรังกายอเดวา หวันอิษา เจะมะหมัด นักกุดาซาโมะ คุมเข้ามาณเมืองสงขลา พระยาสงขลานำบอกเข้ามา แต่ตนกูอุมามีใบบอกเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายอิกฉบับหนึ่งว่า ตนกูอุมาขอเปนที่เจ้าเมืองตรังกานู ตนกูมะมุด ผู้น้อง เปนที่รายามุดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ตนกูอุมาเปนที่พระยาตรังกานู ให้ตนกูมะมุดเปนที่รายามุดา โปรดเกล้าฯ ให้จัดเครื่องยศพระยาตรังกานู พานทองเครื่องในพร้อม คนโททองคำ กระโถนทองคำ สัปทน มอบให้อุรังกายอคุมออกไปพระราชทานณเมืองตรังกานู
ณปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนเรือพระที่นั่งกลไฟทอดพระเนตรหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทเลไปถึงเมืองตานี เมื่อเสด็จประทับณพลับพลาแหลมสน เมืองสงขลา พระยาตรังกานูแต่งให้ตนกูโนะซึ่งเปนญาติพี่น้องมาแทนตัวเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทถวายสิ่งของตามธรรมเนียม โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานถามวงษ์ตระกูลตนกูโนะเปนพี่น้องอย่างไรกับพระยาตรังกานู ตนกูโนะแจ้งว่า ตนกูโนะเปนบุตรพระยาตรังกานู มาโซ ด้วย แต่ต่างมารดากันกับพระยาตรังกานู บาระหุมตาแดง ตนกูโนะมีบุตรชายชื่อ ตนกูสหาก ๑ ตนกูจิ ๑ สองคน แลสุลต่านมหะมุด บิดา เปนเจ้าเมืองสิงคา มารดาชื่อ ตนกูริบอ บุตรพระยาตรังกานู อะมัด ซึ่งเรียก บาระหุมริฝิน นั้น เมื่อบิดาถึงแก่กรรม สุลต่านมหะมุดได้เปนเจ้าเมืองสิงคา ไม่ประพฤติการทำนุบำรุงบ้านเมือง วิลันดาไม่ชอบ จึงไล่ออกจากเมืองสิงคา สุลต่านมหะมุดจึงมาอาไศรยอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ครั้นภายหลัง สุลต่านมหะมุดมาอยู่เมืองปาหัง ได้มาเยี่ยมพระยาตรังกานูเนือง ๆ ณปีวอก โทศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุลต่านมหะมุดให้แจะแดงมะหมัดถือหนังสือมาทางสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพฯ ว่า จะขอเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณปีระกา ตรีศก สุลต่านมหะมุดให้แจะแดงมะหมัดถือหนังสือเข้ามาอิกฉบับหนึ่งความเหมือนกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายเกิด หลวงโกชาอิศหาก ออกไปลงเรือที่เมืองสงขลาไปสืบสวนดูจนถึงเมืองปาหัง ครั้นนายเกิด หลวงโกชาอิศหาก กับล่ามกรมการเมืองสงขลา ไปถึงเมืองตรังกานู พบสุลต่านมหะมุดอยู่ที่เมืองตรังกานู พระยาตรังกานูให้สุลต่านมหะมุดเข้ามากับหลวงโกชาอิศหาก ด้วยเรือเมืองสงขลา ถึงกรุงเทพฯ เดือน ๗ ปีระกา ตรีศก สุลต่านมหะมุดพักอยู่ที่ตึกริมพระราชวังเดิม
เมื่อสุลต่านมหะมุดเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทครั้งนั้น เสด็จออกแขกเมืองอย่างใหญ่ณพระที่นั่งอนันตสมาคม สุลต่านมหะมุดพักอยู่ณกรุงเทพฯ ปีหนึ่ง ตนกูสะเปียได้ถวายตัวทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ณเดือนเจ็ด ปีจอ จัตวาศก สุลต่านมหะมุดกราบถวายบังคมลาออกไปเมืองตรังกานู โปรดเกล้าฯ ให้เรือกลไฟชื่อ มหาพิไชยเทพ ออกไปส่งณเมืองตรังกานู ครั้งนั้น บรรดาหรา เจ้าเมืองปาหัง กับหวันอามัด เกิดวิวาทรบกันอยู่ณเมืองปาหัง การซึ่งวิวาทรบกันที่เมืองปาหังนั้น หวันอามัดแพ้หนีมาอยู่ในแขวงเมืองตรังกานู ครั้นรวบรวมไพร่พลได้แล้ว กลับออกไปรบกับบรรดาหราอิก บรรดาหราเมืองปาหังสงไสยว่า พระยาตรังกานู สุลต่านมหะมุด ให้กำลัง บรรดาหราจึงมีหนังสือฟ้องไปยังเจ้าเมืองสิงคโปร์ ๆ มีหนังสือถึงกงสุลให้ต่อว่ากับท่านเสนาบดีให้เร่งจัดเรือไปรับสุลต่านมหะมุดกลับมาเสีย ท่านเสนาบดีตอบว่า สุลต่านมหะมุดมิใช่คนในบังคับไทย แลเทศกาลนี้คลื่นใหญ่เรือเข้าปากน้ำเมืองตรังกานูไม่ได้ กงสุลอังกฤษไม่ยอม ว่า เมืองปาหังเกิดรบกันเพราะไทยให้กำลังแลเรือรบไปส่งสุลต่านมหะมุดณเมืองตรังกานู ลูกค้าเมืองสิงคโปร์ขาดประโยชน์มาก ให้ท่านเสนาบดีไทยไปรับสุลต่านมหะมุดมาให้ได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุรักษ์โยธาเปนข้าหลวง มิศเตอร์เอมเปนกับตัน ไปด้วยเรือกลไฟชื่อ ศรีอยุธยาเดช ไปรับสุลต่านมหะมุดเมืองตรังกานูเมื่อเดือน ๑๒ ปีจอ จัตวาศก
แลก่อนเรือศรีอยุทธยาเดชยังไม่ถึงเมืองตรังกานูนั้น เจ้าเมืองสิงคโปร์ให้เรือรบชื่อ โกเกช มารับสุลต่านมหะมุดมาส่งณกรุงเทพฯ เรือรบมาถึงเมืองตรังกานูวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๕ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก สุลต่านมหะมุดไม่ยอมมา พระยาตรังกานูจะจัดเรือเมืองตรังกานูเข้ามาส่งสุลต่านมหะมุดณกรุงเทพฯ นายเรือรบไม่ยอม แล้วนายเรือรบออกไปณเรือรบ จึงได้ยิงป้อมเมืองตรังกานูด้วยปืนอัมสตรอง ตั้งแต่บ่ายโมงหนึ่งจนกลางคืนสามสิบหกนัด รุ่งขึ้น วันพุฒ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก เรือรบแอบฝั่งเข้าไปยิงอิก ๖ นัด แล้วเรือรบกลับไปเมืองสิงคโปร์
เรือศรีอยุทธยาเดชไปถึงเมืองตรังกานูวันอังคาร เดือน ๑ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ จัตวาศก สุลต่านมหะมุดหนีไปอยู่ที่ปะสุ เรือศรีอยุทธยาเดชตามไปที่ปะสุก็พบ สุลต่านมหะมุดก็ยอมจะเข้ามากรุงเทพฯ แต่เวลานั้น คลื่นใหญ่ เรือสุลต่านมหะมุดแลครอบครัวสุลต่านมหะมุดออกมาเรือศรีอยุทธยาเดชไม่ได้ พระอนุรักษ์โยธาจึงสั่งให้สุลต่านมหะมุดเดินบกมาณเมืองสงขลา เรือศรีอยุทธยาเดชมาถึงกรุงเทพฯ ณวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ จัตวาศก สุลต่านมหะมุดก็ไม่มาณเมืองสงขลา โปรดให้หลวงศรีมหาราชาเปนนายเรือกลไฟชื่อ สงครามครรชิต ลงไปสืบ ตามพบสุลต่านมหะมุดที่ปะสุ รับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เดือน ๕ ปีกุน เบญจศก ท่านเสนาบดีได้มีหนังสือฟ้องเรือรบที่มายิงเมืองตรังกานูต่อเสนาบดีผู้ว่าราชการต่างประเทศณกรุงลอนดอน
ที่เมืองปาหังนั้น โตะบรรดาหรา ตาย หวันอามัดตีได้เมืองปาหัง หวันอามัด บุตรโตะบรรดาหราที่ตาย หนีพาครอบครัวมาอยู่ที่กะมาหมัน แขวงเมืองตรังกานู แล้วมาอยู่เมืองกลันตัน แต่งเรือแล้วกลับไปเมืองสิงคโปร์
สุลต่านมหะมุดอยู่ณกรุงเทพฯ รู้ว่า หวันอามัดได้เมืองปาหังแล้ว สุลต่านมหะมุดขอลาออกไปเมืองสิงคโปร์ ท่านเสนาบดีจึงได้มีหนังสือปฤกษากับกงสุลอังกฤษ กงสุลวิลันดา ๆ ตอบมาว่า ความเมืองตรังกานูยังไม่แล้ว จะให้สุลต่านมหะมุดไปไม่ได้ ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เบญจศก เวลากลางคืน สุลต่านมหะมุดหายไป ณวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ ปีชวด ฉศก สุลต่านมหะมุดมีหนังสือฝากเรือเจ้าพระยาเข้ามาฉบับหนึ่งว่า สุลต่านมหะมุดไปอยู่เมืองปาหังแล้ว ขอให้ส่งบุตรภรรยาออกไป ท่านเสนาบดีตอบว่า ให้เรือเข้ามารับ จึงจะส่งออกไป
ณวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด ฉศก อุรังกายอเดหวา ผู้คุมต้นไม้ทองเงินเมืองตรังกานู ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาตรังกานูมีหนังสือมาว่า สุลต่านมหะมุดป่วยถึงแก่กรรมที่เมืองปาหังเมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวด ฉศก แล้วให้อุรังกายอเดหวารับตนกูตะเงาะ ผู้บุตร แลภรรยา สุลต่านมหะมุด ออกไปเมืองตรังกานู จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราส่งบุตรภรรยาสุลต่านมหะมุดออกไปเมืองตรังกานู นายไพร่ชายหญิงใหญ่น้อยรวม ๓๖ คน
ความซึ่งฟ้องด้วยเรื่องยิงเมืองตรังกานูนั้น เสนาบดีกรุงลอนดอนตัดสินว่า เจ้าเมืองสิงคโปร์บังคับให้เรือรบไปยิงเมืองตรังกานูนั้นผิด ควรคอเวอนแมนต์ไทยคิดเอาเงินค่าไปรับสุลต่านมหะมุดแลเบี้ยเลี้ยง สุลต่านมหะมุดกับบ่าวไพร่ทั้งหมด ความจบอยู่แต่เพียงนี้ ครั้งนั้น คอเวอนแมนต์อังกฤษเรียกเจ้าเมืองสิงคโปร์กลับ แล้วเปลี่ยนเจ้าเมืองมาเปนใหม่
ครั้นณปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ปี แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาตรังกานูมีใบบอกมาว่า รายามุดา ถึงแก่กรรม พระยาตรังกานูขอรับพระราชทานตนกูปะสา บุตรรายามุดา เปนรายามุดา จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ตนกูปะสา บุตรรายามุดา มะมุด เปนพระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ตามพระยาตรังกานูขอเข้ามา พระราชทานเสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าโพกขลิบทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ แต่เครื่องยศครอบทอง คนโททอง กะโถนทอง สัประทนคันหนึ่ง ให้เรียกเอากับพระยาตรังกานู ด้วยรายามุดาถึงแก่กรรมแล้ว เครื่องยศนั้นอยู่กับพระยาตรังกานู ตั้งจีนเต็กหลี พี่น้องพระศรีบุญเลี้ยง เปนหลวงอภัยพงษ์ภักดี ผู้ช่วยราชการ เมื่อตั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวังสรรค์ จางวางอาษาจาม หลวงโกชาอิศหาก เชิญนามสัญญาบัตรแลเสื้อผ้าออกไปด้วยเรือกลไฟรบชื่อ ยงยศอโยชฌิยา พระราชทานให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา หลวงอภัยพงษ์ภักดี ผู้ช่วยราชการ ณเมืองตรังกานู
ครั้นณปีมเสง เอกศก จุลศักราช ๑๒๓๑ พระยาตรังกานูแต่งให้ตนกูมหะมัดอาริฟินเปนทูตคุมเครื่องราชบรรณาการออกไปกรุงลอนดอน ตนกูหะมัดอาริฟินหาได้เฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ากวินวิกตอเรียไม่ ตนกูมหะมัดอาริฟินได้เฝ้าปรินสออฟเวล เครื่องราชบรรณาการส่งให้หลอดกลาเรนดอน ตนกูมหะมัดอาริฟินกลับมาถึงเมืองตรังกานูวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะเสง เอกศก แต่การนั้นคอเวอนแมนต์อังกฤษไม่รับ หลอดกลาเรนดอนตอบหนังสือลงวันพฤหัศบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๘ ค่ำ ฉบับหนึ่ง ลงวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเสง เอกศก ฉบับหนึ่ง หนังสือมิศเตอร์ฮามันถึงตนกูมหะมัดอาริฟิน ลงวันพฤหัศบดี เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย โทศก ฉบับหนึ่ง หนังสือสามฉบับนี้ส่งมาถึงกงสุลเยเนอราลอังกฤษณกรุงเทพฯ ให้ส่งมายังคอเวอนแมนต์สยาม จะได้ส่งให้พระยาตรังกานู ตนกูมหะมัดอาริฟิน ท่านเสนาบดีได้รับแปลความไว้ แล้วส่งถึงพระยาตรังกานู ตนกูมหะมัดอาริฟิน
ณปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๙ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาอัษฎงคตทิศรักษา ผู้ว่าการกงสุลฝ่ายสยามณเมืองสิงคโปร์ มีหนังสือบอกมาว่า พระยาตรังกานูถึงแก่อนิจกรรมณวันเสาร์ เดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ ปีชวด อัฐศก ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศรีมหาราชา ข้าหลวง หมื่นจำนงภาษา ล่าม พระยาสมบัติภิรมย์เมืองสงขลา เชิญไปด้วยเรือรบชื่อ สยามมกุฎไชยชิต เยี่ยมศพพระยาตรังกานู พระราชทานเงินทำบุญในการศพตามธรรมเนียมเจ้าเมืองประเทศราช ๓๒๐๐ สลึง เปนเงิน ๑๐ ชั่ง มอบราชการบ้านเมืองให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา บังคับบัญชาปกครองบุตรหลานต่อไป เรือรบใช้จักรออกจากกรุงเทพฯ ณวันพฤหัศบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก แล้วพ้นไปเปลี่ยนเรือพิทยัมรณยุทธอยู่รักษาเมืองภูเก็จ หลวงศรีมหาราชา ข้าหลวง กับล่าม กลับแต่เมืองตรังกานูมาด้วยเรือพิทยัมรณยุทธ ถึงกรุงเทพฯ ณวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด อัฐศก ราชการบ้านเมืองเรียบร้อย หามีเหตุสิ่งใดไม่ พระยาตรังกานู อุมา ว่าราชการเมืองมาได้ ๓๗ ปี ไม่มีบุตร บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ เรียกชื่อศพพระยาตรังกานูอุมาว่า บารหุมอุมา พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา พร้อมด้วยบุตรหลานพี่น้อง ทำต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ แต่งให้อุรังกายอ ศรีตวันกรมการ คุมเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายตามกำหนดปี ถึงกรุงเทพฯ ณวันอังคาร เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีชวด อัฐศก พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา จึงมีหนังสือบอกข่าวพระยาตรังกานูถึงแก่อนิจกรรม
มิศเตอร์นอก เอเยนต์แลกงสุลเยเนราลอังกฤษ มีหนังสือลงวันพุฒ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ ปีชวด อัฐศก มายัง ฯพณฯ ที่สมุหพระกระลาโหม ฉบับหนึ่ง มีความว่า คอเวอนเนอร์เมืองสิงคโปร์มีหนังสือมายังกงสุลว่า สุลต่านเมืองตรังกานูถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ให้กงสุลถามคอเวอนแมนต์สยามว่า คอเวอนแมนต์สยามจะตั้งเชื้อวงษ์ของสุลต่านเปนสุลต่านต่อไป หรือคอเวอนแมนต์สยามจะตั้งเชื้อวงษ์ไหนเปนสุลต่านเมืองตรังกานู ฯพณฯ ที่สมุหพระกระลาโหมมีหนังสือตอบลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีชวด อัฐศก ไปยังท่านเอเยนต์แลกงสุลเยเนอราลอังกฤษว่า พระยาตรังกานูถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บ้านเมืองว่างอยู่ ท่านเสนาบดีปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า พระยาตรังกานูไม่มีบุตร มีแต่พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ผู้หลาน ก็เปนผู้ใหญ่ในวงษ์ตระกูล จะได้ปกครองญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ไพร่บ้านพลเมือง ต่อไป จึงให้หลวงศรีมหาราชา เจ้ากรมอาษาจาม เปนข้าหลวง ไปด้วยเรือรบชื่อ สยามมกุฎไชยชิต มอบราชการบ้านเมืองเมืองตรังกานูให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา บังคับบัญชาให้ถูกต้องตามธรรมเนียมเมืองประเทศราชสืบมาแต่ก่อนแล้ว
ณปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ โปรดเกล้าฯ มีท้องตราถึงพระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ฉบับหนึ่งว่า พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา เปนผู้ใหญ่ในวงษ์ตระกูล จะโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา เปนที่พระยาตรังกานู แต่เมืองประเทศราชต้องมีรายามุดา ให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ปฤกษาบุตรหลานญาติพี่น้องจะเห็นผู้ใดควรเปนรายามุดาได้ ก็ให้พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา มีหนังสือบอกเข้ามา จะได้ตั้งให้เปนรายามุดาช่วยรักษาบ้านเมืองทนุบำรุงญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ไพร่บ้านพลเมือง ให้อยู่เย็นเปนศุข พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา จึงมีหนังสือบอกมาขอตนกูประสามุดา ผู้บุตร อายุ ๑๒ ปี เปนที่รายามุดา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอมรวิไสยสรเดช เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ บุตรท่านอรรคมหาเสนาธิบดีซึ่งมีตระกูลใหญ่ กับพระยาราชวังสรรค์ จางวางกรมอาษาจาม พระยาสมบัติภิรมย์ที่ ๒ เมืองสงขลา เปนข้าหลวงไปด้วยเรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ เชิญสัญญาบัตรตั้งพระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา เปนที่พระยาตรังกานู ฉบับหนึ่ง ใส่ถุงเข้มขาบพื้นม่วงระบายแพรสีเขียว ตั้งตนกูประสามุดาเปนที่พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ฉบับหนึ่ง ใส่ถุงเข้มขาบพื้นแดงระบายแพรสีเขียว แต่เครื่องยศนั้นให้ข้าหลวงเรียกเอาพานทองคำ คนโททองคำ กระโทนทองคำ เครื่องยศพระยาตรังกานูคนเก่า มาพระราชทานพระยาตรังกานูคนใหม่ ให้เอาเครื่องยศพระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ครอบทองคำ มาพระราชทานพระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดาคนใหม่ ข้าหลวงใช้จักรเรือพิทยัมรณยุทธออกจากกรุงเทพฯ ณวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๘
อนึ่ง ณปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ ตนกูสะเปีย น้องสุลต่านมหะมุด ซึ่งกราบถวายบังคมลาออกไปอยู่ด้วยพระยาตรังกานูอุมา ผู้ลุง ณปีมะเมีย โทศกนั้น มีหนังสือมาทูลเกล้าฯ ถวายฉบับหนึ่งว่า ตนกูสะเปียได้เปนภรรยาตนกูหลง บุตรตนกูเดน ๆ เปนบุตรพระยาตรังกานู กาโหด อยู่ณเมืองตรังกานูแล้ว ตนกูสะเปียขอเงินทำศาลา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ๒๐๐ เหรียญ ฯพณฯ ที่สมุหพระกระลาโหม ให้ ๕๐ เหรียญ รวม ๒๕๐ เหรียญ
ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีฉลู นพศก พระอมรวิไสยสรเดชกับพระยาราชวังสรรค์ซึ่งเชิญสัญญาบัตรท้องตรานำตั้งออกไปพระราชทานพระยาตรังกานู พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา ณเมืองตรังกานูนั้น กลับเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระยาตรังกานู พระไชเยนทร์ฤทธิรงค์ รายามุดา มีหนังสือตอบเข้ามาว่า ได้รับสัญญาบัตรท้องตรานำตั้งเสร็จแล้ว ราชการบ้านเมืองเรียบร้อยอยู่