ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๕๕
ว่าด้วยอังกฤษเข้ามาทำสัญญากับไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงพระนิพนธ์
นายพันเอก พระสรายุทธสรสิทธิ กับพระทำนุนิธิผล
พิมพ์ช่วยในการปลงศพ
นายเต๊ก ธนะโสภณ
เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

นายเต๊ก ธนะโสภณ
พ.ศ. ๒๔๓๐ – พ.ศ. ๒๔๗๓

ข้าพเจ้าได้หารือกับนายพันเอก พระสรายุทธสรสิทธิ ถึงเรื่องจะพิมพ์หนังสือแจกในงานฌาปนกิจศพนายเต๊ก ธนะโสภณ เพื่อเป็นโอกาศที่จะได้ทำปติการแก่นายเต๊ก ธนะโสภณ ครั้งที่สุด ด้วยได้คุ้นเคยชอบพอและเกื้อหนุนกันมาช้านาน จึงนำความไปแจ้งต่อราชบัณฑิตยสภาขออนุญาตหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกให้เหมาะแก่ผู้มรณะ พบจดหมายเหตุเรื่องหนึ่งว่าด้วยอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญากับไทยแต่ครั้งรัชชกาลที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร รัชชกาลที่ ๒ อันนับว่าเป็นครั้งแรกที่อังกฤษได้ทำไมตรีกับกรุงเทพพระมหานคร มีอธิบายประเพณีไทยทำการค้าขายกับชาวต่างประเทศชัดเจน เป็นหนังสือให้ประโยชน์ทางความรู้การค้าขายสมัยโบราณเป็นอย่างดี และเหมาะที่จะพิมพ์แจกในงานนี้ ด้วยนายเต๊ก ธนะโสภณ เป็นสมาชิกสโมสรสามัคคีจีนสยาม มีสมาชิกเพื่อนฝูงล้วนทำการค้าขายเป็นพื้น เมื่อได้รับอนุญาตต่อราชบัณฑิตยสภาแล้ว จึงจัดการพิมพ์ขึ้นเป็นของแจกในงานศพนี้ หวังใจว่าผู้ได้รับไปอ่านจะพอใจทั่วกัน

พระทำนุนิธิผล
วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๓


เมื่อเดือน ๔ ปีมะเส็ง ตรีศก พ.ศ. ๒๓๖๔ มาร์ควิสเหสติงส์ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองอินเดียของอังกฤษ[1] ให้เรสิเดนต์อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์มีหนังสือเข้ามาถึงเสนาบดีว่า จะแต่งให้นายครอเฟิด[2] เป็นทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในเวลานั้นตำแหน่งที่เจ้าพระยาพระคลังว่างอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) จางวางมหาดเล็ก เลื่อนขึ้นว่าการในตำแหน่งจตุสดมภ์ที่พระคลังให้ทันในการที่จะจัดรับรองและพูดจากับทูตอังกฤษที่จะเข้ามานั้น[3]

เหตุที่อังกฤษแต่งทูตเข้ามาคราวนั้น ตามที่ปรากฏในหนังสือคำสั่งของมาร์ควิสเหสติงส์ที่ทำให้แก่ครอเฟิดได้ความว่า เกิดแต่ด้วยเรื่องผลประโยชน์ที่ได้ในการค้าขายของบริษัทอิศอินเดียตกต่ำลงทั้งในยุโรปและประเทศทางตะวันออกนี้ เนื่องแต่เหตุที่ฝรั่งต่างชาติเกิดรบพุ่งกัน ไม่เป็นอันที่จะทำมาค้าขายอยู่กว่า ๒๐ ปี ครั้นเมื่อเลิกการสงครามกันแล้ว จึงตั้งต้นที่จะคิดบำรุงการค้าขายให้บริษัทอินเดียอังกฤษได้ผลประโยชน์มากดังแต่ก่อน ความปรากฏแก่อังกฤษว่า แต่ก่อนมาเมืองไทยและเมืองญวนเป็นแหล่งที่พ่อค้าฝรั่งต่างประเทศไปมาค้าขายหากำไรได้มากทั้ง ๒ แห่ง จึงคิดจะกลับให้มีการค้าขายไปมากับ ๒ ประเทศนี้ขึ้นอีก เมื่อปีมะโรง โทศก ในรัชชกาลที่ ๒ นั้น ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษได้แต่งพ่อค้าให้เข้ามาสืบการงานถึงกรุงเทพฯ ได้ความออกไปว่า เมื่อใน ๒–๓ปีมานี้ มีเรือฝรั่งชาติอเมริกันบ้าง โปรตุเกตบ้าง อังกฤษบ้าง เข้ามาค้าขายถึงกรุงเทพฯ ไทยก็ยอมให้ค้าขายไม่รังเกียจ ด้วยไทยกำลังต้องการเครื่องศัสตราวุธที่จะทำศึกกับพะม่า อยากให้มีพ่อค้าบรรทุกปืนเข้ามาขาย เห็นเป็นช่องที่จะมาทำไมตรีให้มีการค้าขายเจริญขึ้นอีกได้ แต่อังกฤษมีความรังเกียจอยู่ด้วยเรื่องวิธีเก็บภาษีอากร ทั้งวิธีของไทยและของญวน ส่วนวิธีไทยนั้น ยกความข้อรังเกียจที่มีเจ้าพนักงานลงไปตรวจเลือกซื้อสิ่งของที่ต้องพระราชประสงค์ หรือต้องการใช้ในราชการ ไม่ยอมให้ขายแก่ผู้อื่นนี้ข้อ ๑ และรังเกียจที่มีวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเป็นของหลวง ห้ามมิให้ผู้อื่นขายสินค้านั้น ๆ อย่างหนึ่ง และห้ามสินค้าบางอย่าง มีเข้าเปลือกเข้าสารเป็นต้น ไม่ให้บรรทุกออกจากเมืองทีเดียวอีกอย่าง ๑ อังกฤษจึงแต่งให้ครอเฟิดเป็นทูตเข้ามาให้พูดจากับไทยโดยทางไมตรี เพื่อประสงค์จะขอให้ยกเลิกหรือลดหย่อนวิธีอันเป็นที่รังเกียจดังกล่าวมา ซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นการลำบากและรำคาญแก่คนค้าขาย จะขอให้คนในบังคับอังกฤษไปมาค้าขายโดยสะดวก และให้ค้าขายกับไพร่บ้านพลเมืองได้ทั่วไป ส่วนผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยที่เคยได้จากวิธีค้าขายอย่างแต่ก่อน ถ้าจะตกต่ำไปเพราะการงดลดเลิกวิธีที่กล่าวนั้น อังกฤษจะยอมให้ขึ้นอัตราคาค่าปากเรือทดแทน ขอให้เรียกรวมแต่เป็นอย่างเดียว นี้เป็นความประสงค์ที่อังกฤษแต่งทูตเข้ามาอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ จะให้ทูตเข้ามาพูดเรื่องเมืองไทรบุรีด้วย เมื่ออังกฤษเช่าที่เกาะหมากจากพระยาไทร ๆ บอกแก่อังกฤษว่า เมืองไทรบุรีเป็นเมืองมีอิสสรภาพ มิได้ขึ้นแก่ไทย (ซึ่งถ้าจะว่าก็เป็นความจริงอยู่คราว ๑ เมื่อเสียกรุงแก่พะม่าข้าศึก) ครั้นอังกฤษได้เกาะหมาก ตั้งขึ้นเป็นหัวเมืองขึ้นของรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย ให้ว่ากล่าวลงมาจนถึงเมืองสิงคโปร์ อังกฤษมาทราบภายหลังว่า เมืองไทรยอมเป็นประเทศราชขึ้นไทยตามเดิม ก็เกิดความลำบากใจที่ได้เช่าเกาะหมากจากพระยาไทรโดยมิได้บอกกล่าวขอร้องต่อไทยก่อน ในเวลานั้นอังกฤษก็ยังตั้งเมืองเกาะหมากไม่ได้มั่นคงเท่าใดนัก จำเป็นต้องอาศัยสะเบียงอาหารจากเมืองไทรบุรี ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเข้าหนุนหลังพระยาไทรให้นิยมต่ออังกฤษ ครั้นเมื่อในรัชชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เกิดความหวาดหวั่นขึ้นด้วยเรื่องพระยาอภัยนุราช (ปัศนู) เข้าใจว่า พระยานครฯ (น้อย) จะหาเหตุเอาเมืองไทรเป็นหัวเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช จึงขอให้อังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมากช่วยว่ากล่าวกับไทยถึง ๒ คราวดังกล่าวมาแล้ว เจ้าเมืองเกาะหมากบอกข้อความเหล่านี้ไปยังอินเดีย รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงให้ครอเฟิดมาพูดจาเรื่องเมืองไทรบุรีกับไทย ประสงค์จะขอให้พระยาไทรพ้นจากอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช โดยถือว่าเมืองไทรบุรีเป็นประเทศราชอันอยู่ใกล้ชิดติดกับเขตต์แดนของอังกฤษ อีกอย่าง ๑ ครอเฟิดมาคราวนั้น รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจัดให้มีพนักงานทำแผนที่และผู้ชำนาญสภาวศาสตรมาด้วยในกองทูต เพื่อการตรวจแผนที่และตรวจพรรณพฤกษ์พรรณสัตว์ต่าง ๆ ประกอบกับข้อความที่ครอเฟิดจะต้องสืบสวนการงานต่าง ๆ ในบ้านเมืองไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษด้วย ธุระของครอเฟิดที่เป็นทูตเข้ามา ว่าโดยย่อเป็น ๓ ประการดังกล่าวมานี้

ตามความอันปรากฏในหนังสือคำสั่งของผู้สำเร็จราชการอินเดียอังกฤษซึ่งสั่งครอเฟิดเป็นลายลักษณอักษรมาในครั้งนั้น อังกฤษเข้าใจอยู่แล้วว่า การต่าง ๆ ที่อังกฤษมาขอจะไม่สำเร็จได้ดังประสงค์โดยง่าย ด้วยแต่ก่อนมาฝรั่งต่างชาติออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออกนี้ คือพวกโปรตุเกตเป็นต้น ได้เคยมาคดโกงเบียดเบียฬชนชาติที่เป็นเจ้าของเมืองอันมีกำลังน้อยกว่าไว้เสียมากกว่ามาก จนความรังเกียจเกลียดชังฝรั่งมีแก่บรรดาชาวประเทศทางตะวันออกนี้ทั่วไปตลอดจนเมืองจีนและญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ คำสั่งที่ครอเฟิดได้รับมาให้พูดจาด้วยเรื่องการค้าขายครั้งนั้น รัฐบาลถึงกำชับไม่ให้มาขอที่ดิน แม้แต่เพียงที่ตั้งสถานีการค้าขายก็ไม่ให้ขอ ด้วยเกรงเจ้าเมืองจะเกิดความสงสัยว่าจะมาตั้งป้อมปราการอย่างฝรั่งเคยทำมาแต่ก่อน ส่วนการที่จะขอร้องให้แก้ไขลดหย่อนภาษีอากรนั้น ถ้าได้ก็เป็นการดี ถ้าไม่ได้ตามประสงค์ ก็ให้ทูตมุ่งหมายเพียงแต่ทำความคุ้นเคยเป็นไมตรีกันไว้ในระวาง ๒ รัฐบาล พอมีเหตุการณ์อย่างใดให้มีหนังสือไปมาพูดจาถึงกันได้ และให้คิดอ่านขอหนังสืออนุญาตของรัฐบาล ไทยและญวนให้พวกลูกค้าอังกฤษไปมาค้าขายได้โดยสะดวก ถ้าในชั้นต้นได้เพียงเท่านี้ก่อนก็เป็นพอแก่ความประสงค์ ไว้เมื่อการค้าขายติดต่อกันเข้าจนเกิดผลประโยชน์แลเห็นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว จึงคิดการอย่างอื่น เช่นทำหนังสือสัญญาเป็นต้น ต่อไป

ส่วนเรื่องทำแผนที่นั้น รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียก็แคลงอยู่แล้วว่าบางทีไทยจะรังเกียจ จึงได้มีข้อกำชับในคำสั่งว่า ให้ระวังอย่าให้รัฐบาลเจ้าของเมืองสงสัยว่ามาทำแผนที่เพื่อความคิดร้าย ส่วนเรื่องเมืองไทรบุรีนั้น ในเวลาเมื่อครอเฟิดออกจากอินเดีย พระยานครฯ ยังไม่ได้ยกลงไปตีเมืองไทรบุรี ความปรากฏในคำสั่งครอเฟิดแต่ว่า ข้อความที่จะพูดจากับไทยเรื่องเมืองไทรบุรีจะควรพูดอย่างไร ให้ครอเฟิดมาฟังเรื่องราวและปรึกษาหารือกับเจ้าเมืองเกาะหมากดูเถิด แต่กำชับมาให้ระวังอย่าทำให้อังกฤษต้องเข้าไปได้รับความลำบากอยู่ในระวางไทยกับพวกมะลายูเมืองไทรบุรีด้วยเหตุการณ์เรื่องเมืองไทรบุรีนี้ได้

ครอเฟิดออกมาจากเมืองกาลกัตตาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน คฤศตศักราช ๑๘๒๑ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ ตัวนายที่มาด้วย คือ นายร้อยเอกเดนเยอฟิลด์เป็นอุปทูตและเป็นพนักงานทำแผนที่ หมอฟินเลสันเป็นแพทย์และเป็นผู้ตรวจสภาวศาสตร มีทหารซิปอยแขกมาด้วย ๓๐ นายร้อยโทรุเธอฟอดเป็นผู้บังคับ เรือที่มานั้นรัฐบาลอินเดียเช่าเรือชื่อ “ยอนอดัม” เป็นกำปั่นสองเสาครึ่งของพ่อค้า กัปตันมัคดอนเนลเป็นนายเรือ สั่งให้ครอเฟิดมาเมืองไทยก่อน ออกจากเมืองไทยจึงให้ไป เมืองญวน มาร์ควิสเหสติงส์มีอักษรศาสน์ให้ครอเฟิดเชิญมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาฉะบับ ๑ พระเจ้ากรุงเวียดนามฉะบับ ๑

ครอเฟิดใช้ใบมาถึงเกาะหมากเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ตรงกับวันจันทร เดือนอ้าย แรมค่ำ ๑ ภายหลังพระยานครฯ ตีได้เมืองไทรบุรีไม่กี่วัน เวลานั้นเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) หนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะหมาก พระยานครฯ มีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองเกาะหมากให้ส่งตัวเจ้าพระยาไทร จึงเป็นเหตุให้เกิดตื่นกันที่เกาะหมากว่า กองทัพไทยจะเลยไปตีเกาะหมากด้วย ในเวลาที่กำลังตื่นกันอยู่นั้น พอเรือครอเฟิดมาถึงเกาะหมาก แต่ที่จริงพระยานครฯ ไม่ได้ตั้งใจจะตีลงไปให้ถึงเกาะหมาก พอตีได้เมืองไทรบุรีแล้วก็เอาใจใส่ที่จะเป็นไมตรีกับอังกฤษ พอพระยานครฯ ทราบว่า ครอเฟิดเป็นทูตอังกฤษมาถึงที่เกาะหมาก ก็แต่งคนให้ถือหนังสือไปถึง บอกให้ทราบว่า ที่กองทัพไทยลงไปตีเมืองไทรบุรีนั้น ไม่ได้มีความประสงค์จะไปรบพุ่งถึงเกาะหมาก แม้พวกกองหน้าที่ล่วงเลยเข้าไปในเขตต์แดนเมืองไทรบุรีที่อังกฤษได้ปกครองอยู่ประมาณ ๓๐ คน เมื่อพระยานครฯ ได้ทราบความ ก็ให้ทำโทษ และห้ามปรามมิให้ล่วงเลยเขตต์แดนอีกต่อไป

ครอเฟิดออกเรือจากเกาะหมากเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ตรงกับ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ มาถึงสิงคโปร์วันที่ ๑๙ พักอยู่ ๖ วัน แล้วจึงออกเรือใช้ใบมากรุงเทพฯ


ในที่นี้ควรจะกล่าวถึงลักษณะที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศตามการที่เป็นอยู่เมื่อครั้งครอเฟิดเข้ามา อันมีข้อความปรากฏอยู่ในหนังสือต่าง ๆ ที่รู้ได้ในเวลานี้ การค้าขายกับต่างประเทศที่เป็นชาวตะวันออกด้วยกันเอง เช่นจีนและแขกชาวอินเดีย ได้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่การค้าขายกับต่างประเทศมาเจริญมากขึ้นเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยา พ่อค้าฝรั่งต่างชาติก็เริ่มไปมาค้าขายมากขึ้นแต่ครั้งนั้น

รัฐบาลไทยได้ผลประโยชน์จากการค้าขายกับต่างประเทศในการ ๕ อย่าง คือ—

๑.ภาษีเบิกร่อง หรือค่าปากเรือ

๒.ภาษีสินค้าขาเข้า

๓.ภาษีสินค้าขาออก

๔.กำไรได้จากคลังสินค้าของหลวง

๕.อำนาจเลือกซื้อของหลวงสำหรับใช้ราชการ

อย่างที่ ๑ ที่เรียกค่าเบิกร่องนั้น เป็นค่าอนุญาตให้เรือเข้ามาค้าขาย เก็บภาษีนี้มากน้อยตามขนาดเรือ ตามความที่ปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า อัตราภาษีค่าปากเรือครั้งกรุงเก่า เรือปากกว้างแต่ ๔ วาขึ้นไป ถ้าเป็นเรือเมืองไมตรีที่ไปมาค้าขายอยู่เสมอ เก็บค่าปากเรือเที่ยวหนึ่งตามขนาดปากเรือกว้างวาละ ๑๒ บาท ถ้าเป็นเรือที่นานไปนานมาไมคุ้นเคยกัน เก็บวาละ ๒๐ บาท ได้ความตามใบบอกของครอเฟิดว่า เมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร เรือสามเสาเก็บค่าปากเรือวาละ ๘๐ บาท เรือสองเสาครึ่งวาละ ๔๐ บาท

อย่างที่ ๒ เก็บภาษีสินค้าขาเข้านั้น อัตราเก็บครั้งกรุงเก่าปรากฏว่า เรือที่ไปมาเสมอ เก็บร้อยชัก ๓ เรือที่นานไปนานมาเก็บร้อยชัก ๕ ครั้งรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรเก็บร้อยชัก ๘

อย่างที่ ๓ คือ ภาษีสินค้าขาออกนั้น ครั้งกรุงเก่าจะเก็บเท่าไรยังค้นอัตราไม่พบ แม้ในกรุงรัตนโกสินทรเมื่อรัชชกาลที่ ๒ ก็ยังไม่พบอัตรา ได้ความแต่ว่าเก็บเป็นอย่าง ๆ ตามสินค้า เป็นต้นว่า น้ำตาลทราย เก็บภาษีขาออกหาบละ ๕๐ สตางค์

อย่างที่ ๔ ที่เรียกว่ากำไรคลังสินค้านั้น คือ ตั้งคลังสินค้าเป็นของหลวง และมีหมายประกาศบังคับว่า สินค้าบางอย่างค้าขายได้แต่เป็นของหลวง ราษฎรผู้เสาะหาได้สินค้านั้น ๆ ต้องนำมาขายให้พระคลังสินค้าแห่งเดียว จะไปขายให้ผู้อื่นไม่ได้ ส่วนผู้ค้าขายไปต่างประเทศ ก็ต้องมารับซื้อสินค้านั้น ๆ จากพระคลังสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศ จึงเกิดกำไรแก่พระคลังสินค้า การตั้งพระคลังสินค้านี้ได้ความในหนังสือเรื่องอังกฤษสมาคมกับไทยที่หมอยอนแอนเดอสันแต่งว่า แรกมีขึ้นเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือที่แอนเวอล์แต่งว่าด้วยโปรตุเกตออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออกว่า เป็นประเพณีที่พวกเจ้าเมืองแขกในอินเดียทำมาก่อนนั้นช้านาน จึงเข้าใจว่า เรื่องตั้งคลังสินค้านี้ไทยจะได้แบบมาจากแขก สินค้าพระคลังสินค้านั้น ปรากฏในหนังสือที่หมอยอนแอนเดอสันแต่งว่า เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สินค้าเหล่านี้ที่ค้าขายได้แต่พระคลังสินค้า คือ

๑.เนื้อไม้

๒.หมากสง

๓.ดีบุก

๔.ฝาง

๕.ดินประสิว

๖.ตะกั่ว

๗.ช้าง

๘.งาช้าง

สินค้าอย่างอื่นนอกจากนี้ยอมอนุญาตให้ผู้อื่นซื้อค้าขายได้ตามอำเภอใจ

เมื่อในรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร สินค้าซึ่งค้าขายได้แต่พระคลังสินค้า ปรากฏใบบอกของครอเฟิด ๙ สิ่ง คือ

๑.รังนก

๒.ฝาง

๓.ดีบุก

๔.พริกไทย

๕.เนื้อไม้

๖.ผลเร่ว

๗.ตะกั่ว

๘.งา

๙.รง

เข้าใจว่า การค้าช้างส่งไปขายต่างประเทศก็ยังเป็นของหลวงอีกอย่าง ๑ แต่เพราะส่งไปจากเมืองตรัง บรรทุกเรือออกไปขายตามเมืองในอินเดีย ไม่ได้บรรทุกเรือไปจากกรุงเทพฯ ครอเฟิดจึงไม่ได้จด

อย่างที่ ๕ การซื้อของหลวงนั้น คือ เมื่อรัฐบาลต้องการสิ่งของใช้ราชการ เช่นเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์สำหรับป้องกันพระนครเป็นต้น ก็สั่งให้พวกพ่อค้าต่างประเทศเที่ยวหาซื้อมาส่ง หรือถ้าหากว่าเรือที่มาจากเมืองต่างประเทศบรรทุกสินค้าซึ่งต้องการใช้ในราชการเข้ามา รัฐบาลต้องซื้อได้ก่อน จึงเกิดเป็นธรรมเนียมในเวลาเมื่อเรือเข้ามาจากเมืองต่างประเทศ เจ้าพนักงานต้องลงไปตรวจดูสินค้าที่รัฐบาลต้องการก่อน เมื่อพบแล้วก็คัดไว้ ห้ามมิให้ขายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต่อสินค้าที่รัฐบาลไม่ต้องการจึงยอมให้จำหน่าย เข้าใจว่า ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารเนือง ๆ ว่า เมืองนั้นเอาปืนเข้ามาถวายเท่านั้นบอก เมืองนี้เอา ปืนเข้ามาถวายเท่านั้นบอก เพราะปืนเป็นของต้องการใช้ในราชการ และจะยอมให้ผู้อื่นสะสมไม่ได้ เมื่อมีเข้ามา รัฐบาลต้องบังคับซื้อ การถูกบังคับซื้อ เจ้าของมักจะได้ราคาต่ำ ถ้าเป็นของถวาย เจ้าของได้รับสิ่งสินค้าตอบแทนคุ้มราคาปืน และยังจำหน่ายสินค้าอื่นได้สะดวก เพราะเหตุที่ยกความชอบของเจ้าของในข้อที่ถวายปืนนั้นด้วย เข้าใจว่า อันนี้เป็นวิธีที่ไทยหาเครื่องศัสตราวุธจากต่างประเทศมาใช้ในการป้องกันพระนครตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าตลอดมา มีตัวอย่างปรากฏในรัชชกาลที่ ๒ นี้ เมื่อปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พ.ศ. ๒๓๖๔ มีลูกค้าอเมริกันคนหนึ่งชื่อ กัปตันแฮน เข้ามาค้าขาย มีปืนคาบศิลาเข้ามาจำหน่ายด้วย เมื่อกัปตันแฮนทราบว่า ไทยกำลังต้องการปืน ได้ถวายปืนคาบศิลาถึง ๕๐๐บอก ในจดหมายเหตุกล่าวว่า ทรงพระราชดำริว่า กัปตันแฮนได้เอาปืนเข้ามาขายให้เป็นกำลังแผ่นดินถึง ๒ ครั้ง มีความชอบ โปรดตั้งให้กัปตันแฮนเป็นหลวงภักดีราช พระราชทานถาดหมากคณโฑกาไหล่เป็นเครื่องยศ ส่วนปืนที่กัปตันแฮนถวาย ๕๐๐ บอกนั้น ก็พระราชทานสิ่งของตอบแทนคุ้มราคาปืน และยกเงินภาษีจังกอบพระราชทานด้วยอีกส่วน ๑ เห็นจะมีพ่อค้าต่างประเทศที่บรรทุกปืนเข้ามาอย่างกัปตันแฮนนี้หลายราย

ส่วนพวกชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยนั้น ฝรั่งกับจีนและแขกผิดกันในข้อสำคัญมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ด้วยพวกฝรั่งต่างชาติที่ไปมาค้าขายมักใช้อำนาจข่มเหงชาติอื่นตลอดจนฝรั่งด้วยกันเองในการแย่งชิงผลประโยชน์กัน บางทีถึงเกิดรบราฆ่าฟันกันก็มี และมักจะเอิบเอื้อมหาอำนาจเข้ามาบังคับบัญชาการบ้านเมือง เช่นขอที่ทำสถานีไว้สินค้าแล้วเลยทำสถานีนั้นเป็นป้อมเป็นต้น แต่พวกจีนและพวกแขกที่ไปมาค้าขายนั้นยอมอยู่ในบังคับเจ้าของเมืองราบคาบ แสวงหาแต่ประโยชน์ในทางค้าขายอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงพอใจค้าขายกับพวกพ่อค้าจีนและพ่อค้าแขกยิ่งกว่าฝรั่ง ความอันนี้เข้าใจว่าจะเป็นมาแต่ครั้งกรุงเก่า เห็นได้ด้วยมีทำเนียบตำแหน่งขุนนางจีนเป็นกรมท่าซ้ายขุนนางแขกเป็นกรมท่าขวานี้เป็นพะยาน เมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศเจริญขึ้น ความปรากฏแก่ไทยขึ้น ๒ ข้อ คือ ข้อ ๑ ว่า ในเมืองไทยมีไม้ที่สำหรับต่อเรือกำปั่น ต่อได้ย่อมเยาว์เบาราคาและดีกว่าเรือที่ต่อตามประเทศเหล่านั้น ด้วยมีชาวต่างประเทศเข้ามาขออนุญาตต่อเรือในกรุงเทพฯ ปีละหลาย ๆ ลำ อีกข้อ ๑ ได้ความรู้ว่า การใช้เรือไปมาค้าขายกับต่างประเทศมีกำไรมาก จึงเกิดการสร้างเรือกำปั่นหลวงสำหรับค้าขายขึ้นบ้าง เจ้านายและขุนนางไทยที่มีทุนทรัพย์ต่างก็ต่อเรือกำปั่นไปค้าขายถึงเมืองต่างประเทศ มีเรือไทยไปค้าขายทางตะวันตกจนถึงอินเดีย ทางใต้ลงไปจนถึงเกาะชะวาและมคะสัน ทางตะวันออกไปจนถึงเมืองญวนเมืองจีนและเมืองญี่ปุ่น เป็นดังนี้ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า เมื่อกรุงเสียแก่พะม่าข้าศึกในเวลาเมืองไทยกำลังยับเยิน และกำลังทำศึกสงครามกู้อิสสรภาพในครั้งกรุงธนบุรีและในรัชชกาลที่ ๑ ข้างฝ่ายฝรั่งก็ติดทำศึกสงครามครั้งพระเจ้านะโปเลียนที่ ๑ จึงไม่มีพ่อค้าฝรั่งไปมาค้าขาย แต่ฝ่ายข้างไทยเมื่อตั้งเป็นอิสสรภาพได้มั่นคงแล้ว แม้ในเวลาที่ยังต้องทำศึกสงครามกับพะม่าอยู่บ้าง ก็ได้เริ่มต้นลงมือทำการค้าขายกับเมืองต่างประเทศ หาผลประโยชน์เป็นกำลังบำรุงบ้านเมืองด้วยเหตุเหล่านี้ ตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ มา เรือที่ไปมาค้าขายกับต่างประเท โดยมากจึงเป็นเรือไทย เรือจีน และเรือแขก

ในเวลาเมื่อครอเฟิดเข้ามาเป็นเวลากำลังฤดูสำเภาเข้า ว่ามีเรือสำเภาจอดอยู่ในแม่น้ำประมาณ ๗๐ ลำ ขนาดตั้งแต่บรรทุกได้ ๑,๖๐๐ หาบขึ้นไปจนถึง ๑๕,๐๐๐ หาบ และสืบสวนได้ความว่าเป็นเรือหลวง ๒ ลำ[4] เป็นเรือของเจ้านายและข้าราชการไทยประมาณ ๒๐ ลำ นอกจากนั้นเป็นเรือของพ่อค้า ครอเฟิดได้สืบจำนวนเรือที่ไปค้าขายและจำนวนสินค้าลงไว้ในรายงานดังนี้ คือ

ไปค้าขายที่เมืองกึงตั๋งปีหนึ่ง ๘ ลำ สินค้ารวมหนักประมาณ ๘๗,๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองไหหลำ เรือขนาดย่อม ๔๐ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๑๒,๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายที่เมืองหกเกี้ยน เมืองเสเกี๋ยง เมืองกวางหนำ ๓๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๓๐๔,๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองบเตเวีย ๓ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๒๒,๕๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองมะละกาและเกาะหมาก ๕ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๒๕,๐๐๐ หาบ

ไปค้าขายเมืองสิงคโปร์ เรือขนาดย่อม ๒๗ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๔,๕๐๐ หาบ

เรือเมืองนครศรีธรรมราชไปขายเมืองจีน ๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๓,๐๐๐ หาบ

เรือเมืองจันทบุรีไปค้าขายเมืองจีนลำ ๑ สินค้าหนักประมาณ ๔,๐๐๐ หาบ

เรือจากกรุงเทพฯ ไปค้าขายที่เมืองไซ่ง่อนและเมืองญวน ๑๘ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๑๕,๓๐๐ หาบ

ส่วนวิธีการค้าขายของหลวงนั้น ข้าพเจ้าพบต้นท้องตราที่เมืองนครศรีธรรมราชหลายฉะบับ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้ฉะบับ ๑ เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจว่าวิธีการค้าขายทำกันอย่างไรในครั้งนั้น


สารตราท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงพรหมเสนาผู้ว่าที่ปลัด และกรมการ ด้วยพระยานครฯ บอกส่งหางว่าวรายเงินกำปั่น ซึ่งขุนอักษรนายกำปั่น นายศรีไหมลาต้า คุมเอาช้าง ดีบุก ออกไปจำหน่ายณเมืองเทศ กลับเข้ามาถึงเมืองนครณปีขาลสัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑) ได้พรรณผ้าเข้ามาส่ง ได้ให้หลวงหน้าวังคุมเอาพรรณผ้าเข้ามาส่งณกรุงเทพพระมหานคร เดือน ๑๑ ปีเถาะ เอกศก เป็นเงินทุนเดิมในกำปั่นเมื่อออกไป ช้าง ๑๔ ช้าง เป็นเงินทุน ๑๑๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ดีบุกเมืองถลาง ๘๐ ภาราหาบ ๕๐ ชั่ง ดีบุกเมืองนคร ๒๔ ภารา ๒ หาบ ๖๔ ชั่ง เข้ากัน ๑๐๕ ภาราหาบ ๑๔ ชั่ง เงินทุน ๑๐๕ ชั่ง ๗ ตำลึง ๙ สลึงเฟื้อง ๒๘๔ เบี้ย เข้ากัน ๒๑๖ ชั่ง ๓ ตำลึงสลึงเฟื้อง ๒๘๔ เบี้ย เสียค่าจ้างคนงานกลาสีใช้จ่ายเบ็ดเสร็จเมื่อออกไป ๒๔ ชั่ง ๙ ตำลึง ๙ สลึงเฟื้อง ๔๘๐ เบี้ย เข้ากันเป็นเงินทุน ๒๔๐ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๑๑ สลึง ๗๖๔ เบี้ย และขุนอักษรนายกำปั่น นายศรีไหมลาต้า ออกไปจำหน่ายณเมืองเทศได้เป็นเงิน ช้างเดิม ๑๔ ช้าง ล้มเสีย ๒ ช้าง คง ๑๒ ช้าง จำหน่ายได้เป็นเงิน ๙๐ ชั่ง ๖ บาท ๓ สลึง ๑๗๗ เบี้ย ดีบุกเดิม ๑๐๕ ภาราหาบ ๑๔ ชั่ง ออกเศษภารา ๒ หาบ ๑๔ ชั่ง ๘ ตำลึง จำหน่ายได้ภาราละชั่ง ๕ ตำลึง ๕ สลึง เงิน ๑๓๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง ๓ บาท ๑๑๘ เบี้ย เข้ากันจำหน่ายสินค้าได้เป็นเงิน ๒๒๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๗ สลึง ๒๙๕ เบี้ย หักเสียค่าธรรมเนียมจำหน่ายช้างจำหน่ายดีบุกเป็นเงิน ๒๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๙ สลึง ๕๒๘ เบี้ย เสียค่าจ้างกะลาสีคนงาน ๑๕ ชั่ง ๘ ตำลึงสลึง ๖๕๒ เบี้ย เข้ากันเป็นเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๑๐ สลึงเฟื้อง ๓๘๐ เบี้ย ยังคงเงิน ๑๘๔ ชั่ง๑๐ ตำลึง ๓ บาท ๗๑๕ เบี้ยนั้น ขุนอักษร นายศรีไหม เอาจัดซื้อผ้าขาวเศรษฐี พอจวนมรสุม เศรษฐีว่าจะทำผ้าซึ่งต้องการให้ครบจำนวนเงินนั้นมิทัน เศรษฐีสัญญาว่า ให้กำปั่นกลับออกไปรับเอาพรรณผ้าณมรสุม ปีเถาะ เอกศกนี้ ให้ครบ เศรษฐีจัดได้แต่ผ้าขาวสีชะนิดให้เข้ามาก่อน เป็นพรรณผ้าขาวสุกตำ ๖ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ผ้าขาวฉนำ ๑๕ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาทสลึง ๕๓๓ เบี้ย เป็นเงิน ๑๙ ชั่ง ๗ ตำลึง ๘ สลึง ผ้าขาวโมริยชะนิดหนึ่ง ๑๐ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ผ้าขาวโมริยชะนิดหนึ่ง ๘ กุลี ราคากุลีละชั่ง ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๑๐ ชั่ง ผ้า ๓๙ กุลี เป็นเงิน ๕๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๘ สลึง เสียค่าซัก ค่าบดค่าภาษีในซื้อผ้า ๕ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๕ สลึง คิดเป็นเงิน ๖๐ ชั่ง ๗ บาทสลึง ให้หลวงหน้าวังคุมเข้าไปส่งด้วยพระยานครฯ นั้น ได้ให้เจ้าพนักงานรับไว้ครบตามบอกแล้ว แต่เงินซึ่งยังค้างอยู่แก่เศรษฐีเจ้าทรัพย์เมืองเทศเป็นเงิน ๑๒๔ ชั่ง ๘ ตำลึง ๓ บาทสลึง ๗๑๕ เบี้ย เศรษฐีได้สัญญาไว้ว่า ให้กำปั่นกลับออกไปรับเอาพรรณผ้าณมรสุม ปีเถาะ เอกศก ให้ครบนั้น พระยานครฯ กรมการได้จัดแจงกำปั่นบรรทุกช้างบรรทุกดีบุกกลับออกไปจำหน่ายณเมืองเทศแต่ณเดือนสาม ปีขาล สัมฤทธิศกแล้ว ๆ ได้สั่งให้รับเอาผ้าซึ่งค้างอยู่แก่เศรษฐีให้ครบตามสัญญา ถ้าขุนอักษร นายศรีไหม กลับมาถึงเมืองนครเมื่อใด ได้พรรณผ้ามามากน้อยเท่าใด ก็ให้พระยานครฯ กรมการ บอกส่งรัดรายพรรณผ้าและหางว่าวเข้าไปให้แจ้ง

หนังสือมาณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ เอกศก ฯ

ผู้อ่านจะเห็นได้ในท้องตรานี้ ที่เรียกว่าการค้าขายของหลวงนั้น ไม่ใช่เอาอำนาจราชการไปกะเกณฑ์เอาทรัพย์สมบัติของผู้หนึ่งผู้ใดมา ต้องลงทุนซื้อหาและเสียค่าใช้จ่ายอย่างพ่อค้า ถ้าจะผิดกับที่พ่อค้าเขาทำก็เพียงของหลวงไม่ได้ผลประโยชน์เท่าพ่อค้า เพราะทำการกันหลายต่อ การรั่วไหลมีมาก ความจริงอันนี้มีหลักฐานประกอบปรากฏอยู่ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งเรื่องที่เข้ามาเป็นทูตอยู่ในเมืองไทยว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้มีรับสั่งบอกว่า เรือหลวงออกไปค้าขายที่อินเดียขาดทุนถึง ๒๕๐ ชั่ง ครอเฟิดลงความเห็นของตนเองลงไว้ว่า การที่ขาดทุนนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ด้วยไทยไม่มีเอเยนร์ที่ดี มีแต่พวกแขกนายห้างที่หาประโยชน์ไม่สุจริต ไทยจึงถูกฉ้อฉนจนขาดทุน

การค้าขายกับต่างประเทศ เวลาเมื่อรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียแต่งครอเฟิดเป็นทูตเข้ามา ได้ความจากหนังสือที่ครอเฟิดแต่งดังพรรณนามานี้


เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นตรีศก (พ.ศ. ๒๓๖๕) ครอเฟิดทูตอังกฤษเข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา ได้รับอนุญาตให้เรือกำปั่นขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ มาจอดที่หน้าบ้านพระยาสุริยวงศ์มนตรีซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้วัดประยุรวงศ์ฯ และพระยาสุริยวงศ์มนตรีจัดตึกซึ่งสร้างไว้หน้าบ้านเป็นที่ไว้สินค้าให้เป็นที่พักของครอเฟิดและพวกที่มา เมื่อครอเฟิดไปหาพระยาสุริยวงศ์มนตรีตามธรรมเนียมแล้ว ได้ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่น เจษฎาบดินทร์ ซึ่งทรงกำกับราชการกรมท่า ส่วนอักษรศาสน์และเครื่องราชบรรณาการซึ่งมาร์ควิสเหสติงส์ให้ครอเฟิดคุมมาถวายนั้น พระยาพิพัฒน์โกษาและเจ้าพนักงานลงไปรับ อักษรศาสน์แปลได้ความดังนี้[5]

“มาร์ควิส เหสติงส์ ฯลฯ ผู้สำเร็จราชการอาณาจักรอังกฤษในอินเดีย ขอทูลมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามให้ทรงทราบ

ด้วยข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแสดงให้ปรากฏความเคารพนับถือของชนชาติอังกฤษที่มีต่อพระองค์ จึงได้แต่งให้ทูตเข้ามาเฝ้า เพื่อจะบำรุงทางพระราชไมตรีและเกื้อกูลการไปมาสู่กันในระวางชาติอังกฤษและชนชาติไทยซึ่งได้กลับมามีขึ้นอีกแล้วนั้นให้เจริญยิ่งขึ้น

ชาวยุโรปต่างชาติได้รบพุ่งขับเคี่ยวกันมาหลายปี บัดนี้ก็ได้เลิกการศึกสงครามกลับไมตรีดีกันแล้ว แม้ในแผ่นดินฮินดูสถานซึ่งเคยเป็นเหยื่อแก่การสงครามและเหตุจลาจลต่าง ๆ ไม่เรียบร้อยมาหลายชั่วอายุคนนั้น เดี๋ยวนี้ก็มีความสงบเงียบเรียบร้อยทั่วไป (ด้วยความสามารถของอังกฤษ)

อังกฤษเดี๋ยวนี้มีอำนาจ (ตลอดอาณาจักรอินเดีย) และเป็นที่นับถือแก่ประเทศอื่น ฝ่ายใต้ตั้งแต่สิงหฬทวีป ตลอดขึ้นไป ฝ่ายเหนือจนจดเทือกภูเขาเขตต์แดนเมืองจีน ข้างตะวันออกตั้งแต่เขตต์แดนเมืองอังวะตลอดไป ฝ่ายตะวันตกจนถึงแดนประเทศเปอเซีย แต่ประชาชนที่อยู่ในปกครองของอังกฤษมีกว่า ๙ โกฏิ เพราะฉะนั้น อังกฤษจึงไม่มีความประสงค์ที่จะแสวงหาอาณาเขตต์เพิ่มเติมต่อออกไปอีก

การภายในก็มีความเรียบร้อย ส่วนภายนอกนั้นอังกฤษก็เป็นมิตรไมตรีกับนานาประเทศที่เขตต์แดนติดต่อใกล้เคียงกัน เป็นต้นว่าพระเจ้าแผ่นดินเปอเซียฝ่ายตะวันออก พระเจ้าแผ่นดินเปอเซียฝ่ายตะวันตก บรรดาเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นอาหรับ แม้สุลต่านประเทศเตอรกีและพระเจ้ากรุงจีนก็เป็นไมตรีกับอังกฤษ พวกพ่อค้าอังกฤษกับชาวเมืองของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้าประเทศนั้น ๆ ได้ค้าขายถึงกันอยู่เป็นอันมาก ชนทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์ เพราะเหตุที่อาจจะไปมาค้าขายถึงกันได้โดยปราศจากความขัดข้องทั้งปวง จึงมีพวกพ่อค้าชาวต่างประเทศเหล่านั้นพากันมาค้าขายในแผ่นดินของอังกฤษเนืองนิจ ส่วนพ่อค้าอังกฤษก็ได้ไปค้าขายถึงเมืองต่างประเทศนั้น ๆ เป็นอันมาก การค้าขายย่อมทำให้เจริญโภคทรัพย์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นเบื้องต้น แล้วเป็นปัจจัยให้ชนต่างบ้านต่างเมืองรู้จักคุ้นเคยกันดีขึ้น ที่สุดจึงเป็นเหตุให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของชนต่างชาติต่างภาษาซึ่งไปมาค้าขายถึงกันนั้น มีไมตรีเป็นมิตรสนิทกันยิ่งขึ้น

พระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในประเทศอังกฤษ เสด็จสถิตณราชธานีอันอยู่ห่างไกลกับพระราชอาณาจักรในอินเดียประมาณถึงกึ่งพิภพ เพราะระยะทางห่างไกลกันนัก จะทรงปกครองราชอาณาจักรในอินเดียด้วยพระ องค์เองไม่ได้สะดวก จึงพระราชทานพระราชอำนาจให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ปกครองแผ่นดินอินเดียนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจประสงค์จะให้ไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีรับสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปกครองต่างพระองค์มีความสุขและความเจริญ จึงทูลขอต่อพระองค์ผู้เป็นกษัตราธิราชอันประเสริฐขอให้ทรงเห็นแก่ทางพระราชไมตรี โปรดให้ประชาชนในประเทศอินเดียได้ไปมาค้าขายถึงพระราชอาณาจักรของพระองค์โดยสะดวก ข้างฝ่ายข้าพเจ้าก็ขอเชิญให้บรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มาค้าขายตามหัวเมืองท่าค้าขายในประเทศเขตต์แดนของอังกฤษอย่างเดียวกัน ถ้าหากว่าคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษ จะเป็นชาวยุโรปก็ตาม จะเป็นชาวอินเดียก็ตาม ไปค้าขายถึงพระราชอาณาจักรของพระองค์ ขอพระองค์จงได้ทรงพระกรุณาคุ้มครองป้องกันให้มีความผาสุกด้วย

ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะทูลขอที่แผ่นดินในพระราชอาณาจักรของพระองค์เพื่อทำที่จอดเรือ แม้ที่ตั้งบ้านเรือน หรือที่ป้อมที่ไว้สินค้า[6] แต่อย่างหนึ่งอย่างใด แม้กฎหมายอย่างธรรมเนียมอันใดที่ใช้อยู่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าก็ไม่ทูลขอให้ยกเว้นเป็นพิเศษสำหรับพวกพ่อค้าอังกฤษ ถ้าหากว่าอย่างธรรมเนียมอันใดในพระราชอาณาจักรของพระองค์อันเนื่องด้วยการค้าขายเป็นความลำบากแก่พวกพ่อค้าอังกฤษอันอาจจะเห็นได้ว่าเป็นเครื่องขัดขวางแก่ความเจริญของการค้าขายกับพระราชอาณาจักรของพระองค์ ข้าพเจ้าก็หวังใจในพระปรีชาญาณและพระราชหฤทัยอันเป็นไมตรีที่จะทรงพระราชดำริแก้ไขยกเว้น (ตามซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริเห็นสมควร)

นายครอเฟิดที่ข้าพเจ้าได้เลือกให้เป็นทูตต่างตัวข้าพเจ้าไปเฝ้าครั้งนี้ เป็นผู้เข้าใจความประสงค์ของข้าพเจ้าอยู่ทุกอย่าง ถ้าได้ปรึกษาหารือกับมุขมนตรีของพระองค์ คงจะสามารถที่จะคิดอ่านจัดการให้เป็นประโยชน์ที่จะเกิดโภคทรัพย์และความเจริญทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษ นายครอเฟิดได้เคยเป็นผู้ต่างตัวข้าพเจ้าอยู่ในสำนักสุลต่านเมืองชะวาหลายปี ข้าพเจ้าได้เลือกนายครอเฟิดให้เป็นทูตไปเฝ้าพระองค์ในคราวนี้ก็เพราะเห็นว่า นายครอเฟิดเป็นผู้สันทัดอย่างธรรมเนียมในประเทศทางตะวันออก เพราะได้คุ้นเคยมาช้านาน นายครอเฟิดเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจของข้าพเจ้า ถ้าหากว่านายครอเฟิดยอมตกลงในการอย่างใดประการใดกับรัฐบาลของพระองค์ ความตกลงอันนั้นจะได้รับอนุมัติของข้าพเจ้าทุกประการ

ข้าพเจ้าได้มอบสิ่งของหลายอย่างให้นายครอเฟิดคุมมาถวายแด่พระองค์ในนามของข้าพเจ้าด้วย”

เครื่องราชบรรณาการที่มาร์ควิสเหสติงส์ส่งมาถวายในครั้งนั้น คือ ปืนคาบศิลาปลายหอก ๓๐๐ บอก ปืนคาบศิลาแฝดบอก ๑ ผ้าส่านขาว ๔ ผืน พรมเทศ ๒ ผืน เครื่องแต่งตัวหญิงอย่างฝรั่ง ๒ สำรับ เครื่องโต๊ะแก้วเจียรไนสำรับ ๑ ฉากอย่างดี ๕ แผ่น พรมอย่างดี ๒ ผืน หนังสือเรื่องราวพงศาวดารอังกฤษเล่ม ๑ รถมีเครื่องพร้อมรถ ๑ ม้าเทศสำหรับเทียมรถม้า ๑ ฉากเขียนด้วยหนัง ๔ บาน ฉากกระจก ๓ บาน รวม ๗ บาน

ณวัน ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ เสด็จออกพระที่นั่งบุษบกมาลาที่ท้องพระโรง เป็นการเต็มยศทรงฉลองพระองค์ครุย โปรดให้ยอนครอเฟิดและพวกอังกฤษที่มาในกองทูตเข้าเฝ้าฯ เมื่อเฝ้าแล้วจึงตั้งต้นปรึกษาหารือราชการกับพระยาสุริยวงศ์มนตรี ซึ่งเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุริยวงศ์โกษาที่พระคลัง ต่อมาหลายครั้ง การไม่ตกลงกันได้ดังความประสงค์ของครอเฟิด ด้วยมีเหตุขัดข้องและเกิดเข้าใจผิดกันหลายอย่างหลายประการ[7] ที่เป็นเบื้องต้นเพราะเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ:—

ทั้ง ๒ ฝ่ายพูดไม่เข้าใจภาษากัน ในเวลานั้นไม่มีไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ อังกฤษก็ไม่มีที่พูดภาษาไทยได้ ทั้งหนังสือและคำพูดต้องใช้แปลเป็นภาษาโปรตุเกตบ้าง ภาษามะลายูบ้าง แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกชั้น ๑

ล่ามที่เป็นผู้แปลเป็นคนชั้นต่ำทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายข้างครอเฟิดได้ล่ามไทยมาแต่เกาะหมาก ก็เห็นจะจ้างไทยที่เป็นบ่าวไพร่ใครที่หลบหนีไปอยู่ที่นั้นพอรู้ภาษามะลายูมาเป็นล่าม เป็นคนซึ่งไทยในกรุงเทพฯ ย่อมรังเกียจไม่ให้เข้าในที่เฝ้า หรือแม้แต่เป็นล่ามเมื่อทูตไปหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ฝ่ายข้างครอเฟิดก็โกรธหาว่ากีดกันห้ามปรามล่ามซึ่งตัวไว้ใจ ฝ่ายล่ามของไทยเล่า ล่ามที่สำหรับแปลภาษาโปรตุเกตก็ใช้พวกกะฎีจีน ที่แปลภาษามะลายูใช้แขกคน ๑ ชื่อ นะกุด่าอลี ได้เป็นที่หลวงโกชาอิศหากอยู่ในเวลานั้น ล่ามข้างฝ่ายไทย ทั้งล่ามฝรั่งและล่ามแขก ต่างคนต่างไปนินทากันให้ครอเฟิดฟัง ใช่แต่เท่านั้น ต่างคนต่างชิงกันเอาหน้าในทางที่จะเรียกร้องเอาของกำนัลจากครอเฟิด ทำให้ครอเฟิดเกิดดูหมิ่นขึ้นมาถึงผู้ใหญ่ฝ่ายไทยว่ามีแต่โลภ

ที่มาร์ควิสเหสติงส์เลือกให้ครอเฟิดเป็นทูตเข้ามา เพราะเห็นว่าเป็นผู้สันทัดอย่างธรรมเนียมทางประเทศเหล่านี้นั้น ที่จริงตั้งใจดี ดังจะพึงแลเห็นได้ในหนังสือคำสั่งที่ให้แก่ครอเฟิด[8] แต่ความชำนาญของครอเฟิดนั้นไม่เป็นไปแต่ในทางข้างดี เพราะคุ้นเคยแต่กับพวกชะวามะลายูอันเคยอยู่ในอำนาจฝรั่งมาแต่ก่อน ถือใจมาเสียแล้วว่า ไทยก็เป็นชาวตะวันออกเหมือนกับพวกชะวามะลายู ไม่ผิดอะไรกับคนพวกนั้น ผิดกันแต่ที่ไม่อยู่ในอำนาจ เมื่อเห็นไทยไม่ยำเกรงครอเฟิดเหมือนพวกชะวามะลายู ก็ยิ่งทำให้ไม่ชอบหนักขึ้น

ข้อที่ครอเฟิดไม่ชอบไทย เห็นจะเริ่มตั้งแต่มาถึงเกาะหมาก เพราะประจวบเวลากองทัพไทยลงไปตีได้เมืองไทรบุรี และชาวเกาะหมากกำลังตื่นกันว่า ไทยจะตีลงไปถึงเกาะหมากด้วย ครอเฟิดได้รับคำสั่งรัฐบาลอินเดียให้มาพูดกับไทยเรื่องเมืองไทรบุรีก่อนไทยตีเมืองไทร และให้มาปรึกษากับอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองเกาะหมากในข้อที่จะมาพูดกับไทยว่ากะไร ในเวลาครอเฟิดมาถึงเกาะหมาก อังกฤษที่เมืองนั้นกำลังขัดแค้นไทย ไม่ต้องบอกก็พอจะคาดได้ไม่ผิดว่า ความต้องการของเจ้าเมืองเกาะหมากในเวลานั้นจะไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากอยากให้อังกฤษยกกองทัพมาขับไล่ไทยออกไปเสียให้พ้นเมืองไทรบุรี แต่หากรัฐบาลอินเดียไม่ได้ตั้งใจที่จะทำการเป็นศัตรู เจ้าเมืองเกาะหมากจึงแนะนำครอเฟิดให้มาพูดกับไทยแต่โดยดีตามคำสั่งเดิมของรัฐบาลอินเดีย แต่คำแนะนำนั้นที่ปรากฏในหนังสือของครอเฟิดก็มีอย่างเดียวแต่ให้คิดอ่านให้ไทยออกไปเสียจากเมืองไทรบุรี แล้วให้คืนเมืองให้เจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) อย่างเดิมซึ่งจะตกลงกันไม่ได้อยู่เอง

วิธีการค้าขายกับต่างประเทศในเวลานั้น ชาวต่างประเทศที่ไปมาค้าขายโดยมากก็จีนซึ่งแสวงหาแต่กำไรในการค้าขายเป็นใหญ่ ยอมนบนอบหมอบคลานถวายตัวพึ่งบุญผู้ที่มีอำนาจและเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ยอมที่จะทำการอย่างใดๆ ให้พอใจเจ้าของเมือง ขอแต่ให้หากำไรได้โดยสะดวก จึงเข้ากับไทยได้ดี แต่ฝ่ายข้างฝรั่งไม่เป็นเช่นนั้น ประโยชน์ในการค้าขายก็อยากจะได้ และยังถือยศศักดิ์วางกิริยาอาการ กระเดียดจะขู่เจ้าของเมือง ก็เป็นอันยากที่จะทำให้เกิดความพอใจแก่ไทยได้อยู่โดยธรรมดา

เหตุอีกอย่าง ๑ นั้น จำต้องว่าโดยที่จริง ประเพณีของไทยเราในครั้งนั้นซึ่งถือมาตามคติโบราณ ยังมีการหลายอย่างซึ่งชวนจะให้ฝรั่งดูหมิ่น ยกตัวอย่างอย่างเดียวเพียงเรื่องไม่ใส่เสื้อ แม้พระยาพระคลังรับแขกเมืองก็ไม่ใส่เสื้อ เมืองฝรั่งแลเห็นแต่ตัวเปล่าไปตามกันตั้งแต่ผู้ใหญ่ลงมาจนผู้น้อย ก็เห็นจะตั้งต้นดูหมิ่นว่าเป็นชาวเมืองป่า ใช่แต่เท่านั้น การที่เจ้าพนักงานกรมท่าของเราเอง ทั้งกรมท่ากลาง กรมท่าขวา กรมท่าซ้าย ทำการค้าขายกับต่างประเทศ แสดงอาการแสวงหาประโยชน์ตนเองปะปนไปกับหน้าที่ที่ทำในตำแหน่งราชการ นี่ก็เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยดูหมิ่นอีกอย่าง ๑

แม้เหตุขัดขวางมีอยู่ดังกล่าวมา การที่ปรึกษากันในส่วนราชการของทูตที่มาในครั้งนั้น ครอเฟิดไม่มีเหตุที่จะติเตียนได้ว่า ไทยพูดจาอย่างคนป่าเถื่อน หนังสือที่แต่ง แม้ติเตียนไทยในอย่างอื่นโดยมาก ยังต้องชมความเรียบร้อยในการปกครองบ้านเมืองเมื่อในเวลานั้น และชมว่า ไทยฉลาดในการงาน และรู้การต่างประเทศ คือการที่เป็นไปในอินเดียเป็นต้น ดีทีเดียว

ความที่ปรึกษากัน ตามที่ปรากฏในหนังสือของครอเฟิดนั้น เมื่อครอเฟิดเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เห็นมีกงสุลโปรตุเกตอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว จึงมาขยายความคิดออกไปกว่าที่ปรากฏในคำสั่ง คือ จะขอให้ไทยทำหนังสือสัญญายอมลดภาษีขาเข้าจากพ่อค้าอังกฤษประการ ๑ จะขอตั้งกงสุลประการ ๑ ความ ๒ ข้อนี้ไทยก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจ เข้าใจว่าจะยอม ถ้าอังกฤษยอมตามประสงค์ของไทยในความข้อหนึ่งเป็นข้อแลกเปลี่ยน คือ ขอให้เรือไทยที่ไปค้าขายตามเมืองของอังกฤษซื้อหาปืนได้ตามต้องการ ด้วยในเวลานั้นไทยกำลังต้องการปืนไว้ทำศึกกับพะม่า พอพระยาพระคลังพูดข้อนี้ขึ้น ครอเฟิดก็พูดตัดเสียว่า อังกฤษจะยอมให้เรือไทยซื้อหาปืนมาได้แต่เวลาเมื่อไทยเป็นไมตรีกับประเทศที่อยู่ติดต่อกับอังกฤษ ประเทศที่ครอเฟิดพูดข้อนี้รับไว้ในหนังสือที่แต่งว่าตั้งใจหมายว่าพะม่าทีเดียว[9] เมื่อไทยได้ยินคำพูดอย่างนี้ก็แลเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์อันใดที่จะทำสัญญากับอังกฤษ ด้วยอังกฤษจะเอาประโยชน์ข้างเดียว ส่วนประโยชน์ของฝ่ายไทยนั้นไม่ให้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่ไม่ตกลงกันได้ในคราวนั้น ครอเฟิดพยายามพูดจาต่อมาอีกหลายครั้ง ทางที่พูดต่อมา ในตอนหลังครอเฟิดเลิกความคิดเรื่องตั้งกงสุล เป็นแต่จะขอลดภาษี ข้างไทยจะให้ครอเฟิดรับประกันว่าจะมีเรืออังกฤษเข้ามาค้าขายไม่น้อยกว่าปีละ ๕ ลำ ครอเฟิดก็ไม่รับประกัน ฝ่ายไทยว่า เมืองไทยมีเกลือที่ดีจะบรรทุกเกลือไทยออกไปขายที่อินเดีย รัฐบาลอังกฤษจะลดภาษีให้อย่างไรบ้าง[10] ครอเฟิดก็ไม่ตกลงที่จะยอมลดภาษีเกลือให้แก่ไทย เมื่อพูดจาเรื่องค้าขายกันจนลงปลายแล้ว ครอเฟิดจึงได้เริ่มพูดเรื่องเมืองไทรบุรี คือ ครอเฟิดถือหนังสือเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) เป็นใจความกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ และจะขอเมืองคืนเข้ามายื่นต่อเสนาบดี ครอเฟิดจะขอให้ไทยยอมตามความประสงค์ของเจ้าพระยาไทร ข้างไทยตอบว่า เจ้าพระยาไทรบุรีก็เป็นเจ้าเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑสีมา ถ้ามีทุกข์ร้อนอันใดควรจะเข้ามาเฝ้ากราบทูลความทุกข์ร้อนอันนั้น นี่มีท้องตราออกไปก็ไม่ตอบ ครั้นตัวได้ความเดือดร้อนก็ไม่เข้ามาเฝ้าฉันข้ากับเจ้า จะให้ไทยคืนเมืองให้อย่างไรได้ ข้างครอเฟิดกล่าวโทษเจ้าพระยานครฯ แทนเจ้าพระยาไทร ข้างไทยก็ยืนอยู่ว่า ให้เจ้าพะรยาไทรเข้ามากล่าวโทษเอง จะมีตราให้หาเจ้าพระยานครฯ เข้ามาว่ากล่าวให้เป็นยุติธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นครอเฟิดอ้างถึงประโยชน์การค้าขายของอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทร พระยาพระคลังก็ส่งใบบอกของเจ้าพระยานครฯ ไปให้ครอเฟิดว่า ตั้งแต่ไทยเข้าไปรักษาเมืองไทรบุรี ได้เอาใจใส่ในทางไมตรีกับอังกฤษที่เกาะหมากเป็นการเรียบร้อยอย่างแต่ก่อน ไม่มีขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด โต้กันอยู่เพียงเท่านี้

ครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๔ เดือน เห็นการไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ คิดจะกลับ เกิดลำบากกันขึ้นด้วยเรื่องหนังสือตอบอีกอย่าง ๑ ข้างครอเฟิดจะให้มีพระราชศาสน์ตอบอักษรศาสน์มาร์ควิสเหสติงส์ ข้างไทยว่า มาร์ควิสเหสติงส์เป็นแต่ขุนนางผู้สำเร็จราชการหัวเมือง จะมีพระราชศาสน์ตอบอักษรศาสน์นั้นผิดอย่างธรรมเนียม[11] จะให้มีแต่ศุภอักษรของพระยาพระคลังตอบ ข้างครอเฟิดไม่ยอม ลงปลายตกลงกันว่า จะมีหนังสือของพระยาพิพัฒน์โกษาตอบไปถึงเลานุการของมาร์ควิสเหสติงส์ในส่วนเรื่องการค้าขายนั้น ตามที่ปรากฏในหนังสือของครอเฟิดว่า แต่เดิมไทยจะให้พระยาพิพัฒน์โกษาทำหนังสือให้ครอเฟิดเป็นหนังสืออนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายในพระราชอาณาจักร ถ้าปีใดมีเรืออังกฤษเข้ามาค้าขายแต่ ๕ ลำขึ้นไป จะลดภาษีขาเข้าจากร้อยละ ๘ ลงเป็นร้อยละ ๖ ครอเฟิดได้ไปตรวจร่างหนังสือนี้ที่บ้านพระยาพระคลังก็เป็นที่พอใจ แต่ยังไม่ทันที่จะได้รับหนังสือนี้ก็เกิดมีเหตุผิดใจกันขึ้นอีกอย่าง ๑

เหตุนั้นเกิดแต่เรื่องที่รัฐบาลอังกฤษเช่าเรือพ่อค้าให้เป็นเรือทูตเข้ามาราชการ ด้วยประเพณีตามประเทศทางตะวันออกในครั้งนั้น สิ่งของที่มาในเรือทูตไม่ต้องตรวจเก็บภาษีอากรอย่างหนึ่งอย่างใด ธรรมเนียมอันนี้ทราบอยู่ทั่วกัน กัปตันเรือที่ครอเฟิดมาชื่อ กัปตันแมคดอลเนล เห็นประโยชน์ที่จะได้ในการที่เข้ามากับทูต จึงลอบบรรทุกสินค้าต่าง ๆ มาในระวางเรือเป็นอันมาก ครอเฟิดมิได้ทราบความข้อนี้ ครั้นเมื่อเรือเข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ พวกทูตขึ้นอยู่บนบก กัปตันแมคดอลเนลลอบเอาสินค้าออกจำหน่าย ความทราบถึงไทย ถามครอเฟิด ๆ ก็ยืนยันว่า ธรรมเนียมของอังกฤษ เรือที่มาราชการจะค้าขายไม่ได้ ต่อมาครอเฟิดจึงได้ทราบความจริงว่า กัปตันเรือของตนพาของหนีภาษีเข้ามาขาย ทำให้เสียวาจาที่ตนได้อ้างไว้ ครอเฟิดเกิดวิวาทขึ้นกับกัปตันแมคดอลเนล ถึงต้องไล่กัปตันแมคดอลเนลขึ้นจากเรือ กัปตันแมคดอลเนลเป็นผู้ไปมาคุ้นกับไทยในเวลาเมื่อขายของ จะเป็นกัปตันแมคดอลเนลหรือผู้ใดไม่แน่นำความมาแจ้งแก่พระยาพระคลังว่า เมื่อเวลาครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น ให้เที่ยวหยั่งน้ำทำแผนที่ และพูดว่า เมืองเช่นกรุงเทพฯ นี้ ถ้าอังกฤษจะต้องการ ส่งเรือรบมาเพียงสองลำสามลำก็จะตีเอาได้ ความทั้ง ๒ ข้อนี้เป็นเหตุให้ไทยเกิดขัดเคืองครอเฟิด แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียอัชฌาสัยอย่างใด โปรดให้จัดเครื่องบรรณาการพระราชทานตอบมาร์ควิสเหสติงส์เป็นสิ่งของต่าง ๆ คือ งาช้าง ๑๐ กิ่งหนัก ๒ หาบ เนื้อไม้หนัก ๒ หาบ กำยานหนัก ๒ หาบ กระวานหนักหาบ ๑ เร่วหนัก ๓ หาบ ดีบุกบริสุทธิ์หนัก ๑๕ หาบ พริกไทยหนัก ๑๕๐ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๑๕๐ หาย รงหนัก ๕ หาบ มอบให้ครอเฟิดคุมออกไป ส่วนครอเฟิดเองได้พระราชทานน้ำตาลทรายหนัก ๓๐ หาบ ส่วนหนังสือตอบนั้นเป็นแต่ให้พระยาจุฬาราชมนตรีทำหนังสือให้ครอเฟิดถืออกไป คงมีใจความแต่ว่า อนุญาต ให้พ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายตามอย่างธรรมเนียมบ้านเมือง

เมื่อครอเฟิดไปแล้ว มีหนังสือพระยาพระคลังไปถึงมาร์ควิสเหสติงส์ฉะบับ ๑ กล่าวโทษครอเฟิดว่า เข้ามาพูดจาและทำการเหลือเกินผิดกับความในอักษรศาสน์ที่เจ้าเมืองบังกล่ามีมา หนังสือฉะบับนี้ส่งไปที่เจ้าเมืองเกาะหมากให้ส่งไปถึงมาร์ควิสเหสติงส์ ปรากฏในหนังสือราชการของอังกฤษว่า มาร์ควิสเหสติงส์สอบถามครอเฟิด และมีสำเนาหนังสือครอเฟิดแก้คำถามว่า เรื่องทำแผนที่นั้นได้ทำแต่เล็กน้อย และได้ขออนุญาตพระยาพระคลังก่อนแล้วจึงทำ ข้อที่ว่าครอเฟิดพูดหมิ่นประมาทเมืองไทยนั้น ปฏิเสธ[12]

ยอนครอเฟิดออกจากกรุงเทพฯ เมื่อณวัน ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก ๑๑๘๔ พ.ศ. ๒๓๖๕ ไปแวะตรวจที่เกาะสีชังก่อน แล้วออกจากเกาะสีชังไปใบเมืองญวน การที่ไปเมืองญวนก็ไม่สำเร็จ ด้วยญวนรังเกียจการเกี่ยวข้องการค้าขายกับฝรั่งยิ่งกว่าไทยขึ้นไปอีก ครอเฟิดกลับจากเมืองญวน จึงได้เป็นเรสิเดนต์รักษาการอยู่ณเมืองสิงคโปร์ ตามความที่ปรากฏต่อมาตั้งแต่ครอเฟิดมาเป็นเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์ กลับวางอัธยาศัยเป็นไมตรีกับไทย มีหนังสือไปมากับพระยาพระคลัง และเอาเป็นธุระสงเคราะห์เรือไทยที่ไปค้าขายที่เมืองสิงคโปร์กลับทำตามคำสั่งเดิมของรัฐบาลอินเดียถึงกับเอาเป็นธุระบอกเข้ามาให้ไทยทราบว่า พะม่าแต่งทูตไปชวนญวนให้ช่วยกันตีเมืองไทย เห็นจะเป็นด้วยเหตุอังกฤษเกิดวิวาทกันขึ้นกับพะม่า ครอเฟิดจึงเห็นประโยชน์ในการที่จะเอาใจไทย

การที่รัฐบาลอินเดียแต่งครอเฟิดเป็นทูตเข้ามาคราวนั้น แม้ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ของครอเฟิด และเกิดเป็นปากเป็นเสียงกันดังกล่าวมาก็ดี แต่เป็นประโยชน์แก่อังกฤษดังที่รัฐบาลอินเดียต้องการ ด้วยตั้งแต่นั้นมาก็มีเรือพ่อค้าอังกฤษไปมาค้าขายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่สุดจนมีคนอังกฤษชื่อ ฮันเตอร์[13] เข้ามาตั้งห้างค้าขายในกรุงเทพฯ ฝ่ายไทยก็ทำนุบำรุงให้ไปมาค้าขายได้โดยสะดวก เป็นแต่ไม่ยอมลดหย่อนภาษีอากรให้อังกฤษผิดกับที่เก็บจากชาติอื่น ด้วยประเพณีการค้าขายในเวลานั้นยังถือตามแบบเดิมที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า


  1. ในเวลานั้นการปกครองหัวเมืองอินเดียที่ขึ้นอังกฤษยังอยู่ในบริษัทอิศอินเดียอังกฤษ แต่รัฐบาลเป็นผู้ตั้งผู้สำเร็จราชการเรียกว่า เคาเวอเนอเยเนราล แต่ในจดหมายเหตุไทยเราเรียกว่าเจ้าเมืองบังกล่าตามอย่างแขก ด้วยเหตุว่าที่ว่าการของผู้สำเร็จราชการตั้งอยู่ที่มณฑลบังกล่า หรือที่อังกฤษเรียกว่าเบงคอล
  2. ในหนังสือจดหมายเหตุของไทยแต่ก่อนเรียกว่าการะฝัด นายยอน ครอเฟิด คนนี้ แต่เดิมเป็นหมอยา ออกมารับราชการอังกฤษ เคยอยู่ที่เกาะหมาก ๓ ปี แล้วเคยไปเป็นเรสิเดนต์อยู่ในเมืองชะวาเมื่อครั้งอังกฤษยังยึดไว้ในระวางสงคราม รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียเห็นว่าเป็นผู้รู้ภาษามะลายูแลชำนาญการทางหัวเมืองที่ใกล้ชิดกับเมืองไทย จึงแต่งให้เป็นทูต ภายหลังได้ไปเป็นทูตทำหนังสือสัญญาและเป็นเรสิเดนต์อยู่ที่อยู่ที่เมืองอังวะเมื่ออังกฤษทำสงครามชนะพะม่าครั้งแรก
  3. พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) นี้ ที่ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ในรัชชกาลที่ ๔ ในหนังสือที่ครอเฟิดแต่งไว้กล่าวว่า เมื่อครอเฟิดเข้ามา เป็นแต่พระยาสุริยวงศมนตรีว่าที่พระคลัง ต่อมาถึงเดือน ๖ ปีมะเมีย จัตวาศก จึงได้เลื่อนเป็นพระยาสุริยวงศ์โกษาที่พระคลังในเวลาเมื่อครอเฟิดอยู่ในกรุงเทพฯ ความข้อนี้ยังได้พบจดหมายรับสั่งกรมหมื่นศักดิพลเสพฉะบับ ๑ มีถึงพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ลงวันพุธ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ ยังเรียกในจดหมายนั้นว่า พระยาพระคลัง เห็นจะได้เป็นเจ้าพระยาพระคลังราวปีมะแมหรือปีวอกในรัชชกาลที่ ๒ นั้น
  4. เรือหลวง ๒ ลำนี้ ครั้งรัชชกาลที่ ๑ ชื่อ เรือหูสง เรือทรงพระราชศาสน์ สำหรับไปค้าขายเมืองจีน แต่เมื่อครอเฟิดเข้ามา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ชื่อเรือมาลาพระนครลำ ๑ เรือเหราข้ามสมุทรลำ ๑
  5. อักษรศาสน์ที่มาร์ควิสเหสติงส์มีมาถวายครั้งนั้น เขาแปลเป็นภาษามะลายูกำกับมา เราแปลจากภาษามะลายู เพราะที่ในกรุงเทพฯ เวลานั้นยังไม่มีผู้ที่จะแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ แต่ตัวอักษรศาสน์ที่เป็นภาษาอังกฤษครอเฟิดได้พิมพ์สำเนาไว้ในหนังสือที่เขาแต่ง สอบกับความที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ดูยังคลาศเคลื่อนมาก ข้าพเจ้าจึงแปลใหม่ลงไว้ในหนังสือเรื่องนี้
  6. ที่อังกฤษว่าไม่คิดจะขอที่ทำที่ไว้สินค้าและทำป้อมเป็นต้น ตรงนี้หมายจะให้ไทยเข้าใจว่า จะไม่ทำอย่างพวกโปรตุเกตและพวกวิลันดาที่เคยเบียดเบียฬประเทศทางตะวันออกมาแต่ครั้งกรุงเก่า โดยวิธีไปขอที่ตั้งสถานีเป็นที่ไว้สินค้าก่อน แล้วทำสถานีที่นั้นให้เป็นป้อมปราการ ส่งทหารไปรักษา แล้วเลยเอาเป็นกำลังแย่งหาอำนาจในเมืองนั้น ๆ.
  7. ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวเรื่องครอเฟิดเป็นทูตเข้ามาคราวนั้นไว้แต่โดยย่อ เมื่อมาพิจารณาดูในหนังสือที่ครอเฟิดแต่ง และใบบอกที่ครอเฟิดมีไปถึงรัฐบาลของเขา จึงแลเห็นเหตุขัดขวางแก่การที่จะตกลงพอใจกันได้
  8. คำสั่งของมาร์ควิสเหสติงส์พิมพ์ไว้ข้างท้ายเล่ม ๒ ของ สมุดที่ครอเฟิดแต่ง ข้าพเจ้าได้คัดแต่ใจความลงไว้ในตอนว่าด้วยเหตุที่อังกฤษจะแต่งทูตนั้นแล้ว.
  9. สอบตามพงศาวดารพะม่า ที่จริงในเวลานั้นพะม่ากับอังกฤษเกิดระหองระแหงจวนจะวิวาทกันอยู่แล้ว จะเป็นด้วยอังกฤษยังเห็นประโยชน์ที่จะเอาใจดีต่อพะม่าอยู่ รู้ว่าไทยต้องการปืนมาสำหรับทำสงครามกับพะม่า กลัวพะม่าจะโกรธ ครอเฟิดจึงไม่ยอม แต่ก็เป็นการประหลาดอยู่ด้วยความปรากฏว่า รัฐบาลอินเดียรู้อยู่แต่เมื่อก่อนแต่งทูตเข้ามาว่าไทยกำลังต้องการปืน เครื่องราชบรรณาการที่ส่งมาถวายก็ถวายปืนกว่า ๓๐๐ บอก ทำไมจะมาขัดขวางเรื่องซื้อปืน
  10. วิธีค้าเกลือในอินเดีย รัฐบาลผูกขาดขายเอง ไทยรู้ความข้อนี้ จึงเอาเรื่องสินค้าเกลืออกมาพูด ด้วยเป็นการขอยกภาษีสินค้าผูกขาดของรัฐบาลอย่างเดียวกับที่อังกฤษขอเข้ามา
  11. เมื่อครอเฟิดไปเมืองญวน ก็เกิดความลำบากเรื่องหนังสือตอบอย่างเดียวกันนี้
  12. แต่ในสำเนาใบบอกของครอเฟิดฉะบับ ๑ กล่าวความตรงกับคำที่หาว่าครอเฟิดพูด เพราะฉะนั้น ทำให้เข้าใจว่า ครอเฟิดเห็นจะได้พูดกับพวกฝรั่งที่มาด้วยกัน บางทีความนั้นจะมาถึงไทยจากกัปตันแมคดอลเนลในเวลาเมื่อเกิดวิวาทกับครอเฟิด
  13. ไทยเรียกกันในครั้งนั้นว่า หันแตร

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก