แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


กฎหมาย มีผู้แปลกันต่าง ๆ เช่น ออสบอน (Osborn) ว่า “กฎหมายเป็นข้อบังคับที่ผูกพันความประพฤติให้จำต้องกระทำ” ฮอบบส์ (Hobbes) แปลว่า “คำสั่งของบุคคลผู้หนึ่งหรือหลายคนที่มีอำนาจบังคับประจำตัว” ออสติน (Austin) อธิบายว่า “กฎหมาย คือ เป็นข้อบังคับสำหรับความประพฤติ ซึ่งรฐธิปัตย์ได้บัญญัติและบังคับไว้” แซลมอนด์ (Salmond) แก้ศัพท์ว่า “กฎหมายเป็นองค์กำหนดการปฏิบัติ ซึ่งบ้านเมืองถือกำหนดและนำมาใช้ในการอำนวยความยุตติธรรม” แบลกสะโตน (Blackstone) ถือว่า “ข้อบังคับแห่งกฎหมายซึ่งได้ทำขึ้นตามประเพณีที่เคยมีมาแต่ก่อน ให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย นอกจากผู้ตั้งกฎหมาย หรือตุลาการ” เมน (Main) นั้น ชี้แจงว่า “มีกฎหมายในระวางประชุมชนมาแต่ครั้งโบราณ” ซาวิญีย์ (Savigny) ถือว่า “กฎหมายนั้น ย่อมเจริญขึ้นในตนเองได้โดยตามลำดับ แต่ไม่เป็นไปตามใจของผู้ออกกฎหมาย” เจอริง (Jering) เห็นผลที่สุดของกฎหมายว่า เป็น “กำหนดเขตต์ของผลประโยชน์” วิโนกราดอฟฟ์ (Vinogradoff) เห็นว่า กฎหมายเป็น “ข้อบังคับชุดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นและบังคับฝูงชน เนื่องด้วยการถืออำนาจและใช้อำนาจเหนือบุคคลแลสิ่งของ” เดอ มอนต์โมเรนซี (De Montmorency) กระจายศัพท์กฎหมายลงว่า “เป็นข้อบังคับซึ่งรัดรึงคนทั้งหลายให้เข้าเป็นหมู่คณะ ในการที่จะต่อต้านกับธรรมชาติที่ห้อมล้อมโดยรอบกาย”

แต่ถ้าจะแปลกันอย่างสั้น ๆ แล้ว ก็ควรจะต้องกล่าวว่า “กฎหมาย เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในประเทศเอกราช ได้บัญชาลงไว้ให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับประพฤติตาม ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นจะต้องถูกบังคับให้ต้องรับโทษหรือสำนอง”

กฎหมายแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ ―

(๑) สารบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา (ฉะเพาะความใน ภาคที่ ๒) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ในส่วนที่มิใช่เกี่ยวแก่วิธีพิจารณา) เป็นต้น

(๒) สบัญญัติ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยกระบวนพิจารณาสำหรับชำระความในศาล เพื่อดำเนิรการบังคับให้เป็นผลตามสิทธิที่มีอยู่ กล่าวคือ การพิจารณาให้ล่วงรู้ว่า กิจการใดที่บุคคลใดได้ทำไปเป็นผิดหรือชอบด้วยสารบัญญัติประการใด เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่ง ร.ศ. ๑๒๗, พระราชบัญญัติลักษณะพะยาน ร.ศ. ๑๑๓ เป็นต้น

สารบัญญัติยังแบ่งออกได้อีก ๒ อย่าง คือ ―

(๑) อาชญา คือ กฎหมายที่ลงโทษคนในทางอาชญา (ดู กฎหมายลักษณะอาชญา)

(๒) แพ่ง คือ กฎหมายที่บังคับ ปรับปรุง หรือใช้สินไหมทดแทน เพราะเหตุที่กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อกัน (ดู กฎหมายลักษณะแพ่ง)

แพ่งนั้น ยังแบ่งออกได้เป็นอีก ๒ ชะนิด คือ ―

(๑) สัญญา (ดู สัญญา)

(๒) ละเมิด (ดู ละเมิด)

กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ มี ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เรียกว่า “ประมวล” (Code) เช่น ประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของไทยเรา เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ออกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างที่เรียกว่า “กฎหมายธรรมดา” (Common Law) มีของอังกฤษเป็นอาทิ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) เรียกกฎหมายที่ประกาศเป็นบทมาตราแล้วว่า “บทกฎหมาย” ตรงกับภาษาละตินว่า “Lex” เรียกกฎหมายทั่ว ๆ ไป จะประกาศเป็นบทมาตราแล้วหรือยังก็ตาม ว่า “กฎหมาย” ตรงกับภาษาละตินว่า “Jus” (ดูฟุตโน๊ตในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉะบับเก่า) ตอนที่ ๓ หน้า ๓๑๘ ของท่านผู้นี้)