พระธรรมนูญศาลยุติธรรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2473
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุตติธรรม เพื่อยังประโยชน์ในราชการให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้ดำเนิรไปโดยเร็ว
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระธรรมนูญศาลยุตติธรรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๓"
มาตรา๒ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๔ เป็นต้นไป
มาตรา๓ให้ยกเลิกข้อ ๒ และ ๓ แห่งประกาศเรื่องแก้ไขอำนาจศาลมณฑล ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) นั้นเสีย
มาตรา๔ให้ยกเลิกมาตรา ๑๙ วรรคแรก แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๑๙ ศาลมณฑลให้มีอธิบดีผู้พิพากษานายหนึ่งกับผู้พิพากษาอื่นอีก ผู้พิพากษารวมสองนายจึ่งจะเป็นองค์คณะที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้เต็มอำนาจศาล
ศาลจังหวัดให้มีผู้พิพากษาไม่ต่ำกว่าสองนาย และผู้พิพากษารวมสองนายจึ่งจะเป็นองค์คณะที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้เต็มอำนาจศาล
คดีในศาลมณฑลก็ดี และศาลจังหวัดก็ดี ผู้พิพากษาเพียงนายเดียวก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจตำแหน่งของผู้พิพากษานั้น ๆ จะพิจารณาพิพากษาได้
ศาลแขวงจะให้มีผู้พิพากษาเพียงนายเดียวก็ได้
ให้อธิบดีผู้พิพากษาหรือผู้แทนอธิบดีเป็นหัวหน้ามีอำนาจบังคับบัญชาผู้พิพากษาในศาลทั้งปวงในมณฑลนั้น"
มาตรา๕ให้ยกเลิกมาตรา ๒๖ แห่งพระธรรมนูญศาลยุตติธรรม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๒๖ ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงได้ทุกบทกฎหมาย"
มาตรา๖ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลมีอำนาจที่จะไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีได้ทุกศาลในมณฑลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีเรื่องใด ก็ให้มีอำนาจลงชื่อเป็นคณะพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งได้ด้วย
มาตรา๗ให้ศาลจังหวัดในเขตต์พระมหานครมีอำนาจอย่างเดียวกับศาลจังหวัดอื่น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลโปรีสภาและศาลจังหวัดเขตต์พระมหานครมีอำนาจในศาลจังหวัดและเหนือผู้พิพากษาในศาลนั้น ๆ อย่างเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑล
มาตรา๘บรรดาอรรถคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันใช้พระธรรมนูญศาลยุตติธรรม แก้ไขเพิ่มเติม นี้ ให้พิจารณาและบังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายเดิม
บรรณานุกรม
แก้ไข- "พระธรรมนูญศาลยุติธรรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2473". (2473, 11 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 47, ตอน 0 ก. หน้า 349–352.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"