หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0503/44549

ตราครุฑ
ตราครุฑ
ด่วนที่สุด
ที่ นร ๐๕๐๓/๔๔๕๔๙
สำนักนายกรัฐมนตรี
ทำเนียบรัฐบาล กทม. ๑๐๓๐๐

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
กราบเรียน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ นั้น ถือว่า เป็นกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และจำเป็นต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าวในส่วนของรัฐบาลไว้ก่อน เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ว่า ยังไม่สมควรดำเนินการใดที่แสดงถึงการมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ในระหว่างที่ประชาชนอยู่ในภาวะทุกข์โศกและยากจะทำใจ พระองค์เองก็ทรงขอเวลาร่วมทุกข์และทำใจเช่นเดียวกับประชาชน จนกว่าการพระราชพิธีพระบรมศพจะผ่านพ้นไประยะหนึ่ง ซึ่งมีพระราชดำริว่า เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานผ่านพ้นจนถึงปัญญาสมวาร (ครบ ๕๐ วัน) คือ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ แล้ว จึงค่อยพิจารณาดำเนินการต่อไป ในระหว่างเวลานั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อขัดข้องใด ๆ ในราชการบ้านเมือง

บัดนี้ การพระราชพิธีพระบรมศพได้ล่วงเลยเวลาบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน จนเข้าเขตปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) ทั้งประชาชนก็มีโอกาสเข้าถวายบังคมพระบรมศพแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ถึงบัดนี้ประมาณ ๑ เดือน มีจำนวนประมาณหนึ่งล้านคน รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลว่า นับเป็นกาลอันควรดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามราชประเพณีและรัฐธรรมนูญ อันจะยังความปลื้มปีติและสร้างขวัญกำลังใจแก่พสกนิกร ซึ่งทรงทราบฝ่าละอองพระบาทแล้ว

โดยที่การสืบราชสมบัติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่งมาตรา ๒ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ กำหนดให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาใช้บังคับโดยถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๗ ดังนั้น การสืบราชสมบัติจึงต้องเป็นไปตามความในหมวด ๒ พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติว่า

"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"

คณะรัฐมนตรีจึงขอแจ้งมาเพื่อทราบว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ท่ามกลางมหาสมาคม ประกอบด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต ข้าราชการทหารพลเรือน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ตรัสถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยแล้ว

ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ เล่นที่ ๘๙ ตอนที่ ๒๐๐ มีความตอนหนึ่งว่า

"ก็โดยราชนีติอันมีมาในแผ่นดินนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมราชโอรสซึ่งจะทรงรรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ทรงพระเจริญวัยสมควรแล้ว ย่อมโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระอิสริยยศตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร ในกาลปัจจุบันนี้ ประชาชนทั้งหลาย ตลอดถึงชาวต่างประเทศทั่วไปในโลก ย่อมพากันนิยมยกย่องว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ควรทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยมและขัตติยราชประเพณี ตามความเห็นชอบเห็นดีของมหาชนและผู้บริหารประเทศทุกฝ่าย เฉลิมพระเกียรติยศขึ้นให้สมบูรณ์ตามตำแหน่งทุกประการ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร"

อนึ่ง ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ มาตรา ๔ (๑) บัญญัติว่า "พระรัชทายาท" คือ เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป และ มาตรา ๔ (๒) บัญญัติว่า "สมเด็จพระยุพราช" คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษก หรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ นั้น เป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทยเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๙ และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ซึ่งต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวและตามที่รัฐธรรมนูญระบุถึง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา และโบราณราชนิติประเพณีแล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญบรรดาที่มีมาทุกฉบับนับแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนกระทั่งถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เห็นได้ว่า ล้วนแต่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน

คณะรัฐมนตรีจึงแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อทราบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้วตามความในมาตรา ๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จึงกราบเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป


  • ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
  • พลเอก
  • (ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
  • นายกรัฐมนตรี


  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • โทร. ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๐๐ ต่อ ๓๐๑
  • โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๕๘

บรรณานุกรม

แก้ไข
 

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"