ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/ผู้วายชนม์

การศพวัดราชาธิวาศ
วันที่ ๔ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
คำนำ
การศพท่านฟักทอง ต.จ. ภรรยาพระยาจ่าแสนบดี (เดช)

ในสมัยซึ่งเปนโอกาศอันควรที่ข้าพเจ้าผู้เปนบุตรีจะได้แสดงประวัติสำหรับท่านฟักทอง ผู้มารดาที่ล่วงลับไปแล้ว และได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพเปนศพหลวง และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระราชชนนีพระพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๒ ซึ่งพิมพ์ขึ้นสำหรับแจกในงานครั้งนี้ บรรดาบุตรหลานทั้งปวงของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วย่อมเต็มตื้นไปด้วยความปรีดาปราโมทย์ในพระมหากรุณาธิคุณ และรู้สึกว่า จะได้เปนเกียรติยศอยู่ในสกูลนี้ชั่วกาลนาน ข้าพเจ้า ผู้เปนบุตรี จึงได้แต่งประวัติของมารดาโดยย่อ ๆ พอเปนที่ระฦกไว้ในน่ากระดาด ดังต่อไปนี้

ประวัติ

ฟักทอง ต.จ. ภรรยาพระยาจ่าแสนบดี (เดช) เกิดวันพฤหัศบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีระกา นพศก พระพุทธศักราช ๒๓๙๐ เปนบุตรีที่ ๒๒ ของพระยาราชสุภาวดี (ปาล) ซึ่งนับเนื่องอยู่ในพวกราชินิกูลในรัชกาลที่ ๕ ด้วยว่าพระยาราชสุภาวดี (ปาล) เปนบุตรพระยาสุรเสนา (คุ้ม) แลท่านปิ่นเปนมารดา ท่านปิ่นเปนน้องร่วมบิดามารดาของอัยกีแห่งพระชนนีในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระยาราชสุภาวดี (ปาล) มีบุตรทั้งชายแลหญิงรวม ๔๖ คน มารดาฟักทองชื่อ ทองคำ เปนบุตรีพระยาเมืองจัน ตระกูลเมืองเวียงจันทน์ ภายหลัง พระยาราชสุภาวดีได้มอบการงานบ้านเรือนและภรรยาชั้นเล็ก ๆ ให้ทองคำเปนผู้ปกครองดูแลตลอด ทองคำมีบุตร ๒ คน ๆ ใหญ่เปนหญิงชื่อ ฟักทอง คนเล็กเปนชายชื่อ นกเล็ก ซึ่งได้เปนซายัน (คือ นายสิบเอก) กรมทหารมหาดเล็ก เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ แต่ได้ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังหนุ่ม ๆ ครั้นฟักทองมีอายุเจริญวัย ก็ได้เปนผู้ชิดใช้ใกล้บิดา และเปนผู้ที่ทำการงานดี เปนที่รักใคร่ของบิดายิ่งนัก

เมื่อพระยาราชสุภาวดี (ปาล) ถึงแก่กรรมแล้ว ทรัพย์สมบัติเปนอันตรธานไปด้วยความไม่ปรองดองกันในวงษ์ญาติ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจึงได้ทรงรับเปนเจ้าภาพทำศพพระยาราชสุภาวดี (ปาล) ที่วัดสระเกษ แต่เฉภาะเปนเวลากำลังทรงพระครรภ์อยู่ จะเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยกำลังพระองค์ไม่ได้ จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระองค์ทั้ง ๓ วัน ต่อถึงวันพระราชทานเพลิง สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจึงได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปพระราชทานเพลิง

ครั้นพระราชทานเพลิงศพพระยาราชสุภาวดี (ปาล) เสร็จแล้ว ทองคำจึงได้รวบรวมเงินทองซึ่งมีอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เดิมนั้นมาแต่งงานให้ฟักทองอยู่กินกับหลวงเสนาภักดี คือ พระยาจ่าแสนบดี (เดช) นั้น ตามยากตามจน เปนเงินทุน ๕ ชั่ง สินสอดชั่งหนึ่ง ฟักทองก็ได้อุส่าห์ช่วยสามีทำมาหากินจนกลับมั่งคั่งตั้งตัวได้ดีกว่าพี่น้องทุกคน ที่บ้านของบิดาซึ่งตั้งอยู่ณตำบลสามเพ็งใกล้วัดจักรวรรดิราชาวาศกำลังจะตกไปเปนของผู้อื่นอยู่แล้ว ก็ได้รับซื้อไว้ทั้งสิ้น ซึ่งมีราคาปรากฏณภายหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อ ๒ คราวเปนเงิน ๒๘๑๓ ชั่ง ซึ่งได้เปนที่รวบรวมและที่พะพิงอาศรัยของญาติพี่น้องในเวลานั้น ครั้นเลื่อน บุตรีฟักทอง ได้ทำการวิวาหมงคลกับหลวงฤทธินายเวร (พุด เทพหัสดิน) ก็ได้ให้เงินเปนทุน ๕๐ ชั่ง บุตรผู้เกิดแต่ภรรยาน้อยอิก ๖ คนก็ยังได้อุปการะตกแต่งให้ได้มีเย่าเรือนไปทั้งสิ้น

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้ฟักทองได้รับพระราชทานอยู่ในพวกราชินิกูลปีละ ๑๐ ตำลึง แล้วพระราชทานเพิ่มขึ้นเปนลำดับมาจนถึงปีละชั่งหนึ่ง กับได้พระราชทานหีบหมากจุลจอมเกล้าชั้นที่ ๓ ในงานบรมราชาภิเศกครั้งที่ ๒ นั้นด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระมหากรุณาแก่ฟักทองซึ่งเปนผู้ที่สามารถกู้สมบัติและสกูลไว้ได้ มิได้ทำให้ขายใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทนั้น

โดยที่ทรงพระมหากรุณาแก่ฟักทอง จึงได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงตลอดมาจนถึงเลื่อน เทพหัสดิน ซึ่งเปนบุตรีฟักทอง ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้อยู่ในพวกราชินิกูลเหมือนมารดา และเมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเจ้าชั้นที่ ๓ แก่ฟักทอง ก็ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๔ แก่เลื่อน เทพหัสดิน ด้วย ครั้นต่อมา ฟักทองป่วยจักษุมืดทั้ง ๓ ข้าง มิได้เข้าเฝ้าใต้ฝ่าลอองพระบาทได้เหมือนแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นเครื่องอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๓ พระราชทานเลื่อน เทพหัสดิน เปนส่วนพิเศษ ซึ่งสามีมิได้รับพระราชทานพานทองนั้น ได้มีผู้ที่ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นที่ ๓ เฉภาะเลื่อน เทพหัสดิน บุตรีฟักทอง ผู้เดียว

เลื่อน เทพหัสดิน ได้มีบุตรชายหญิง คือ นายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน) ๑ ลม้าย เทพหัสดิน ๑ นายพันตรี หลวงอภิบาลภูวนารถ (จำรัส เทวคฤหปาล) ๑ เพ็ญ ภรรยาหลวงสุวพิทย์พิสุทธิ (กระแส อมาตยกุล) ๑ รวม ๔ คน ซึ่งยังมีชื่อเสียงสืบเชื้อวงษ์มาจนทุกวันนี้

ครั้นฟักทองถึงแก่กรรมลงในรัชกาลปัตยุบันนี้ ก็ได้รับพระมหากรุณาพิเศษได้พระราชทานหีบทองทึบและผ้าไตร ๕ ไตร พระราชทานน้ำอาบศพเปนเกียรติยศ ใช่แต่เท่านั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนศพหลวงด้วย เชื่อว่า เปนเกียรติยศแก่ฟักทองยิ่งกว่าญาติพี่น้องทั้งปวง และน่าเปนที่ยินดีในหมู่บุตรหลานของฟักทอง โดยที่ฟักทองได้เปนสัตรีที่แปลกอยู่ในสกูลนี้

และถ้าคิดสำหรับสัตรีทั่วไปก็ควรจะเห็นเปนตัวอย่างได้ด้วยว่า ความเจริญสำหรับสัตรีนั้นไม่จำเภาะแต่ผู้ที่มีทรัพย์มากเลย แม้จะมีทุนเพียง ๕ ชั่งเช่นนี้ ถ้ามีอุสาหขวนขวายหรือรู้จักเก็บงำเช่นฟักทองแล้ว ก็อาจมั่งคั่งตั้งวงษ์สกูลได้เหมือนกัน

ซึ่งข้าพเจ้ายกเอาเหตุแห่งความยากจนมารำพรรณโดยไม่ปกปิดเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เปนประโยชน์แก่เพื่อนสัตรีทั้งหลายซึ่งควรจะเห็นความอุสาหพากเพียรของท่านแต่ก่อนซึ่งตั้งตัวได้จนมีชื่อเสียง อันต้องนับว่า ผู้หญิงก็เปนหลักสำคัญของสามีและของสกูลส่วนหนึ่ง เมื่อบุรุษใดได้ภรรยาดีแล้ว ย่อมจะเจริญในวงษ์สกูลได้ดังตัวอย่างในประวัตินี้

เลื่อน เทพหัสดิน

ป,ล, ประวัติที่เจ้าภาพเรียงนี้มีข้อความอธิบาย แลเจ้าภาพได้ขอให้กรรมการจดอธิบายไว้น่อยหนึ่ง คือ ที่นามสกุลนายพลตรี พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ลงไว้ว่า เทพหัสดิน แต่นามสกุลนายพันตรี หลวงอภิบาลภูวนารถ ผู้เปนน้องชายร่วมบิดามารดา ลงไว้ว่า เทวคฤหปาล ผิดกันอยู่ดังนี้นั้น ถ้าไม่อธิบาย ผู้อ่านจะไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงผิดกัน นามสกุล เทพหัสดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่บรรดาผู้ซึ่งสืบสกุลวงษ์ลงมาจากพระยาราชภักดี (ช้าง) ๆ เปนหลานกรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยาไชยสุรินทร์ (เจียม) เปนบุตรพระยาราชภักดี (ช้าง) หลวงนายฤทธิ (พุด) เปนบุตรพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม) นามสกุลว่า เทพหัสดิน จึงสืบลงมาถึงพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด) บุตรคนใหญ่ดำรงสกุลข้างฝ่ายบิดา แต่เลื่อน ต.จ. ผู้เป็นมารดา สืบสกุลลงมาจากฟักทองราชินิกูล ซึ่งมีสกุลวงษ์อิกสาย ๑ เกรงนามสกุลวงษ์สายนี้จะสูญเสีย ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิบาลภูวนารถ (จำรัส) ซึ่งเปนบุตรที่ ๒ มีนามสกุลว่า เทวคฤหปาล เพื่อจะให้ดำรงวงษ์สกุลข้างฝ่ายมารดาไว้มิให้สูญ ด้วยเหตุนี้ พี่น้อง ๒ คนนี้จึงมีนามสกุลต่างกัน

ด.ร.