ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 53 (2473)/เรื่องที่ 2

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช
พงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราช
ของ หลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว ณนคร)

เมื่อครั้งกรุงเก่า ในแผ่นดินเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสวยราชสมบัติ พระยาสุภาวดีมาเปนพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โปรดให้หลวงนายสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก[1] มาเปนพระปลัดเมืองนครฯ ภายหลัง พระยานครศรีธรรมราชถูกอุทธรณ์ต้องกลับเข้าไปกรุงเทพฯ ถอดจากเมือง เวลากรุงเก่าเสียแก่พม่านั้น หามีเจ้าเมืองไม่ มีแต่พระปลัดเปนผู้รักษาราชการเมือง จึงตั้งตัวขึ้นเปนเจ้านคร ยกกองทัพไปตีเมืองชุมพร, เมืองปทิว, ไชยา, หลังสวน, กระ, ระนอง, ตะกั่วทุ่ง, ตะกั่วป่า, พังงา, เมืองพัทลุง, สงขลา, ตานี, หนองจิก, เทพา, ยะหริ่ง, เมืองไทร, ปลิศ, สตูน, ภูเก็จ, รวมทั้งเมืองตรัง, กระบี่, กาญจนดิฐ, มาขึ้นเจ้านคร เจ้านครตั้งเปนชุมนุม ๑ ไม่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ[2]

เมื่อปีฉลู เอกศก จุลศักราช ๑๑๓๑ เจ้ากรุงธนบุรีมีอำนาจ จึงแต่งให้พระยาจักรี (แขก) ๑ พระยายมราช ๑ พระยาพิพัฒน์ ๑ พระยาเพ็ชรบุรี ๑ ยกกองทัพมาตีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช แม่ทัพทั้งปวงต่างก็ยกไปแล้ว ภายหลัง ทรงเห็นว่า กองทัพที่ยกไปอ่อนแอนัก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกกองทัพหลวงหนุนออกมาตีเมืองชุมพร, เมืองไชยา, แตกเปนลำดับ เจ้านครให้อุปราชตั้งค่ายต่อสู้ที่ท่าหมาก ๑ ค่าย คลองปากนคร ๑ ค่าย คลองศาลาสี่หน้า (คือ ปากพยา) ๑ ค่าย กองทัพกรุงธนที่ยกมาตีแตก หลวงสงขลา (วิเถียน) พาเจ้านครกับครอบครัวอพยพหนีไปอยู่เมืองตานี พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพเข้าเมืองนครศรีธรรมราช ดำรัสให้พระยาจักรี พระยาพิไชยราชา ยกกองทัพเรือติดตามเจ้านครไป ๚

ฝ่ายพระยาตานีเกรงพระเดชานุภาพ ก็จับเจ้านครแลครอบครัวส่งมาถวายแต่โดยดี ๚

ขณะนั้น โปรดให้ต่อเรือรบขึ้นที่นั่น ๑๐๐ ลำเศษ แลพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ข้าราชการทั้งปวงทำการสถาปนาซ่อมแปลงพระอารามที่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นหลายอาราม ๚

ครั้นทรงจัดบ้านเมืองเสร็จแล้ว ก็เสด็จยกทัพกลับกรุงธนบุรี แลให้เชิญพระไตรปิฏกที่เมืองนครธรรมราชมาจานจำลองไว้ที่กรุงธนบุรีด้วยทั้งจบ ครั้นแล้ว จึงเชิญต้นฉบับมาส่งไว้อย่างเดิม ๚

แต่ตัวเจ้านครกับครอบครัวนั้น เมื่อเลิกทัพกลับมา ก็คุมเข้ามายังกรุงธนบุรีด้วย แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า เจ้านครไม่มีความผิดต่อพระองค์ ซึ่งได้รบพุ่งกัน ก็เพราะต่างคนถือว่า ตัวเปนใหญ่ จะลงเห็นว่า เจ้านครเปนขบถนั้นไม่ได้ จึงโปรดพระราชทานให้พ้นโทษ ให้รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอยู่เปนข้าราชการในกรุงเทพฯ ต่อไป ๚

แล้วโปรดให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริวงษ์ อยู่ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้ ๗ ปี เจ้านราสุริวงษ์ถึงแก่พิราไลยที่เมืองนครศรีธรรมราชณปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ฝ่ายเจ้านครเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี ได้รับราชการตามเสด็จไปทัพศึก เจ้ากรุงธนบุรีไว้วางพระทัยในเจ้านคร จึงให้นครกลับออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ได้รับสุพรรณบัตรเปนพระเจ้ารนครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสิมา[3] มีเกียรติยศเสมอเจ้าประเทศราช ตั้งพระยาอรรคมหาเสนาแลจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครได้คล้ายกรุงธนบุรี ที่ว่าราชการเมืองนครของเดิมเรียกว่า ท้องพระโรง ซึ่งก่อด้วยอิฐอยู่หลังศาลากลางจังหวัดทุกวันนี้[4]

เจ้านครมีหม่อมชื่อ ทองเหนี่ยว เปนบุตรสาวจีนปาด จีนปาดเปนพี่จีนบวย จีน ๒ คนพี่น้องเปนเศรษฐีมั่งมีมาก ศพจีนปาดฝังอยู่ที่ริมคลองที่จะไปท่าแพ เรียกว่า ก๋ง ทุกวันนี้ เจ้านครมีธิดาด้วยหม่อมทองเหนี่ยว ๒ คน ชื่อ คุณชุ่ม ๑ คุณปราง ๑ แลเจ้านครมีบุตรด้วยภรรยาน้อย คือ ชื่อ หม่อมทองอยู่ ๑ พระกำแหงแม่ม่วง ๑

คุณชุ่มได้เปนภรรยาเจ้าพัฒน์ เจ้าพัฒน์นี้เปนบุตรปลัด มี พี่สาวคน ๑ ชื่อ คุณชี คุณชีไม่มีสามี มารดานั้นเรียกว่า คุณหญิง ๆ สร้างวัดประดู่ คุณชีสร้างวัดแจ้ง ที่อยู่ตำบลท่าวังเดี๋ยวนี้ คุณปรางนั้น เมื่อเจ้านครเข้าไปถูกกักอยู่กรุงเทพฯ ได้ถวายเปนพระสนมเจ้ากรุงธนบุรี[5]

ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชดำริห์ว่า ที่เจ้ากรุงธนบุรียกเจ้านครขึ้นเปนพระเจ้าประเทศราชนั้นเปนการเหลือเกินไป จึงโปรดให้ลดบันดาศักดิลงเปนเจ้าพระยานคร แลให้ลดตำแหน่งเสนาบดีเมืองนครลงเปนกรมการเหมือนหัวเมืองอื่น ๆ แลให้ยกเมืองสงขลา ซึ่งขึ้นเมืองนครอยู่ในครั้งนั้น เปนหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ด้วย ๚

ต่อมา เจ้านครศรีธรรมราชแก่ชรา ว่าราชการบ้านเมืองฟั่นเฟือนไป เจ้าพัฒน์ บุตรเขย เข้าไปเปนโจทย์ฟ้องกล่าวโทษเจ้านคร มีตราให้หา เจ้านครก็บิดพลิ้วเสียหลายครั้ง แล้วจึงได้ตัวเข้ามากรุงเทพฯ โปรดให้เอาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าพัฒน์ อุปราช บุตรเขยเจ้านคร ให้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชเมื่อปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ แลครั้นนั้น พระยาสงขลามีความผิด จึงโปรดให้เมืองสงขลากลับไปเปนเมืองขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชดังแต่ก่อน เจ้านครถึงอนิจกรรมที่กรุงเทพฯ เจ้าพระยานคร พัฒน์ กับคุณหญิงชุ่ม ได้เก็บอัฐิเจ้านคร กับอัฐิหม่อมทองเหนี่ยว มาก่อเจดีย์ทำตึกบรรจุไว้ที่วัดแจ้งเมืองนคร ๚

ครั้นเมื่อเจ้าตากออกจากราชสมบัติแล้ว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กับคุณหญิงชุ่ม จึงได้รับคุณปราง ซึ่งเปนพระสนมเจ้าตาก พาออกมาจากกรุงเทพฯ แต่เวลานั้น มีครรภ์ได้ ๓ เดือน แล้วมาคลอดที่เมืองนคร บุตรเปนชาย ให้ชื่อว่า คุณชายน้อย[6] พระยาศรีธรรมราช พัฒน์ มีบุตรหญิงกับคุณหญิงชุ่ม ๑ ชื่อ คุณหญิงใหญ่ ๑ (คุณหญิงเล็ก ๑)[7] แลมีบุตรชายกับภรรยาน้อย ที่ได้รับสัญญาบัตร คือ นายจ่ายง มหาดเล็ก ๑ พระราชภักดี (ร้าย) ยกรบัตรเมืองนคร ๑[8] บุตรหญิงชื่อ หนู ภรรยาเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ ๑ ชื่อ ทิม ๑ ทิมนี้เมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เข้าไปอยู่ที่วังกรมหมื่นศักดิพลเสพ ครั้นรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นศักดิพลเสพได้รับพระราชทานเกียรติยศเปนกรมพระราชวังบวรฯ ทิมก็ตามเสด็จไปอยู่ในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ทิมมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ครั้นรัชกาลที่ ๔ ทิมกลับไปรับราชการเปนพนักงานเฝ้าหอพระอัฐิฝ่ายพระราชวังบวรฯ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง ครั้นวันที่ ๑๙ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๐ ทิมถึงแก่กรรม ๚

เมื่อพม่ายกทัพบกทัพเรือมาทางเมืองมฤทในเดือนอ้าย แก่งหวุ่นแมงยี่เปนแม่ทัพใหญ่ แต่งให้ยี่หวุ่นเปนแม่ทัพ ยกทัพเรือไปทางทเลเมืองถลาง แล้วให้เนมโยคุงนรัดเปนทัพน่า ตัวแก่งหวุ่นแมงยี่เปนแม่ทัพ ยกมาตีเมืองชุมพร, เมืองไชยา, เจ้าเมืองทั้งสองเห็นว่า พม่ายกมามาก ไม่สามารถจะสู้รบได้ จึงเทครัวเข้าป่าทิ้งเมืองเสีย พม่าก็เอาไฟเผาบ้านเมืองเสียทั้ง ๒ เมือง แล้วยกมาตีเมืองนครศรีธรรมราช ๚

ขณะนั้น เจ้าพระยานคร พัฒน์ ได้ข่าวว่า เมืองชุมพร มืองไชยา เสียแก่พม่าแล้ว จึงแต่งให้กรมการคุมพลพันเศษมาตั้งขัดตาทัพพม่าอยู่ที่ท่าต่อแดนเมืองไชยา ครั้นพม่ายกไป ยังไม่ได้รบ พม่าคิดอุบายให้คนชาวเมืองไชยาไปร้องบอกลวงชาวเมืองว่า กรุงบางกอกเสียแก่พม่าแล้ว อย่าสู้รบเลย ให้ออกมาเสียโดยดีเถิด กรมการนำความไปแจ้งแก่นคร พัฒน์ เจ้านคร พัฒน์ สำคัญว่า จริง เพราะมิได้เห็นทัพกรุงออกไปช่วย ด้วยในเวลานั้น กรุงเทพฯ ยังรบติดพันกับพม่าทางเมืองกาญจนบุรีอยู่ จึงยังมิได้ยกไปช่วย เจ้าพระยานคร พัฒน์ จึงทิ้งเมืองเสีย พาพรรคพวกครอบครัวหนีไปอยู่นอกเขาตำบลจันดี ปลายคลองคุดด้วน แขวงอำเภอฉวาง ที่ซึ่งเจ้าพระยานคร พัฒน์ ไปตั้งทับอาไศรยอยู่ เรียกว่า ทับเจ้าพระยา ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ พม่าได้เมืองนครศรีธรรมราช ก็เข้าตั้งอยู่ในเมือง ให้รวบรวมรี้พลกองทัพจะยกไปตีเมืองพัทลุง เมืองสงขลา ต่อไป ๚

ฝ่ายข้างเมืองพัทลุง เจ้าเมือง กรมการ ได้แจ้งว่า เมืองชุมพร เมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช เสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงปฤกษากันคิดจะยกครอบครัวหนี ยังมีพระสงฆ์องค์ ๑ ชื่อ มหาช่วย เปนเจ้าอธิการวัดในแขวงเมืองพัทลุง สำแดงวิชาเวทมนต์ลงเลขยันต์กะตุดประเจียดมงคลให้แก่กรมการนายบ้านชาวเมืองทั้งปวงคน เหล่านั้นก็นิยมยินดี ถือมั่นเอาสิ่งนั้นเปนเครื่องป้องกันสาตราวุธ พาให้ใจกล่าวขึ้นถึงอาจสู้รบพม่าได้ กรมการจึงจัดพลได้พันเศษ แล้วเชิญท่านมหาช่วยอาจารย์ขึ้นคานหาม (ไนยหนึ่งว่า ขี่ช้างมาในกองทัพด้วย) ยกออกมาตั้งคอยรบพม่าอยู่กลางทางห่างเมืองพัทลุง พระมหาช่วยมีปืน ๒ กระบอกยัดดินส่งให้ศิษย์เดินยิงมาน่าช้าง พม่าข้าศึกดูเห็นเปนกองทัพใหญ่ยกมาก็แตกหนีไป ๚

ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยกกองทัพเรือมาถึงเมืองชุมพร ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ในเมือง จึงมีพระบัณฑูรดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร กองน่า ยกทัพบกล่วงออกไปตั้งอยู่ณเมืองไชยาเปนหลายค่าย ๚

ฝ่ายกองทัพพม่าแจ้งว่า ทัพกรุงยกออกไป แม่ทัพจึงให้เนมโยคุงนรัด กองน่า ยกกองทัพมารับทัพกรุง แก่งหวุ่นแมงยี่ แม่ทัพ ก็ยกหนุนมา พอทัพน่าพม่ายกมาปะทะทัพไทยที่เมืองไชยา ยังไม่ทันจะตั้งค่าย ไทยก็ยกเข้าล้อมพม่าไว้รอบ ขุดสนามเพลาะรบกันกลางแปลงแต่เช้าจนค่ำ พอฝนตกห่าใหญ่ลงมา พม่าจึงแหกออกจากที่ล้อมหนีไปได้ พลทหารไทยไล่ติดตามพม่าไปในเวลากลางคืน พม่ามิได้หยุดรอรบ แตกกระจัดพลัดพรายไปทีเดียว ฝ่ายแม่ทัพพม่ารู้ว่า กองน่าแตก ก็มิได้มารบ เลยบากทางหนีไปข้างตวันตก ๚

ฝ่ายยี่หวุ่น แม่ทัพเรือ ซึ่งไปตีเมืองถลาง ไปตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง แตกแล้ว ก็ยกเลยไปถึงเกาะถลาง ให้พลทหารขึ้นตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ ขณะนั้น ในเมืองถลาง พระยาถลางถึงแก่กรรมลง แต่ภรรยาพระยาถลาง ชื่อ จัน กับน้องสาวอิกคนหนึ่ง (ชื่อ มุก) เปนคนใจกล้าหาญองอาจ จึงให้กรมการเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองทั้งชายหญิงออกตั้งค่ายรบกับพม่านอกเมือง ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบกันอยู่ทุกวัน จนประมาณได้เดือนเศษ พม่าก็หักเอาเมืองมิได้ ไพร่พลในกองทัพก็ขัดเสบียงอาหารลง ก็จำเปนต้องเลิกทัพกลับไป ๚

ขณะนั้น เจ้าเมือง กรมการ ตามหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ซึ่งหนีพม่าไปนั้น ก็กลับมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ทั้งสิ้น ทรงโปรดมิให้เอาโทษ เพราะเห็นว่า ศึกหนักเหลือกำลังที่จะสู้รบ จึงให้ไปรวบรวมไพร่บ้านพลเมืองมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แล้วเสด็จยกทัพหลวงไปจัดราชการบ้านเมืองในหัวเมืองเหล่านั้นทุกเมือง เมื่อเสด็จมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ให้ตามได้ตัวเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พัฒน์ มา ทรงพระกรุณาโปรดยกโทษให้ อนึ่ง ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระมหาช่วยซึ่งได้ช่วยป้องกันเมืองพัทลุงนั้น เปนผู้ได้ราชการ มีความชอบมาก แต่ถ้าจะพิจารณาไปข้างน่าที่สมณะ ก็เห็นว่า มัวหมองอยู่ จึงให้สึกออกจากบรรพชิต แล้วตั้งให้เปนพระยาทุกขราษฎร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง ทำราชการฝ่ายฆราวาศ แล้วทรงพระราชดำริห์ว่า บรรดาเมืองแขกมลายูที่ตั้งอยู่ชายทเลตวันตกทั้งปวงยังมิได้อ่อนน้อมยอมขึ้นแก่กรุงสยาม ควรจะไปตีเอามาขึ้นเสียให้จงได้ พระราชอาณาเขตรสยามจะได้แผ่ไพศาลไปในประเทศปากใต้ฝ่ายตวันตก จึงโปรดให้แม่ทัพน่ายกไปก่อน ทัพหลวงก็ยกหนุนไปตีเมืองตานีที่เปนเมืองใหญ่ได้ แลเมืองอื่น ๆ คือ เมืองตรังกานู. เมืองกลันตัน. เมืองไทร. เปนต้น เหล่านี้ มายอมสวามิภักดิโดยดี กับหัวเมืองแขกเล็กน้อยทั้งปวงก็ตีได้อิกหลายเมือง ที่ยอมขึ้นไม่ต้องตีก็มี แล้วมีพระบัณฑูรดำรัสสั่งให้แต่งหนังสือบอกข้อราชการเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบ จึงโปรดให้มีตราหากองทัพกลับ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงจัดราชการหัวเมืองฝ่ายตวันตกเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จยกทัพหลวงกลับคืนกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราออกไปเลื่อนยศผู้รักษาเมือง กรมการ ผู้มีความชอบ แล้วตั้งจัน ภรรยาพระยาถลาง ซึ่งได้ช่วยรบสู้กู้บ้านเมืองไว้ได้นั้น ขึ้นเปนที่ท้าวเทพกระสัตรี ตั้ง (มุก) น้องสาวคนหนึ่ง เปนที่ท้าวศรีสุนทร อยู่ในเมืองถลางด้วย ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯ ทรงได้ปืนทองมาแต่เมืองตานี ๒ กระบอก ยาว ๓ วาศอกคืบ ๒ นิ้วกึ่งกระบอก ๑ ยาว ๕ ศอกคืบ ๙ นิ้วกระบอก ๑ กระบอกใหญ่ให้จาฤกบอกว่า พระยาตานี โปรดให้หล่อขึ้นเปนคู่กัน อิกกระบอก ๑ จาฤกชื่อว่า นารายน์สังหาร แล้วให้หล่อขึ้นอิก ๖ กระบอก ใหญ่รองเปนคู่ ๆ ลงมา ๚

เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พัฒน์ ถวายคุณหญิงนุ้ยใหญ่ ธิดา ทำราชการในพระราชวังหลวง มีพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรุณไทย ได้เปนกรมหมื่นศักดิพลเสพ แล้วต่อมา ได้เปนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระองค์เจ้าหญิงปัทมราช คุณชายน้อยถวายเปนมหาดเล็ก ได้เปนที่นายศัลวิไชย มหาดเล็กหุ้มแพร แล้วเลื่อนเปนพระอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาศรีธรรมราช พัฒน์ มีความชราทุพพลภาพ โปรดให้เลื่อนบันดาศักดิขึ้นเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เจ้าพระยาจางวาง เปนผู้ตกแต่งบ้านเมือง พระอนุรักษ์ภูเบศร์ได้เลื่อนขึ้นเปนพระยาศรีธรรมราช สำเร็จราชการเมืองนคร เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีได้แต่งกำแพงด้านเหนือ แลสร้างพระอุโบสถหอไตรสามหลังที่วัดท่าโพธิ อุโบสถวัดสำฤทธิไชย พระวิหารหลวงในวัดพระบรมธาตุ กับได้ปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง วัดประดู่ อิกด้วย แต่ทับเกษตรรอบองค์พระบรมธาตุของเดิมชำรุด พระครูการาม เจ้าวัดสระเรียง เปนผู้ปฏิสังขรณ์ ครั้นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีถึงแก่อสัญกรรม พระยาศรีธรรมราช น้อย ได้เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยา[9] ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงอิน เชื้อเจ้ามาแต่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงเรียกว่า พี่อิน[10] ท่านผู้หญิงอินมีบุตรธิดากับเจ้าพระยานคร น้อย ๖ คน คือ

เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ เปนเจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าเฉลิมวงษ์

เจ้าจอมน้อยเล็กในรัชกาลที่ ๓

เจ้าพระยามหาศิริธรรม ชื่อ น้อยใหญ่ เรียกอิกชื่อ ๑ ว่า เมือง ถวายตัวเปนมหาดเล็ก ได้เปนนายศัลวิไชย เข้าใจว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ เปนพระเสนามนตรี ปลัด แล้วเลื่อนเปนพระยาพัทลุง แล้วเข้ามาเปนพระยาอุไทยธรรม รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เปนเจ้าพระยามหาศิริธรรม ผู้รักษากรุงเก่า

เจ้าพระยานคร น้อยกลาง ในรัชกาลที่ ๓ เปนพระเสนหามนตรี ปลัดเมืองนคร ได้เปนพระยานครต่อเจ้าพระยานคร น้อย ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยานคร

พระยาเสนหามนตรี ชื่อ น้อยเล็ก ฤๅ เอียด ในรัชกาล ที่ ๓ เปนหลวงฤทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วเลื่อนเปนพระยาเสนหามนตรี

คุณน้อยหญิง อยู่เมืองนคร ไม่ได้ทำราชการ

เจ้าพระยานคร น้อย มีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่นอิกหลายคน สืบได้รายชื่อ คือ

ส่วนบุตร

ชื่อ แสง ได้เปนพระยาไทรบุรี แล้วมาเปนพระยาพังงาเมื่อในรัชกาลที่ ๓

ชื่อ นุด เปนพระยาเสนานุชิต ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า

ชื่อ กล่อม เปนพระยาวิชิตสรไกร ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ในรัชกาลที่ ๔

ชื่อ พุ่ม เปนพระยากาญจนดิฐบดีในรัชกาลที่ ๕

ชื่อ ม่วง เปนพระอุไทยธานี ผู้ว่าราชการเมืองตรัง

ชื่อ หงษ์ เปนพระวิชิตสรไกร รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ

ชื่อ ฉิม เปนพระเจริญราชภักดีบุรีธรรมพิพัฒน์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุย

พระราชานุรักษ์ ชื่อไรสืบไม่ได้ความ รับราชการอยู่ทางเมืองไชยา

ชื่อ เสม เปนหลวงศรีสุพรรณดิฐ ปลัดเมืองกาญจนดิฐ

๑๐นายเถื่อน ๒ คนนี้ไม่ได้ทำราชการ
๑๑นายเดช
ส่วนธิดา

คุณพัน

คุณตลับ

คุณทิม

คุณปราง

คุณแย้ม

คุณพุ่ม

คุณอิ่ม

ทั้ง ๗ นี้ถวายตัวทำราชการในพระบรมหมาราชวังเมื่อรัชกาลที่ ๓

คุณกลิ่น ถวายตัวทำราชการในพระบรมมหาราชวังเมื่อรัชกาลที่ ๓ ได้เปนท้าวศรีสัจจาในรัชกาลที่ ๕

คุณบัว ถวายตัวทำราชการในพระบรมมหาราชวังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เปนเจ้าจอมมารดา มีลูกเธอ ๕ พระองค์ คือ กรมขุนศิริธัชสังกาศ แลกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เปนต้น

๑๐คุณเอม ไม่ได้ทำราชการ

เวลานั้น เมืองไทรบุรี กับเมืองปลิศ สตูน แขงเมือง ไม่ขึ้นกรุงเทพฯ เจ้าพระยาศรีธรรมราช (น้อย) รับอาสาไปตีเมืองไทร มีทหาร คือ พระณรงค์วิชิต ๑ พระมหาจัตุรงค์ ๑ เปนแม่ทัพ หลวงเทพเสนา หลวงชาญพลรบ ทหารรอง ครั้นตีเมืองไทรแตกแล้ว เจ้าพระยาศรีธรรมราชได้เลื่อนยศขึ้นเปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช[11] ให้พระบริรักษ์ภูธร (แสง) พระเสนานุชิต (นุด) ซึ่งเปนบุตรในหม่อมช่วยทั้ง ๒ อยู่รักษาราชการเมืองไทรบุรี ๚

เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชตั้งต่อเรือปาก ๓ วาที่บ้านดอนเข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทานนามว่า เรือพระที่นั่งอมรแมนสรรค์ แลเวลานั้น (เจ้าพระยานครเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ) ให้พระณรงค์ชลธีอยู่รักษาราชการเมืองนครฯ ๚

ฝ่ายตุงกูเดน หลานพระยาไทร ซ่องสุมกองทัพ แล้วให้นายแท่นเอาเหล็กมาลอบอุดรูชนวนปืนใหญ่ที่เมืองตรัวเสียหมดทุกกระบอก นายแท่นนี้ เดิมเปนบุตรหลวงแพ่ง กรมการเมืองตรัง ไปเข้าแขกเปลี่ยนชื่อเปน ตุงกูงาม[12] แล้วตุงกูเดนตีได้เมืองไทรอิก พระบริรักษ์ภูธร พระเสนานุชิต บุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช น้อย ผู้รักษาราชการเมืองไทร พากันอพยพหนีมาเมืองนครฯ ต้องอาวุธพวกแขกเจ็บสาหัส เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช น้อย ผู้บิดา โกรธ สั่งให้ลงโทษเฆี่ยนหลังบุตรทั้ง ๒ นั้นอิกคนละ ๓๐ แล้วยกทัพไปตีเมืองไทร ทัพตุงกูเดนแตก ครั้งนี้ ให้พระมหาจัตุรงค์อยู่รักษาราชการเมืองไทรบุรีต่อไป ๚

คุณศัลวิไชย บุตรที่ ๓ ของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย) ซึ่งไปรักษาราชการที่เมืองพัทลุง กลับมาเมืองนคร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ไปเปนเจ้าพระยามหาศิริธรรมพโลปถัมภ์ฯ ผู้สำเร็จราชการกรุงเก่า[13] เจ้าพระยามหาศิริธรรมพโลปถัมภ์มีมีภรรยาชื่อ คุณหญิงเผือก บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ มีบุตร ๓ คือ พระยาบำเรอบริรักษ์ หนูใหญ่ ๑ พระยาศรีสรราช หนูเล็ก ๑ คุณหนูชี ๑ คุณหนูชีถวายตัวในวังหลวงในรัชกาลที่ ๔ มีบุตรกับหม่อมทับทิม (บุตรหลวงกะเตาบ้านลำแบน) คือ คุณหญิงใหญ่ ๑ พระนราธิราช ๑ คุณพลับ ๑ คุณพลับถวายตัววังหลวงในรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชได้ถวายพระแท่นถมตะทอง ๑ พระราชยานถม ๑[14]

เจ้าพระยานคร (น้อย) เปนโรคลม ให้อาเจียน น้ำลายเหนียว เสมหะปะทะน่าอก ป่วยมาแต่ณวัน ค่ำ ครั้นณวัน ๑๔ ค่ำ ปีกุญ จุลศักกราช ๑๒๐๑ โรคกำเริบขึ้น ให้หอบเสมหะดังครอก ๆ ให้มือเท้าเย็นนิ่งแน่ไป ครั้นเวลา ๕ ทุ่มเศษ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระเสนหามนตรี (น้อยกลาง) ได้เปนพระยาศรีธรรมราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลื่อนยศขึ้นเปนเจ้าพระยา เจ้าพระยาศรีธรรมราช (น้อยกลาง) มีท่านผู้หญิง คือ หม่อมราชวงษ์หญิง หม่อมราชวงษ์หญิงมีบุตรชาย ๑ คุณพร้อม ๒ คุณถัด ๓ คุณเอี่ยม หญิง คือ ๑ คุณอิ่ม ๒ คุณกลาง ๓ คุณสว่าง กับบุตรหญิงอิกคน ๑ เปนไข้ทรพิศม์ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเด็ก บุตรภรรยาน้อย ชาย นายบัว มารดาชื่อ บัว ๑ นายเกด มารดาชื่อ เกด ๑ เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว คุณพร้อม เดิมเปนพระเสนหามนตรี แล้วได้เลื่อนขึ้นเปนพระยาศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองนคร คุณถัด เดิมเปนพระเสนหามนตรี แล้วเลื่อนเปนพระศิริธรรมบริรักษ์ ปลัดเมือง คุณเอี่ยม เดิมเปนพระภักดีดำรงฤทธิ ผู้ช่วยราชการเมืองนคร แล้วเลื่อนเปนพระยาตรังคภูมาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองตรัง ภายหลัง กลับจากเมืองตรังมาเปนผู้ช่วยพิเศษเมืองนคร แลเปนพนักงานคลังเมือง เมื่อศก ๑๒๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนพระยาบริรักษ์ภูเบศร์ คุณอิ่มได้ถวายเปนเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ เมื่อสิ้นรัชกาลนั้นแล้ว กลับมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ คุณกลางไม่ได้ถวาย แลไม่มีสามี คุณสว่างถวายเปนเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ นายบัวเปนหลวงอนุสรสิทธิกรรม นายอำเภอสิชล แม่บัว มารดาหลวงอนุสรนั้น เปนบุตรีเจ้าพระยานคร น้อย ๚


  1. หลวงสิทธินายเวรคนนี้ เข้าใจว่าชื่อ หนู ด้วยมีในคาถาประกาศพิธีตรุศเมืองนครใช้คำว่า มุสิก ในที่ขานนามเมื่อเปนเจ้านครฯ เห็นจะเปนเชื้อข้าราชการเก่าในเมืองนครศรีธรรมราช
  2. ชื่อหัวเมืองต่าง ๆ ที่กล่าวนี้ไม่ถูกตามจริง ด้วยเปนเมืองตั้งทีหลังครั้งเจ้านครหลายเมือง แลที่รู้เปนแน่นั้น เมืองไทรแลเมืองตานีตั้งเปนอิศระเหมือนกัน มิได้ขนนครศรีธรรมราชครั้งเจ้านครฯ
  3. เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเจ้านครเปนเจ้าประเทศราช อ้างเหตุในสา ตราอิกข้อ ๑ ว่า ได้ถวายธิดาทำราชการ แลธิดานั้นมีพระราขโอรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ว่า ทำนองพระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้ทรงปรารภเรื่องสืบสันตติวงษ์ พิเคราะห์ตามความมุ่งหมาย ดูเหมือนตั้งพระไทยจะให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอองค์ ๑ ครองกรุงกัมพูชา ให้เจ้าทัศพงษ์ ลูกเธอซึ่งภายหลังเปนพระพงษ์นรินทร์ ซึ่งเปนหลานเจ้านคร ครองเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนกรุงธนบุรีนั้น จะมอบราชสมบัติประทานเจ้าฟ้าสุพันธวงษ์ ที่เรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น ด้วยเปนพระราชนัดดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งเมืองนครศรีธรรมราชเปนเมืองปรเทศราชไว้
  4. ตึกหลังนี้ ข้าพเจ้าได้เคยเห็น เปนตึกเล็ก ๆ ทำค้าง สงไสยว่า มิใช่ท้องพระโรง แลเปนของที่สร้างทีหลัง อาจจะสร้างตรงที่ท้องพระโรงเจ้านคร จึงเลยเรียกว่า ท้องพระโรง ครั้งเจ้านครนั้น แม้ในกรุงธนบุรี ท้องพระโรงก็ยังไม่เปนตึก
  5. ชื่อลูกเมียเจ้านครไม่เคยปรากฎชัดเจนในที่อื่น ในบาญชีนี้ขาดคุณฉิม พี่คุณปราง ไปคน ๑ คุณฉิมนั้นที่บิดาได้ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เปนพระสนมเอก ปรากฎในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า เทียบที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มีลูกเธอ ๒ องค์ ชื่อ เจ้าทัศนพงษ์ ภายหลัง ได้เปนพระพงษ์นรินทร์ องค์ ๑ เจ้าทัศภัย ภายหลัง ได้เปนพระอินทรอภัย องค์ ๑ คุณปราง น้องคุณฉิม ที่กล่าวว่า ถวายตัวในพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ตามเรื่องราวที่ปรากฎ เห็นจะไม่ได้เปนพระสนมอยู่ก่อน ด้วยปรากฎว่า เจ้าพระยาพิไชยราชาให้เถ้าแก่ไปขอต่อเจ้าจอมมารดาฉิม พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบ ทรงพระพิโรธว่า เจ้าพระยาพิไชยราชาบังอาจจะมาเปนเขยน้อยเขยใหญ่กับพระองค์ ถึงให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาพิไชยราชา แต่คุณปรางนี้อยู่วังต่อมามีครรภ์ขึ้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานแก่เจ้าพัฒน์ อุปราชเมืองนคร รับไปคลอดบุตรเมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๓๖ บุตรนั้น คือ เจ้าพระยานคร น้อย จึงเชื่อกันว่า เจ้าพระยานคร น้อย เปนลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี
  6. ตรงนี้ผิด ที่จริงคุณปรางออกไปแต่ครั้งกรุงธนบุรีดังกล่าวมาแล้ว.
  7. ที่เรียกว่า คุณหญิง นี้ เปนคำพวกชาวนครเรียก แต่เรียกกันในกรุงเทพฯ ว่า คุณนุ้ยใหญ่ คุณนุ้ยเล็ก.
  8. บุตรเจ้าพระยานคร พัฒน์ นอกจากบาญชีนี้ ได้ความว่า ชื่อ ฉิม เปนพระยาภักดีภูธร อยู่วังน่า คน ๑ ชื่อ นายเริก คน ๑ นายกุน คน ๑ ไม่ได้ทำราชการ.
  9. เปนเจ้าพระยาต่อในรัชกาลที่ ๓
  10. มีในจดหมายเหตุของนายพันโท โล อังกฤษ แต่งเรื่องเมืองนครเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ ว่า ท่านผู้หญิงอินนี้เปนราชินีกูล ข้อที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเรียกว่า พี่อิน นั้นก็เปนความจริง มีปรากฎอยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ สืบถามได้ความจากนางสาวกลาง ณนคร ธิดาเจ้าพระยานคร น้อยกลาง ว่า ท่านผู้หญิงอินนั้นเปนธิดาพระยาพินาศอัคคี ตระกูลทางบางช้าง พระยาอภัยสงคราม ที่ได้ไปเปนพระยาถลาง เปนน้องท่านผู้หญิงอิน
  11. ชื่อพระยานครตามทำเนียบเดิมเปน "พระยาศรีธรรมโศกราชฯ" เปนเจ้าพระยาฤๅเปนพระยาก็เหมือนกัน พึ่งเปลี่ยนเปนพระยาศรีธรรมราชเมื่อในรัชกาลที่ ๔.
  12. นายแท่นคนนี้ ทราบว่า ทีหลังกลับมาอยู่เมืองตรังอิก อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงษ์ออกปไปตรวจราชการ ได้ความว่า ยังคบโจรผู้ร้าย จึงให้ประหารชีวิตรเสีย อ้างโทษถึงครั้งเปนขบถด้วย.
  13. ตรงนี้เข้าใจผิด เรื่องจริงปรากฎอยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ คือ เมื่อเจ้าพระยานคร น้อย ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาพัทลุงจะครองเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้ จึงย้ายเข้ามาเปนพระยาอุไทยธรรมอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เปนเจ้าพระยาต่อในรัชกาลที่ ๔.
  14. เข้าใจว่า พระราชยานถมนั้น เจ้าพระยานคร น้อยกลาง ทำถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๔.