ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 53 (2473)/เรื่องที่ 3

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ จดหมายบอกข่าวถึงเจ้าพระยานครฯ
สารบัญ
จดหมายบอกข่าวถึงเจ้าพระยานครฯ
โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โดย นายศัลวิชัย (น้อยใหญ่) (ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

จดหมายบอกข่าวถึงเจ้าพระยานครฯ
อธิบาย

จดหมายฉบับนี้เปนจดหมายมีบอกข่าวราชการในกรุงเทพฯ ถึงเจ้าพระยานคร น้อย แต่ยังเปนพระยานครฯ อยู่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพลบุรีราเมศวร์ ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช ประทานไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณเมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ตัวจดหมายเปนสมุดดำ เขียนด้วยเส้นดินสอ สังเกตผีมือ เห็นว่า เขียนเมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงเข้าใจว่า จะเปนตัวต้นจดหมาย ด้วยในครั้งนั้น จดหมายไปมาถึงกันใช้ทั้งกระดาษเพลาแลสมุดดำ ถ้าเปนจดหมายไปรเวต มักจะเขียนสมุดดำ ด้วยเขียนง่ายไม่ต้องร่าง มีตัวอย่างดังเช่นจดหมายหลวงอุดมสมบัติมีถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติเมื่อยังเปนพระยาศรีพิพัฒน์ เปนแม่ทัพลงไปเมืองสงขลา ซึ่งได้พิมพ์แล้วนั้น ต้นหนังสือก็เขียนในสมุดดำทั้งนั้น ๚

จดหมายฉบับนี้ ลักษณ์ที่ใช้ตัวอักษรแลถ้อยคำ เปนชาวนครเขียน ตัวเขียนคงเปนชาวนครซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ แต่มิใช่คนชั้นเลว เพราะเปนผู้ที่เข้าเฝ้าแหนได้ใกล้พระองค์ อาจจะได้ยินกระแสรับสั่ง ทั่งในเวลาเสด็จประพาศ แลเวลาเสด็จออกว่าราชการในท้องพระโรง ดังปรากฎอยู่ในจดหมาย ถ้าสันนิฐานตามตัวคนซึ่งเคยได้ยินชื่อเสียง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า น่าจะเปนจดหมายของเจ้าพระยามหาศิริธรรมฯ บุตรคนใหญ่ของเจ้าพระยานครฯ เวลานั้น เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงฯ เปนที่นายศัลวิไชย หุ้มแพรมหาดเล็ก เสียดายนักที่ได้จดหมายฉบับนี้มาแต่ตอนกลาง ตอนต้นแลตอนท้ายขาดหายไปเสีย แต่ถึงกระนั้น เห็นควรจะพิมพ์รักษาไว้ไม่ให้สูญ ด้วยนับว่า เปนหนังสือสำคัญในทางที่จะให้ความรู้โบราณคดีแก่ผู้ซึ้งจะได้อ่านในปัจจุบันนี้ จึงได้พิมพ์ไว้ท้ายพงษาวดารเมืองนครศรีธรรมราชฉบับนี้ด้วย ๚

เรื่องราวอันเปนมูลเหตุแห่งจดหมายนี้นั้น คือ เมื่อแรก ตั้งกรุงรัตนโกสินทร เมืองสงขลายังเปนเมืองขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช มาจนปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒ แขกเมืองตานีเปนขบถขึ้น เวลานั้น เจ้าพระยานคร พัฒน์ ผู้เปนต้นสกุล ณนคร สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยาสงขลา บุนฮุย ผู้เปนต้นสกุล ณสงขลา เปนพระยาสงขลา เมืองสงขลามีความชอบในการปราบปรามแขกขบถ เมื่อสำเร็จการปราบปรามแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองนครตรวจตรากำกับราชการหัวเมืองแขกไม่ได้ทั่วถึง จึงโปรดให้ยกเมืองสงขลาเปนหัวเมืองใหญ่ขึ้นกรุงเทพฯ เลื่อนยศพระยาสงขลา บุนฮุย ขึ้นเปนเจ้าพระยา แต่นั้น พระยานครฯ กับพระยาสงขลาก็ไม่ชอบกันลงมาทั่วทุกชั้นบุรุษ เพราะเมืองทั้งสองพรมแดนติดต่อกัน แต่ก่อน เมืองนครฯ เคยมีอำนาจแต่เมืองเดียว ฝ่ายข้างเมืองสงขลาทำเล ท้องที่เหมาะแก่การค้าขายทางทเล ด้วยอยู่ปากน้ำ สินค้าเมืองพัทลุงแลเมืองนครข้างฝ่ายใต้ต้องออกทางนั้น สกุลณสงขลาเปนพ่อค้า เข้าใจแสวงหาผลประโยชน์ทั้งที่จะได้จากการค้าขายแลเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเข้าไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นเมืองให้มากขึ้น ฤๅถ้าจะว่าโดยย่อ ก็คือ ตั้งแต่เมืองสงขลาได้เปนหัวเมืองใหญ่แล้ว ก็ตั้งหน้าแข่งเมืองนครเรื่อยมา ข้างเมืองนครก็ขัดขวาง ด้วยจะรักษาอำนาจแลป้องกันผลประโยชน์ เหตุอันนี้มีอยู่เสมอ พระยาทั้ง ๒ เมืองจึงไม่เข้ากัน อริกันตลอดไปจนในราชการ เช่นปรากฎอยู่ในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัตินั้นเปนตัวอย่าง ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องคุมเชิงระวังผิดชอบไม่ให้เสียแต้มคูกัน ด้วยเหตุนี้ ทั้งพระยานครแลพระยาสงขลาต่างสั่งลูกหลานที่เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ให้คอยสืบสวนข่าวคราว โดยเฉภาะที่เกี่ยวด้วยเมืองสงขลาฤๅเมืองนคร บอกไปให้ทราบกันเสมอ ไม่ใช่สืบแต่ข้างเมืองนครฤๅเมืองสงขลาฝ่ายเดียว ข้าพเจ้าเคยได้เห็นต้นจดหมายเจ้าพระยาสงขลา เม่น แต่เมื่อเปนจ่าเรศในรัชกาลที่ ๓ มีบอกข่าวไปเมืองสงขลาฉบับ ๑ แต่ข้อความไม่สำคัญถึงควรจะพิมพ์ไว้เช่นจดหมายฉบับนี้ ๚

ผู้ที่ได้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติย่อมต้องออกปากชมว่า กระบวนจำของหลวงอุดมสมบัติเปนอย่างดี ด้วยจดจำได้จนถึงถ้อยคำที่รับสั่งว่าอย่างไร ๆ ถ้าใครอ่านจดหมายฉบับนี้ จะได้รู้ความอิกอย่างหนึ่งว่า วิธีจดจำอย่างนั้นเปนวิธีเขียนจดหมายกันในครั้งนั้น เพราะจะได้เห็นในจดหมายฉบับนี้ว่า เขียนในทำนองเดียวกันกับจดหมายหลวงอุดมสมบัติ แต่หากได้ต้นฉบับมาน้อย ไม่พอจะสันนิฐานได้ว่า ความจดจำของผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ดีเพียงไร ๚

ถ้าว่าเฉภาะเนื้อเรื่องที่ปรากฎในจดหมายฉบับนี้ ที่กล่าวถึงเรื่องคนหนีเข้าไปอยู่ในเขตรสงขลา ข้าหลวงออกไปศักเลข พระยาสงขลา เซ่ง ซึ่งเปนตำแหน่งขึ้นใหม่ในเวลานั้น ไม่ขับต้อนผู้คนมาให้ข้าหลวงศักนั้น พอจะเข้าใจได้ว่าด้วยเหตุใด เพราะพระราชกำหนดมีอยู่ว่า คนหมู่เมืองไหน ถ้ามิได้รับอนุญาตหักโอนให้ไปอยู่ต่างเมือง ไม่ขาดจากสังกัดเมืองเดิม ข้างพระยาสงขลาตั้งใจเกลี้ยกล่อมคนเมืองนคร เมืองพัทลุง เอาเข้าไปไว้เมืองสงขลา ข้างพระยานครอยากจะได้คนกลับมา ข้อนี้เองเปนเหตุให้ซ่อนเร้นผู้คน พระยาสงขลา เซ่ง นี้อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ คนเดียวกับพระยาสงขลาที่ปรากฎในเรื่องจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ๚

ตัวความในจดหมาย

(ข้างต้นฉบับขาด) กราบทูลว่า ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสุรเสนา พระยาพิไชยสงคราม ออกไปชำมระไทยแขกซึ่งหนี กับเลขต่างเมือง แลเลขหนีตาทัพ ไปอยู่เมืองสงขลา แลเมืองแขกขึ้นแก่เมืองสงขลานั้น หาได้ไม่สักคน หลวงเทพเสนีอ่านหนังสือบอกใบของท่านพระสุรเสนาแต่ต้นจนจบ แล้วอ่านหนังสือพระยาไชยสงครามถวายต่อไป อ่านแต่เทียมข้อซึ่งว่า ได้ชำมระเลขต่างเมือง ได้เมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองไชยา ซึ่งชำมระได้แลยังมิได้ชำมระจนจบ แต่ต้นหนังสือนั้นหาอ่านถวายไม่ ครั้นอ่านหนังสือจบแล้ว พระโองการตรัสว่า เมื่อกระนั้นแล้ว จะให้อยู่ไปที่ไหนได้ เอาเข้ามาเสีย เมื่อไม่เห็นแก่ราชการแผ่นดิน เปนแต่อย่างนี้ ถ้ามีราชการทัพศึก จะหมีเสียไปฤๅ ไม่เปนใจทำการ ก็เอาตัวเข้ามาเสียกรุง, จะให้คนอื่นออกไปเปนก็ได้ แล้วตรัสถามขุนวิเศษภัคดีว่า มาแต่สงขลาเมื่อใด ขุนวิเศษภักดีกราบทูลว่า มาแต่เดือนสิบเอ็จ มาลงเรือที่เมืองนคร มาถึงเมืองชุมพร ต้องพยุลมว่าว ขึ้นเดินบกมาแต่เมืองชุมพรเดือนเศษ พระโองการรับสั่งถามว่า พระยาสุรเสนายังอยู่เมืองสงขลาฤๅ ขุนวิเศษภักดีกราบทูลว่า ยังอยู่ที่เมืองสงขลา แล้วพระโองการตรัสว่า เมื่อพระยาสงขลาออกไป ก็ได้ว่ากล่าวออกไปแล้ว ก็ยังเปนได้อย่างนี้ ไทยแขกหนีไปอยู่เปนหนักเปนหนา แต่สักคนหนึ่งก็ไม่ได้ ด้วยไม่เปนใจที่จะให้เปนราชการ แต่ตรัสเคืองพระยาสงขลาอยู่หลายครั้ง แต่มิได้ตรัสกับผู้ใด ด้วยลอองพระบาท[1] แลเจ้านายอื่นก็ไม่ได้ไปเฝ้า ขุนนางผู้ใหญ่ก็หามีผู้ใดไม่ แล้วรับสั่งว่า จะข้ามไปวัดแจ้ง แล้วเสด็จขึ้น เมื่อวันถวายหนังสือเพลาเช้าที่พระแกลนั้น กรมการเมืองสงขลาหามีผู้ใดไปเฝ้าหมีได้ แต่หลวงรักษาสมบัติ พวกกรมท่า ไปเฝ้าที่พระแกล

ครั้นพระโองการเสด็จขึ้นแล้ว เอาความไปกราบทูลพระเจ้าลูกเธอ[2] ที่วัง ตามข้อความในหนังสือพระยาสุรเสนา พระยาพิไชยสงคราม แลในพระโองการตรัสเคืองแก่พระยาสงขลา แล้วพระเจ้าลูกเธอเสด็จไปวัดแจ้ง ไปพบกับลอองพระบาทที่วัด ลอองพระบาทกรมเจศก็หมีได้ถาม ลอองพระบาทกรมหมื่นศักดิ์ก็หมีได้ตรัสบอกลอองพระบาทกรมเจศ แลเมื่อข้าพเจ้าลงเรือตามเสด็จลอองพระบาทกรมหมื่นศักดิ์ไปวัดแจ้ง ข้าพเจ้าไปข้ามตรงแพพระยาสงขลาซึ่ง (ผู้) ช่วยราชการอยู่ เห็นพระศรีสมบัตินั่งพูดกันอยู่กับ (ผู้) ช่วยราชการที่แพ ครั้นเพลาสามโมงเช้า พระโองการเสด็จข้ามไปวัดแจ้ง เจ้านายแลขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยไปดูทำการอยู่ที่วัดแจ้ง พระเจ้าลูกเธอชวนลอองพระบาทจะลงมารับเสด็จพระโองการที่พลับพลา ลอองพระบาทตรัสกับพระเจ้าลูกเธอว่า คอยรับเสด็จอยู่ที่นี่เถิด ลอองพระบาทแลพระเจ้าลูกเธอก็หาลงไปรับเสด็จพระโองการไม่ ครั้นพระโองการเสด็จเที่ยวทอดพระเนตรกุฎีแลกติ เสด็จมาถึงที่ลอองพระบาท แลพระเจ้าลูกเธอ เจ้าพระยาอภัยภูธร เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ คอยเฝ้าอยู่ พระโองการเสด็จมาถึง ตรัสว่า จะนั่งด้วย พระโองการก็เสด็จอยู่บนพระที่นั่งเก้าอี้ ตรัสคิดแต่ที่จะทำกุฎี ทำกติ ทำหอไตร ทำโรงฉัน ตรัสไปแต่ด้วยการวัดทั้งนั้น ด้วยหนังสือซึ่งพระยาสุรเสนา พระยาพิไชยสงคราม บอกเข้าไปนั้น พระโองการหาตรัสที่วัดไม่ แล้วพระโองการเสด็จกลับ

ครั้นเพลาค่ำ พระโองการเสด็จออก รับสั่งถามด้วยราชการ แล้วอ่านรายการปากน้ำปากลัดถวาย แล้วจึงรับสั่งถามลอองพระบาทว่า เปนอย่างไหรยซึ่งพระยาสุรเสนาออกไปชำมระไทยแขกแต่สักคนหนึ่งก็ไม่ได้ ลอองพระบาทนิ่งเสียไม่กราบทูลสิ่งใด พระโองการตรัสเคืองแก่พระยาสงขลาว่า ข้าหลวงออกไปอยู่ แขกไทยก็ไม่ชำมระส่งให้ แล้วว่า ไปที่สตูนจะจัดแจงกรมการคนใดให้อยู่ชำระกับข้าหลวงก็หาไม่ ๆ กลัวไม่เกรง[3] เมื่อเจ้าของบ้านไม่เปนใจด้วย จะได้ที่ไหน จะให้ข้าหลวงไปเที่ยวหาเอา แล้วจะกลับว่า ข้าหลวงไปทำให้คนแตกตื่นหนีไปเสียอย่างนี้ ถ้ามีราชการทัพศึก จะหมีเสียราชการไปฤๅ ที่จะให้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมืองไปนั้น ที่ไหนจะให้เปนไป ได้ เอาตัวเข้ามาไว้ณกรุงเสีย ใครเห็นกไหรเล่า แต่พระโองการตรัสเคืองแก่พระยาสงขลาปนอยู่เปนมาก เจ้านายแลขุนนางมิได้กราบทูลรับพระโองการหาหมีได้ จึงมีพระโองการตรัสว่า ชวนกันเกรงใจพระยาสงขลาเสียสิ้น ไม่มีใครจะพูดด้วย เมื่อเปนอย่างนี้ จะหมีเสียงานเสียกการไปฤๅ แล้วพระโองการตรัสว่า ลอองพระบาทกรมหมื่นศักดิ์เล่า ครั้นจะว่าออกเปนพวกนคร ว่าออกไม่ได้[4] ครั้นจะว่าออกเล่าเปนเข้าข้างหนึ่ง จะว่านั้นยาก จึงรับสั่งถามพระเจ้าลูกเธอว่า ลอองพระบาทกรมหมื่นศักดิ์พูดออกไม่ได้เปนพวกนคร พระเจ้าลูกเธอเปนคนกลาง แล้วก็ไม่เข้าพวก เหนกระไหรยเล่า พระเจ้าลูกเธอกราบทูลว่า ความที่พระยาสุรเสนา พระยาพิไชยสงคราม บอกเข้ามานั้น หาทราบว่ากะไหรยไม่ แต่เมื่อ (ผู้) ช่วยราชการเข้ามา ทราบอยู่ว่า แขกนั้นพระยาสงขลาจัดแจงไว้อยู่บ้างอยู่แล้ว (ผู้) ช่วยราชการสงขลาเห็นได้ทีกราบทูลอ่อน ๆ แต่พอพระโองการได้ยินว่า แขกนั้นพระยาสงขลาจัดได้ไว้ร้อยเศษ เอาไปส่งให้พระยาสุรเสนา ๆ ไม่รับ พระโองการทรงทราบแต่หาตรัสว่าประการใดไม่ ตรัสบ่นเคืองแก่พระยาสงขลาต่อไปว่า เปนผู้น้อยไม่ยำเกรงผู้ใหญ่ เปนอย่างนี้ ถ้ามีราชการทัพศึก ที่ไหนจะเอาการได้ ข้าหลวงซึ่งให้ออกไปไม่ใช่ผู้น้อย เปนถึงพระยาสุรเสนา ก็ไม่มีความเกรง แล้วจะให้ใครไปอิกเล่า แล้วไทยแขกผู้คนก็ไม่ใช่ไพร่บ้านพลเมืองของตัว คนเขาอื่นต่างหาก แกล้งเกียจกันไว้แต่พออย่าให้ได้เปนการ จะทำ ๆ นองเหมือนพระยาสงขลาพี่ชาย[5] นั่นเปนลูกศิษย์หมื่นไวย พูดจากกลับลอก จริตอย่างนั้นเกลียดนักหาชอบไม่ พระยาสงขลาคนนี้ ดูแต่ก่อนแลเหมือนว่า จะ (เปนคนตรง) อยู่ ประเดี๋ยวนี้ ได้เข้าหาสำนักไหนอิกเล่า หฤๅว่า (รับมรฎก) ต่อมาแต่พี่ชาย แล้วตรัสว่า ทำนองพระยาสงขลาที่ตาย ชังนัก น้องแก่เปนไป...แล้วตรัสว่า พระยาพัทลุง...ดูแต่แรกเมื่ออยู่...(ฉบับที่ได้มาเท่านี้)


  1. ลอองพระบาท ตรงนี้ เข้าใจว่า กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ.
  2. พระเจ้าลูกเธอ ตรงนี้ หมายว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว.
  3. ตรงนี้ทำให้เข้าใจว่า เมืองสตูนขึ้นเมืองสงขลาในเวลานั้น บางทีจะมาขึ้นอยู่ชั่วคราวแต่ไม่นาน.
  4. เจ้าจอมมารดากรมหมื่นศักดิ์ เปนธิดาเจ้าพระยานครพัฒน์.
  5. คือ พระยาสงขลา จ๋อง.