ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 53 (2476)/เรื่องที่ 1

ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ พงศาวดารเมืองสงขลา

พงษาวดารเมืองสงขลา
ของเจ้าพระยาวิเชียรคิรี บุญสังข์
ตอนที่ ๑
แต่งเมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๐๗

 วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมสิบสามค่ำ จุลศักราชได้ ๑๒๐๗ ปีเถาะนักษัตร สัปตศก เพลา ๓ โมงเช้า พระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๔ นั่งณจวน พร้อมดัวยกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย ปรารภถึงวงษ์สกูลว่า ได้ครองเมืองสงขลามาแต่ครั้งไหน สักกี่ชั่ว มาแล้ว หามีผู้ใดจะเล่าได้ไม่ กรมการผู้ใหญ่ผู่น้อยที่สูงอายุเมื่อครั้งพณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาอินทคิรีศรีสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ก็ล่วงไปสิ้น เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการให้สืบหาผู้มีชื่อที่ได้ทำราชการครั้ง ฯพณฯ เจ้าพระยาสงขลา จะมีอยู่แห่งใดบ้าง จะได้สืบเรื่องราวราชการบ้านเมืองแต่ก่อน บุตรหลานจะทำราชการไปเมือน่า จะได้รู้ว่า วงษ์สกูลรับทำราชการว่ารั้งเมืองสงขลาแต่ครั้งนั้น ได้ความว่า ขุนพรหมเสนาตั้งเรือนอยู่บ้านมะม่วงหวาน เปนกรมการครั้งเจ้าพระยาสงขลาที่ ๑ มีอยู่คนหนึ่ง อายุได้ ๘๕ ปี ได้เอาตัวขุนพรหมเสนามาสืบ ขุนพรหมเสนาเล่าว่า บิดาขุนพรหมเสนาเป็นหลวงยกบัตร ตั้งเรือนอยู้บ้านหัวเขา คุมไพร่ส่วยดีบุก เมื่ออายุขุนพรหมเสนาได้ ๑๑ ปี ๑๒ ปี ขุนพรหมเสนาได้ยินหลวงยกรบัตร บิดาขุนพรหมเสนา เล่าว่า ครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าดอกเดื่อ[1] ตั้งเมืองที่กรุงเก่า เมือพม่ายกกองทัพมาตีกรุงเก่าได้ (เมื่อจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก) พม่าตีแตกมากระทั่งเมืองชุมพร ไชยา พวกกองทัพมากวาดเอาครอบครัวไทยไปเปนอันมาก เมื่อครั้งนั้น เมืองนครตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า ให้เจ้าไชยฤทธิ น้องเขยเจ้านคร เปนวังน่า เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ขึ้นกับเมืองนคร เมื่อครั้งกรุงเก่ายังไม่เสียแก่พม่า ว่า ให้จีนเมืองไทยเปนพระยาเมืองตาก ครั้นกรุงเก่าเสียแก่พม่า ขณะนั้น พระยาตากพาอพยพหนี ครั้นพม่ายกกองทัพกลับไป กรุงศรีอยุทธยาหามีผู้ใดว่าราชการบ้านเมืองอยู่ไม่ พระยาตากคิดอ่านเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนได้มาก จึงพระยาตากตั้งตัวขึ้นเปนเจ้า (ลงมาตั้งกรุงธนบุรีเปนราชธานี) ฝ่ายปากใต้ เมืองชุมพร เมืองไชยา ขึ้นเจ้าตาก เมืองนครหาขึ้นกับเจ้าตากไม่ เจ้าตากแต่งให้คนมาสู่ขอบุตรผู้หญิงเจ้านคร ๆ ไม่ยอมให้ เจ้าตากเคืองมาก จึงจัดกองทัพเรือทัพบกยกมาตีเมืองนคร ขณะนั้น หลวงวิเถียนเปนญาติกับเจ้านคร ๆ ให้ หลวงวิเถียนมาเปนพระยาสงขลา เจ้านครมีมาตรามาถึงพระยาพัทลุง พระยาสงขลา ว่า กองทัพเจ้าตากยกมาตีเมืองนคร ให้พระยาพัทลุง พระยาสงขลา ยกกองทัพไปช่วย พระยาพัทลุง พระยาสงขลา ยกกองทัพไปเมืองนคร คนในเมืองนครมาก กองทัพเจ้าตากน้อย เข้าหักโหมเอาไม่ได้ รอทัพอยู่ กองทัพเจ้าตากขัดเสบียงอาหารลง ยกกองกลับไปประทับอยู่เมืองไชยา เจ้านครเห็นว่า กองทัพเจ้าตากกลับเเล้ว เจ้านครมีงานเล่นลครให้พระยาพัทลุง พระยาสงขลา ดูเจ็ดวัน เสร็จงานแล้ว สั่งให้พระยาพัทลุง พระยาสงขลา ยกกองทัพกลับไปบ้านเมือง[2]

 ขณะนั้น เจ้าไชยฤทธิ ที่เจ้านครให้เป็นวังน่า เดิมเป็นชาวกรุงเทพพระมหานคร คุ้นเคยกันกับเจ้าตาก ตรองเห็นว่า ถ้าเจ้าตากตีเมืองนครได้แล้ว จะขอเป็นเจ้าเมืองนคร เจ้าไชยฤทธิจึงแต่งให้คนลอบถือหนังสือไปถึงเจ้าตากว่า กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา เลิกกลับไปแล้ว คนในเมืองมีอยู่แต่น้อย ให้เจ้าตากยกกองทัพไปตีเอาเมืองนคร เห็นจะได้โดยง่าย เจ้าตากเห็นการจะสำเร็จ จึงยกทัพมาตีเมืองนคร เจ้านครเห็นว่า ผู้คนน้อยตัว สู้ไม่ได้ พาอพยพหนีมาเมืองสงขลา เลยพ้นไปแขวเมืองเทพา เจ้าตากเข้าตีเอาเมืองนครได้ จัดแจงเมืองนครเสร็จแล้ว เจ้าตากก็ยกทัพเลยมาเมืองสงขลา ตั้งพระตำหนักอยู่ที่ทุ่งบ่อเตย เจ้าตากให้หาพระยาสงขลา วิเถียน มาเฆี่ยนจำใว้ ให้กองทัพยกมาตามเจ้านครไปเมืองเทพา จับตัวเจ้านครแลบุตรภรรยาได้ มาจำไว้ที่เมืองสงขลา เจ้าตากให้ถอดพระยาสงขลา วิเถียน ออกจากราชการ ตั้งนายโยม บิดานายรอง เปนพระยาสงขลา ให้อยู่กับเมืองนคร เจ้าตากมาประทับอยู่ที่เมืองสงขลา จอมแหลมสน บิดาเจ้าพระยาสงขลา รับทำอากรรังนกเกาะห้า รับอากรมาแต่ผู้ใด จะเปนเงินส่วยเท่าใด ขุนพรหมเสนาไม่แจ้ง จอมแหลมสนมีบุตรผู้ชายห้าคน พี่ผู้ใหญ่ที่หนึ่งชื่อ เยียน ที่สองชื่อ หนู ที่สามชื่อซินเสง ที่สี่ชื่อ เถียนเซง ที่ห้าชื่อ ยกเซง รวมกันห้าคนจอมแหลมสนถวายตัวทำบาญชีรายบุตรภรรยาข้าทาษชายหญิงทรัพย์สิ่งของทูลเกล้าฯ ถวายเจ้าตาก ๆ ดำรัสว่า มาหลายบ้านมาหลายเมืองแล้ว หามีผู้ใดจะมาสามิภักดิเหมือนอย่างนี้ไม่ รับสั่งว่า สิ่งของทั้งนั้นคืนให้จอมแหลมสนเอาไว้เปนทุนค้าขายเถิด ให้รับเอาแต่ยาแดงห้าลังแจกให้นายทัพนายกอง กับขอเอาบุตรผู้ชายชื่อ ซินเสง น้องที่สาม ไปใช้สอยคนหนึ่ง แล้วรับสั่งกำชันกับนายทัพนายกองว่า อย่าให้พวกกองทัพไปทำอันตรายสิ่งหนึ่งสิ่งใดในบ้านแหลมสน ครั้นเสร็จราชการ กองทัพกลับเข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร เอาตัวเจ้านคร พระยาสงขลา วิเถียน บุตร ภรรยา เข้าไปด้วย ๚

 ครั้งนั้น พอซินเสงเปนมหาดเล็กติดไปกับเจ้าตาก เจ้าตากกลับเข้าไปถึงกรุงเทพพระมหานคร เจ้าตากเอาบุตรเจ้านครเปนห้ามคนหนึ่ง แล้วรับสั่งให้ภาคทัณฑ์โทษเจ้านครไว้ โปรดให้เจ้านครออกมาเปนเจ้านครต่อไป พระยาสงขลา วิเถียน ติดคุกอยู่ณกรุงเทพพระมหานคร โปรดให้แต่หม่อมเหม ภรรยา กลับมาเมืองสงขลา หม่อมเหมมาตั้งเรือนอยู่บ้านแหลมสน พระสงขลา โยม บิดาหลวงรองนั้น ตั้งเรือนอยู่เมืองเก่าเรือนหนึ่ง หัวเขาเรือนหนง อยู่สองปี รับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาเปนแม่กองออกมาศักเลขแขนซ้ายเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ครั้งนั้น พเยียนศักเปนหลวงเปนอินทคิรี นายกองเก็บส่วยรังนกเกาะห้า ศักครั้งนั้น ถ้าเปนหลวงปลัดศัก ว่า หลวงปลัด เปนหลวงยกรบัตรศัก ว่า หลวงยกรบัตร[3] เสร็จการศักแล้ว สมเด็จเจ้าพระยากลับเข้าไปณกรุงเทพมพระหานคร ๚

 ครั้งนั้น จอมแหลมสนแต่งเรือศีศะญวนให้หลวงอินทคิรีคุมเงินส่วยรังนกแลของถวายเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุกปีมิใด้ขาด รับสั่งกับข้าราชราชการว่า หลวงอินทคิรีคนนี้เปนข้าหลวงเดิม สามิภักดิมาช้านาน ควรที่จะชุบเลี้ยงให้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมืองใหญ่ใด้ รับสั่งว่า พระสงขลา โยม ก็ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้เปนเจ้าบ้านเจ้าเมืองผู้ใหญ่ จะเอาราชการสิ่งใดก็ไม่ได้ เปนคนทุเหตุอเหตุ หาคิดถึงพระเดชพระคุณไม่ จะให้เปนผู้รั้งทำราชการไม่ได้แล้ว รับสั่งให้ตั้งหลวงอินทคิรีเปนพระสงขลา ตั้งพ่อหนูเปนพระอนันตสมบัติ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ขึ้นอยู่กับเมืองนคร มีตราออกมาหาตัวพระสงขลา โยม เข้าไปณนครกรุงเทพพระมหานคร ถอดเสียจากราชการ พระสงขลา ตั้งให้นายฉิม บุตรพระสงขลา โยม เปนหลวงรองราชมนตรี คุมไพร่ส่วยดีบุกจนะ เกาะหมาก ทำราชการอยู่ในพระสงขลา ๆ ให้หลวงรองเข้าไปราชการณกรุงเทพพระมหานคร หลวงรองกลับมาแต่กรุง ตั้งเรือนอยู่บ้านหัวเขา ๚

 ขณะนั้น เจ้านครมีหนังสือมาเกณฑ์ไพร่เมืองสงขลาเข้าไปทำดีบุกที่เขาสูง เมืองนคร ปีหนึ่ง ได้นำดีบุกเจ้านครบอกส่งเข้าไปกรุงเทพพระมหานคร เจ้านครมีหนังสือแต่งให้กรมการมาเก็บเอาผู้หญิงช่างหูกแลลูกสาวราษฎรชาวเมืองสงขลาพาเข้าไปเมืองนครเปนอันมาก ๚

 ครั้งนั้น พระสงขลาแต่งเรือเข้าไปกรุงเทพพระมหานครเข้าเฝ้ากราบทูลว่า เจ้านครแต่งกรมการไปเก็บเอาผู้หญิงช่างหูกแลลูกสาวราษฎรชาวเมืองสงขลาพาเข้ามาเมืองนคร ราษฎรชาวเมืองสงขลาได้ความเดือดร้อนนัก รับสั่งให้มีตรามาถึงเจ้านครว่า เมืองนครกับเมืองสงขลาวิวาทกันไม่รู้แล้ว ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับกรุงเทพพระมหานครเถิด พระสงขลาทูลลากลับออกมาเมืองสงขลา ปรกติอยู่สองปี พอเจ้าตากเสียพระจริต พระยาสรรค์เปนขบถ จับเจ้าตากขังไว้ ๚

 ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก เจ้านครก็ถึงอาสัญกรรมปีนั้น[4] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ได้ปราบดาภิเศกเถลิงถวัลยราชสมบัติผ่านพิภพขึ้น จึงเลิกมาสร้างพระนครข้างแม่น้ำฝ่ายบูรพ์ พระเจ้าน้องยาเธอเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดเกล้าโปรดระหม่อมให้บุตรเขยเจ้านครเปนเจ้าพระยานคร กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกราบทูลแด่พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ว่า เจ้าพระยานครใหม่กับพระสงขลารักใคร่กัน ขอให้เมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครตามเดิม โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตราออกมาถึงเมืองสงขลาว่า ให้ยกเมืองสงขลาขึ้นกับเมืองนครเหมือนแต่ก่อน เมืองสงขลาก็ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองนคร ครั้งนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาเปนแม่กองออกมาศักเลขเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ศักแขนขวา ตั้งโรงศักที่บ้านหัวเขา ศักได้เลขสมเจ็ดพันหกร้อยเจ็ดสิบสองคน ศักเลขเสร็จแล้ว เจ้าพระยากลับเข้าไปกรุงเทพพระมหานคร อยู่ปีหนึ่ง เกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุง เมืองนคร เมืองสงขลา ขึ้นทำทองบางตะพาน เมืองสงขลาต้องเกณฑ์ไพร่พันหนึ่ง พระสงขลาให้หลวงบำรุงคุมไพร่ไปทำทองที่บางตะพานปีหนึ่ง ได้ทองแต่น้อยไม่สมกับลงทุนทำ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตราเลิกออกมา แต่หลวงบำรุงถึงแก่กรรมที่บางตะพาน ๚

 ขณะนั้น ปรกติอยู่ปีหนึ่ง มีตราออกมาถึงเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ให้ต่อเรือหูช้าง ปากสองวา ยาวเก้าวา สำหรับรักษาพระนคร เมืองสงขลาต้องเกณฑ์สามสิบลำ เกณฑ์ไพร่ตัดไม้ควญเคี่ยมมาตั้งต่อเรือที่ค่ายม่วง ต่อเรือไม่ทันเสร็จ รับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา เสด็จออกมาเร่งเรือ ประทับอยู่ที่เมืองนครห้าเดือน เสด็จมาคลองใน ประทับอยู่เมืองพัทลุงเดือนเศษ เลยมาถึงเมืองสงขลา ตั้งทำเนียบอยู่บ่อเตย พระสงขลากับกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยไปนอนรักษาอยู่พร้อมกัน ณเดือนอ้าย ฝนตกหนักเจ็ดวันเจ็ดคืน น้ำท่วม ชาวบ้านบ่อเตยพายเรือไปจอดที่บ่อพลับ พระสงขลาเข้าเฝ้า ดำรัสว่า ฝนตกหนัก ลมกล้า หนาวเหลือทน พระสงขลากราบทูลว่า เดือนสิบสอง เดือนอ้าย เปนเทศกาลฝน ณเดือนยี่ เดือนสาม ตกแล้ง แต่ขณะเมื่อฝนตกหนักนั้น การต่อเรือก็หาเล็กไม่ ต่อเรือยังไม่เสร็จ เสด็จเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร ๚

 อยู่ปีหนึ่ง พม่ายกกองทัพมาตีเมืองนคร เจ้าพระยานครพาอพยพหนีไปอยู่นอกเขา กองทัพพม่าเก็บเอาครอบครัวไปเปนอันมาก โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกกองทัพหลวงออก มาตีเอาเมืองนครคืนได้ กองทัพพม่าแตกหนีไป ขณะนั้น อายุขุนพรหมเสนาได้ ๑๘ ปี ๑๙ ปี ขุนพรเหมเสนารู้ว่า พระสงขล ขอปลัดไอ้มาแต่เจ้าพระยานครใช้สอยอยู่ การสิ่งหนึ่งสิ่งใดพระสงขลาไว้ใจกับปลัดไอ้เปนอันมาก หลวงรองเคืองใจกับปลัดไอ้ กราบเรียนพระสงขลากล่าวโทษปลัดไอ้หลายข้อ พระสงขลาหาชำระให้ไม่ หลวงรองขัดใจพระสงขลา หลวงรองรู้ความว่า เมืองนครเสียแก่พม่า หลวงรองคิดจะตีเอาค่ายบ่อยาง รวมผู้คนบ่าวไพร่ในกองหลวงรองตำดินดำที่บ้านหัวเขา พระสงขลารู้ความว่า หลวงรองคิดขบถ จึงแต่งให้กรมการไปกวาดคนในแขวงเมืองสงขลาฝ่ายปละท่ามาทางบกทางเรือ หลวงรองให้คนไปคอยชิงเอาคนแลเรือที่เขาเขียว ทางบกไปชิงเอาคนที่ศาลาขรัวปานทางเขาแดง ได้คนแลเรือมาก แล้วมารวมกันที่บ้านหัวเขา พระสงขลาเห็นว่า หลวงรองรวมผู้คนได้มาก คนในค่ายน้อย จึงจัดแจงผ่อนบุตรภรรยาขนเข้าของลงเรือใหญ่ไปทอดอยู่ที่เกาะหนูสองลำ หลวงรองให้นายทิดเพ็ดคุมไพร่พันเศษ หลวงรองจัดคนลงเรือคุมไพร่พันเศษ เพลาช้า เข้าตีค่ายบ่อยาง กองนายทิดเพ็ดเข้าด้านทักษิณ กองหลวงรองเข้าด้านริมน้ำ พระสงขลาอยู่ในค่าย ให้เอาปืนคาบศิลายิงถูกหลวงรอง แต่ไม่บาดเจ็บ ถูกไพร่ในลำเรือกองหลวงรองบาดเจ็บตกน้ำตายหลายคน หลวงรองล่าไปอยู่แหลมฝาด คนรักษาค่ายด้านทักษิณเข้าด้วยหลวงรอง เปิดประตูให้ทิดเพ็ดเข้าในค่าย พระสงขลาเห็นการจะสู้หลวงรองไม่ได้ จึงลงเรือยายับไปลงเรือใหญ่ที่เกาะหนู ใช้ใบเข้าไปกรุงเทพมหานคร ๚

 ขณะนั้น หลวงรองว่ารั้งเมืองสงขลาอยู่สี่เดือนห้าเดือน พระสงขลาเข้าไปถึงกรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้ากราบทูล (แด่สมเด็จพระพุทยอดฟ้าจุฬาโลกย์) ว่า หลวงรองเปนขบถ ตีเอาเมืองสงขลา ได้รับสั่งว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกกองทัพหลวงไปประทับอยู่เมืองนครแล้ว ให้พระสงขลาตามไปที่เมืองนครเถิด โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระสงขลา โยม นอกราชการ บิดาหลวงรอง ออกมาด้วย พระสงขลาให้บุตรภรรยาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร พระสงขลา กับพระสงขลานอกราชการ ออกมาเรือลำเดียวกัน มาถึงเมืองนคร พระสงขลาขึ้นเฝ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล กราบทูลว่า หลวงรองเป็นขบถ ตีเอาเมืองสงขลาได้ รับสั่งว่า ให้พระสงขลาออกมาทำพระตำหนักไว้ที่เมืองสงขลาก่อน เสร็จราชการเมืองนครแล้ว จะเสด็จมาเมืองสงขลา พระสงขลากราบทูลลามาเมืองสงขลา ขึ้นอยู่บ้านแหลมสน พระสงขลานอกราชการขึ้นอยู่บ้านหัวเขา พวกจีนไทยแขกเมืองสงขลาเข้าหาพระสงขลาทั้งสิ้น ขณะนั้น หลวงรอง ทิดเพ็ด ก็ตั้งเรือนอยู่ณบ้านหัวเขา หาเข้าหาพระสงขลาไม่ พระสงขลาให้นายหมวดนายกองเกณฑ์ไพร่มาทำตำหนักที่บ่อพลับ หลวงรองก็มาช่วยทำพระตำหนักอยู่ด้วย อยู่สิบเจ็ดสิบแปดวัน กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกกองทัพมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นประทับอยู่ที่พระตำหนักบ่อพลับ พระสงขลา กับพระสงขลานอกราชการ แลหลวงรอง เข้าเฝ้า ดำรัสปราไสตามธรรมเนียม ๚

 ขณะนั้น เจ้าพระยานคร ซึ่งพาอพยพหนีพม่าไปอยู่นอกเขา พาบุตรภรรยากลับมาไว้ที่เมืองนคร แล้วตัวเจ้าพระยานครตามเสด็จกรมพระราชวังกรมสถานมงคลออกมาเมืองสงขลา เข้าเฝ้า รับสั่งว่า ศึกอ้ายพม่าครั้งนี้แขงแรงนัก โทษเจ้าพระยานครซึ่งพาอพยพหนีทิ้งเสียบ้านเสียเมืองนั้น ให้ภาคทัณฑ์โทษไว้ครั้งหนึ่ง รับสั่งให้มีตราไปหาเจ้าพระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน พระยาตานี มาให้พร้อมที่เมืองสงขลา จะได้ทรงจัดแจงบ้านเมืองให้เรียบร้อย เจ้าพระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน แต่งให้บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ นำพาสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระยาตานีแขงตัวอยู่ ทรงขัดเคืองพระยาตานี รับสั่งว่า ให้กองทัพหลวงยกไปเหยียบเมืองตานีเสียให้ยับเยิน ขณะนั้น แขกเมืองตานีพาเรือมาค้าขายเมืองสงขลาลำหนึ่ง รับสั่งให้ยุดเอาคนแลเรือไว้ มอบให้หลวงรองเปนผู้คุม ๚

 ครั้งนั้น นายจันทอง เพื่อนสิบครัว ไทยเดิมเมืองนคร ตกไปอยู่เมืองตานีช้านาน พาบุตรภรรยาหนีเข้ามาณเมืองสงขลา นายจันทองเรียนพระสงขลาว่า พระยาตานีรู้ความว่า กองทัพหลวงจะยกไปตีเมืองตานี ให้เกณฑ์ไพร่ทำค่ายบางน้ำจืดแลในบ้านพักพระยาตานีมั่นคง กวาดเอาผู้คนใส่ค่ายไว้มาก นายจันทองเห็นเรือกองทัพไทยทอดอยู่ปากน้ำเมืองตานีเจ็ดลำ แขกเมืองตานีเห็นเรือกองทัพไทยไปทอดอยู่น่าเมือง ตกใจกลัว พวกแขกประชุมกันพูดจาว่า ตายายแขกสั่งไว้ว่า ศึกมาแต่ทักษิณ ให้สู้ ศึกมาแต่อุดร อย่าให้สู้เลย เรือกองทัพหลวงมาทอดอยู่น่าเมืองแล้ว ให้คิดอ่านพาอพยพหนีแต่ยาว แขกเมืองตานีพูดจาอย่างนั้น นายจันทองกลัวพระยาตานีจะฆ่าบุตรภรรยาเสีย นายจันทองคิดอ่านสอดแนมเข้าไปฟังการบ้านพระยาตานี ได้ยินพระยาตานีปฤกษากับศรีตว้นกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยว่า กองทัพไทยยกมาทอดอยู่ปากน้ำแล้ว จะคิดอย่างใด นายจันทองรับอาสากับพระยาตานีว่า นายจันทองขอเปนแม่กองคุมพวกนายจันทองแลแขกมีชื่อลงไปรักษาค่ายปากน้ำเมืองตานี ไม่ให้กองทัพไทยเข้ามาในเมืองตานีได้ จะขอปืนใหญ่น้อย กระสุนดินดำ เสบียงอาหาร กับเรือปากห้าศอกสักลำหนึ่ง ถ้านายจันทองยิงเรือกองทัพไทยจมลง นายจันทองจะได้ลงเรือไปจับเอาพวกกองทัพไทยโดยง่าย พระยาตานีก็เห็นด้วย จึงจัดเสบียงอาหาร กระสุนดินดำ เรือใหญ่ลำหนึ่ง ไปส่งให้นายจันทองที่ค่ายบางน้ำจืด นายจันทอง เพื่อนนายจันทอง จัดแจงเรือพร้อมแล้ว เพลากลางคืน นายจันทอง เพื่อนนายจันทอง ลอดเข้าไปในเมืองตานี ขึ้นไปเรือน ขนเข้าของแลบุตรภรรยาลงเรือมาทอดอยู่ที่ค่ายปากน้ำ เพลาเช้า นายจัน ทอง เพื่อนนายจันทอง แต่งตัวเปนภาษาไทยออกเรือยกธงเข้ามาใกล้เรือกองทัพไทย นายจันทองร้องบอกเรือกองทัพไทยว่า ให้ยิงปืนเถิด พวกแขกในเมืองตานีจัดแจงจะพาบุตรภรรยาหนีอยู่แล้ว พวกญวนกองทัพไทย[5] เรียกให้นายจันทองแอบเรือเข้า จะได้สืบข่าวราชการ นายจันทองบอกความว่า พระสงขลาแต่งให้มาสืบราชการเมืองตานี ได้ความแล้ว จะช้าอยู่ไม่ได้ จะเร่งรีบกลับไป นายจันทองก็แจวเรือมาเมืองสงขลา สักครู่หนึ่ง พวกเรือกองทัพไทยยิงปืนใหญ่ พวกแขกในค่ายยิงปืนใหญ่รับนัดหนึ่ง พวกแขกออกจากค่ายเข้าเมืองตานี แขกในเมืองแตกตื่น พาอพยพออกจากเมืองเปนอันมาก พวกญวนกองทัพไทยเห็นแขกทิ้งเสียค่าย กองทัพไทยลงสำปั้นขึ้นบนตลิ่งเข้าอยู่ในค่ายบางน้ำจืด นายจันทองมาพบเรือกองทัพที่น่าเมืองเทพาสามลำ นายจันทองบอกว่า กองทัพไทยตีค่ายบางน้ำจืดเมืองตานีได้แล้ว ให้เร่งรีบไปเถิด นายจันทองเลยมาถึงบ้านแหลมซายปากน้ำเมืองสงขลา พวกข้าหลวงกองตระเวนซึ่งรักษาปากน้ำเมืองสงขลาเรียกให้นายจันทองหยุดเรือ นายจันทองบอกว่า เรือสืบราชการร้อนเร็ว จะอยู่ช้าอยู่ไม่ได้ นายจันทองแจวเรือเร็วมาในเมืองสงขลา พระสงขลาได้ความอย่างนั้น พาตัวนายจันทองเข้าไปเฝ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระสงขลากราบทูลว่า พระสงขลาแต่งเรือเล็กให้นายจันทอง เพื่อนสี่คน เปนสื่อล่อเข้าไปสืบราชการเมืองตานี ได้ความว่า แขกเมืองตานีไม่คิดจะสู้ คิดจะหนีทั้งสิ้น นายจันทองแวะบอกเรือกองทัพไทยซึ่งตกไปอยู่น่าเมืองตานีให้ยิงปืนใหญ่ พวกแขกได้ยินเสียงปืน ออกจากค่ายเข้าในเมือง กองทัพไทยซึ่งชิงเอาค่ายปากน้ำเมืองตานีได้แล้ว แขกในเมืองตานีพาอพยพหนีเปนอันมาก ดำรัสว่า พระสงขลานี้มีสติปัญญา อุสาหะแต่งให้คนไปสืบราชการเมืองตานีได้ความมาชัดแจ้งอย่างนี้ สิ้นพระวิตกสบายพระไทยนัก รับสั่งให้เร่งจัดแจงกองทัพยกไประดมตีเมืองตานี จับเอาตัวพระยาตานีให้จงได้ พระสงขลากราบทูลว่า แขกเรือเมืองตานีซึ่งให้หลวงรองคุมไว้พาเรือหนีไปได้ รับสั่งให้ประหารชีวิตรหลวงรองเสียในวันยกทัพ แต่ทิดเพ็ดนั้นเข้าหาพระยากระลาโหม ๆ กราบทูลกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า ทิดเพ็ดเปนคนได้ราชการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ภาคทัณฑ์โทษไว้ เมื่อกองทัพหลวงยกไปล้อมเมืองตานี ทิดเพ็ดไปด้วย ทิดเพ็ดพบเงินแขกเมืองตานีฝังดินไว้พันเหรียญ ทิดเพ็ดเอาเงินให้พระยากระลาโหมทั้งพัน ๚

 ขณะนั้น กองทัพหลวงจับตัวพระยาตานีได้ จำส่งเข้ามาเมืองสงขลา กรมพระราชวังสถานมงคลเสด็จลงไปประทับอยู่เมืองตานี ศรีตวันกรมการเมืองตานีได้นำความกราบบังคมทูลว่า ปืนใหญ่ชื่อ นางพระยาตานี มีอยู่บอกหนึ่ง พระยาตานีให้ฝังดินไว้ รับสั่งให้พวกกองทัพกะฉ้อปืนใหญ่ลงเรือ กะฉ้ออยู่หลายวันไม่เลื่อน จากที่ เสด็จไปทอดพระเนตร รับสั่งให้เฆี่ยนนางพระยาตานีแล้วกะฉ้อลงเรือได้[6] จัดแจงราชการเมืองตานีเสร็จแล้ว อยู่เดือนเศษ เสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองสงขลา รับสั่งว่า เมืองไทร เมืองตรังกานู เมืองตานี ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ๆ ขึ้นกับเมืองนคร กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ที่เมืองสงขลาสองปีเศษ ได้ให้ปักหลักเมืองสงขลาที่บ้านบ่อยางลงไว้ จัดแจงการเสร็จแล้ว เสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพมหานคร พาพระสงขลากับพระยาตานีขบถเข้าไปกรุงเทพมหานคร ทิดเพ็ดก็ตามพระยากระลาโหมเข้าไปด้วย พระสงขลาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนพระสงขลาขึ้นเปนพระยาสงขลา ตั้งพ่อซีนเปนพระพิเรนทร์ ตั้งพ่อเถียนเซงเปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการ ให้พระอนันตสมบัติเปนเจ้าเมืองจนะ พระยาสงขลากราบบังคมลา พาบุตรภรรยากลับออกมาเมืองสงขลา มาเรือสองลำ ต้องพยุที่หัวถนอมจมเสียลำหนึ่ง เสียผู้คนเข้าของเปนมาก เรือพระยาสงขลาแล่นเลยมาถึงเมืองสงขลา อยู่สองปี พระอนันตสมบัติถึงแก่กรรม ได้ฝังศพพระอนันตสมบัติไว้ณเขาแหลมสน จาฤกอักษรไว้ในศิลาน่าศพแล้ว ๆ พระยาสงขลาบอกเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคม ทูลว่า พระอนันตสมบัติถึงแก่กรรม บุตรชายพระอนันตสมบัติมีอยู่สามคน ดำรัสว่า จะได้ผู้ใดเปนเจ้าเมืองจนะ พระยากระลาโหมกราบทูลขอให้ทิดเพ็ดเปนพระจนะคุมไพร่ส่วยดีบุกขึ้นกับเมืองสงขลา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งทิดเพ็ดเปนพระจนะ ออกมาอยู่เมืองจนะ ๚

 ขณะนั้น เจ้าพระยาไทรวิวาทด้วยที่พตงการำว่า เขตรแดนเมืองไทร เจ้าพระไทรบอกไปเจ้าพระยานคร ๆ มีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาสงขลา ๆ ตอบหนังสือไปว่า ที่พตงการำเปนเขตรแดนเมืองสงขลา เจ้าพระยานครบอกส่งต้นหนังสือเมืองสงขลา เมืองไทร เข้าไปให้นำกราบทูลพระกรุณาว่า ที่พตงการำเปนเขตรแดนเมืองสงขลา หาเปนเขตรเมืองไทรไม่ รับสั่งว่า ให้เจ้าพระนครจัดแจงเสียตามเดิม ความก็เงียบกันมา อยู่ประมาณสองปีสามปี โต๊ะแส[7] มาแต่ฝ่ายทเลตวันตก มาคิดอ่านกับพระยาตานีเปนขบถยกทัพมาตีเมืองสงขลาจนกะทั่งปลักแรด พระยาสงขลาให้ขึ้นตั้งค่ายมั่นที่คลองสำโรง แล้วพระยาสงขลาบอกหนังสือเข้าไปเมืองนคร เจ้าพระยานครยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่บ่อเตย เจ้าพระยานครให้กองทัพมาตั้งค่ายอยู่น่าค่ายบ่อยาง กองทัพเมืองนครนัดกันกับกองทัพเมืองสงขลาว่า กำหนดจะเข้าตีค่ายอ้ายโต๊ะแสที่ปลักแรด รุ่งขึ้น เพลาเช้า ยังไม่ทันจะยกไป พวกแขกกองทัพอ้ายโต๊ะแสยกมาตามทางบางกระดานถึงน่าค่ายบ่อยาง พวกกองทัพนครเอาปืนตับใส่หลังช้างยิงรับพวกแขกตายประมาณสองร้อยสามร้อยคน พวกแขกแตกล่าไป กองทัพเมืองนคร เมืองสงขลา ไล่ติดตามไปฟันแทงตายในคลองสำโรงเปนอันมาก แล้วไล่ไปถึงค่ายปลักแรด แขกแล่นเข้าค่าย อ้ายโต๊ะแสทำน้ำมนต์ประพวกแขกอยู่ปากประตูค่าย กองทัพเมืองนคร เมืองสงขลา เข้าแหก ค่ายระดมยิงถูกอ้ายโต๊ะแสตาย พวกแขกในค่ายก็ตายเปนอันมาก พวกแขกแตกหนีไป เจ้าพระยานครกับพระยาสงขลาอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พวกกองทัพเมืองนคร เมืองสงขลา ไล่ไปกะทั่งเมืองตานี ตีเอาเมืองตานีได้แล้ว กองทัพ เมืองนคร เมืองสงขลา กลับมาอยู่ที่เมืองสงขลาประมาณสี่วันห้าวัน กองทัพหลวงยกมาถึงเมืองสงขลา หาทันได้สู้รบกับแขกไม่ อยู่ที่ในเรือ พวกญวนกองทัพกรุงเทพมหานครขึ้นมาเที่ยวเล่นที่น่าค่ายบ่อยาง วิวาททุบตีกันกับพวกกองทัพเมืองนคร พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา รู้ความว่า กองทัพวิวาทกัน ออกไปจะห้ามปรามก็ไม่ทัน วิวาทกันแล้วต่างคนต่างไป พวกเมืองนครไปกราบเรียนเจ้าพระยานครว่า พวกญวนกองทัพกรุงเทพมหานครข่มเหงทุบตีพวกเมืองนครบาดเจ็บหลายคน พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา อยู่ด้วย ไม่ห้ามปราม จึงเจ้าพระยานครเคืองพระยาสงขลา แลพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ว่า ไม่ห้ามปรามช่วยเหลือ ปล่อยให้พวกญวนทำข่มเหงกองทัพเมืองนคร เจ้าพระยานครว่า พระยาสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ จะเอาเปนพวกพ้องไม่ได้ เจ้าพระยานครแลกองทัพกรุงเทพมหานครอยู่ที่เมืองสงขลา ๖–๗ เดือน เสร็จราชการแล้ว กองทัพยกกลับไป ปลัดไอ้ก็ไปกับเจ้าพระยานครด้วย เจ้าพระยานคร ปลัดไอ้ เข้าไปกรุงเทพมหานคร ครั้งนั้น เจ้าพระยาสงขลาเข้าไปกรุงเทพมหานครด้วย เจ้าพระยานคร ปลัดไอ้ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ เจ้าพระยานครกราบทูลกล่าวโทษพระสงขลาว่า พระยาสงขลาทำข่มเหงพระยาไทร ยกเอาที่พตงการำเขตรแดนเมืองไทร (ที่ตรงนี้ ต้นฉบับลบ ขาดเนื้อความอยู่ตอน ๑) ๚

 กองทัพออกมาเมืองสงขลา ให้หลวงนายฤทธิ บุตร พระอนันตสมบัติ เปนผู้กำกับออกมาด้วย เจ้าพระยาพลเทพจัดให้ กองทัพเมืองพัทลุง เมืองสงขลา สมทบกับกองทัพหลวงยกไปตีดาตู เจ้าเมืองยะหริ่ง จับตัวดาตูได้ พาตัวเข้ามาณเมืองสงขลา เสร็จ ราชการแล้ว เจ้าพระยาพลเทพ บุนนาค พระยาวิเศษโกษา หลวง นายฤทธิ พาตัวดาตูเข้าไปกรุงเทพมหานคร อยู่สองปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์สวรรคต แลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ได้เสวยราชสมบัติ ๒๘ ปี ๚

 ครั้นณปีมเสง เอกศก ลุศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้น ๖–๗ เดือน พม่ายกกองทัพเรือ ๒๐๐ ลำมาตีเอาเมืองถลางได้ ๚

 ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาไลย รับสั่งให้เจ้าพระยายมราชยกกองทัพหลวงออกมาทางเรือ ขึ้นเดินบกที่เมืองชุมพร มีตราให้หลวงนายฤทธิเชิญมาถึงพระยาสงขลาว่า เมืองไทรไว้ใจไม่ได้ ให้เจ้าพระยาสงขลายกไปถ่วงเมืองไทรไว้ ให้หลวงนายฤทธิกับเจ้าพระยายมราชยกไปอยู่เมืองตรัง เจ้าพระยาไทรเกณฑ์ไพร่เมืองไทรได้พันหนึ่ง เรือสามสิบลำ ให้พระยาปลัดเมืองไทรยกไปรวมกันที่เมืองตรัง เจ้าพระยายมราชให้กองทัพเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองไทร เมืองตรัง สมทบกับกองทัพหลวงยกไปเข้าตีเมืองถลาง อ้ายพม่าแตกหนีไป เจ้าพระยายมราชเกณฑ์ไพร่เมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ให้รักษาเมืองถลางอยู่สามปี เจ้าพระยายมราชยกมาอยู่เมืองตรัง แล้วยกกลับเข้าไปกรุงเทพมหานคร ภายหลัง อ้ายพม่ายกทัพเรือมาจะตีเอาเมืองถลางอิก มาทางทเล ต้องพยุ เรือแตกเสียหลายลำ อ้ายพม่าตายเปนอันมาก คนแลเรือซัดขึ้นที่เกาะถลาง[8] กองทัพเมืองนครจับได้ ส่งเข้าไปเมืองนครหลายคน เจ้าพระยานครบอกส่งเข้าไปกรุงเทพมหานคร กองทัพเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา กลับมาบ้านเมือง แลเมืองตรังนั้น หลวงนายฤทธิ์ให้หลวงช่วย บุญเพ็ด อยู่ว่าราชการ หลวงนายฤทธิกลับเข้ามาณเมืองสงขลาเข้าไปณกรุงเทพมหานคร อยู่หกเดือนเจ็ดเดือน ถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสร็จแล้ว ขณะนั้น เมืองสงขลาเปนปรกติอยู่สามปี แลเจ้าพระยาสงขลาได้สร้างพระอุโบสถแลโรงธรรมไว้ณวัดมัชฌิมาวาศ แลพระอุโบสถวัดยางทองโรงหนึ่ง กับได้สร้างสำเภาห้าลำ เรือปากใต้เปนหลายลำ แลเจ้าพระยาสงขลา เมื่อครั้งยังเปนพระสงขลา แลเปนพระยาสงขลาก็ช้านาน ไม่ยกปีขึ้นว่า ยกขึ้นว่า แต่เมื่อได้เปนเจ้าพระยาอินทคิรีศรีสมุทสงคราม เจ้าพระยาสงขลายกเมืองมาจากเมืองนคร สร้างเมืองสงขลาอยู่ ๓–๔ ปีแล้วถึงอาสัญกรรม ได้ฝังศพไว้ณเขาแหลมสน จาฤกศิลาไว้ในน่าศพนั้นแล้ว ๆ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งหลวงนายฤทธิ (จ๋อง) บุตรพระอนันตสมบัติ เปนพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม พระยาสงขลา เลื่อนพระภิรมย์สมบัติขึ้นเปนพระสุนทรนุรักษ์ ณวันเดือนหก ปีวอก จัตวาศก จัดแจงเผาศพเจ้าพระยาสงขลาแล้ว อยู่ปีหนึ่ง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีสุริยพาห จางวาง กรมม้า เปนแม่กองออกมาศักเลขเมืองสงขลา ตั้งโรงศักที่ทุ่งบ่อเตย ศักเลขเสร็จแล้ว กลับเข้าไปกรุงเทพมหานคร ๚

 พระยาไทรขัดใจกับพระยาสงขลา ยกเมืองไปขึ้นกับ เมืองนคร เจ้าพระยานครบอกเข้าไปให้นำกราบทูลว่า เมืองไทรจะขอขึ้นอยู่กับเมืองนคร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เมืองไทรขึ้นกับเมืองนคร[9] รับสั่งว่า เจ้าพระยานครอายุมากแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ช่วยเมืองนครเปนผู้รั้งเมืองนครอยู่ปีหนึ่ง พระยาตรังกานูวิวาทกับพระยากลันตัน ๆ เข้ามาเมืองสงขลา กราบเรียนพระยาสงขลาว่า พระยากลันตันไม่สมัคไปขึ้นกับเมืองตรังกานู จะมาขอขึ้นกับเมืองสงขลา พระยาสงขลาว่ากับพระยากลันตันว่า เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพหลวงออกมาประทับอยู่ที่เมืองสงขลา ทรงจัดแจงไว้ให้ขึ้นกับเมืองตรังกานู ๆ ให้ขึ้นกับเมืองสงขลา จะให้ชักถอนเลิกลางไม่ได้ พระยากลันตันมีความน้อยใจ ลาพระยาสงขลาไปเมืองกลันตัน ครั้นพระยากลันตันจะไปขึ้นกับเมืองตรังกานูเหมือนแต่ก่อนเล่า มีความอายนัก พระยากลันตันเข้าไปหาเจ้าพระยานครว่า พระยากลันตันจะขอมาขึ้นกันเมืองนคร เจ้าพระยานครบอกเข้าไปนำกราบทูลพระกรุณาว่า พระยากลันตันวิวาทกับพระยาตรังกานู ไม่สมัคจะขึ้นกับเมืองตรังกานู รับสั่งให้มีตรามาถึงพระยาสงขลาฉบับหนึ่ง เจ้าพระยานครฉบับหนึ่ง ว่า พระยากลันตันสมัคมาขึ้นกับเมืองนครนั้น อย่าให้พระยาสงขลาหน่วงเหนี่ยวไว้เลย ให้พระยากลันตันไปขึ้นกับเมืองนครตามใจพระยากลันตันสมัคนั้นเถิด พระยากลันตันก็ไปขึ้นอยู่กับเมืองนคร ๚

 ขณะนั้นพระยาสงขลาเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ให้พระยาศรีสมบัติอยู่เมือง ณวันเดือนหก ปีฉลู นพศก ศักราช ๑๑๗๙ พระยาศรีสมบัติ จางวาง ถึงแก่อนิจกรรม กรมการบอกเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว รับสั่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสงขลาออกมาจัดแจงทำศพพระยาศรีสมบัติ พระยาสงขลากลับออกมาจัดแจงทำเมรุยังไม่เสร็จ ให้ป่วยไข้ ณวันเดือนสาม ปีฉลู นพศก พระยาสงขลาถึงแก่อนิจกรรม ครั้งนั้น ให้หลวงพิทักษ์ราชา กองนอก บุตรพระอนันตสมบัติ อยู่เมือง พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วย ถือบอกเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทบรมบพิตรสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงทราบแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระสุนทรนุรักษ์ออกมาว่าราชการเมืองสงขลา พระราชทานออกมาเพลิงออกมาเผาศพพระยาศรีสมบัติ จางวาง แลพระยาสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ กับนายพลพ่าย มหาดเล็ก บุตรพระยาศรีสมบัติ จางวาง ออกมาทำเมรุ ณวันเดือนเจ็ด ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ ได้เผาศพพระยาศรีสมบัติ พระยาสงขลา เสร็จแล้ว ได้ฝังศพพระยาศรีสมบัติแลพระยาสงขลาไว้ที่เขาแหลมสนแห่งเดียวกัน[10] ได้จาฤกอักษรไว้ในศิลาแล้ว แลพระยาศรีสมบัติได้สร้างพระอุโบสถแลโรงธรรมวัดโพไว้ พระยาสงขลา หลวงนายฤทธิ ได้ครองเมืองสงขลาเจ็ดปี ได้สร้างอุโบสถไว้วัดสุวรรณคิรี แล้วทำนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนาให้สถาปนารุ่งเรืองสืบมา กับสร้างสำเภาไว้ลำหนึ่ง ต่อถึงอนิกรรมครั้งนั้น นายพลพ่าย หลวงพิทักษ์ราชา กับพ่อแพะ บุตรพระสุนทรนุรักษ์ ถือบอกถวายพระราชกุศลเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคมทูลทรงทราบแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งพระสุนทรนุรักษ์ (เซง) เปนที่พระยาวิเชียนคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยะพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เลื่อนนายพลพ่าย มหาดเล็ก เปนที่หลวงสุนทรนุรักษ์ เลื่อนหลวงพิทักษ์ราชาเปนพระพิเรนทรภักดี ตั้งพ่อแพะเปนหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ ออกมา ภายหลัง จึงโปรดตั้งพ่อเหมเปนที่หลวงอนุรักษ์ภูเบศ์ร พ่อยกเซ่งเปนที่หลวงอุดมบริรักษ์ พ่อหมีเปนที่หลวงพิทักษ์สุนทร แลในปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๑๘๐ นั้น พระยาถลางบอกเข้าไปให้กราบบังคลทูลพระกรุณาว่า พม่ามาตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองมฤท เมืองตะนาว สองร้อยลำ แต่หารู้ว่าจะยกไปแห่งใดไม่ ทรงทราบแล้วไม่ไว้พระไทย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรสำแดงคุมไพร่สองร้อยคนออกมาตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา ให้พระยาพิชัยสงครามคุมไพร่สองร้อยคนออกมาอยู่ที่เมืองพัทลุง พระยาวิชิตณรงค์คุมไพร่สองร้อยคนมาตั้งอยู่ที่เมืองนคร พระยากระลาโหมราชเสนาคุมไพร่ห้าร้อยคนมาตั้งอยู่ที่เมืองถลาง แลเกณฑ์ไพร่เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ให้ข้าหลวงไปตั้งกำกับต่อเรือที่เมืองสตูน เมืองนคร ข้าหลวงกำกับตั้งต่อเรืออยู่ที่เมืองตรัง ขณะนั้น พระยาศรสำแดงออกมาอยู่ที่เมืองสงขลาปีหนึ่ง ครั้งณปีเถาะ เอกศก ศักราช ๑๑๘๑ ราชการสงบแล้ว พระยาศรสำแดงกลับเข้าไปกรุงเทพมหานคร เมืองสงขลาปรกติอยู่ปีหนึ่ง ๚

 ณเดือนห้า ปีมโรง โทศก ลุศักราช ๑๑๘๒ บังเกิดความไข้ ผู้คนล้มตายเปนอันมาก สงบความไข้แล้วเป็นสบายปรกติอยู่ปีหนึ่ง ณปีมเสง ตรีนิศก ศักราช ๑๑๘๓ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท กราบถวายบังคบทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระยาไทรเปนคนดื้อดึง จะเอากิจราชการสิ่งใดก็ไม่ได้ ไม่ฟังบังคับบัญชา จะขอยกทัพไปตีเมืองไทร[11] โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีตราออกมาเกณฑ์ทัพเมืองนคร เมืองชุมพร ไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ยกไปตีเมืองไทร พระยาไทรพาอพยพหนีลงเรือไปอยู่เมืองเกาะหมาก กองทัพไทยกวาดเอาครอบครัวเมืองไทรส่งเข้าไปกรุงเทพมหานครเปนอันมาก เจ้าพระยานครบอกเข้าไปให้นำกราบทูลพระกรุณาขอให้นายแสง บุตรเจ้าพระยานคร เปนพระยาเมืองไทรบุรี โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตราตั้งนายแสงออกมาเปนที่พระยาอภัยธิเบศร์ มหาประเทศราชธิบดินทร์ อินทรไอสวรรย์ขัณฑเสมา มาตยานุชิต สิทธิสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ พระยาไทรบุรี ปรกติอยู่สามปี ๚

 ณวันเดือนแปด ลุศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยสวรรคต แลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยได้เสวยราชสมบัติ ๑๖ ปี ครั้งนั้น พระราชโอรสผู้ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติผ่านพิภพขึ้น กรมหมื่นศักดิพลเสพเปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ณปีรกา สัปตศก พระยาสงขลาเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ทูลลากลับออกมาณเมืองสงขลา ปรกติอยู่สองปี ๚

 ณเดือนห้า ลุศักราช ๑๑๘๙ ปีกุญ นพศก อนุเวียงจันท์เปนขบถยกกองทัพมาตีเอาเมืองลาว เมืองนครราชสิมา ได้ เลยมาถึงเมืองลพบุรี โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตราเกณฑ์ทัพเมืองนคร เมืองพัทลุง เมืองสงขลา พระยาสงขลา กรมการ เกณฑ์ไพร่พันเศษยกกองทัพเข้าไปถึงกรุงเทพมหานคร พอกองทัพกรุงเทพมหานครตีเอาเมืองเวียงจันท์ได้คืน กองทัพเมืองสงขลาต้องทำป้อมปากน้ำเมืองสมุทปราการอยู่ปีหนึ่ง เสร็จราชการแล้ว พระยาสงขลาทูลลากลับออกมาณเมืองสงขลา ๚

 ณปีชวด สัมฤทธิศก ลุศักราช ๑๑๙๐ มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ออกมาให้ต่อเรือศีศะเง้า ๓๐ ลำ พระยาสงขลาให้หลวงสุนทรนุรักษ์คุมไพร่ ๑๐๐๐ คนไปตั้งต่อเรือที่เมืองเทพาอยู่จนถึงปีฉลู เอกศก แลในปีฉลู เอกศกนั้น ฝนน้อย เข้ากล้าในท้องนาพรบม้านเสียมาก แลในปีขาลนั้น เข้าแพง พระยาสงขลาให้เลิกการต่อเรือเข้ามา แล้วมีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้หมื่นสนั่น พันทูลเชิญ ออกมาศักเลขที่เมืองสงขลา ให้พระยาสงขลาเปนแม่กอง ตั้งโรงศักที่ศาลากลาง กับมีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเสนาแปดนายออกมาประเมินนาวางตราแดงแก่ราษฎร ณวันเดือนสี่ ปีขาล โทศก พระยาสงขลาให้เกณฑ์ไพร่ขึ้นไปต่อเรืออิก ต่อเรือยังไม่ทันแล้ว ๚

 ครั้นณวันเดือนหก ปีเถาะ ตรีศก ตนกูเดน หลานเจ้าพระยาไทร ซึ่งพาบุตรภรรยาหนีไปเมืองเกาะหมาก คิดอ่านซ่องสุมผู้คนได้มาก ยกมาตีเอาเมืองไทร สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วไม่ไว้พระไทย[12] กลัวการศึกจะใหญ่ไป โปรดเกล้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เกณฑ์ทัพ เจ้าพระยาพระครัง ว่าที่สมุหพระกระลาโหม เปนแม่ทัพใหญ่ยกออกมาถึงเมืองสงขลา ณวันเดือนห้า ขึ้นสี่คำ ลุศักราช ๑๑๙๔ ปีมโรง จัตวาศก ตั้งทำเนียบที่บ่อพลับ พระยาตานี พระยาบาโงย ตุวันสนิปากแดง รู้ความว่า กองทัพหลวงยกออกมาถึงเมืองสงขลา พระยาตานี พระยาบางโงย ตุวันสนิปากแดง เห็นการจะสู้รบไม่ได้ พากันลงเรือหนีไปเมืองกลันตัน ครั้งนั้น พระยากลันตัน หลวงกะโน หนองจิก หลวงตะงา พาอพยพหนีไปอยู่บ้านนาที่มะโลมต่อแดนกับแประ พระยาสงขลา นายทัพ เห็นพระยาตานี พระยาหนองจิก พาครอบครัวหนีไปแล้ว เข้าตั้งอยู่ในเมืองตานี เจ้าพระยาพระคลัง ผู้ว่าที่สมุหพระกระลาโหม ให้หลวงปลัดสุกกับกรมการอยู่เมือง ให้หลวงสุนทรนุรักษ์ออกไปตั้งรวมเสบียงอาหารอยู่ที่เมืองตานี ให้หาพระยาสงขลา นายทัพนายกอง เข้ามาณเมืองสงขลาปฤกษาราชการ แล้วเจ้าพระยาพระคลัง ผู้ว่าที่สมุหพระกระลาโหม แม่ทัพใหญ่ กับเจ้าพระยานคร พระยาสงขลา นายทัพนายกอง ยกออกไปตั้งอยู่ที่บางน้ำจืดแขวงเมืองตานี ฯพณฯ แม่ทัพใหญ่ โปรดใช้ให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา คุมไพร่ไทยแขกสามพันตามอ้ายพระยารามันหนองจิกไปถึงบ้านนาที่มะโลมต่อแดนกับแประ ได้ตัวอ้ายพระยารามันแลครอบครัวอ้ายพระยารามันทั้งสิ้น แต่อ้ายพระยาหนองจิกออกต่อสู้รบพวกกองทัพ ๆ ยิงอ้ายพระยาหนองจิกตาย ตัดเอาศีศะอ้ายพระยาหนองจิก แล้วเอาบุตรภรรยาครอบครัวอ้ายพระยาหนองจิกลงมาสั่ง ฯพณฯ แม่ทัพใหญ่ ที่บางน้ำจืด แลพระยารามัน ฯพณฯ แม่ทัพใหญ่ โปรดให้พาแต่ตัวเข้าไปเฝ้าณกรุงเทพฯ ครอบครัวพระยารามันทั้งนั้นให้กลับไปอยู่เมืองรามันตามเดิม แต่บุตรภรรยาครอบครัวอ้ายพระยาตานี อ้ายพระยาหนองจิก ทั้งนั้น ฯพณฯ แม่ทัพใหญ่ ให้พาตัวเข่าไปณกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น เสร็จราชการแล้ว ฯพณฯ แม่ทัพใหญ่ กลับเข้ามาณเมืองสงขลา จัดแจงก่อพระเจดีย์ไว้ที่เขาเมืองสงขลาองค์หนึ่ง กับทำเก๋งไว้ริมน้ำชายทเลค่ายม่วงไว้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วกับเข้าไปกรุงเทพฯ ๚

 แลในบีเถาะ ตรีศก ฝนตกหนัก น้ำท่วมท้องนาของราษฎร ทำไร่นาเข้าผุเปื่อยเสีย ไม่ได้ผลรับประทาน ราษฎรอดอยากกระส่ำระสายล้มตาย ยกตามอาหารไปต่างบ้านต่างเมืองเปนอันมาก ลูกค้าชาว กรุงเทพฯ บรรทุกเข้าสารมาจำหน่ายที่เมืองสงขลา ราคาเข้าสารเกวียนละห้าสิบเหรียญ เข้าแพงมาตั้งแต่ปีขาล โทศก ปีเถาะ ตรีศก จนถึงปีมโรง เดือนอ้าย ราคาเข้าสารในปีมโรง เดือนอ้ายนั้น เกวียนละสามร้อยเหรียญ ๚

 ขณะนั้น พระยาสงขลาเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พาตัวพระยารามัน พระยาระแงะ[13] เข้าไปด้วย โปรดเกล้าฯ ให้ภาค ทัณฑ์โทษพระยารามัน พระยาระแงะ ไว้ครั้งหนึ่ง พระยาสงขลาทูลขอซื้อเข้าสาร จะได้พาออกมาเจือจานราชการแลจ่ายให้ไพร่บ้านพลเมือง ๑๐๐๐ เกวียน โปรดเกล้าฯ พระราชทานภาษีให้พระยาสงขลาทูลลาพาตัวพระยารามันออกมาด้วย แต่พระยาระแงะเปนไข้ฝีดาดตายเสียที่กรุงเทพฯ ภายหลัง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต พระยาสงขลาออกมาถึงเมืองสงขลา ณวันเดือนยี่ ปีมโรง จัตวาศก ในปีมโรงนั้น ราษฎรทำไร่นาฟ้าฝนก็บริบูรณ์ ณปีมเสง เบญจศก เข้าในท้องนาก็ได้ผลรับประทานทั่วกันเหมือนแต่ก่อน ๚

 ครั้นเดือนห้า ศักราช ๑๑๙๕ ปีมเสง เบญจศก หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุง ฯพณฯ สมุหพระกระลาโหม แม่ทัพใหญ่ กราบบังคมทูลว่า ได้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ติดตามพระยารามัน ได้ตัวพระยารามัน แลครอบครัวอ้ายพระยาหนองจิก อ้ายพระยาตานี เข้ามา มีความชอบอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แล้วกราบถวายบังคมลาออกมาเมืองสงขลา ๚

 ครั้งนั้น เมืองสงขลาปรกติอยู่สามปี ครั้งณปีวอก อัฐศก ลุศักราช ๑๑๙๘ มีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาให้ต่อก่อกำแพงเมืองสงขลา พระราชทานเงินส่วยอากรเมืองสงขลาให้พระยาสงขลาใช้จ่ายในการก่อกำแพงสองร้อยชั่ง พระยาสงขลากะเกณฑ์ให้ไพร่เมืองสงขลาก่อกำแพงด้วยศิลายังไม่เสร็จ พระยาสงขลา พระยาตานี พระยายะหริ่ง พระยาสายบุรี พระยาระแงะ พระยารามัน แขกหัวเมือง เข้าไปถวายพระเพลิงสมเด็จพระพันปี เจ้าพระยานครพาแขกหัวเมืองซึ่งขึ้นกับเมืองนครไปอยู่ที่กรุงเทพพระมหานครในปีจอ สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๐๐ ๚

 ตนกูมัดสาอัด หลานเจ้าพระยาไทร ซึ่งหนีไปอยู่เมืองเกาะหมาก ซ่องสุมผู้คนได้มาก ยกมาตีเอาเมืองไทรได้ พระยาไทร บุตรเจ้าพระยานคร พาอพยพหนีเข้ามาอยู่ที่ทุ่งหาดใหญ่ แขวงเมืองสงขลา พระสุนทรนุรักษ์แต่งให้ขุนต่างตา ขุนหมื่นมีชื่อ คุมไพร่ห้าร้อยคนไปตั้งค่ายมั่นรักษาเขตรแดนเมืองสงขลาในที่พะตง ในที่การำ ไว้ แลพระสุนทรนุรักษ์บอกให้เข้าไปนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตนกูมัดสาอัดมาตีเอาเมืองไทร ได้ทรงทราบแล้ว ครั้งนั้น เจ้าพระยานครอยู่ณกรุงเทพมหานคร โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขับให้เจ้าพระยานคร พระยาสงขลา เร่งรีบออกมา พระยาสงขลากราบทูลลากลับออกมาถึงเมืองสงขลา ณเดือนสิบสอง พระยาสงขลาเกณฑ์ทัพยกไปตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ ให้พระสุนทรนุรักษ์อยู่เมือง แล้วมีหนังสือไปถึงหัวเมืองแขกซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลาให้ยกทัพมาช่วยกันระดมตีเมืองไทร พระยาตานี ทองอยู่ พระยะหริ่ง พ่าย พระยาสาย ระดะ พระจะนะ บัวแก้ว ยกกองทัพไปรวมกันที่หาดใหญ่ พระยาสงขลาแต่งให้พระยายะหริ่ง พระยาตานี พระยาสายบุรี พระจนะ หลวงนา หลวงพล ขุนต่างตา คุมไพร่ขึ้นไปรบกับพวกอ้ายตนกูมัดสาอัดที่ค่ายทุ่งโพ อ้ายตนกูมัดสาอัดรวมผู้คนได้มาก ตัดหลังเข้ามาทางสบาเพน เผาบ้านเมืองราษฎรแขวงเมืองจนะจนมากะทั่งบ้านพระจนะ แขกนายไพร่ในเมืองจนะเข้าด้วยตนกูมัดสาอัดเมืองไทรทั้งสิ้น พวกไทยในเมืองจนะพาบุตรภรรยาหนีเข้ามาณเมืองสงขลา พระยาสงขลาเห็นว่า แขกเมืองจนะ เมืองเทพา เมืองหนองจิก เมืองตานี ยะหริ่ง กำเริบ จะไว้ใจไม่ได้ พระยาสงขลาจัดให้พระยาตานี พระยายะหริ่ง พระยาสายบุรี พระจนะ คุมไพร่ตั้งค่ายรักษาทางพตงการำ ให้หลวงพล หลวงไชยสุรินทร์ คุมไพร่ห้าร้อยคนยกไปตั้งค่ายรักษาทางเมืองจนะ ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์เปนกองส่งลำเลียงอยู่ที่หาดใหญ่ พระยาสงขลากลับลงมาแต่งเมืองสงขลากำชับมั่นคงแล้ว ให้หลวงยกรบัครคุมไพร่ไปตั้งค่ายมั่นที่ปลักแรดค่ายหนึ่ง ที่เกาะถำค่ายหนึ่ง เขาเกาเสงค่ายหนึ่ง พวกแขกไทรตัดหลังเข้ามาเผาบ้านเรือนราษฎรในที่พตงการำ กองพระยาตานี พระยายะหริ่ง พระยาสายบุรี เห็นพวกแขกไทรตัดหลังเข้ามาได้ จึงพระยาตานี พระยายะหริ่ง พระยาสายบุรี ยกกองทัพล่าเข้ามาถึงทุ่งน้ำจาย กองพระยาสายบุรีปะกับพวกแขกเมืองไทร สู้รบกับพวกแขกไทรตายหลายคน พวกแขกไทรเสียทีเร้นเข้าป่า กองพระยาสายเลยมาตั้งค่ายมั่นที่เขาลูกช้าง พระยายะหริ่ง พระยาตานี ตั้งค่ายเขาเกาเสง แต่กองหลวงไชยสุริทร์ หลวงพล ซึ่งยกไปตั้งอยู่ทางจนะนั้น พวกแขกเมืองจนะเข้าหาพวกแขกกองทัพเมืองไทร ตัดหลังเข้ามาเผาบ้านเรือนราษฎรแลบ้านพระจนะ กองหลวงไชยสุรินทร์ หลวงพล จะเที่ยวหาเสบียงอาหารก็ขัดสน หลวงพล หลวงไชยสุรินทร์ ล่าลงมาตั้งค่ายมั้นอยู่ที่ปลักแรดพร้อมกัน พวกแขกเมืองไทร เมืองจนะ ไล่มาถึงน่าค่ายปลักแรด พวกแขกยังไม่ทันตั้งค่าย พระสุนทรนุรักษ์ยกกองทัพไปรับที่ค่ายปลักแรด พระสุนทรนุรักษ์แต่งให้พวกจีนเปนกองน่าสีทงสมทบกับกองหลวงพล หลวงไชยสุรินทร์ สู้รบกับพวก แขกที่น่าค่ายปลักแรด พวกกองจีนสู้รบยิงฟันกับพวกแขกเมืองไทร เมืองจนะ แตกยับเยิน พวกแขกหนีไป พวกกองจีนตัดเอาหัวแขกไทรแขกจนะมาได้ พระยาสงขลารางวัลให้หัวละห้าเหรียญ ครั้นจะยกกองทัพไล่ติดตามพวกแขกไปเล่า ผู้คนในเมืองน้อยตัว จะไว้ใจไม่ได้ จึงให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ที่ปลักแรด พระยาสงขลา กรมการ บอกให้หลวงพัฒนสมบัติ กังโปย ถือบอกเข้าไปกรุงเทพมหานคร ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า แขกเมืองจนะ เมืองเทพา หนองจิก คิดขถบ เข้าหาพวกแขกไทรทั้งสิ้น คนในเมืองสงขลาน้อยตัว ทรงทราบแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ กรมพระตำรวจ คุมไพร่ห้าร้อยคนเปนกองน่าล่วงออกมาก่อน ให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า เปนแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ไพร่สามพันเศษ ยกตามมาภายหลัง[14] กองพระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ยกมาถึงเกาะหนู พระสุนทรนุรักษ์ยกออกไปปลัดแรด ให้ทำปี่พาทย์บนเขาเกาะถำ แล้วให้ยิงปืนส่งเข้าไปในค่ายแขก พวกแขกแตกหนีไปในเพลาวันนั้น พระยาสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ กลับเข้ามาณเมืองสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ก็ขึ้นมาจากเรือ ปฤกษาราชการกับพระยาสงขลาพร้อมกันว่า พวกกองทัพแขกแตกไปแล้ว เมืองตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย ตัวเจ้าเมืองติดอยู่ที่เมืองสงขลา หารู้ว่าจะเปนอย่างไรไม่ ให้พระยาตานี พระยาสายบุรี พระยายะหริ่ง ล่วงน่าไปเสียก่อน ให้พระสุนทรนุรักษ์อยู่เมืองสงขลา พระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ยกลงไปตั้งอยู่ที่เมืองตานี แขกเมืองไทรซึ่งเปนขบถก็แตกทัพพากันหนีลงเรือไปอยู่เกาะหมาก ส่วนกองทัพเจ้าพระยานครยกเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองไทรได้ พระยาสงขลา พระยาวิชิตณรงค์ พระราชรินทร์ ลงไปจัดแจงอยู่เมืองตานีเดือนเศษ กองทัพพระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพ ใหญ่ เจ้าพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ยกกองทัพมาถึงเมืองสงขลา ณวันเดือนหก ศักราช ๑๒๐๑ ขึ้นแปดค่ำ ปีกุญ เอกศก ขึ้นตั้งทำเนียบอยู่ที่บ่อพลับ พระยาศรีพิพัฒน์มีหนังสือไปหาตัวพระยาไทร พระยาสงขลา ที่ตั้งอยู่เมืองตานี ให้เข้ามาที่เมืองสงขลา จะได้ปฤกษาราชการ พระยาสงขลา พระยาไทร ได้แจ้งตามหนังสือแล้ว พระยาสงขลาให้พระยาวิชิตณรงค์ นายเม่น มหาดเล็ก จัดแจงราชการอยู่ที่เมืองตานี พระยาสงขลากับพระราชรินทร์กลับเข้ามาณเมืองสงขลา พระยาไทร บุตรเจ้าพระยานคร ยกมาตั้งอยู่ที่ท่าอ้าน ๚

 ขณะนั้น พระยากลันตัน กับพระยาจางวาง ตนกูปษา วิวาทกัน พระยากลังตันบอกเข้ามาให้กราบเรียนเจ้าคุณศรีพิพัฒน์ แม่ทัพใหญ่ ขอให้กองทัพไทยลงไปช่วยพระยากลันตัน พระยาศรีพิพัฒน์เเจ้งในหนังสือพระยากลันตันแล้ว ไม่รู้ว่า การจะผันแปรประการใด จึงแต่งให้หลวงสรเสนี ปลัดกรมอาสาจาม ขี่กำปั่นลงไปห้ามปรามพระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา อย่าให้วิวาทกัน หลวงสรเสนีบอกเข้ามาว่า หลวงสรเสนีลงไปห้ามปรามพระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา ว่า ให้รื้อสนามเพลาะเสีย อย่าให้วิวาทกัน พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา หารื้อสนามเพลาะให้ไม่ พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพใหญ่ เห็นว่า พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา ยังดื้อดึงอยู่ จึงจัดให้พระยาเพ็ชรบุรี พระสุนทรนุรักษ์ คุมไพร่สองพันเศษลงไปตั้งถ่วงไว้ที่ญากัง แขวงเมืองสาย มีหนังสือให้หลวงโกชาอิศ หาก ล่ามณกรุงเทพมหานคร ลงไปหาตัวพระยากลันตัน ตนกูปษา เข้ามาเมืองสงขลา หลวงโกชาอิศ หาก พาตัวพระยากลันตัน ตนกูปษา เข้ามาถึงเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา แม่ทัพ ว่ากล่าวระงับให้พระยากลันตัน ตนกูปษา สามัคคีรศดีกันได้แล้ว พระยากลันตัน ตนกูปษา ก็ลากลับไปเมืองกลันตัน แต่เมืองไทรนั้น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา แม่ทัพใหญ่ ให้พระยาไทรรักษาเมืองอยู่ตามเดิม ให้ตนกูเดวาว่าราชการเมืองสตูนลงู ให้ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ให้พระปลัดเมืองพัทลุงว่าราชการเมืองพัทลุง ให้ยกที่พะโคะ แขวงเมืองพัทลุง มาให้ขึ้นกับเมืองสงขลา แล้วให้มีหนังสือไปหาพระยาเพ็ชรบุรี พระสุนทรนุรักษ์ กลับเข้ามาณเมืองสงขลา ครั้งนั้น พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพใหญ่ ให้พระยาวิชิตณรงค์อยู่ช่วยรักษาเมืองสงขลา พระยาศรีพิพัฒน์ แม่ทัพใหญ่ ได้ก่อพระเจดีย์ที่เขาเมืองข้างฝ่ายทักษิณพระเจดีย์เก่าหนึ่ง แล้วได้ยกที่พะโคะ เขตรแดนเมืองพัทลุง ให้มาเปนแขตรแดนแขวงเมืองสงขลา เสร็จราชการแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์กลับเข้าไปกรุงเทพฯ พระยาศรีพิพัฒน์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมืองไทรนั้นจะให้ไทยเปนเจ้าเมืองต่อไปไม่ได้ จะเกิดศึกวุ่นวายไม่รู้แล้ว ต้องแบ่งเมืองไทรออกเปนสามเมืองเหมือนอย่างเมืองตานี จึงจะเปนปรกติลงได้ ขอให้ยมตวันมาเปนเจ้าพระยาไทรตามเดิม ให้ตนกูอานุมเปนพระยากะปังปาสู ให้ตนกูเสดอาเสนเปนพระยาปลิศ ให้ตนกูเดวาเปนพระยาสตูน ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา[15] ให้พระปลัดเมืองพัทลุงเปนพระยาพัทลุง พระยาพัทลุง บุตรเจ้าพระยานคร พาเข้ามาเปนขุนนางในกรุงเทพมหานคร แต่เมืองพังงานั้น เจ้าเมืองถึงแก่กรรม โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาไทร บุตรเจ้าพระยานคร ไปเปนที่พระยาบริรักษ์ภูธร บวรสวามิภักดิ ศักดิเสนามาตยาธิบดี พิริยพาหะ พระยาพังงา ให้พระยาเสนานุชิตเปนที่พระยาตะกั่วป่า แต่เมืองไทร เมืองพัทลุงนั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตราตั้งเจ้าเมืองออกมาตามพระยาศรีพิพัฒน์จัดแจงไว้ ๚

 ครั้งนั้น เปนปรกติอยูปีหนึ่ง พระสุนทรนุรักษ์เข้าไปเฝ้าทูลลองธุลีพระบาท พระยาสงขลาแต่งเรือศีศะฝรั่งให้พระปลัดเมืองพัทลุง พระยาวิชิตณรงค์ ข้าหลวง เข้าไปกรุงเทพมหานครพร้อมด้วยพระสุนทรนุรักษ์ พระปลัดเมืองพัทลุงเข้าเฝ้าทูลลองธุลีพระบาทพร้อมกัน รับสั่งถามพระสุนทรนุรักษ์ด้วยข้อราชการเสร็จแล้ว ดำรัสว่า ให้พระสุนทรนุรักษ์เปนพี่เลี้ยงช่วยบำรุงพระปลัดเมืองพัทลุงด้วย แล้วรับสั่งว่า ให้ตั้งพระปลัดเปนพระยาพัทลุง[16] เสร็จราชการแล้ว พระสุนทรนุรักษ์กราบถวายบังคมลากลับออกมาณเมืองสงขลา อยู่สองปี มีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาเมืองสงขลาว่า พระยากลังตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา วิวาทกันพี่น้อง ให้พระยาเสนหามนตรี บุตรเจ้าพระยานคร พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระยาท้ายน้ำ ลงไปเมืองกลันตัน ช่วยระงับว่ากล่าวให้พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา สามัคศีรศประนบประนอมกันพี่น้อง อย่าให้แตกร้าวมัวหมองกัน ถ้าเห็นว่า พระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา แตกร้าวประสานไม่ได้แล้ว ให้พระสุนทรนุรักษ์เกลี้ยกล่อมตนกูปษามาไว้เมืองแขกซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลา ให้พระยาเสนามนตรีพาตัวพระยาจางวางเข้ามาไว้เมืองนครตามท้องตรา พระยาเสนหามนตรี พระยาสุนทรนุรักษ์ พระยาท้ายน้ำ ก็ยกไปเมืองกลันตัน ได้ระงับว่ากล่าวพระยากลันตัน พระยาจางวาง ตนกูปษา ให้สามัคคีรศกันพี่น้อง พระยากลันตัน ตนกูปษา หาง้องอนกันไม่ จึงพระยาสุนทรนุรักษ์พูดจาเกลี้ยกล่อมตนกูปษา ๆ สมัคมากับพระยาสุนทรนุรักษ์ ๆ พาตัวตนกูปษากับบุตรภรรยาทาษชายหญิงผู้คนบ่าวไพร่ตนกูปษามาไว้ที่เมืองตานี พระยาเสนามนตรีพาตัวพระยาจางวาง บุตรภรรยาทาษชายหญิง ไปไว้เมืองนคร พระยาท้ายน้ำก็เข้าไปกรุงเทพมหานคร ๚

 ณปีขาล จัตวาศก (จุลศักราช ๑๒๐๔) โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดแจงฝังหลักเมืองสงขลา โปรดพระราชทานเทียนไชย หลักไชยพฤกษ์ กับเครื่องไทยทาน อาราธนาสมเด็จเจ้าอุดมปิฏก พระสงฆ์อันดันแปดรูป เปนประธาน พระครูอัษฎาจารย์ พราหมณ์มีชื่อแปดนาย ออกมา ให้พระยาสงขลาฝังหลักเมือง พระยาสงขลาได้จัดแจงทำโรงพิธีกลาง แลโรงพิธีสี่มุมเมือง กับโรงพิธีพราหมณ์ เสร็จแล้ว ณวัน ค่ำ ปีขาล จัตวาศก ได้ตั้งกระบวนหลักไชยพฤกษ์ เทียนไชย ไปเข้าโรงพิธี อาราธนาพระสงฆ์จำเริญพระปริตสามวัน เสร็จแล้ว ได้เชิญหลักไชยพฤกษ์ฝังลงไว้ณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ เพลาเช้าโมง ๒ บาท ลุศักราช ๑๒๐๔ ปีขาล จัตวาศก แล้วสมโภชหลักไชยพฤกษ์ มีลคร, งิ้ว, หุ่น, ชาตรี ๕ วัน พระยาสงขลาได้ถวายผ้าไตรจีวรเครื่องบริขารแก่พระสงฆ์เสมอทั้ง ๒๒ รูป แลได้ต่อก่อตึกโรงหลักเมืองขึ้นไว้สามหลัง ทำโรงเสื้อเมืองขึ้นไว้หลังหนึ่ง เสร็จราชการฝังหลักเมืองแล้ว พระยาสงขลาจัดแจงให้ไปส่งสมเด็จเจ้าอุดมปิฏก แลพระครูอัษฏาจารย์ พราหมณ์มีชื่อ เข้าไปกรุงเทพมหานคร ๚

 ครั้นปีมโรง ฉศก ศักราช ๑๒๐๖ อยู่สองปี ถึงกำหนดงวดส่งดอกไม้ทองเงินเมืองสตูนลงู จะเอาสิ่งใดก็ไม่ได้ พระยาสงขลาต้องทำดอกไม้ทองเงินรวงให้ตนกูเดวา ๆ พาดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งตนกูเดวาเปนพระยาสตูนออกมา พระยาสตูนกับพระยาปลิศวิวาทด้วยเขตรแดน มีตราออกมาให้กรมการเมืองนคร เมืองสงขลา กำกับกันไปชำระปักหลักลงไว้ให้มั่นคง พระยาสงขลาเห็นว่า พระยาสตูนเปนคนดื้อดึง จะเอากิจราชการก็ขัดสน หาเปนผลเปนประโยชน์สิ่งใดไม่ จึงยกเมืองสตูนให้ขึ้นกับเมืองนคร ๚

 ครั้นณปีเมีย อัฐศก พระยาสงขลาเปนไข้ พระราชทาน ขุนภักดีโอสถ หมอยา พันเมือง หมอนวด ออกมาพยาบาล อาการก็หาคลายขึ้นไม่ ณวัน ๑๐ ฯ  ค่ำ ลุศักราช ๑๒๐๙ ปีมแม นพศก เพลาสามโมงเช้า พระยาสงขลาถึงแก่อนิจกรรม พระสุนทรนุรักษ์ ญาติพี่น้อง จัดแจงศพพระยาสงขลาไว้ในเตียงน่าจวน พระสุนทรนุรักษ์บอกเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระยาสงขลาถึงแก่อนิจกรรม พระสุนทรนุรักษ์ให้หลวงไชยสุรินทร์คุมเงินเข้าไปทูลเกล้ากระหม่อมถวายหมื่นเหรียญ หลวงไชยสุรินทร์กลับออกมาณวันเดือนเก้า ปีวอก สัมฤทธิศก พระสุนทรนุรักษ์เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระสุนทรนุรักษ์ (บุญสังข์) ว่าที่พระยาสงขลา ออกมาจัดแจงทำศพพระยาสงขลา พระสุนทรนุรักษ์กราบถวายบังคมลากลับออกมา พระราชทานผ้าไตร ๓๐ ไตร กับเครื่องไทยทาน แลศิลาน่าเพลิง กับพระราชทานหมื่นตะมัง นายช่างทหารใน ออกมาเปนช่างทำเมรุคนหนึ่ง พระสุนทรนุรักษ์จัดแจงทำเมรุยังไม่เสร็จ ๚

 ในปีนั้น มีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาวิชิตณรงค์เปนแม่กองออกมาศักเลข ตั้งโรงศักที่บ่อพลับ ได้ลงมือศักเลขบ้างแล้ว พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ว่าที่พระยาสงขลา ญาติพี่น้อง ได้ทำเมรุเผาศพพระยาสงขลาแล้วเสร็จแต่ณวันเดือนเจ็ด ศักราช ๑๒๑๑ ปีรกา เอกศก ได้ฝังศพพระยาสงขลาไว้ที่เขาแหลมสน จาฤกไว้ในศิลาน่าศพแล้ว อยู่สองวัน ฯพณฯ ว่าที่สมุหพระกระลาโหม ออกมาสำเร็จราชการในการศักเลขเมืองปากใต้ ฯพณฯ ว่าที่สมุหพระกระลาโหม ยกมาถึงเมืองสงขลา ขึ้นตั้งทำเนียบอยู่บ่อพลับ ฯพณฯ ว่าที่สมุหพระกระลาโหม จัดแจงศักเลขอยู่ที่เมืองสงขลาสามเดือนเสร็จราชการ (ฉบับลบ) แล้วเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๓ ได้ครองเมืองสงขลา ๓๐ ปี ได้สร้างพระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระสูตร ๒๒๙ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ สัททาวิเศษ ๒๔ คัมภีร์ (ฉบับลบ) พระไตรปิฎก เปนเงินตรา ๕๐ ชั่ง ได้สร้างสำเภาไว้ ๓ ลำ แล้วก่อกำแพงศิลาเมืองสงขลาขึ้นไว้ แล้วถึงอนิจกรรม แลได้จัด (ฉบับลบ) พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ว่าที่พระยาสงขลา เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวร หมอพยาบาลพระอาการก็หาคลายขึ้นไม่ ครั้นณวัน ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญ ตรีศก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าสวรรคต แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเถลิงถวัลยราชสมบัติผ่านพิภพขึ้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รับสั่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนพระสุนทรนุรักษ์ (บุญสังข์) บุตรพระยาศรีสมบัติจางวาง ขึ้นเปนที่พระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โปรดให้ตั้งนายจ่าเรศ (เม่น) มหาดเล็ก บุตรพระยาสงขลา ฤทธิ เปนพระสุนทรรักษ์ ผู้ช่วยราชการ พระยาสงขลา พระสุนทรนุรักษ์ ได้รับตราตั้งณวันพุฒ เดือนหก แรมสิบสามค่ำ ศักราช ๑๒๑๓ ปีกุญ ตรีศก ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณเปนปรกติมา ๚

พงษาวดารเมืองสงขลา
ของเจ้าพระยาวิเชียรคิรี บุญสังข์
ตอนที่ ๒
แต่งเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๑

 วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ ปีมแมนักษัตร เอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ เพลา ๔ โมงเช้า นั่งพร้อมกันณจวน

พระสุนทรนุรักษ์ ๑ พระสมบัติภิรมย์ ๑ หลวงนุรักษ์ภูเบศร์ ๑ หลวงวิเศษภักดี ๑ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ๔

หลวงเพ็ชรคิรีศรีราชสงคราม ปลัด ๑ หลวงเทพนรินทร์อินทร์เดชะ ยกรบัตร ๑ หลวงเทพสุรินทร์อินทรเสนา จ่ามหาดไทย ๑ หลวงพลฤทธิพิไชย ๑ หลวงเทพมณเฑียร น่าวัง ๑ หลวงพิทักษ์โกษา คลัง ๑ หลวงทิพมนตรีศรีราชสมโภช กรมนา ๑ หลวงเพ็ชรบุรีศรีราชวังเมือง นครบาล ๑ หลวงพิไชยเสนา สัสดีกลาง ๑ หลวงเทพเสนา สัสดีขวา ๑ หลวงไชยปัญญา สัสดีซ้าย ๑ หลวงไชยสุรินทร์ มหาดไทยกลาง ๑ หลวงอินทรอาญา นครบาลใน ๑ หลวงเพ็ชรพยาบาล กรมช้าง ๑ หลวงพิทักษ์โยธา ๑ หลวงบำรุงชลธาร์ ๑ หลวงท้ายวัง ๑ หลวงบำรุงอากร ๑ ขุนเทพอาญา มหาดไทยศาลา ๑ ขุนเทพสุภาแพ่ง ๑ ขุนสรพากร ๑ ขุนแก้วเสนา ๑ กรมการ ๒๒

หลวงศรีปดุการายามฆาหลี ๑ หลวงสุริยวังษา ๑ หลวง ฤทธิเทวา ๑ ขุนวิเศษวาที ๑ ล่ามเมืองสงขลา ๔

รวมกัน ๓๐ ชื่อ

 เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาโปรดสั่งว่า เรื่องราวการเมืองสงขลาแต่ก่อน ได้จัดแจงทำขึ้นไว้เมื่อครั้งพณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาอินทรคิรี ศรีสมุทสงคราม เจ้าพระยาสงขลา (บุญฮุย) ที่หนึ่ง[17] ตั้งแต่เปนพระสงขลาแลเปนพระยาสงขลามาหลายปีมิได้นับ ๆ แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาอินทคิรี ศรีสมุทสงคราม เจ้าพระยาสงขลา ได้ยกเมืองมาจากเมืองนคร แล้วครองเมืองสงขลาอยู่ ๓๔ ปี ต่อถึงอาสัญกรรม แลพระยาวิเศษภักดี ศรีสุรสงคราม (จํอง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๒ ครองเมืองสงขลาได้ ๗ ปี แล้วถึงอาสัญกรรม แลพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ (เซ่ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๓ ได้ครองเมืองอยู่ ๓๐ ปี แล้วถึงอาสัญกรรม มีแจ้งอยู่ในเรื่องราวแต่ก่อนนั้นแล้ว ๚

 ครั้งนี้ ได้ให้หลวงศรีสมบัติ ก๋งโปย หลวงศุภมาตรา เซง จัดแจงจดหมายเรื่องราวการเมืองสงขลาไว้ฉบับหนึ่ง เมื่อครั้งเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๔ ยังประถมไวยอยู่ อายุได้ ๑๖ ปี เข้าไปถวายตัวเปนมหาดเล็กอยู่ในเวรเดช ก็ตั้งใจทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาไลย เปนมหาดเล็กเลวอยู่ ๒ ปี ที่จะได้เพลิดเพลินไปในข้อที่ไม่เปนประโยชน์หามิได้ ละวัน ๆ ครั้นเพลา ๓ โมงเช้า ก็เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุรีพระบาทฟังราชการ จนเพลา ๔ โมงเช้า ตรัสประภาษด้วยราชการ แล้วเสด็จขึ้น กลับมาบ้าน ครั้นเพลาบ่าย ๒ โมงเศษ ลงเรือไปทำรายงานสำเภาหลวงที่คอกกระบือแลบ้านที่อยู่กับอู่ต่อสำเภานั้น พายเรือล่องลงมาแต่เพลาบ่าย ๒ โมงเศษ เที่ยวดูรายงานเสร็จแล้วกลับเข้าไปถึงบ้าน พอเพลาพลบค่ำ เพลาทุ่มเศษ เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุรีพระบาทถวายรายงานซึ่งอากึ่งชันหมันต่อสำเภาว่า เพลาวันนี้ ได้ทำงานสิ่งนั้น ๆ จน สิ้นทุกข้อ แล้วก็เฝ้าฟังราชการจนเสด็จขึ้น เพลา ๔ ทุ่มเศษ จึงได้กลับมาบ้าน แต่ทำราชการขวนขวายอยู่อย่างนี้ทุก ๆ วันมิได้ขาดถึงสองปี รวมกันสี่ปี ณเดือนเจ็ด ปีกุญ (จุลศักราช ๑๑๗๗) กราบถวายบังคมลากลับออกมาเยี่ยมบิดามารดา ณวันเดือนสิบสอง ข้างแรม พระราชทานเบี้ยหวัดแก่ข้าทูลลอองธุรีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยณกรุงเทพพระมหานคร ภายหลัง สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งแต่งเลื่อนขึ้นเปนที่พลพ่าย หุ้มแพร นายยามอยู่เวรสิทธิ แต่ตัวยังอยู่เมืองสงขลา แล้วมีรับสั่งออกมาให้เข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร ครั้นณเดือนหก ปีชวด (จุลศักราช ๑๑๗๘) เข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร รับทำราชการอยู่ในที่พลพ่าย หุ้มแพร สองปี ครั้นณเดือนยี่ ปีฉลู (จุลศักราช ๑๑๗๙) เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ ๒ ถึงแก่อนิจกรรม โปรดเลื่อนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แล้วตั้งให้นายพลพ่าย มหาดเล็ก เป็นหลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ๚

 ปีขาล สัมฤทธิศก (จุลศักราช ๑๑๘๐) หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กราบถวายบังคมลาออกมาทำราชการด้วยเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา สมเด็จพระพระพุทธเลิศหล้านภาไลย อันได้ปราบดาภิ เสวยราชสมบัติได้ ๑๖ ปีแล้วสวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสผู้ใหญ่ ได้ราชาภิเศกเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในเดือนแปด ปีวอก ฉศก (จุลศักราช ๑๑๘๖) ๚

 ครั้นณปีมโรง จัตวาศก (จุลศักราช ๑๑๙๔) อ้ายพระยาตานี หลวงปสา เปนขบถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาคลัง ว่าที่สมุหพระกระลาโหม ยกกองใหญ่ออกมา แล้วเลยลงไปตั้งอยู่ที่บางน้ำจืด แขวงเมืองตานี จัดแจงราชการเมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองรามัน เสร็จแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร แลข้อความเมืองตานีเปนขบถนั้นมีแจ้งอยู่ในฉบับต้นซึ่งจัดแจ้งไว้แต่ก่อนนั้นแล้ว ๚

 ครั้นณเดือนห้า ปีมเสง เบญจศก (จุลศักราช ๑๑๙๕) หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพพระมหานคร พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม แม่ทัพใหญ่ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ติดตามอ้ายพระยารามัน ได้ตัวอ้ายพระยารามัน แลครอบครัวอ้ายพระยาหนองจิก พระยาตานี มา มีความชอบอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนขึ้นเปนพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แล้วกราบถวายบังคมลากลับออกมาณเมืองสงขลา ๚

 ครั้นณเดือนสี่ ปีมแม (จุลศักราช ๑๒๐๙) เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (เซ่ง) ถึงแก่อนิจกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาให้พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ว่าที่พระยาสงขลา แล้วให้จัดแจงทำศพเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้สมควรด้วยยศถาศักดิ แลพระสุนทรนุรักษ์ได้เปนผู้ช่วยราชการเมืองสงขลามา จนเจ้าคุณสำเร็จราชการเมืองสงขลาถึงแก่อนิจกรรมได้ ๓๑ ปี แล้วพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ว่าที่พระยาสงขลา ได้จัดแจงศพเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ใช้จ่ายเปนเงินยี่สิบพัน มีเศษหกร้อยสี่สิบเหรียญ แล้วเสร้จแต่ในปีรกา เอกศก เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกระลาโหม แลพระยาวิชิตณรงค์ ออกมาศักเลขอยู่ปีหนึ่ง เสร็จแล้วกลับเข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร ๚

 ครั้งณเดือนหก ปีจอ โทศก (จุลศักราช ๑๒๑๒) พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ว่าที่พระยาสงขลา เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพพระมหานคร ยังหาได้ชุบเลี้ยงตั้งแต่งให้เปนที่พระยาสงขลาไม่ (ในระหว่างนี้ มีอ้ายจีนสลัดมาจับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ซึ่งอยู่รักษาราชการเมือง ๆ สงขลา) พอสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ครั้นณวันเดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีกุญ ตรีนิศก (จุลศักราช ๑๒๑๓) เสด็จสวรรคต แลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชสมบัติอยู่ ๒๘ ปี สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์ใหญ่ ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามสัญญาบัตรให้พระสุนทรนุรักษ์เลื่อนขึ้นเปนที่พระยาวิเชียนคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ถือศักดินา ๕๐๐๐ แล้วพระราชทานพานหมากทองคำเหลี่ยม เครื่องในแปดสิ่ง สำรับ ๑ กะโถนทองคำ ๑ คนโททองคำ ๑ ลูกดิ่งทองคำสาย ๑ แหวนพุทธธำมรงค์ หัวพระมารวิไชย วง ๑ ตะกรุดทองคำสามดอกสาย ๑ กระบี่บั้งทองเล่ม ๑ หมวกตุ้มปี ๑ เสื้อทรงประพาศ ๑ โต้ะเงินเท้าช้างคาว ๑ หวาน ๑ ๒ สำรับ สัปทนปัศตูคัน ๑ แลของสำหรับยศทั้งปวงตามบันดาศักดิ ตั้งแต่ณวันพุฒ เดือนหก แรมสิบสามค่ำ ปีกุญ ตรีนิศก ศักราช ๑๒๑๓ ปี เสร็จแล้ว กราบถวายบังคมลากลับออกมาณเมืองสงขลา เข้าเมืองแล้วขึ้นอยู่บนจวนณวันพฤหัศบดี เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบสี่ค่ำ เพลาเช้า ๔ โมงเศษ ฤกษ์ราชา พระอาทิตย์อยู่ราษีกันย์ พระจันทร์อยู่ราษีมิน พระอังคารอยู่ราษีเมถุน พระพุฒ พระพฤหัศบดี อยู่ราษีกันย์ พระศุกรอยู่ราษีกันย์ พระเสาร์อยู่ราษีเมษ พระราหูอยู่ราษีกรกฎ ลักษณาอยู่ราษีกันย์ ๚

 เมื่อณวันเสาร์ เดือนห้า แรมหกค่ำ ปีชวด จัตวาศก (จุลศักราช ๑๒๑๔) เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา กรมการ พร้อมกันบอกเข้าไปให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานครูทหารปืนใหญ่ออกมาให้มาฝึกหัดทหารปืนใหญ่ไว้สำหรับราชการเมือง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมหมื่นชำนาญอาวุธ นายขำ ชาติพุทเกต ครูทหารปืนใหญ่ ออกมาณเมืองสงขลา ได้ฝึกหัดปืนใหญ่น้อยสำหรับเมืองชำนาญได้ราชการแล้ว ๆ บอกส่งหมื่นชำนาญอาวุธ นายขำ ครูทหารปืน เข้าไปณพระกรุงเทพมหานคร ๚

 ครั้งณวันศุกร เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ ปีชวด จัตวาศก ได้ทำการศพฉลองคุณ ๆ มารดาหกวัน เปนพระสงฆ์สำแดงธรรม พระสงฆ์สวดพระธรรม พระสงฆ์บังสกุล เปนพระสงฆ์สองพันมีเศษห้าร้อยสามสิบเจ็ดรูป ถวายไตรจีวรเครื่องบริขาร ๔๕๓ ไตร ถวายจีวรแลสบงย่ามทุกรูปสองพันมีเศษแปดสิบสี่รูป ได้ทำโรงทานไทยจีนแขกไว้ พระสงฆ์อาคันตุกะซึ่งมาฉันในโรงทาน แลไทยจีนแขกซึ่งมารับทานหกรายวัน เปนพระสงฆ์ ๒๐๘๖ รูป ไทยจีนแขกสิบเอ็ดหมื่นมีเศษแปดพันสิบสามคน เงินใช้จ่ายของเบ็ดเสร็จในการศพคุณมารดาเปนเงินแปดพันมีเศษห้าร้อยหกสิบสองเหรียญสองสลึง แล้วได้สร้างพระอุโบสถวัดเทพชุมนุม แลโรงธรรมศาลาบาตหอระฆัง กับทั้งตึกกุฎีใหญ่น้อยทั้งปวง แลโรงฉัน คิดเปนเงินสามพันมีเศษห้าร้อยสิบห้าเหรียญ ครั้งณวันเดือนสี่ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราช๑๒๒๑ ปีมแม เอกศก ได้นิมนต์พระสงฆ์สำแดงพระธรรม ๕ รูป พระสงฆ์เจริญพระปริต ๓ วัน แล้วผูกพัทธเสมา ๕๒ รูป ถวายไตรจีวรแพร จีวรผ้า รูปละ ๕๗ ไตร กับเครื่องบริขารในการฉลองลงทุนใช้จ่าย ๕ รายวัน คิดเปนเงินพันเจ็ดร้อยเจ็ดสิบหกเหรียญครึ่ง กับได้ช่วยทาษไว้ให้เปนไวยาวัจกรสำหรับสงฆ์ใช้สอยสองครัว ๆ ละสามสิบห้าเหรียญ เปนเงิน ๗๐ เหรียญ รวมกันที่ได้บริจาคไว้ในวัดเทพชุมนุมสามราย คิดเปนเงินห้าพันเหรียญครึ่ง แล้วได้บุรณปฎิสังขรณ์วัดโพเงิน ๓๖๑ เหรียญ วัดศิริวนาวาศ ๕๐๓ เหรียญ รวมกันเป็นเงิน ๙๓๔ เหรียญ แล้วได้จำเริญอายุศมถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ แลให้ทานแก่ไทยจีนแขกเปนเงินใช้จ่ายห้าพันมีเศษเจ็ดร้อยสามเหรียญ ได้สร้างคัมภีร์สิกขาบทสิบคัมภีร์ แลสร้างคัมภีร์พระสารสังคหะวินิจฉัยจนจบ เปนเงินร้อยมีเศษสิบเอ็ดเหรียญ แล้วได้ทนุบำรุงยกย่องพระบวรพุทธสาสนา จ้างให้อาจารย์ผู้รู้ธรรมมาบอกพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์ณหอภายในกำแพงจวนมุมหรดี ปฎิบัติพระสงฆ์ด้วยน้ำชาแลเภสัชเปนต้น แลเงินนิตยภัตรสำหรับถวายพระสงฆ์สำแดงพระปาติโมกข์ทุกดับทุกเพ็ญ ๑๒ อาราม ๆ ละเหรียญ เปนเงินเดือนละ ๑๒ เหรียญมิได้ขาด ๚

 แล้วได้จัดแจงซ่อมแซมกำแพงเมือง แลประตูเมือง ตึกดิน แลในจวนนอกจวน ต่อก่อร่อ ถมทราย ปลูกฉางใส่เข้าไว้สำหรับราชการ ๒ ฉาง แลต่อก่อตะพานลองขวางแลป้อมรักษาขอบเขตที่ปากน้ำแหลมซายป้อมหนึ่ง ต่อก่อสระศิลาไว้ที่น่าโรงศาลเจ้ามาจ่อ ปลูกบัวสัตบงกชไว้ให้ดอกให้รากให้ผลให้ใบเปนทานตามแต่ผู้จะปราถนา คิดค่าเปนเงินใช้จ่ายตกแต่งกำแพงเมือง ประตู หอรบ ตึกดิน แลในจวนนอกจวน แลต่อก่อตะพานคลองขวาง แลป้อมแหลมซาย คิดเปนเงินใช้จ่ายหมื่นมีเศษพัน แลที่ลงธนทรัพย์ใช้จ่ายตกแต่งซ่อมแปลงแลบริจาคทำบุญให้ทานในการกุศลใหญ่น้อยทั้งปวงเมื่อครั้งเจ้าคุณยังไม่เปนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ก็หาได้ยกขึ้นไม่ว่า ยกขึ้นว่าแต่เมื่อเจ้าคุณเปนผู่สำเร็จราชการเมืองสงขลาแล้ว โดยยกขึ้นว่าเจ้าคุณเปนผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาแล้วก็ดี ยกขึ้นว่าแต่การที่ตกแต่งซ่อมแปลงแลบริจาคทำบุญให้ทานในการใหญ่ ๆ จึงยกขึ้นว่า ที่ตกแต่งซ่อมแปลงแลบริจาคทำบุญให้ทานเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่าง ๆ ตามธรรมเนียมนั้น ก็มีอยู่มาก หาได้ยกขึ้นว่าไม่ แล้วเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ที่ประพฤติซึ่งการทั้งปวงแต่ล้วนจะให้ประโยชน์แก่ตนแลผู้อื่นแล้วจึงทำ แลอุสาหะชักนำกระทำสงเคราะห์แก่ญาติ แลกรมการ ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวง ให้ชวนกันทำบุญให้ทาน แลช่วยกันทำทนุบำรุงพระบวรพุทธสาสนา ให้ทำไร่นาค้าขายหากินแต่โดยสุจริต มิให้คิดลอบลักฉ้อขายซึ้งกันแลกันให้ได้ความยากแค้น ย่อมว่ากล่าวสั่งสอนชักนำให้เปนประโยชน์ในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย กรมการทั้งหลายก็พร้อมเพรียง ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองลูกค้าวานิชทั้งปวงได้ทำไร่นาค้าขายหากินก็ชุกชุม จะมั่งมียากจนก็สุดแต่บุญกรรมของบุคคลนั้นเอง มิได้เบียดเบียนฉ้อกระบัดเอาพัศดุเงินทองเข้าของ ๆ ผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้ความเดือดร้อนหามิได้ ๚

 เมื่อณวันเดือนหก แรมสิบค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๒๑๖ ได้ต่อกำปั่นวิเชียรคิรีลำหนึ่ง ใช้จ่ายเงินสิบหกพันมีเศษหกร้อยสี่สิบสองเหรียญ กำปั่นมณีกลอกสมุทลำหนึ่ง เงินหกพันมีเศษห้าร้อยหกสิบเหรียญ ณวันเดือนแปด ปีมโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ ได้สร้างอุโบสถแลบุรณปฎิสังขรณ์กำแพงศิลาวัดมัชฌิมาวาศ ลงทุนทรัพย์ใช้จ่ายเปนเงิน ฯลฯ ๚

 แลเมื่อณวันเดือนห้า แรมสองค่ำ ปีมเมียสัม ฤทธิศก หลวงสวัสดิภักดี ซึ่งให้เข้าไปรับราชการอยู่ณกรุงเทพพระมหานคร มีหนังสือออกมาถึงเมืองสงขลาว่า พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม มีพระปราสาทสั่งว่า ณเดือนแปด เดือนเก้า ปีมเมีย สัมฤทธิศก พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม จะออกมาตราจดูปากน้ำฝ่ายเมืองปากใต้ แล้วจะมาพักที่เมืองสงขลา ให้จัดแจงปลูกทำเนียบไว้ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดแจงจากไม้ปลูกทำเนียบไว้คอยรับพณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม ที่แหลมซาย ครั้นณวันเดือนเจ็ด แรมสิบค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดแจงกำปั่นวิเชียรคิรี ให้ขุนพิทักษ์นาเวศเปนนายลำ กำปั่นมณีกลอกสมุท ให้หมื่นประสิทธิคงคาเปนนายลำ ให้หลวงอำนาจกำแหง ซึ่งเปนหลวงศรีปดุกา คุมกำปั่นวิเชียรคิรี ให้ขุนพรมมนตรี ขุนเสตียนเดหวา คุมกำปั้นมณีกลอกสมุท เข้าไปรับพณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม ณกรุงเทพพระมหานคร ณวันเดือนแปด ทุติยาสาธ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมเมีย สัมฤทธิศก พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม ขี่กำปั่นเสนินทรประดิษฐออกมาถึงเมืองสงขลา ได้ขึ้นพักอยู่ทำเนียบซึ่งปลูกไว้คอยรับ ผู้คนซึ่งติดตามพณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม ออกมา ๕๐๐ คนเศษ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้ตั้งโรงครัวคาวหวานทำของเลี้ยงวันละสามเพลามิให้ขัดสน พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม เที่ยวตรวจดูป้อมกำแพงเมืองทั่วแล้ว ๆ มีพระประสาทสั่งกับเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า ณเดือนแปด เดือนเก้า ปีมแม เอกศก พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินออกมาทรงทอดพระเนตรฝ่ายเมืองปากใต้ ให้จัดแจงปลูกพลับเพลาไว้คอยรับเสด็จ พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระโหม พักอยู๋ที่เมืองสงขลา ๗ ราตรีกับ ๖ ทิวา เอากระบี่ด้ามทองฝักทองอย่างลอนดอนเล่มหนึ่ง เข็มขัดสายหนึ่ง ให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา กับยกที่กำแพงเพ็ชร แขวงเมืองพัทลุง ให้เปนเขตรแดนแขวงเมืองสงขลา ครั้งณวันเดือนแปด ทุติยาสาธ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก เพลา ๔ โมงเช้า พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม ลงกำปั่นไฟกลับเข้าไปณกรุงเทพพระมหานคร ๚

 ณวันเดือนยี่ แรมสิบสี่ค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก พระวิเศษวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง เชิญตราพระคชสีห์ออกมาถึงเมืองสงขลา ในท้องตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมาว่า มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า จะเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคทรงเรือพระที่นั่งกลไฟออกไปประพาศทรงทอดพระเนตรตามอ่าวคุ้งหัวเมืองปากใต้ฝ่ายทเลตวันตกให้สำราญพระราชหฤไทยไปจนถึงเมืองสงขลา ให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดแจงปลูกพลับพลาที่ข้างน่าข้างใน ที่สรง ที่เสวย ที่ลงพระบังคน แลท้องพระโรง ไว้คอยรับเสด็จ ณวันเดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงพิไชยภักดี เมืองวังชิง หลวงสรประสิทธิ เมืองพตง หลวงนุชิตพิทักษ์ เมืองการำ หลวงพิไชยสมบัติ เมืองรัตภูมี หลวงอภัยภักดี เมืองพวง คุมไพร่พันเศษขึ้นไปตัดไม้เครื่องพลับพลาที่ควนคลัง จากเกณฑ์หัวเมืองฝ่ายปละท่า ต้องในหลวงเมือง หลวงนา หลวงสิทธิประการ จทิงพระ หลวงภักดีบริบาล เมืองพโคะ หลวงรโนฎ เปนจากสิบหมื่น ๚

 ณวันเดือนสาม แรมสิบสี่ค่ำ ปีมเมีย สัมฤทธิศก นายกลั่น มหาดเล็ก ถือหนังสือพระยาศรีเสาวราชภักดีศรีสมุหพระกระลาโหมฝ่ายพลำพังออกมาฉบับหนึ่ง ในหนังสือนั้นว่า พณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหม มีบัญชาสั่งว่า พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินออกมาประพาศทรงทอดพระเนตรฝ่ายหัวเมืองปากใต้ไปจนถึงเมืองสงขลา กำหนดจะเสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา ในเดือนเก้า ข้างขึ้น ปีมแม เอกศก ให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลามีหนังสือไปหาตัวพระยาแขกหัวเมืองซึ่งขึ้นกับเมืองสงขลาให้จัดแจงหาของถวายขึ้นมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทให้พร้อมกันที่เมืองสงขลาจงทุกเมือง ในหนังสือพระยาศรีเสาวราชภักดีศรีสมุหพระกระลาโหมฝ่ายพลำพังมีเปนหลายประการ ๚

 ณวันเดือนสี่ ขึ้นเจ็ดค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมเมีย สัมฤทธิศก เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา กรมการ จัดแจงเกณฑ์ไพร่ห้าร้อยคน ให้หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา นายกลั่น นายกิ่ง มหาดเล็ก เปนผู้กำกับตรวจตราดูแล ให้หลวงคิรีสมบัติเปนนายช่าง หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกรบัตร เปนแม่กอง หลวงขุนหมื่น คุมไพร่แจกจ่ายกันทำ เข้าสารเบิกจ่ายให้ไพร่ทำงานพระราชวังแหลมซายทั้งนั้นเปนของเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทั้งสิ้น ๚

 หลวงคิรีสมบัติทำท้องพระโรงใหญ ๗ ห้อง ๆ ละ ๗ ศอก ขื่อ ๑๐ ศอก เสา ๔ วา ๒ ศอก ใหญ่ ๔ กำกึ่ง พื้นต่อก่ออิฐถมทรายปูกระเบื้องน่าวัว เฉลียงสามด้าน เสาหุ้มผ้าแดงเลือดนก มีบัวปลายเสาทุกเสา เฉลียงฝาเซี้ยมเมืองจีนมีประตู ๘ ประตู ลับแลเมืองจีนประตูละอัน ๘ อัน มีน่าต่างรูปไข่ ๘ น่าต่าง ฝาชั้นในประทับผ้าลายต่างสี อัฒจันท์ขึ้นลงต่อก่ออิฐปูกระเบื้องน่าวัว เพดานผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น พัดแพรชักวาตา ๒ อัน มีช่อฟ้าหางหงษ์ใบระกากะจังจวน หลังคาแลน่าจั่วหุ้มผ้าแดง ๚

 หลังเสวย ๕ ห้อง ๆ ละ ๗ ศอก ขื่อ ๓ วา เสา ๔ วา ๒ ศอก ใหญ่ ๔ กำกึ่ง เฉลียง ๒ น่า พื้นสูง ๒ ศอก ต่อก่อถมดินปูกระเบื้องน่าวัว ฉากกระจกกั้นห้อง อัฒจันท์ขึ้นลงลาดดีบุก ฝากะแชงอ่อน บานประตูบานน่าต่างแม่ฝาไม้สายบัว ผ้าลายต่างสีประทับฝาชั้นใน มีประตู ๔ ประตู น่าต่าง ๘ น่าต่าง เสาหุ้มผ้าแดง เพดานผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น พัดชักวาตา ๒ อัน มีช่อฟ้าหางหงษ์ใบระกากะจังล้วน หลังคาน่าจั่วหุ้มผ้าแดง หลังท้องพระโรงกลาง ๓ ห้อง ๆ ละ ๗ ศอก ขื่อ ๑๐ ศอก เสายาว ๔ วา ๒ ศอก ใหญ่ ๔ กำกึ่ง เฉลียง ๒ ด้าน พื้นสูงศอกคืบ ต่อก่ออิฐถมทรายปูกระเบื้องน่าวัว อัฒจันท์ขึ้นลง ๒ ด้าน ต่อก่ออิฐปูกระเบื้องน่าวัว ฝากะแชงอ่อน บานประตูน่าต่าง เช็ดน่าประตูเช็ดน่า ๆ ต่าง แม่ฝาไม้สายบัว ผ้าลายต่างสีประทับฝาชั้นใน เสาหุ้มผ้าแดง มีประตู ๒ ประตู น่าต่าง ๔ น่าต่าง เพดาผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น หลังคาหุ้มผ้าแดง มีช่อฟ้าใบระกากะจังรวน หลังประธม ๕ ห้อง ๆ ละ ๗ ศอก เฉลียง ๓ พื้นด้านสูงสองศอก ต่อก่ออิฐ อัฒจันท์ขึ้นลงต่อก่ออิฐลาดดีบุกมีราวเหล็ก ฝาเซี้ยมกั้นห้องประธม ฝากะแชงอ่อน บานประตูบานน่าต่าง เช็ดน่าประตูเช็ดน่า ๆ ต่าง แม่ฝาไม้สายบัว ชั้นในประทับผ้าลายต่างสี ประตู ๓ ประตู น่าต่าง ๑๐ ต่าง เสาหุ้มผ้าแดง เพดานผ้าขาวมีระบาย ๓ ชั้น พัดแพรชักวาตา ๒ อัน หลังคาน่าจั่วหุ้มผ้าแดง มีช่อฟ้าใบระกาหางหงษ์กะจังรวน กำแพงกระเบื้องปรุ กำแพงแก้ว กำแพงประตูหูช้าง ทาปูนวาดเขียน เสาธงแลศาลเทพารักษ์ต่อก่ออิฐแทนปูน หลังเจ้าจอมข้างใน ๔ หลัง ๆ ละ ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก มีกระดานปั้นลม ฝากะแชงอ่อน กับประตูปันยะปละบูรพ์ประตูหนึ่ง ต้องหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้ขุนสมุห์บาญชีคุมไพร่ทำ ๚

 หลังเจ้าจอมผู้น้อย ด้านบูรพ์ ด้านปัจจิม ๒ หลัง ๆ ละ ๗ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก กับโรงราชยานข้างประตูฉนวนปละบูรพ์โรงหนึ่ง ข้างประตูย่ำค่ำโรงหนึ่ง โรงละ ๔ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๙ ศอก ขื่อ ๖ ศอก ต้องหลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้นายกองญวนคุมไพร่ทำ ๚

 โรงใส่ของ ๒ หลัง ๆ ละ ๖ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก มีเฉลียงน่ามีปั้นลมทุกหลัง ฝากะแชงอ่อน กับประตูปันยะข้างปัจจิม ต้องนายกลั่น มหาดเล็ก ให้ขุนจำนงโยธีคุมไพร่ทำ ๚

 หลังเจ้าจอมหม่อมแม่ลคร แลหลังเถ้าแก่ผู้ใหญ่ หลังหนึ่ง สองหลัง ๆ ละ ๕ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก มีเฉลียงน่าทุกหลัง กับประตูปันยะโรงหัวโตก ต้องหลวงอภัยภักดี เมืองพวง ให้ขุนศรีอาญาทำ ๚

 หลังเฉลียงสองชั้นสี่ห้องหลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก กับประตูปันยะด้านทักษิณ ต้องนายคงทำ ๚

 ท้องพระโรงข้างในหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก มี เฉลียงรอบ เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก มีช่อฟ้าใบระกาหางหงษ์กะจังรวน กับประตูปันยะฉนวน โรงประตูปันยะย่ำค่ำ ต้องนายกลัด บุตรหลวงพิทักษ์จัตุรงค์ ทำ ๚

 หอพระคลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๔ ศอก ลดมุขหัวท้าย มีเฉลียงข้างน่า มีช่อฟ้าใบระกา พร้อมกับประตูชานปัจจิม ต้องขุนเทพอาญาทำ ๚

 หอเครื่องหลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๔ ศอก ลดมุขหัวท้าย มีช่อฟ้าหางหงษ์ เฉลียงน่า กับประตูชานข้างบูรพ์ ต้องนายเวียงมหาดเล็กทำ ๚

 หลังลงพระบังคนหลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๔ ศอก ลดมุขหัวท้าย มีช่อฟ้าหางหงษ์ มีเฉลียงน่า กับประตูน่าประตูหลัง ๆ ประธม ต้องหลวงเพ็ชรบุรีศรีราชวังเมือง นครบาล ทำ ๚

 หลังสรงหลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๔ ศอก ลดมุขหัวท้าย มีเฉลียงน่า มีช่อฟ้าหางหงษ์ ต้องนายเรืองมหาดเล็กทำ ๚

 ที่นั่งเย็น ๓ ห้อง หลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๕ ศอก ลดมุข หัวท้ายมีช่อฟ้ากันสาดกะแชงอ่อนรอบ ต้องขุนปลัดนังทำ ๚

 หลังหอสาตราคม ๓ ห้องหลังหนึ่ง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๔ ศอก ลดมุขหัวท้าย มีช่อฟ้ากันสาดกะแชงอ่อนรอบ หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกบัตร ให้ขุนอักษรทำ ๚

 โรงวิเศษหลัง ๑ กับโรงต่อกันไปหลังหนึ่ง หลังละ ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก หลังคาปันยะ มีเฉลียงน่า กับประตูปันยะข้างบูรพ์ ต้องขุนต่างใจทำ ๚

 โรงข้างบูรพ์โรงหนึ่ง ต่อเนื่องกันโรงหนึ่ง ๒ หลัง หลัง ละ ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๙ ศอกขื่อ ๖ ศอก กับโรงทหารปันยะ หลังหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๖ ศอกเสา ๙ ศอก ขื่อ ๗ ศอก กับโรง ทหารปันยะหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๖ ศอก เสา ๙ ศอก ขื่อ ๗ ศอก มีเฉลียงน่า ต้องขุนกลางวังทำ ๚

 โรงโตกหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๗ ศอก เสา ๙ ศอก ขื่อ ๙ ศอก กับโรงม้า ๒ โรง ต้องขุนศิริโยธาทำ ๚

 ประตูใหญ่ฝ่ายบูรพ์ ฝ่ายทักษิณ ฝ่ายปัจจิม แลประตูยกยอด หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะยกรบัตรให้ขุนหมื่นทำ ๚

 ค่ายรั้วแตะตรางชั้นนอกทั้งนั้น พระมหานุภาพปราบสงคราม พระจนะ เปนผู้ส่งไม้ ไม้ไผ่กะแตะชั้นในแลตีเรือกตะพานทั้งสามตะพานไม้ไผ่แม่ฝา นายกล่อม ผู้ว่าราชการเมืองเทพา เปนผู้ส่ง ประตูค่ายใหญ่ ชั้นนอก เสาสามวาสองศอก เนื้อใหญ่ ๓ กำกึ่ง ใน เหลื่อมสูง ๑๐ ศอก กว้าง ๕ ศอก อยู่ในท้องพระโรงทำ ๚

 แลศาลาลูกขุนซ้ายขวา หลังคาปันยะ มีเฉลียงรอบ เสา ๙ ศอก ขื่อ ๖ ศอก สองหลัง ๆ ละ ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกบัตร ให้ขุนหมื่นทำ ๚

 สระโบกขรณีทั้งนอกทั้งใน แลโรงมอญชั้นนอกชั้นใน ระดมกันทำ ๚

 แลค่ายชั้นนอกที่ล้อมพระราชวัง ด้านขื่อ ๓ เส้น ด้านแปห้าเส้น วางหัวเข็มอุดรหางเข็มทักษิณ พลับพลาน้ำหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๕ ศอก เสา ๙ ศอก ขื่อ ๖ ศอก เฉลียงรอบ มีช่อฟ้าใบระกากะจังรวน กับตะพานฉนวนรับเสด็จยาวเส้นห้าวา ต้องหลวงเพ็ชรคิรีศรีราชสงคราม ปลัด ให้ขุนอักษรเสน่ห์ทำ ๚

 ตะพานฉนวนเจ้าจอมหม่อมข้างใน ต้องหลวงพลฤทธิพิไชยทำ ๚

 แลถนนตั้งแต่ประตูใหญ่พระราชวังฝ่ายอุดรกว้าง ๗ ศอก ยาว ๓ เส้น ปูอิฐตลอดถึงฉนวนน้ำ ต้องขุนศิริโยธาทำ ๚

 ระยะทางสถลมารคตั้งแต่ประตูพระราชวังฝ่ายบูรพ์ตลอดไปถึงตีนเขาตังกวน ๑๒ เส้น ตั้งแต่ตีนเขาตังกวนถึงพลับพลา กว้าง ๘ เส้น กับพลับพลากลางหลังหนึ่ง ๓ ห้อง ๆ ละ ๖ ศอก เสา ๙ ศอก ขื่อ ๗ ศอก เฉลียงรอบ มีช่อฟ้าใบระกากะจังรวน ต้องหลวงระโนฎทำ ๚

 ตั้งแต่พลับพลากลางถึงพลับพลาพระเจดีย์ ๒ เส้น กับพลับพลาบนเขาพระเจดีย์หลังหนึ่ง เสายาว ๗ ศอก ขื่อ ๔ ศอกคืบ เฉลียงรอบ มีช่อฟ้าใบระกากะจังรวน ต้องหลวงเทพมณเฑียรน่าวังทำ ๚

 แลระยะทางสถลมารคเขาเก้าเสง ตั้งแต่พลับพลาน้ำริมทเลฝ่ายบูรพ์ตลอดไปถึงพลับพลาตีนเขาเก้าเสง ๑๓๑ เส้น ตั้งแต่พลับพลาตีนเขาเก้าเสงถึงพลับพลาบนเขา ๒ เส้น ตั้งแต่พลับพลาตีนเขาเก้าเสงถึงพลับพลาภารสำโรง ๑๘ เส้น ตั้งแต่พลับพลาภารสำโรงถึงประตูไชยยุทธชำนะ ๘๐ เส้น รวมกันสองร้อยมีเศษสิบแปดเส้น กับพลับพลาบนเขาเก้าเสงหลังหนึ่ง ตีนเขาเก้าเสงหลังหนึ่ง พลับพลาข้างอุดร ตะพานคลองสำโรงหลังหนึ่ง เสายาวเก้าศอกขื่อ ๖ ศอก ๓ ห้อง ๆ ละ ๖ ศอก เฉลียงรอบ มีช่อฟ้าใบระกากะจังรวน ต้องหลวงเทพสุรินทร์อินทรเสนาจ่ามหาดไทยทำ ๚

 แลระยะทางสถลมารค ตั้งแต่ประตูพระราชวังฝ่ายบูรพ์ตลอดมาถึงช่องเขาตังกวน ๑๙ เส้น ตั้งแต่ช่องเขาถึงประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ ๒๔ เส้น ตั้งแต่ประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิถึงประตูวัดมัชฌิมาวาศ ๒๔ เส้น ตั้งแต่ประตูวัดมัชฌิมาวาศถึงทางตลาดสี่กั๊ก ๕ เส้น ตั้งแต่ทางตลาดสี่กั๊กถึงประตูพุทธรักษา ๑๘ เส้น ตั้งแต่ประตูพุทธรักษาถึงป้อมเทเวศร์บริรักษ์ ๕ เส้น ตั้งแต่ป้อมเทเวศร์บริรักษ์ถึงทางถนนวัดแจ้ง ๖ เส้น รวมกัน ๑๐๑ เส้น มีเศษ ๑๕ วา ต้องหลวงพิทักษ์โกษาคลังจัดแจงปันน่าที่ให้ช่วยกันทำ ๚

 แต่ทางน่าวัดมัชฌิมาวาศตลอดมาถึงทางสี่กั๊กกลางตลาดใหญ่ เนื่องมาจนถึงป้อมเทเวศ์รบริรักษ์ ขุดคูสองข้าง ต่อก่อด้วยศิลา กลางมรคาประสมดินแดงปูนทรายตีพื้นราบเลี่ยนเตียนสอาดจนถึงป้อมเทเวศ์รบริรักษ์ เจ้าน่าที่น่าร้านช่วยกันกระทำ ๚

 แลผ้าหุ้มหลังคา ผ้าแดงเลือดนกห่อเสา ผ้าขาวเพดานมีรบายสามชั้น ผ้าลายผ้าขาวปิดฝาชั้นในพลับพลาใหญ่น้อยทั้ง ๒๒ หลัง แลผ้าแดงผ้าเขียวผ้าเหลืองตัดบังพนัก ต้องหลวงเพ็ชรพยาบาลคุมพวกช่างกระดาษทำ ๚

 พัดแพรชักวาตาหลังท้องพระโรงหลังประธมหลังเสวยหลังละ ๒ พัด รวมกัน ๖ พัด ต้องหลวงบำรุงชลธาร์จัดแจงให้จีนเยียนสายไส้หู้ทำ ๚

 แลทำเนียบเจ้าคุณกระลาโหม หอนั่งเสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๘ ศอก เฉลียงรอบ ห้องนอน ๓ ห้อง ๆ ละ ๖ ศอก เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๗ ศอก หลังหม่อม ๒ หลัง หลังละ ๕ ห้อง มีเฉลียงน่าทุกหลัง เสา ๑๑ ศอก ขื่อ ๖ ศอก โรงของคาวของหวานสองหลัง ๆ ละ ๓ ห้อง โรงอาบน้ำโรงทุ่งพื้นดินพื่นฟาก ฝาตีแผงกะแชงอ่อน โรงมอญเล็กน้อย กแตะรั้วประตูตรางชั้นในชั้นนอก ด้านขื่อ ๒ เส้น ด้านแป ๓ เส้น น่าทำเนียบไปบูรพ์ แลตำหนักเจ้าต่างกรม แลเจ้าหากรรมมิได้ สองตำหนักนี้อยู่ปละบูรพ์ ผินหน้าพระตำหนักมาปัจฉิม ทำอย่างเดียวกันกับทำเนียบเจ้าคุณกระลาโหม เครื่องประดับประดาสารพัดก็เหมือนกัน แลที่อยู่ท้าวพระยาราชการที่ตามเสด็จออกมาก็มีอยู่มาก ๚

 ด้านบูรพ์ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดให้หลวงระโนฎ ขุนเทพอาญา ขุนปลัด นัง คุมขุนหมื่นนายไพร่ ๒๕๐ คนก่อเพลิงรายล้อมประจำรักษา ๚

 ด้านทักษิณ หลวงทิพมนตรีศรีราชสมโภช กรมนา หลวงพิไชยชาญณรงค์ ขุนเทพสุภา แพ่ง คุมขุนหมื่นนายไพร่ ๒๕๐ คนก่อเพลิงประจำรักษา ๚

 ด้านปัจจิม หลวงพลฤทธิพิไชย ขุนศิริโยธา ขุนไชยชาญยุทธ คุมขุนหมื่นทหารนายไพร่ ๒๕๐ คนก่อเพลิงประจำรักษา ๚

 ด้านอุดร หลวงภักดีบริบาล พโคะ ขุนต่างใจ ขุนอักษร คุมขุนหมื่นทหารนายไพร่ ๒๕๐ คนก่อเพลิงประจำรักษา ๚

 ถัดออกมา ทำเนียบเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลพระสุนทรรักษ์ หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แลหลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกรบัตร หลวงพิไชยเสนา อยู่คอยตรวจตรา หลวงพิทักษ์โยธา ขุนสรรพากร เปนผู้ถือบาญชีรายสิ่งของทั้งปวง หลวงเทพเสนาเปนกองส่งน้ำสรงน้ำเสวย แลไม้พืน น้ำในกำปั่น ต้องหลวงไชยาประชาเปนผู้จัดแจงเร่งเลขส่ง ขุนท่าชลชีเปนกองเรือสำหรับบรรทุกของขึ้นลงในเรือ ขุนแก้วเสนาคุมไพร่ ๔๐ คนเปนผู้รับผู้จ่ายผักปลาแลส่งพืนน้ำในครัวทุกโรง ๚

 ของเสวยแลของเจ้านาย ขุนจิตรโภชนาเปนพ่อครัวโรงหนึ่ง โรงครัวจีนเลวลงมา หมื่นจรวารี หมื่นศรีสาคร หมื่นเทพพานิช เปนผู้จัดแจงเลี้ยงรักษาโรงหนึ่ง โรงครัวไทยของคาวครัวหนึ่ง ของหวานโรงหนึ่ง โรงหมากพลูโรงหนึ่ง สามโรงสำหรับเลี้ยงเจ้านายแลเจ้าจอมข้างใน คุณแม่เนียว คุณจอมจ้น[18] คุนกลิ่น แม่นุ่ม เปนผู้จัดแจงเลี้ยงรักษา โรงครัวไทยเลวโรงหนึ่งสำหรับเลี้ยงรักษาไพร่พวกทหาร จ่าทวนเปนผู้จัดแจงเลี้ยงรักษา โรงครัวไทย ของคาวโรงหนึ่ง ของหวานโรงหนึ่ง สองโรง สำหรับเลี้ยงกรมการ แลพวกประจำน่าด้าน พวกใช้การเบ็ดเสร็จทั้งปวง ต้องคุณเรือนออกเปนผู้จัดแจงเลี้ยงรักษา โรงไต้ โรงเทียน โรงน้ำมัน โรงน้ำชา ขุนอินทรมณเฑียร ขุนอักษรเลข เปนผู้เบิกจ่าย โรงครัวแขก ของคาว ของหวาน โรงหนึ่ง หวันแหมะ ภรรยาพระยายะหริ่ง หลวงศรีปดุกา หลวงสุริยาวังษา หลวงฤทธิเทวา ขุนหมื่นพวกล่ามเลี้ยงรักษา รวมกัน ๙ โรง เข้าสารเงินทองใช้จ่ายซื้อกับเข้าซื้อสรรพสิ่งของทั้งนั้น หลวงบำรุงอากร กิมสุย ขุนภักดีบวร ยกเสง แลเสมียนมาจอง เปนผู้เบิกจ่ายให้ใช้สอย แต่สิ่งของเงินทองทั้งนั้นเปนของเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทั้งสิ้น ๚

 เครื่องจีนแลเครื่องลอนดอนสรรพสิ่งของเครื่องประดับในท้องพระโรง กำมะหยี่โหมดแพรปัศตูอัดตลัด ผ้าลายสีต่างกัน ผ้าส่าน ผ้าแดง ผ้าขาว ผ้าดำ ผ้าเขียว ผ้าปิดโตก ผ้ารองโตก แลเตียงนอน ฝาเซี้ยมไม้ ฝาเซี้ยมกระจก แลกระจกฉาก กระจกเงา กระจกแขวน โคมหวด โคมหม้อ โคมฝา โคมลำโพงจอกแก้ว กระดาษอังกฤษปิดฝา ทองคำเปลวปิดใช้ ทองคำทรายทำเป๋า ทองคำใบก้าไหล่ท่าโตก ทากะโถน ทองคำแท่งทองคำทรายถวาย ดีบุกทำประทุมธาราแลแผ่นลาดทำอัฒจันท์ขึ้นลง ตาปูเหล็กทองใหญ่น้อย ไหมปอป่านลูกด้ายใช้สอย เข็มอังกฤษเข็มจีนสำหรับกลัดเย็บ โตกเก้าอี้อังกฤษสำหรับนั่งตั้งของเลี้ยงข้าราชการ แลพัดใบชักโบกวาตา เสื่ออ่อน เสื่อลาย เสื่อหวาย เสื่อกระจูด เสื่อตรังกานู มุลี่ไม้ไผ่แฮมุย แลเครื่องวาดเครื่องเขียน น้ำประสานทอง น้ำปรอท น้ำรัก น้ำมันตังอิ๋ว ช้น ดินแดง กระเบื้องปรุ กระเบื้องน่าวัว ปูน อิฐ ศิลาอ่อน บรรดาของประดับประดา ใช้จ่ายคิดรายรวมเปนเงินยี่สิบเจ็ดพันเหรียญ มีเศษร้อย ๚

 ที่ท้องพระโรงน่า ท้องพระโรงใน หลังเสวย หลังประธม หลังพระที่นั่งเย็น หอสาตราคม หอพระ หอเครื่อง หอสรง หอลงพระบังคน แลหลังพระนางนาฎราชเทวี หลังเจ้าจอม ผู้ใหญ่ผู้น้อย หลังพวกหม่อมแม่ลคร หลังท้าววรจันทร์ ท้าวสมศักดิ โรงพระตำรวจซ้ายขวา โรงทแก้ลวทหาร เจ้ากรม ปลัดกรม โรงราชยาน โรงประตูย่ำค่ำ โรงวิเศษ โรงหมอ โรงเครื่อง โรงภูษามาลา คลังซ้าย คลังขวา คลังวิเศษ คลังมหาสมบัติ ศาลาลูกขุนซ้ายขวาบรรดาอยู่ในพระราชวัง ตลอดไปถึงทำเนียบเจ้าคุณกระลาโหม แลพระตำหนักเจ้าต่างกรมแลเจ้าหากรมมิได้ แลที่อยู่ท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยบรรดาที่ตามเสด็จมา เครื่องประดับประดา สรรพสิ่งของเบิกใช้จ่ายเปนของเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทั้งนั้น จนถึงวันเสด็จพระราชดำเนินมาจนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะได้กะเกณฑ์เอาสรรพของกินใช้แก่ราษฎรชาวบ้านชาวเมืองหามิได้ ๚

 ครั้นณวันเดือนแปด แรมสิบสี่ค่ำ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่ายราชการเมืองสงขลา กับนายทัดมหาดเล็ก แลหลวงเทพมาลา ขุนพรหมมนตรี กรมการ ขี่กำปั่นวิเชียรคิรีลำหนึ่ง กำปั่นมณีกลอกสมุทลำหนึ่ง กำปั่นหิรัญปักษาลำหนึ่ง ไปรับเสด็จพระราชดำเนิน หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา นายทัด มหาดเล็ก[19] หลวงเทพมาลา ขุนพรหมมนตรี ได้ไปเฝ้ารับเสด็จสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เขาเลาหมวก[20] แล้วเจ้าคุณกระลาโหมให้หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา นายทัด มหาดเล็ก ขึ้นอยู่เรือเสนินทรประดิษฐ กับพณหัวเจ้าท่าน เจ้าคุณกระลาโหม ตามเสด็จมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช ให้ขุนพรหมมนตรีพากำปั่นวิเชียรคิรีกลับมากราบเรียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้ทราบ ขุนพรหมมนตรีมาถึงเมืองสงขลาณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบสามค่ำ ขุนพรหมมนตรีกราบเรียนว่า ทรงกำหนดว่า ณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบสองค่ำ จะให้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช จะทรงประทับอยู่เจ็ดราตรี แล้วจะเสด็จพระราชดำเนินมาณเมืองสงขลา เจ้าคุณผุ้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทราบความตามขุนพรหมมนตรีกราบเรียนแล้ว โปรดสั่งกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลเจ้าน่าที่พนักงานบรรดาถูกต้องในตำแหน่งที่จัดแจงตระเตรียมไว้ให้ลงไปอยู่รับราชการอยู่ที่แหลมซายด้วยเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ให้หลวงเพ็ชรคิรีศรีราชสงคราม ปลัด คุมขุนหมื่นนอนเฝ้าประจำรักษารับราชการอยู่ณศาลากลาง ให้หลวงอินทรอาญา นครบาลใน คุมไพร่ทำร่มโรงก่อเพลิงคอยระวังรักษาประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ ให้หลวงศุภมาตรา หลวงนุชิตพิทักษ์ จางวาง เวรทนาย ขุนบุรีรักษ์ราชกิจ นอนรักษาอยู่บนจวน ๚

 ครั้นณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบห้าค่ำ เวลาเช้า หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มาถึงเมืองสงขลา กราบเรียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาถึงปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราชณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งสองราตรี ณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบสองค่ำ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับที่พลับพลาเมืองนครศรีธรรมราช ๆ ทำพลับพลายังไม่แล้วเสร็จ เกิดความวุ่นวาย[21] ทรงคัดเคืองอยู่มาก เจ้าคุณกระลาโหมก็เอาพวกตำรวจแลพวกทหารในให้ช่วยระดมกันทำทั้งกลางวันกลางคืนจนเสร็จ แล้วทรงกำหนดว่า ณวันเดือนเก้า แรมหกค่ำ จะเสด็จมาประธมที่เรือพระที่นั่ง ณวันเดือนเก้า แรมเจ็ดค่ำ จะเสด็จพระราชดำเนินมาให้ถึงเมืองสงขลา สิ่งอันใดที่ยังไม่พร้อม ให้จัดแจงเสียให้พร้อม พอเวลาบ่าย ๕ โมง หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มาถึงเมืองสงขลาอิกเล่า กราบเรียนว่า เจ้าคุรกระโหมให้รีบมาบอกว่า ให้ปลูกโรงลครพลับพลา จะทรงลคร กับวอสำหรับเจ้าจอมจะขี่ไว้สัก ๑๕ วอ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากับพวกกรมการทั้งนั้นให้ระดมกันทำโรงลคร แลพลับพลาทรงลคร กับวอ ๑๕ วอ ทั้งกลางวันกลางคืน สองวันแล้วเสร็จ ๚ แลในณวันเดือนเก้า ขึ้นสิบห้าค่ำ ราตรีคืนนั้นประมาณ ๔ ทุ่ม เปนจันทรอุปราคาจับมาแต่ทิศอิสาณจนหมด เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาแลกรมการทั้งนั้นกำลังรีบเร่งทำงานอยู่ หาทันได้ดูเมื่อพระจันทร์เปนอุปราคาไม่ ต่อได้ยินเสียงปืนอึกกะทึกขึ้นว่า เปนจันทรอุปราคา จึงรู้ ณวันเดือนเก้า แรมค่ำหนึ่ง พวกกองญวนซึ่งได้ตามพระยากลันตันมาถึงเมืองสงขลา ณวันเดือนเก้า แรมสองค่ำ จ่ากลั่น[22] ตำรวจกองตรวจ ล่วงน่ามาถึงเมืองสงขลา เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้นำจ่ากลั่น ตำรวจ เที่ยวตรวจสิ้นทุกแห่ง จ่ากลั่น ตำรวจ ตรวจดูว่า ถูกถ้วนงามดีทั้งสิ้น ณวันเดือนเก้า แรมสามค่ำ หลวงสวัสดิภักดีมาถึงเมืองสงขลา กราบเรียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า มีผู้ไปกราบเรียนเจ้าคุณกระลาโหมที่เมืองนครศรีธรรมราชว่า ท้องพระโรงเปนช่องอยู่หลายแห่ง หามีบานปิดไม่ ให้เร่งทำเสียให้แล้ว ถ้าไม่แล้ว เสด็จมาถึง จะเกิดความ เจ้าคุณกระลาโหมให้วิตกถึงเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาอยู่มาก จึงให้รีบมา เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงคิรีสมบัตินำหลวงสวัสดิภักดีไปตรวจดู เห็นบานประตูมิดชิดงามดี หาเหมือนผู้ไปกราบเรียนเจ้าคุณกระลาโหมไม่ ณวันเดือนเก้า แรมสี่ค่ำ คอยกำปันไฟอยู่วันหนึ่ง ๚

 ณวันเดือนเก้า แรมห้าค่ำ เรือศีศะญวนกรมหมื่นวรจักร กับเรือท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาถึงหลายลำ ณวันเดือนเก้า แรมเจ็ดค่ำ เพลาเที่ยง กำปั่นไฟเสนินทรประดิษ์เจ้าคุณกระลาโหมมาทางนอกเกาะหนู ทอดลง เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาแลกรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยลงไปรับ เจ้าคุณกระลาโหมลงเรือล่องบดขึ้นตามฉงวนกลาง ดูพลับพลาริมน้ำแล้วก็เลยเข้าไปดูในท้องพระโรงข้างน่าแลข้างใน แลเครื่องประดับประดา จบแล้วก็เดินยิ้มออกไปทำเนียบที่เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาปลูกไว้คอยรับ เจ้าคุณกระลาโหมดูทั่วแล้วออกมานั่งที่น่าหอ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แลขุนหมื่นมีชื่อ ยกโตกใส่เครื่องเกาเหลาตั้งไว้ เจ้าคุณกระลาโหมเปิดฝาชีขึ้นดู ว่า มาถึงเมืองสงขลาแล้ว จะกินเข้าสักที เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศษ์ ผู้ช่วยราชการ เฝ้าดูอยู่จนแล้ว ครู่หนึ่ง พระยามนตรีสุริยวงษ์แลท้าวพระยาราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาถึงหลายลำ พอเพลาบ่าย ๕ โมงเศษ เรือพระที่นั่งกำปั่นกลไฟมณีเมขลาถึงเกาะหนูเพลาบ่าย ๕ โมงเศษ ทรงประทับอยู่แต่ทิวาจนพลบค่ำ ถึงเพลาห้าโมงเศษ รับสั่งให้หาเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ๆ ก็ลงไปเฝ้า ตรัสถามว่า มาแล้วฤๅ เขาบอกข้าว่า ทำแขงแรงนักหนา ลงทุนใช้จ่ายเงินทองมากมาย เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า สิ้นเขตรแดนเพียงนี้ แล้วทรงเสด็จพระราชดำเนินมา ควรทำฉลองพระเดชพระคุณให้เต็มมือ แล้วตรัสถามว่า เจ้าชีวิตรแต่ก่อน ๆ ใครห่อนมาถึงเมืองสงขลาบ้างฤๅ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า ยังไม่เคยเสด็จมาถึง เสด็จแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จมาประทับที่เมืองสงขลา แล้วเลยลงไปตีเมืองตานี ได้ปืนนางพระยาตานีเข้าไปณกรุงเทพพระมหานครนานแล้ว เกล้ากระหม่อมจำมิได้ แล้วตรัสว่า นี่ข้าอุส่ามาให้ถึง ครั้นทำหนักหนาดังนี้ มาจะเรียกวังสงขลาเสียเถิด แล้วทรงพระสรวล ถามถึงพระครูญาณโมฬีว่า คณะมีอยู่ไหน กราบบังคมทูลว่า อยู่วัดดอนแย้ แล้วถามถึงพระยายะหริ่ง แตง แลพระวิเศษวังษา ผึ้ง ว่า ลูกพระยายะหริ่ง ทอง อยู่ เข้ามาถึงแล้วฤๅ เจ้าคุณ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า เข้ามาถึงแล้ว พวกพระยาแขกหัวเมืองก็เข้ามาพร้อมทั้งสิ้น แล้วตรัสถามเมืองพัทลุงแลทเลสาบอยู่ข้างไหน กราบบังคมทูลว่า อยู่ไปข้างปัจจิม แล้วตรัสว่า เรือตกอยู่ข้างหลังมาก ยังมาไม่ถึงพร้อม วันพรุง่นี้เช้า ข้าจะขึ้นไป แล้วเสด็จเข้าที่ประธม เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบถวายบังคมลากลับมา ทรงประทับอยู่ในนาวาราตรีหนึ่ง ๚

 รุ่งขึ้นณวันอาทิตย์ เดือนเก้า แรมแปดค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แลนายกล่อม ผู้ว่าราชการเมืองเทพา ยกเครืองเกาเหลาลงไป กับสำรับเจ้าจอมหม่อมข้างใน แลราชการที่อยู่ในเรือพระที่นั้น ๒๐ สำรับ พระนายศรีสรรเพธ[23] ก็ยกเครื่องเกาเหลาเข้าไปถวาย ทรงเสวยแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่นล่องบดลงไปทอดพระเนตรศิลาเสร็จโลหมู่[24] แล้วเสด็จกลับมา เพลาบ่ายโมงเศษ ยามพฤหัศบดี ฤกษ์ ๓ พระอาทิตย์อยู่ราษีสิงห์ พระจันทร์อยู่ราษีเมษ พระอังคารอยู่ราษีกรกฎ พระพุฒอยู่ราษีสิงห์ พฤหัศบดีอยู่ราษีเมถุน พระศุกร พระเสาร์ อยู่ราษีกรกฎ พระราหูอยู่ราษีมังกร ลักษณาอยู่ราษีธนู ยิงปืนเรือพระที่นั่งแลเรือกำปั่นที่ล้อมวง ๒๑ นัด จึงเสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งล่องบดลงมาประทับที่ฉนวนครู่หนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปากน้ำแหลมซาย แล้วเสด็จกลับมาประทับที่ฉนวน จึงเสด็จขึ้นทรงพระยานุมาศกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ ชาวพนักงานก็ตีกลองทองเหลืองเครื่องประโคมแตรซอขลุ่ย ทหารพวกสิป่ายชายหญิงแบกปืนปลายหอก เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจซ้ายขวาขัดกระบี่บั้งทอง ตำรวจเลวซ้ายขวาถือหวายนำแห่เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระราชวัง ทรงประทับที่เกยโต๊ะน่ากำแพงแก้วกับเจ้าพระหน่อ ๖ องค์ แล้วเสด็จลงดำเนินเข้าไปในท้องพระโรง ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็ตามเสด็จเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุรีพระบาทพร้อมกันในท้องพระโรง พระองค์ทอดพระเนตรโตกเครื่องกาแฟกะโถนเก้าอี้ แล้วตรัสเรียกพระยาพัทลุงให้ดูว่า ของเขาทำดี ทรงลูบคลำว่า งดงาม แล้วตรัสกับเจ้าคุณกระลาโหมว่า เครื่องกาแฟแต่ก่อนเขาให้สำรับหนึ่งแล้ว แต่โตกที่หล่อนั้นทำตามตัวอย่าง เก้าอี้ทองที่ทาบางอยู่สักหน่อย แล้วทรงประทับบนเก้าอี้ พระหัดถ์ลูบคลำไปมา ตรัสกับเจ้าคุณกระลาโหมว่า จากไม้ที่เขาใช้ เอามาแต่แห่งใด เจ้าคุณกระลาโหมถามเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ๆ กราบทูลว่า เอามาแต่เมืองจนะ เมืองเทพา เมืองตานี เปนแต่ไม้ขยา เลยไม่สู้ดี ถ้าจะใช้ไม้ดี ต้องไปอาไศรยใช้ไม้ที่เมืองพัทลุง จึงตรัสว่า เมืองสงขลาแผ่นดินน้อยนักนิดเดียว ถ้าเอาแผ่นดินเมืองพัทลุงมาเปนอันเดียวกับเมืองสงขลา เห็นจะดี พระยาพัทลุงเฝ้าอยู่ด้วย[25] แล้วตรัสว่า พระแท่นเขาทำแขงแรงกะทัดรัดดีอยู่ แต่เปนอย่างมอญ แต่ระบายเพดานนั้น ทรงตรัสว่า พระกลดวังน่าเจ็ดชั้น พระกลดวังหลวงเก้าชั้น ระบายเพดาน ๓ ชั้นทั้งสิ้น ระบายเพดานนี้ ๕ ชั้นเปนอย่างใหม่ดี แล้วตรัสว่า บัวเขาทำกันอะไร เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า ทำกันราง ทรงพระสรวลว่า อย่างใหม่ แล้วตรัสถามเจ้าคุณกระลาโหมว่า ฝาเซี้ยม แลลับแล ไปซื้อมาแต่จีน ฤาซื้อมาเมื่อใด เจ้าคุณกระลาโหมกราบทูลว่า เมื่อเจ้าคุณกระลาโหมออกมาได้ว่าไว้ให้ทำพลับพลา จึงเจ้าคุณผู้สำเร็จาชการเมืองสงขลาจัดแจงไปซื้อมาแต่เมืองแฮมุย ทรงทอดพระเนตรลับแลแล้วตรัสว่า เขียนเรืองสามก๊กสนุกดี แล้วเสด็จขึ้นเที่ยวทอดพระเนตรหลังเสวย หลังท้องพระโรงกลาง หลังประธม แล้วเสด็จลงมาตามอัฒจันท์ประตูหลังอันลาดด้วยดีบุก ชมสวนที่ชานน่าท้องพระโรงข้างใน ทรงเด็ดเอาพลูมาสองใบ ทรงถือออกมาน่าท้องพระโรงอิกเล่า ตรัสบอกเจ้าคุณกระลาโหมว่า ข้างใน หลังเสวย หลังท้องพระโรงกลาง หลังประธม เขาทำหมดจดงามดี มีสวนมีพลูสนุกสนาน ทำแขงแรง ลงทุนลงแรงใช้จ่ายเงินทองมากมายนักหนา แล้วเสด็จขึ้น เจ้าคุณกระลาโหม แลเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ท้าวพระยาข้าทูลลอองธุรีพระบาททั้งนั้น กลับออกมา พอฝนตกลง ครั้นฝนหายแล้ว เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็จัดแจงเลี้ยงขุนนางท้าวพระยาซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินมาทั้งสิ้น เจ้าต่างกรมแลหากรมมิได้ทั้งนั้น ให้ยกของใส่โต๊ะเงินไปถวายตามที่อยู่จนสิ้นทุก ๆ องค์ พอเพลาพลบค่ำ ทุ่มเศษ เสด็จลงไปพลับพลาน้ำกับเจ้าคุณกระลาโหมในที่มืด ตรัสกับเจ้าคุณกระลาโหมเบา ๆ ไม่ได้ยิน แล้วเสด็จกลับมาทรงประทับที่ประตูใหญ่พระราชวังชั้นนอก ตรัสว่า เมืองตวันตก ตวันออก ข้างปากใต้ฝ่ายเหนือ ที่ไปแล้ว ๆ จนมาถึง เมืองนี้ เมืองเขาสนุกสนานผู้คนมั่งคั่งมาก มีแต่จะจำเริญขึ้นไป เมืองอื่นขยับจะสู้เขาไม่ได้ แล้วเสด็จเขามาชมศิลาที่ปากสระว่า เปนโมรา งามดี[26] ต่อเมื่อจะกลับไป ให้ขอไปบ้าง แล้วเสด็จเข้าท้องพระโรง ตรัสเรียกชาตรีไปทรงที่ริมกำแพงกระเบื้องปรุชั้นใน ทรงประทับเหนือกำแพงกระเบื้องปรุ นายบุญคง บุตรหลวงปลัดเมืองสงขลา ส่องเทียนให้ทรงทอดพระเนตรชาตรีถึง ๒ ยาม แล้วทรงพระราชทานเงินตราให้พวกชาตรีปันกัน ๔๐ บาท ให้สร้างเครื่อง ๔๐ บาท เสร็จแล้ว เสด็จเข้าข้างใน รับสั่งเรียกพระยาไภยนุฤทธิ[27] จางวาง เจ้ากรมพระตำรวจ เข้าไป ให้พระยาไภยนุฤทธิส่องเทียนนำเสด็จพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรตามท้องพระโรงใน แลเรือนพระนางนาฎราชเทวี แลเรือนเจ้าจอมหม่อมแม่ลคร แลเรือนท้าววรจันทร์แลท้าวสมศักดิ เรือนเถ้าแก่ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างนอกข้างในข้างหลัง จบแล้ว เสด็จลงทอดพระเนตรที่สวนสระปละบูรพ์ปัจจิมปละทักษิณค่ายชั้นนอกเรือนมอญตำรวจในทหารพวกรักษาอยู่ จบแล้ว ตรัสว่ากับพระยาไภยนุฤทธิว่า เราไปทุกบ้านทุกเมืองหลายเมืองมาแล้ว ยังไม่เห็นใครทำให้ดังนี้ นี่ทำแขงแรง ลงทุนลงรอนใช้จายเงินทองมากมาย ไม่ใช่ทำฉันราชการ ทำโดยจิตรรักใคร่เราจริง ๆ บ้านเมืองเขาก็น้อยนิดเดียว จะตอ้งชุบเลี้ยงเขาให้บ้านเมืองเขาเปนใหญ่เปนโตขึ้นหนึ่งจงได้ แล้วเสด็จขึ้นมาถึงห้องสรง ทรงสถิตย์เหนือเตียงศิลากว้างศอกหนึ่ง ยาวสองศอก พื้นใต้เตียงลาดดีบุก ผินพระภักตร์ไปบูรพ์ พระยาไภยนุฤทธิก็บิดก๊อกไขประทุมธารา น้ำพระ ุคนธรศก็ไหลหลั่งถั่งถาออกมาจากปากมังกรตกลงเหนือพระปฤษฎางค์เบื้องหลัง สำราญพระองค์เสร็จแล้ว ผลัดภูษา ทรงยืนทัศนาประทุมธาราว่า กระทำหมดจดงามดี ถ้าทำกับเงิน จะขอเอาไปใช้ นี้ทำกับดีบุก อย่าเอาไปเลย แล้วเสด็จขึ้นห้องประธม ได้ยินเสียงคุณจอมจันพูดกับหม่อมสิลา ตรัสถามลงมาว่า พูดกับใคร เจ้าจอมพนักงานที่อยูข้างในกราบทูลว่า พูดกับแม่จัน ทรงตรัสว่า เขาเคยอยู่ข้างใน จึงวางที่ทอดพระแสงถูก แล้วสระเด็จทรงประธมบนพระแท่นตั้งไว้เบื้องบูรพ์ พระเศียรสู่บุริมทิศ ๚

 ณวันจันทร์ เดือนเก้า แรมเก้าค่ำ เพลาเช้า เสด็จทรงสถิตย์อยู่ในพระราชวังแหลมซาย พวกจีนลูกค้าชาวตลาดเมืองสงขลาทูลถวายหมูเป็ดไก่แลหมากพลูผลไม้ต่าง ๆ ร้อยโตะ ทรงปราไสกับพวกจีนถวายของ แล้วพระราชทานสุราด้วยพระหัดถ์ให้พวกจีนรับพระราชทานคนละจอก เสร็จแล้ว เสด็จขึ้น เพลาบ่าย ๔ โมงเศษ ทรงทอดพระเนตรแกะแลโคชนกัน แล้วทรงลครฝรั่งอยู่ครู่หนึ่ง เสด็จทรงพระยานุมาศกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์เสด็จไปตีนเขาตังกวน ลงจากพระยานุมาศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทขึ้นบนเขาถึงเสาธงที่เสมอ ขึ้นทรงพระยานุมาศกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์อิก ไปถึงที่จะขึ้นบนพระเจดีย์ เสด็จลงทรงพระดำเนินด้วยพระบาทขึ้นไปพระเจดีย์ แล้วเสด็จลงทรงประทับที่พลับพลา หลวงเทพมณเฑียร น่าวัง ทำไว้รับเสด็จข้างอุดรพระเจดีย์ ทรงทอดพระเนตรดูเมือง ดูเขา ดูคลอง แล้วชี้พระหัดถ์ตรัสถามพระสุนทรนุรักษ์[28] ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ตั้งแต่เขาแดง เขาค่ายม่วง เขาแหลมสน เขาเกาะยอ เขาอ้ายเหลา จนกระทั่งถึงเขาเก้าเสง แล้วถามถึงในกำแพงเมือง แลจวนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลวัดเทพชุมนุม พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ทูลถวายชื่อจนสิ้นตามตรัสถาม แล้วตรัสว่า บ้านเมืองมีราษีจำเริญสนุกสนาน ผู้คนมั่งคั่งแน่นหนา เขาแลคลองน้ำดูดีเหมือนเขียนในฉากกระจก แล้วถามถึงพระเจดีย์ที่เขาค่ายม่วงสององค์ว่า มีมาแต่โบราณฤๅ พระสุนทรนุรักษ์ทูลว่า พระเจดีย์ข้างอุดรของสมเด็จองค์ใหญ่ เจดีย์ข้างทักษิณของสมเด็จองค์น้อย ป้อมที่ริมน้ำเขาค่ายม่วงสมเด็จองค์ใหญ่ทำพร้อมกับพระเจดีย์บนเขา แต่ป้อมที่เขาแดงมีมาแต่ก่อน แล้วตรัสถามว่า จะไปเมืองพัทลุงทางไหน กราบทูลว่า ไปทางทเลสาบ แล้วตรัสว่า จะไปสตูน ไปไทร ไปทางไหน กราบทูลว่า ไปทางหว่างหรดี ตรัสถามว่า ภูเขากันมิด จะไปอย่างไรได้ กราบทูลว่า ไม่มิด ภูเขาปิดบังกันอยู่ ทางเดินมี สตูนไปทางด่านทาง รอบ ไทรไปตามการำ แล้วตรัสว่า จะไปเมืองตานีทางไหน กราบทูลว่า ไปทางข้างทักษิณทางเมืองจนะ เมืองเทพา ถ้าจะไปทางเรือตามทเลก็ได้ แล้วตรัสว่า บ้านเมืองสนุกสนานนักหนา แต่รักษาข้าศึกศัตรูยาก ข้างปากน้ำถึงกว้างก็มีหาดมีดอน เรือใหญ่เรือโตโดยจะเข้ามาก็ไม่ได้โดยง่าย แต่ข้างน่าเมือง ถ้าต่อก่อป้อมที่หัวเขาน้อยสักป้อม ที่กลางสักสามป้อม แต่กระสุนยิงไปมาอย่าให้ประกัน เห็นจะดี ทรงประทับอยู่จนอัษฎงคต ทอดพระเนตรเห็นไฟราษฎรตามไต้ตามโคมทั้งสี่ด้าน ตรัสชมว่า ดูงามประหลาดตา เหมือนดาวนักขัตฤกษ์ในอากาศ แล้วเสด็จลงจากเขาสู่พระราชวังแหลมซาย เสด็จขึ้นสู่ห้องเสวย ทรงสถิตย์เหนือเก้าอี้วิลาศ ผินพระภักตร์สู่ทักษิณ พระนายศรีสรรเพธเชิญเครื่องเสวยวางเหนือโต๊ะวิลาศ ทรงเสวยอยู่ ได้ยินเสียงข้าราชการซึ่งเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้เลี้ยงเสียงอื้ออึง รับสั่งให้พระยาไภยนุฤทธิมาบอกเจ้าคุณกระลาโหมว่า เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาเลี้ยงขุนกันแขงแรงดังนี้ จะพากันยากจนเสีย ให้เจ้าคุณกระลาโหมจัดแจงเสียใหม่ เจ้าคุณกระลาโหมว่ากับพระยาไภยนุฤทธิให้กราบทูลว่า ไม่เปนไร เข้าของเขาจัดแจงเตรียมไว้มาก จะรับเลี้ยงฉลองพระเดชพระคุณให้เต็มมือ อย่าวิตกถึงเขาเลย ครั้นทรงเสวยพระบวรกระยาหารสำเร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้น ในวันนั้น ราษฎรในเมืองนอกเมืองตั้งโตกบูชาไว้วันหนึ่ง ๚

 ณวันอังคาร เดือนเก้า แรมสิบค่ำ เพลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลพระสุนทรนุรักษ์ หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศ์ร หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ตั้งของถวาย พระยาเทพวรชุนกราบทูลถวายของเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โต๊ะกาไหล่ทองคำหนึ่ง เครื่องกาแฟกาไหล่ทองคำสำรับหนึ่ง เก้าอี้กาไหล่ทองคำหนึ่ง กะโถนกาไหล่ทองคำหนึ่ง ทรายคำทรายหนักชั่งตราสังข์หนึ่ง ทองคำก้อนหนักหกตำลึงสองบาทสองสลึงเฟื้อง เป๋าทองคำสามสิบเป๋า ของพระสุนทรนุรักษ์ ทองคำทรายหนักสิบห้าตำลึงแขก ผ้ายกทองสีต่างกันสองผืน ของพระสมบัติภิรมย์ ของหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ เป๋าทองคำคนละเถา ๆ สามเป๋า หกเป๋า ผ้ายกทองช้ำสีต่างกันคนละสองผืน สี่ผืน ผ้าลายนอกอย่าง คนละยี่สิบผืน สี่สอบผืน ของหลวงวิเศษภักดี เป๋าทองสองเป๋า ผ้ายกทองผืนหนึ่ง ม้าผ่านดำสูงสองศอกคืบสามนิ้วม้าหนึ่ง แล้วพวกสูกค้าชาวตลาดทูลถวายหมูเป็ดไก่แลหมากพลูผลไม้ต่าง ๆ ร้อยโต๊ะ ทรงพระราชทานสุราด้วยพระหัดถ์ให้พวกพ่อค้ารับพระราชทานคนละจอกแล้วเสด็จขึ้น คุณหญิง คุณจอมจัน คุณกลิ่น เข้าเฝ้าตั้งของถวายข้างใน เจ้าคุณตำหนักใหม่กราบทูลถวายของคุณหญิง ตะไกรศีศะหงษ์ขาทองคำยี่สอบเล่ม ขานากยี่สิบเล่ม ขากาไหล่ยี่สิบเล่ม รวมกันร้อยเล่ม มีดพับห้าโลสิน ตะไกรกริบห้าโลสิน ผ้าแพรเก็บน่ากว้างสามคืบยี่สิบผืน ผ้าพื้นด้านสีต่างกันร้อยผืน ผ้าลายนอกอย่างร้อยผืน กระบุงเชี่ยนหมากร้อยใบ เทียนใหญ่ร้อยเล่ม เทียนน้อยห้าร้อยเล่ม ส้มตรังกานู พลูหอม หมากดิบ สิ่งละสี่โต๊ะ รวมกันสิบสองโต๊ะ คุณจอมจัน คุณกลิ่น ถวายผ้าขาวดอกแปดสิบศอกคนละสิบพับ รวมกันยี่สิบพับ ๚

 ครั้นเพลาย่ายสี่โมงเศษ เสด็จทางชลมารคด้วยเรือพระที่นั่งกำปั่นสยามอรสุมพลกลไฟเข้าในคลองมาถึงน่าจวนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เห็นน่าท่าผาศุกสอาด ทรงประสาทพระพรให้พลางทางขึ้นจวนแลฉางใหม่ แลบ้านเรือนราษฎรริมกำแพงเมืองถึงเตาเผาอิฐที่บ่อพลับ เรือพระที่นั่งถึงน่าบางขุนทองและเกาะยอ ทรงพระกล้องส่องทอดพระเนตรไป เห็นริมป่าน่า ป่าขาด ป่าร่อ ตรัสถามพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ตามกล้องส่องถึง พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กราบทูลถวายตามรับสั่งถาม แล้วตรัสถามว่า บ้านช่องแน่นหนา เกาะยอลอยอยู่กลางแม่น้ำสนุกสนาน ตรัสว่า ทเลสาบเลี้ยวป่านี้ก็จะถึง พระยาพัทลุงบอกว่า ทางสองคืนขี้ปด[29] พอฝนตกลงที่เกาะยอ เสด็จกลับมาประทับที่ตะพานน่าจวน เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคอยท่ารับเสด็จอยู่ เสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ พวกชาวพนักงานที่ท่ารับเสด็จก็ตีกลองทองเหลืองเครื่องประโคมแตรซอขลุ่ย ตำรวจซ้ายขวาถือหวายนำ พวกทหารสิป่ายชายหญิงแบกปืนปลายหอกพร้อมเพรียง ถึงน่าประตูพุทธรักษา ตรัสถามว่า นี่ฤๅบ้านพระยาสงขลา แล้วเสด็จเข้ามาตามประตูมรคาพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปทรงประทับอยู่บนป้อมพิทักษ์เขื่อนขันธ์ ตรัสถามว่า โรงเตาทำสิ่งไร เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า โรงกลวงสูบน้ำทองแดงหล่อโตก แล้วตรัสถามถึงโรงสุรา แลศาลากลาง คลองขวาง เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลถวายตามตรัสถาม แล้วตรัสว่า กำแพงบ้านพระยาสงขลาถึงกำแพงเมืองข้างหลังฤๅไม่ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบทูลว่า ไม่ถึง ตรัสถามว่า ตึกดินมีฤๅไม่ กราบทูลว่า มีอยู่ภายในกำแพงเมืองใกล้ประตูสนามสงครามฝ่ายบูรพ์ ทรงประทับอยู่บนป้อมพิทักษ์เขื่อนขันธ์ครู่หนึ่ง แล้วเสด็จกลับไปสู่พระราชวังแหลมซาย เพลาวันนั้น กรมการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลราษฎรในเมืองนอกเมมืองทั้งปวงตั้งโตกบูชาชักธงทั่วกัน เพลาค่ำ เรือกำปั่นเหล็กเจ้าพระยากลไฟซึ่งเจ้าคุณกระลาโหมจัดแจงให้กปิตันฉุน[30] ลงไปจัดซื้อสิ่งของเมืองสิงคโปร์ พาน้ำแขงกับครอบทองแดงวิลาศมาถวาย แล้วพระองค์ทรงจัดของให้กปิตันฉุนพาเข้าไปกรุงเทพพระมหานครพระราชทานให้สมเด็จพระบิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับลายพระราชหัดถเลขาฉบับหนึ่ง เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงนาพาของลงไปส่งถึงกำปั่น แล้วเจ้าคุณกระลาโหมให้พระนายไวยวรนารถ[31] พาน้ำแขงมาให้เจ้าคุณสำเร็จราชการเมืองสงขลาลาหีบหนึ่ง พระนายไวรวรนารถกราบเรียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า ให้จัดแจงเรือลงไปบรรทุกพระยาม้าพระที่นั่งกับเครื่องลครที่เรือกำปั่นราชรังสฤษดิขึ้นมา พรุ่งนี้เช้า จะเสด็จพระราชดำเนินเข้าเมือง ๚

 ณวันที่ ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า พระนางนาฎราชเทวี แลพวกเจ้าจอมหม่อมลคร แลพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ ทรงช้างกูบวองพังพลาย ๒๐ ช้าง กับวอใส่ม่านทองม่านผ้าลาย ๑๕ วอ ไปชมเขาเก้าเสง ภายหลัง สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งกับพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ให้พาหลวงวิสูตรโยธามาตย์[32] เจ้ากรมทหารใน ไปดูตึกดิน เสร็จแล้ว ๆ กลับมากราบทูล มีรับสั่งให้พระสุนทรนุรักษ์ขุดบ่อใส่โซ่เหล็กไว้กันฟ้าข้างละสองบ่อ ๔ บ่อ ครั้นเพลาบ่าย ๒ โมง พระนางนาฎราชเทวี กับเจ้าจอมหม่อมลคร แลพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ กลับมาแต่เขาเก้าเสง กราบทูลว่า ที่สนุกสนานอยู่ รับสั่งว่า พรุ่งนี้เช้า จะเสด็จไปทอดพระเนตรดูบ้าง ครั้นเพลาบ่าย ๔ โมง เสด็จพระราชดำเนินเข้าเมือง เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจต่างคนต่างจัดแจงตามน่าที่พนักงาน พวกกรมนครบาลเอาธงแดงแลปืนขานกยางไปจุกช่องปักธงระวังรักษาอยู่ทุกช่องทุกตรอก พวกทหารปืนใหญ่ลากปืนใหญ่ไปน่า วางม้าตาริ้วสองแถว ถัดมาทหารหามปืนขานกยาง ตำรวจน่าซ้ายขวาถือหอกคร่ำทอง เจ้ากรม ปลัดกรมพระตำรวจซ้ายขวาขัดกระบี่บั้งทอง ทนายสิป่ายถือธงมงกุฎใหญ่เดินกลาง ทนายสิป่ายถือหอกใหญ่เดินน่า พวกทหารสิป่ายแบกปืนปลายหอกสองแถว ตำรวจเลวซ้ายขวาถือหวายมัดนำน่าสองแถว พวกผู้หญิงทหารสิป่ายเดินน่าม้าพระที่นั่งสองแถว พระนายศรีสรรเพธแลพวกรักษาองค์เดินเคียงม้าพระที่นั่ง พระองค์เสด็จทรงพระยามณีศรีสลับ ม้าพระที่นั่ง พระยาระยับยอแสง ม้าพระที่นั่งรอง หลวงมาลาภูษิตเชิญพระกลด ทหารผู้หญิงรักษาองค์สี่คนขี่ม้าเคียง พวกเจ้าจอมหม่อมแม่เจ้าท้าวนางข้างใน กับพระเจ้าหน่อ ขี่วอม่านทอง ม้าประเทียบ ม้ารองพระที่นั่ง แลทนายเชิญเครื่อง แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวง มีเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แลพระเจ้าลูกยาเธอ พระบวรราชวงษ์เธอ มีเสด็จกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนประธาน เจ้าพระยาแลพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย มีพณหัวเจ้าท่าน เจ้าคุณกระลาโหม ต้น ติดตามเสด็จพระราชดำเนินโดยลำดับเปนสองแถวดูสง่างาม เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกรบัตร หลวงพลฤทธิพิไชย นำน่ากระยวนแก่มาตามทางสถลมารคข้างเขาตังกวนโดยขนัด พวกชายหญิงชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็โสมนัศเยียดยัดเข้ากันมาหมอบเฝ้าอยู่สองข้างมรคาตลอดเมืองตามสถลมารคจนถึงพระราชวังแหลมซาย ต่าง ๆ ยกมือขึ้นถวายบังคมชมพระบรมโพธิสมภารอยู่ถ้วนหน้า พระสงฆ์ซึ่งอารามอยู่ริมทางที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทั้งนั้นประชุมกันตั้งโตกบูชาถวายพระพรไชยันโตทุกอาราม เสด็จมาถึงประตูพยัตฆนามเรืองฤทธิ แล้วเสด็จทองพระเนตรดูกำแพงไปถึงป้อมป้องกันศัตรู แล้วกลับมาถึงประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ ทอดพระเนตรเห็นหนทางราบเลี่ยนเตียน สอาด ทรงประสาทพระพรมงคลว่า ให้บ้านเมืองถาวรจำเริญ ๆ จึงเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาตามประตูพยัคฆนามเรืองฤทธิ ทางคลองขวางราษฎรริมทางชักธงตั้งโตกถวายบูชาต่อเนื่องกัน ข้ามตะพานคลองขวางมาถึงน่าวัดดอนแย้ ตรัสถามว่า พระครูหมีอยู่นี่ฤๅ แล้วเสด็จมาถึงน่าวัดมัชฌิมาวาศ ทรงทอดพระเนตรดูพระอุโบสถ แล้วตรัสว่า ช่อฟ้าดูไม่ได้ ให้ช่างกรุงมาแก้เสียใหม่ ถึงโรงสุเหร่า ตรัสถามว่า นี่โรงอะไร กราบทูลว่า กฎีมลายู แล้วเสด็จเลี้ยวลงทางตลาดใหญ่ ตรัสว่า ตึกร้านบ้านตลาดค้าขายสนุกสนาน พวกชาวบ้านชาวเมืองตั้งโตกบูชาประกวดขันกันแขงเรง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรดูสองข้างทลาถึงศาลเจ้ามาจ่อ ตรัสถามพระนายศรีสรรเพธว่า โรงอะไร กราบทูลว่า โรงศาลเจ้ามาจ่อ ถึงป้อมพิทักษ์เขื่อนขันธ์ เสด็จขึ้นประทับกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ ทรงขึ้นไปบนใบสีมาแต่พระองค์ แล้วลงมาสถิตย์หว่างใบสีมาปละปัจจิม ทรงพระบริจาคโปรยเงินเฟื้องกับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ให้แก่ราษฎรพันเฟื้อง หมดแล้ว ๆ คว่ำพานสุวรรณที่ใส่เงินให้ราษฎรดูว่า เงินหมดแล้ว แล้วตรัสว่า เงินที่จมทรายแลลงในน้ำอยู่มาก คอยเอาตะกร้ามาร่อนเอา แล้วเข้ามาประทับบนเตียงพระที่นั่ง ตรัสให้พวกพ่อค้าชาวร้านตลาดมีผ้าผ่อนแพรพรรณสิ่งใดประหลาดให้พาเข้ามาขาย จะทรงซื้อ พวกพ่อค้าผ้าพาแพรเข้าไปตามรับสั่ง ทรงทอดพระเนตรผ้าแลแพร โปรดผ้าชุบอาบยกตานกเขา แลผ้าชุบอาบลายต่าง ๆ แล้วตรัสว่า ราคาขายกันอย่างไร พ่อค้าเจ้าผ้าทูลถวายราคาว่า ผ้าชุบอาบตานกเขาผืนละสามบาท ผ้าชุบอาบเลวผืนละสองบาท ตรัสว่า เจ้าของเต็มใจทั้งสิ้นแล้วฤๅ เราไม่ต่อ เราซื้อให้ตามว่า เจ้าคุณกระลาโหมกราบบังคมทูลว่า เมื่อเพลาเช้าวันนี้ เกล้ากระหม่อมให้คนเอาเงินมาเที่ยวซื้อทั้งตลาดทุกร้านไม่มี ครั้นล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จมาจะทรงซื้อผ้าอย่างดีสีต่าง ๆ มีขึ้นมาก เสด็จกรมหลวงวงษาธิราชสนิทกับเจ้าคุณกระลาโหมขอปันซื้อ ทรงโปรดให้ นอกแต่นั้น ซื้อเอาทั้งหมด พระเจ้าหน่อ ๖ องค์ต่างองค์ต่างชิงกันทรงพระสรวล แล้วตรัสถามพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ว่า ดินดำสำหรับเมืองได้ดินที่ไหนใช้ กราบทูลว่า แต่ก่อนใช้ดินดำตำเอาเอง ในเดี๋ยวนี้ ลูกค้าชาวเมืองสิงคโปร์พาดินดำเข้ามาค้าขายมาก จัดซื้อดินดำนอกไว้ใช้ รับสั่งว่า ซื้อดินดำนอกไว้ใช้ดีแล้ว ดินดำตำเอาเองสู้เขาไม่ได้ ถึงกรุงเทพพระมหานครก็เลิกเสียแล้ว ซื้อดินดำนอกไว้ใช้เหมือนกัน ตรัสว่า ให้ซื้อไว้สำหรับบ้านเมืองให้พอใช้ จะหักเอาเงินส่วยอากรภาษีรายใดก็ตามเถิด แล้วตรัสอื่นต่อไป เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ ยกที่พระสุธารศร้อนไปถวายเจ้าต่างกรมแลเจ้าหากรมมิได้ มีเสด็จกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนต้น แลเจ้าคุณกระลาโหม เสร็จแล้ว ทรงประทับอยู่จนพลบค่ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลกลไฟสู่พระราชวังแหลมซาย ครั้นเพลาพลบค่ำ รับสั่งให้เอาชาตรีเข้าไปเล่นที่โรงลคร ทรงทอดพระเนตรชาตรีถึงสองยามจึงเสด็จขึ้น ๚

 ณวันพฤหัศบดี เดือนเก้า แรมสองค่ำ เพลาเช้า เสด็จออก ท้องพระโรง พระยากลันตัน[33] แลพวกศรีตวันกรมการเมืองกลันตัน ตั้งของถวาย พระยาเทพวรชุนกราบทูลถวายของพระยากลันตัน ทองคำทรายหนักสองชั่ง ตราสังข์ กับของศรีตวันกรมการ เสร็จแล้ว เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดให้หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกรบัตร นำทางชลมารค ทอดเรือช่วงต่อเนื่องกันไปจนถึงเขาเก้าเสงสิบลำ เพลาบ่ายสองโมงเศษ เสด็จลงเรือพระที่นั่งกำปั่นสยามอรสุมพลกลไฟ กับกำปั่นมณีเมขลา ไปทอดพระเนตรเขาเก้าเสง ถึงเขาแล้ว ประทับเรือพระที่นั่งที่ฉนวน เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเขาเก้าเสง แล้วเลยไปทอดพระเนตรพระเจดีย์บนยอดเขา ดูไปทั้งสี่ทิศ แล้วเสด็จลงมาประทับในพลับพลาที่หลวงเทพสุรินทร์เสนา จ่ามหาดไทย ทำไว้รับเสด็จที่บนเขา ตรัสถามเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า เจดีย์ใครทำเมื่อใด เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบบังคมทูลว่า เกล้ากระหม่อมได้จัดแจงซื้อศิลามาแต่เมืองแฮมุยทำไว้ได้สามสิบปีแล้ว แล้วหลวงชาติสุรินทร์กราบทูลถวายของจีนหุย พ่อค้าชาวเมืองสงขลา ร้อยโต๊ะ ของจีนฮัน ลูกค้าชาวเมืองสงขลา ของใส่ชลอมใส่กะชะหามหาบแบกกองไว้ ของพวกจีนส่วยทองเกาะยอสิบโต๊ะ มีแจ้งในราย แล้วตรัสว่า หมูเป็ดไก่ของสด ให้เอาไปให้พวกที่อยู่รักษาเรือ นอกกว่านั้น ให้แจกให้พวกตำรวจพวกทหารพวกตามเสด็จกินเสีย เจ้าคุณกระลาโหมก็แจกให้ทั่วกัน แล้วพระนายศรีสรรเพธเชิญที่พระสุธารศเข้าไปถวาย ทรงเสวยเสร็จแล้ว ขึ้นทรงพระยามณีศรีสลับ ม้าพระที่นั่ง พระยาระยับยอแสง ม้าพระที่นั่งรอง ตั้งกระบวนวางตาริ้วสองแถว หลวงพลฤทธิพิไชย หลวงพิไชยชาญณรงค์ นำเสด็จตามทางสถลมารคชายคลองสำโรงปละอุดรรีบมาถึงประตูไชยยุทธชำนะ ลงทางสุเหร่า ทรงดำเนินช้า ๆ มาตามตลาด ทอดพระเนตรดูโตกตั้งบูชาแลราษฎรค้าขายจ่ายตลาด ทอดพระเนตรดูเลอียดถี่ถ้วนทุกสิ่ง แล้วเสด็จมาออกประตูพิทักษ์มรคาน่าจวน มาถึงประตูจันทีพิทักษ์ คุณหญิงหมอบเฝ้าอยู่ที่โตกตั้งบูชา หยุดม้าพระที่นั่งตรัสถามคุณหญิงว่า ประตูบ้านออกนี่ฤๅ คุณหญิงกราบทูลว่า ประตูออกตรงนี้ แล้วเสด็จตามทางสถลมารคช่องเขาตังกวนสู่พระราชวังแหลมซาย เพลาพลบค่ำ โหมโรงมีลคร (หลวง) ให้พวกพระยาแขกหัวเมืองแลพวกราษฎรดู จนสามยามจึงเสด็จขึ้น ๚

 ณวันศุกร เดือนเก้า แรมสิบสามค่ำ เพลาเช้า เสด็จออกพลับพลา ทรงถวายบิณฑบาตทานแก่พระครูญาณโมฬี พระครูธรรมโมฬี ๒ รูป พระครูปลัด ๒ รูป พระครูวิริยสังวรรูป ๑ เสร็จแล้ว ถวายไตรแพร ๓ ไตร ไตรผ้า ๒ ไตร รวมกัน ๕ ไตร กับย่ามรูปละใบ ครั้นพระครูทั้งนั้นกลับแล้ว เสด็จทรงลครให้พวกพระยาแขกแลพวกราษฎรดู เพลาบ่าย ๒ โมง ทรงพระราชทานเงินตราแลเสื้อผ้าแก่เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลพระสุนทรนุรักษ์ หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา พระราชทานให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เงินตราสามสิบชั่ง กับเสื้ออย่างน้อย ผ้าชาติเยี่ยรบับตัว ๑ ลูกดุมทองคำสายหนึ่งเจ็ดใบ ผ้าปูมเขมรผืน ๑ แพรขาวเพลาะ ๑ พระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการ เงินตราห้าชั่ง กับเสื้อเยี่ยรบับตัว ๑ ลูกดุมทองคำสำรับ ๑ ผ้าปมเขมรผืน ๑ แพรขาวเพลาะ ๑ หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เงินตราคนละชั่งสิบตำลึง เสื้อเข้มขาบคนละตัว ผ้าม่วงคนละผืน แพรขาวคนละเพลาะ เสร็จแล้วเสด็จขึ้น ทรงพระราชทานเงินผ้าข้างในให้คุณหญิง เงินตราสองชั่งสิบตำลึง กับผ้าห่มนอนเข้มขาบผืน ๑ คุณจอมจัน เงินตราชั่งห้าตำลึง คุณกลิ่น เงินตราชั่ง ๑ คุณอิน ภรรยาพระสุนทรนุรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เงินตราชั่ง ๑ กับผ้าห่มนอนเข้มขาบผืน ๑ เสร็จแล้ว เสด็จออกพลับพลาข้างน่า ทรงลครอิกเล่า เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเหรียญให้ทรงพระราชทานเจ้าจอมหม่อมลครสี่ร้อยเหรียญ พระสุนทรนุรักษ์ หลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ถวายคนละห้าสิบเหรียญ พวกแขกหัวเมือง พระยาสาย พระยายะหริ่ง พระยาตานี พระยาระแงะ พระยารามัน พระยายะลา พระยาหนองจิก ตนกูโนะเมืองตรังกานู คนละห้าสิบ คุณหญิงห้าสิบ คุณอินสามสิบ รวมกันเปนเงินพันแปดสิบเหรียญ เสร็จแล้วเสด็จขึ้น ครั้นเพลาค่ำ ทรงลครอิกเล่า จนถึงสองยามจึงเสด็จขึ้น ๚

 ณวันเสาร์ เดือนเก้า แรมสิบสี่ค่ำ เพลาเช้า ออกท้องพระโรง พระยาเทพวรชุนทูลถวายนายทัด นายเรือง นายมิ่ง นายพงษ์ นายกิ่ง นายเสือ นายพุ่ม นายเวียง เปนมหาดเล็ก ตรัสถามว่า คนนั้นบุตรใคร หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ชี้ตัวถวายให้ทรงทราบว่า คนนั้นเปนบุตรคนนั้น ๆ ทุกคน เสร็จแล้ว เสด็จขึ้น อยู่ครู่หนึ่ง เสด็จออก พระยาสายบุรี พระยายะหริ่ง พระยาตานี พระยารามัน พระยาระแงะ พระยายะลา พระยาหนองจิก แลพระวิเศษวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง พระจนะ หลวงพิทักษ์สงคราม ปลัดจนะ นายกล่อม ผู้ว่าราชการเมืองเทพา แลตนกูโนะ ตนกูอาสัน ซึ่งพระยาตรังกานูแต่งให้มาเข้าเฝ้า ตั้งของถวาย พระยาเทพวรชุนกราบทูลถวายของ พระยาสายบุรี เป๋าทองคำหกเป๋า ทองคำทรายสิบตำลึงแขก พระยายะหริ่ง เป๋าทองคำสามเป๋า กฤชด้ามทองฝักทองเล่ม ๑ ทองคำทรายสิบตำลึง แขก กะรอกเหลืองกรง ๑ พระยาตานี กฤชด้ามทองเล่ม ๑ หนัก ๕ ตำลึง ทองคำทรายสิบตำลึงแขก พระยารามัน ทองคำทรายหนัก ๒๐ ตำลึงแขก เนื้อลายตัวผู้ ๑ ผู้หญิงหัวพริก ๒ คน[34] พระยาระแงะ สมุกทองทำ ๑ เป๋าทองคำเป๋า ๑ ทองคำทราย ๑๐ ตำลึงแขก คนหัวพริกชายหญิง ๒ คน พระยาหนองจิก เป๋าทองคำ ๒ เป๋า ทองคำทรายหนัก ๕ ตำลึง พระยายะลา เป๋าทองคำ ๖ เป๋า ทองคำทรายหนัก ๔ ตำลึง พระวิเศษวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองยะหริ่ง เป๋าทองคำ ๒ เป๋า นกเขาชาวาขาว ๑ นกเขาใหญ่ลาย ๑ พระจนะ ทองคำทรายหนัก ๔ ตำลึง คนหัวพริกคน ๑ หลวงพิทักษ์สงคราม ปลัดจนะ ทองคำทรายหนัก ๔ ตำลึง ผ้าขาวยาวแปดสิบศอกสิบพับ นายกล่อม ผู้ว่าราชการเมืองเทพา ทองคำทรายหนัก ๒ ตำลึง ผ้าขาวดอกสีต่างกัน ๔ พับ ของพระยาตรังกานู ผ้ายกอย่างแขก ๔ ผืน หอกตอทองเถลิงทองห้าคู่ ไม้เท้าปลายหอก ๕ เล่ม ม้าสีฝ้าย ๒ ม้า เสร็จแล้ว ทรงพระดำรัสว่า จะเสด็จออกมาเที่ยวทอดพระเนตรตามหัวเมืองปากใต้ให้สบายพระหฤไทยดอก พวกแขกหัวเมืองมีน้ำใจพาของเข้ามาถวายทั้งนี้ก็ขอบใจอยู่ แล้วทรงพระราชทานพรแลเสื้อหมวกให้แก่พระยาแขกหัวเมืองทุกคน แต่พวกแม่กองปังอลูได้เสื้อปัศตูเขียวอย่างแขกคนละตัว พวกไพร่ซึ่งมาด้วยสิ้นทั้งนั้นพระราชทานเงินเสมอคนละบาท คนแปดร้อยสี่คน เปนเงินตราสิบชั่งตำลึง แล้วทรงพระราชทานพวกนายงานที่ทำพระราชวังแหลมซาย หลวงศรีสมบัติ เงินตรา ๕ ตำลึง กับเสื้อแพรจีนเจาตัว ๑ หลวงเพ็ชรคิรีศรีราชสงคราม ปลัด หลวงเมือง หลวงน่าวัง หลวงเพ็ชรพยาบาล หลวงระโนฎ หลวงศรีปดูกา หลวงฤทธิเทวา ได้เสื้อแพรจีนเจาคนละตัว หลวงเทพนรินทร์อินทรเดชะ ยกรบัตร หลวงเทพสุรินทร์อินทรเสนา จ่ามหาดไทย หลวงพลฤทธิพิไชย หลวงพิไชยเสนา หลวงเทพเสนา หลวงไชยประชา ได้เสื้อแพรจีนเจาคนละตัว เงินตราคนละ ๓ ตำลึง ขุนแก้วเสนา ขุนสรรพากร ขุนศรีโยธา ขุนกล้าอาสา ได้เสื้อผ้าต่างสีคนละตัว เงินตราคนละ ๒ ตำลึง ขุนเทพอาญา ขุนต่างใจ ขุนอักษร ขุนไชยชาญยุทธ ขุนปลัด ขุนพิพักษ์ ขุนอักษร ขุนภักดีอักษร ขุนจิตรอักษร ขุนฤทธิอักษร ขุนจำนงโยธี ขุนจำนงวาที ขุนชำนาญอักษร ขุนสมุหบาญชี ขุนรองแพ่ง ขุนรองมหาดไทย ขุนกลางวัง ขุนทิพวิจารณ์ ขุนอินทรอาญา ขุนศรีพิทักษ์ ขุนอินทรอักษร ๒๐ คนนี้ ได้เสื้อผ้าต่างสีคนละตัว หมื่นพลภักดี หมื่นราชนุกิจ หมื่นชิตรักษา หมื่นเสนาะวาที หมื่นศรีภักดี หมื่นศรีรักษา หมื่นวิสุทธิพล หมื่นวิจิตรเลขา หมื่นบรรจงพินิจ หมื่นวิจิตรบรรจง ๑๐ คนนี้ ได้เสื้อผ้าต่างสีคนละตัว นายเทด นายมง นายมาก ช่างไม้ ได้เสื้อแพร่จีนเจาคนละตัว เงินตราคนละ ๒ ตำลึง ช่างไม้เลว ๓๑ คน พระราชทานเสี้อผ้าขาวดอกคนละตัว เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมื่องสงขลาเพิ่มเงินให้คนละเหรียญ เสร็จแล้วทรงลครให้พวกพระยาแขกหัวเมืองดู เพลาบ่าย ๒ โมงเศษ ทรงพระบริจาคทานเงินบาทด้วยพระหัดถ์กับพระเจ้าหน่อ ๖ องค์ แก่ผู้เถ้าผู้แก่ชายหญิงที่สูงอายุแต่ ๕๐ ปีเศษขึ้นไปถึงอายุ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี เสมอคนละบาท คนที่มารับพระราชทาน ๘๑๙ คน คิดเปนเงินตรา ๑๐ ชั่ง ๔ ตำลึง ๓ บาท แต่ขุนจำเริญวัจนโหนงรับพระราชทานเงินแล้ว ยกมือถวายบังคมให้พรว่า ขอให้พระทูลกระหม่อมแก้วจำเริญพระชนมายุเสวยราชสมบัติยืนได้ร้อยพันวษา เสด็จพ้นไปแล้วเสด็จกลับมาตรัสว่า นับถือข้าฤๅนะ ทูลว่า นับถือเกล้ากระหม่อม แล้วเสด็จขึ้น ครั้นเพลาค่ำ รับสั่งให้เอาลครสำหรับเมืองสงขลาเข้าไปเล่น ทรงทอดพระเนตรแล้วทรงพระสรวล ทรงพระราชทานเงินให้พวกลครปันกัน ๖๐ บาท จนถึง ๒ ยามต่อเสด็จขึ้น ๚

 ณวัน ๑๐ ค่ำ เพลาเช้า มีรับสั่งออกมาว่า จะเสด็จไปทอดพระเนตรเกาะยอด้วยเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลกลไฟ เพลาเที่ยง เสวยแล้วรับสั่งเรียกคุณจอมจัน ๆ ขึ้นไปหมอบเฝ้าอยู่ที่บันไดประตูทักษิณหลังเสวยข้างใน ทรงตรัสถามคุณจอมจันว่า เสด็จออกมาครั้งนี้ พวกข้าราชการซึ่งตามเสด็จออกมาไปข่มเหงยื้อแย่งชาวบ้านชาวเมืองบ้างฤๅ คุณจอมจันกราบทูลว่า เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม พวกข้าราชการทั้งปวงซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินมาหาได้ข่มเหงชาวบ้านชาวเมืองไม่ แล้วดำรัสถามว่า ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงได้เห็นลครข้างในพูดจากันอย่างไรบ้าง คุณจอมจันกราบทูลว่า ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงที่ได้เห็นชวนกันชม แล้วพูดว่า เหมือนหนึ่งนางเทพอับศรชาวสวรรค์ลงมาทีเดียว แล้วตรัสถามว่า ลครที่เล่นคืนนี้ ฤๅที่เล่นรับแขกบ้านแขกเมือง คุณจอมจันกราบทูลว่า ลครนั้นแลเกล้ากระหม่อม แล้วทรงพระสรวล เสด็จออกจากท้องพระโรง พระครูธรรมโมฬี พระครูญาณโมฬี พระถานา ๑๑ รูป ที่นั่งคอยท่าจะถวายพระพรไชยันโตอยู่ที่พระที่นั่งเย็น ก็ถวายไชยันโตขึ้น เข้าใจว่า จะเสด็จลงเรือ ยกพระหัดถ์ขึ้นห้ามว่า ยังไม่ไปก่อน พระครูถานาทั้งนั้นก็หยุดอยู่ เสด็จลงไปวัดแดดที่น่าพลับพลาน้ำ เสร็จแล้ว กลับขึ้นมาทรงประทับที่พระที่นั่งเย็นกับพระครูธรรมโมฬี พระครูญาณโมฬี พระถานาทั้งปวง ทรงตรัสว่า เมืองนี้รู้จักแต่พระครูหมีองค์เดียว เมืองนครรู้จักมหาจู มหารุ่ง แลขรัวแก้ว หลายองค์ วัดวาอารามเมืองนครมาก แต่ชำรุดหักพังไม่มีผู้จะบุรณปฏิสังขรณ์คร่ำคร่าเสียมาก อารามที่เมืองสงขลาดูก็เปนใหม่ปนเก่าอยู่บ้าง แล้วตรัสถาทหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ว่า กระเบื้อง ถ้าให้ตัวอย่างมาอย่างใด ทำได้เหมือนอย่างนั้นฤๅ กราบทูลว่า ทำได้ แล้วตรัสกับเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า ถ้าก่อพระเจดีย์เสร็จแล้ว เรือกำปั่นไฟก็มี จะออกมาฉลองพระเจดีย์สักทีก็ได้ แต่รับรองเลี้ยงขุนกันแขงแรงดังนี้ จะพากันยากจนเสีย เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบทูลว่า พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมอยู่แล้ว ไม่ยากจนมิได้ ทรงพระสรวลแล้วเสด็จขึ้น รับสั่งเรียกเอาเป๋าทองคำที่เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาถวาย แลเป๋าหลวงสมบัติภิรมย์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงวิเศษภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา แลเป๋าพระยาแขกหัวเมืองทั้งปวงถวาย เอามากองลงที่ท้องพระโรง แล้วตรัสว่า จะออกมาเที่ยวทอดพระเนตรตามหัวเมืองปากใต้ให้สบายพระหฤทัย ท้าวพระยาแลแขกหัวเมืองทั้งปวงมีน้ำใจเอาเข้าของมาให้มากมาย จะเอาไว้แต่ผู้เดียวมิชอบ ควรจะเอาแจกปันแก่พระบวรวงษาให้ทั่วกัน แล้วทรงเอาเป๋าแยกออกเปนสองส่วน ๆ หนึ่งจะเอาไปแจกพระบวรวงษาที่กรุงฯ ส่วนหนึ่งจะปันให้พระบวรวงษาที่ตามเสด็จมา แล้วทรงยถาด้วยพระองค์เอง พระเจ้าหน่อ ๖ องค์ก็รับสัพพีติโยจนจบ แล้วหยิบเป๋าแจกให้ไปตามผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้วเสด็จขึ้น เจ้าคุณกระลาโหมเอาตัวอย่างพระเจดีย์มาให้ถึงทำเนียบเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เพลาบ่าย ๓ โมงเศษ เสด็จออกจะลงเรือพระที่นั่งกำปั่นสยามอรสุมพลกลไฟไปทอดพระเนตรเขาเกาะยอ พระครูธรรมโมฬี พระครูญาณโมฬี แลพระครูถานาทั้งปวง ซึ่งนั่งอยู่ที่พระที่นั่งเย็น ๑๑ รูป ถวายพระพรไชยันโตขึ้น เสด็จลงเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลกลไฟ น้ำลงแห้ง เรือพระที่นั่งมาติดที่แหลมซาย เสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องบดเข้าในคลอง ถึงน่าบ่อพลับ ลมพัดกล้า เสด็จกลับมาสู่พระราชวังแหลมซาย เพลากลางคืน ๕ ทุ่มเศษ ยามศุกร ฤกษ์ ๑๐ พระอาทิตย์แลพระจันทร์อยู่ราษีสิงห์ พระอังคารอยู่ราษีกรกฎ พระพุฒอยู่ราษีสิงห์ พระพฤหัศบดีอยู่ราษีเมถุน พระศุกร์ พระเสาร์ อยู่ราษีกรกฏ พระราหูอยู่ราษีมังกร ลักษณอยู่ราษีพฤศภ เสด็จออกท้องพระโรง พระยาไทรบุรีถวายเครื่อง (ทหาร) สิป่าย ตัวนายสองสำรับ ไพร่สองร้อยสำรับ กับกระบี่อย่างนอก ๒ เล่ม พระยาเทพวรชุน พระวิชิตสรไกร พระเสนหามนตรี แลเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา เฝ้าอยู่ด้วย แล้วตรัสกับเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลพระวิชิตสรไกร พระเสนหามนตรี ว่า ข้าจะลาก่อน ค่อยอยู่ให้เปนศุข ๆ เถิด แล้วเสด็จมาประทับลงตรงหน้าเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แล้วจับมือเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ทรงพระราชทานพรว่า ให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาอยู่เปนศุข ๆ เถิด แล้วตรัสเรียกพระเจ้าหน่อ ๖ พระองค์ว่า ให้เข้ามาจับลาท่านสงขลาเสีย พระเจ้าหน่อ ๖ องค์เข้ามาจับมือเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ๆ (ถวายพระพร) ว่า ให้ทรงพระไวยจำเริญ ๆ ทุก ๆ พระองค์เถิด แล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลากำปั่นกลไฟ ประทับอยู่ถึงเจ็ดทุ่ม ติดไฟไขกุญแจเปิดจักรเรือพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินจากเกาะหนู เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลกลไฟ แลเรือพระที่นั่งมงคลเทพ[35] ใช้ทั้งใบทั้งจักร เรือเจ้าต่างกรมแลเจ้าหากรมมิได้ แลเรือท้าวพระยาข้าทูลอองธุลีพระบาททั้งปวงซึ่งตามเสด็จออกมา ขี่กำปั่นไฟ กำปั่นใบ เรือศีศะญวน เรืออาสาจาม เรือแง่ซาย เรือฉลอง เรือช่วง เรือเก๋ง เรือญายับ รูปเรือต่าง ๆ ถ้าจะคณนานับ (เรือ) ได้พันเศษ ก็แวดล้อมเปนยศศักดิบริวารไปในท้องทเล ในเพลาราตรีวันนั้น พระจันทร์ลับเหลี่ยมพระสุเมรุราช ท้องทเลราบรื่น หาคลื่นบมิได้ สว่างด้วยแสงประทีปแก้วบนปลายเสาแลประทีปแก้วรายแคมตลอดรอบลำเรือพระที่นั่ง สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีแดง สว่างส่องแสงในทางชลมารค แลเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเรือพระที่นั่งกลับไปแล้ว ภายหลัง หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เข้าไปในท้องพระโรง เห็นลายพระราชหัดถเลขาเปนอักษรอังกฤษทรงไว้ที่ประตูลับแลข้างปัจจิมที่หนึ่ง แล้วหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ มากราบเรียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ๆ ให้กปิตันเหียง อังกฤษ ไปจำลองลายพระราชหัดถเลขาขึ้นไว้ แล้วโปรดให้กปิตันเหียงแปลออกเปนคำสยามภาษา ได้ความว่า ประเทศนี้อยู่ดี อากาศร้อนกว่าอากาศเมืองนครสองดิกรี ร้อนเหมือนอากาศกรุงเทพพระมหานคร ผู้คนอยู่ดี แต่มักเจ็บไข้ ถ้าเจ็บไข้มาก อยู่ข้างร้อน แต่เขาแลไม้คลองน้ำดี ดูป่าแลเขาคลองน้ำพอสว่างคลายไปได้ กปิตันเหียงแปลออกความแต่เท่านี้ ๚

 แลเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐทรงสถิตย์อยู่ในพระราชวังแหลมซายที่เมืองสงขลาได้เก้าราตรีกับแปดทิวา ด้วยอำนาจอานุภาพพระเดชพระคุณพระบุญบารมีอาจประพฤติเปนไป ให้หมู่มัจฉาชาติเกลื่อนกลาดนำฝูงเทกันมา จึงมัจฉมังษาผลาหารสรรพทุกสิ่งก็มากมีบริบูรณ์ไม่ขัดสน แล้วเสด็จทรงเที่ยวประพาศทอดพระเนตรตามอ่าวคุ้งโดยชลมารคแลสถลมารคในเมืองนอกเมืองทุกที่ทุกตำบล มีพระกมลหฤไทยชื่นชมโสมนัศ จะได้ทรงขัดเคืองตำหนิติเตียนเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาแลกรมการราษฎรชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็หามิได้ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่น้อยชายหญิงซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินออกมามากมายนักหนา เจ้าต่างกรม แลเจ้าหากรมมิได้ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ แลพระบวรวงษ์เธอ แลพระเจ้าน้องยาเธอ มีเสด็จกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเปนต้น แลพวกเจ้าจอมหม่อมแม่ลครข้างในทั้งปวง มีพระนางนาฎราชเทวีมเหษีเปนประธาน หลวงแม่เจ้าเถ้าแก่จ่าชาวที่ทนายเรือนโขลน มีท้าววรจันทร์ ท้าวสมศักดิ เปนต้น เจ้าพระยาแลพระยาพระหลวงขุนหมื่นทั้งปวง มีเจ้าคุณกระลาโหมเปนประธาน แลส่วยซ่องกองช้างตราภูมค้มห้ามไพร่สมแลสังกัดพันซึ่งตามเสด็จออกมาประชุมพร้อมกันที่เมืองสงขลา เมืองสมุทสงคราม เมืองราชบุรี เมืองเพ็ชรบุรี เมืองปราณ เมืองกุย เมืองบางนารม[36] เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองปทิว เมืองชุมพร เมืองสวี เมืองตะโก เมืองหลังสวน เมืองกระ เมืองไชยา เมืองท่าทอง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองปเหลียน เมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า เมืองถลาง เมืองตรัง เมืองภูเก็จ เมืองไทร เมืองปลิศ เมืองกะบังปาสู เมืองสตูน เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองจนะ เมืองเทพา เมืองตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสาย เมืองระแงะ เมืองรามัน เมืองยะลา เมืองหนองจิก ฝายตวันออก เมืองสมุทปราการ เมืองพนัศนิคม เมืองชลบุรี เมืองบางลมุง เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด มาประชุมพร้อมกันกับคนที่เมืองสงขลา ถ้าจะคณนาได้สี่หมื่นเศษ

 ครั้นณวันเดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ ปีมแม เอกศก เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาจัดแจงกำปั่นมณีกลอกสมุทลำหนึ่ง เรือศีศะญวนสองลำ ให้หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา หลวงพิทักษ์โยธา หลวงสวัสดิภักดี ขุนพรหมมนตรี กรมการ คุมดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย[37] แลคุมเงินส่วยสาอากรสำหรับเมืองเข้าไปส่งเจ้าพนักงานณกรุงฯ กำปั่นมณีกลอกสมุท เรือศีศะญวน สองลำ ได้ใช้ใบจากปากน้ำเมืองสงขลาแต่ณวันเดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ ปีมแม เอกศก ครั้นณวันพฤหัสบดี เดือนสาม ขึ้นสามค่ำ ปีมแม เอกศก หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา หลวงพิทักษ์โยธา ขุนพรหมมนตรี กรมการ ซึ่งคุมดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแลคุมส่วยสาอากรเข้าไปส่งเจ้าพนักงานณกรุงเทพพระมหานคร เชิญตราพระคชสีห์แลนามสัญญาบัตรออกมาลุวางณเมืองสงขลา ในท้องตราซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมานั้นว่า เสด็จพระราชดำเนินออกไปประพาศชมบ้านเมืองฝ่ายทเลปากใต้ถึงเมืองสงขลา พระยาสงขล ากรมการ ได้จัดแจงที่ประทับพลับพลารับเสด็จพระราชดำเนิน แล้วจัดแจงรับพระวงษานุวงษ์ข้างน่าข้างใน กับข้าราชการทั้งปวง ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนิน ได้ความศุขสบายด้วยกันทั้งสิ้น มิได้ขัดสน ทรงทอดพระเนตรเมืองสงขลาเปนเมืองไชยภูมิลูกค้าพานิชซื้อขายไปมาคล่องสดวกสนุกสบาย คนไทยคนจีนก็มีมาก หัวเมืองแขกขึ้นก็มีอยู่หลายเมือง ควรจะจัดเปนเมืองใหญ่ จะได้เปนสง่าขึ้นกับพระนครเมืองหนึ่ง หลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ เปนบุตรพระยาสงขลา ใหญ่กว่าบุตรทั้งปวง อายุอานามก็ควรจะชุบเลี้ยงให้มีชื่อเสียงยศถาศักดิยวดยิ่งขึ้นไป จะได้ช่วยว่ากล่าวราชการรักษาบ้านเมือง เปนสง่างามกับนานาประเทศราชทั้งปวง แต่ตำแหน่งที่กรมการผู้ใหญ่ก็หาว่างเปล่าไม่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานนามสัญญาบัตรเลื่อนหลวงสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ บุตรพระยาสงขลา ขึ้นเปนที่พระสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ ถือศักดินา ๑๐๐๐ ไร่ ให้พระราชทานถาดหมากคนโทกาไหล่ทองคำสำรับหนึ่ง ลูกประคำทองสาย ๑ กะโถนเงินกาไหล่ทองคำใบหนึ่ง เสื้อเข้มขาบพื้นแดงตัวหนึ่ง ส่านไทยผืนหนึ่ง แพรขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง ออกมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณให้เปนเกียรติยศแก่บ้านเมืองสืบต่อไป แลให้พระสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ ฟังบังคับบัญชาพระยาสงขลา ให้กรมการผู้น้อยฟังบังคับบัญชาพระสมบัติภิรมย์ ผู้ช่วยราชการ แต่ที่ชอบด้วยราชการ อย่าให้ถือเปรียบขัดแก่งแย่งให้เสียราชการไปแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ตามท้องตราซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งออกมาแต่ก่อนจงทุกประการ ๚

 ครั้นณวันศุกร เดือนหก ขึ้นค่ำหนึ่ง พระยาศรีเสาวราชภักดีศรีสมุหพระกระลาโหมฝ่ายพลำพังมีหนังสือออกมาถึงเมืองสงขลา ในหนังสือนั้นว่า พณหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สมันตพงษ์พิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหพระกระลาโหม มีพระประสาทสั่งว่า ให้เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวณกรุงเทพพระมหานครในเดือนหกเดือนเจ็ดนี้จงได้ แล้วจะได้กลับออกมารับเสด็จสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาทราบความแล้วจัดแจงกำกับปั่นวิเชียรคิรี ให้ขุนวิเศษพานิชเปนนายกำปั่น กะปิตันเหียง อังกฤษ เปนตันหน พาหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา หลวงนา หลวงเทพมาลา ขุนหมื่นมีชื่อ เข้าไปด้วยหลายคน ครั้นณวันเสาร์ เดือนหก แรมสิบห้าค่ำ ปีวอก โทศก เพลา ๕ โมงเช้า ได้ศุภฤกษ์ ให้ถอนสมอใช้ใบกำปั่นวิเชียรคิรีออกจากเกาะหนูไปสามวันครึ่ง ถึงเมืองสมุทปราการ ณวันพฤหัศบดี เดือนเจ็ด ขึ้นห้าค่ำ วางกำปั่นล่องขึ้นไปถึงคอกกระบือ นายกลั่น มหาดเล็ก ซึ่งเข้าไปรับราชการอยู่ณกรุงเทพพระมหานคร รู้ความแล้ว กราบเรียนพณหัวเจ้าท่าน สมุหพระกระลาโหมโปรด ให้ทราบ พณหัวเจ้าท่าน สมุทพระกระลาโหม โปรดให้เรือสำปั้นเก๋งลงไปรับเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ก่ำปั่น ณวันเดือนเจ็ด ขึ้นหกค่ำ เพลาเช้า เจ้าคุณไปที่บ้านเจ้าคุณกระลาโหม ๆ ถามว่า มากี่วัน เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบเรียนว่า มาสามวันครึ่งถึงหลังเต่า เจ้าคุณกระลาโหมว่า มาไวหนักหนาทีเดียว แล้วเรียกคุณหญิงพันมาบอกว่า เจ้าคุณสงขลามาถึงแล้ว ให้คุณหญิงพันรับรองเอาเปนธุระอัชฌาไศรยทำของคาวของหวานส่งอย่าให้ขาดเพลาได้ ด้วยเมื่อเจ้าคุณกระลาโหมออกไปพักอยู่ที่เมืองสงขลา คุณสงขลาปฎิบัติไม่ได้ขัดสนสิ่งใด เจ้าคุณกระลาโหมปราไสกับเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาตามธรรมเนียมแล้ว ถามเจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาว่า มีสิ่งใดเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาถวาย เจ้าคุณผูสำเร็จราชการเมืองสงขลากราบเรียนว่า ได้ทำประทุมธาราด้วยเงินใบหนึ่ง หีบถมตะทองทาหีบหนึ่ง กับส้มตรังกานู ผลจำมะดะ กุ้งไม้ เข้ามาถวาย แล้วพระยาศรีเสาวราชกราบเรียนเจ้าคุณกระลาโหมว่า จะโปรดให้เฝ้าในเพลาค่ำวันนี้ฤๅสุดแล้วแต่จะโปรด เจ้าคุณพระกระโหมมีพระประสาทสั่งว่า จะเฝ้าเพลากลางคืน เขาจะข้ามไปไหวฤๅ ให้เฝ้าเสียในเพลาเย็นวันนี้ เจ้าคุณกระลาโหมจะเข้าไปด้วย เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาออกจากบ้านเจ้าคุณกระลาโหมเลยไปเฝ้าเสด็จกรมหลวง ๆ ปราไสตามธรรมเนียมแล้ว เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลากราบลาลงมากำปั่น จัดเเจงของถวาย เพลาบ่ายโมงเศษ เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาให้พาของไปคอยท่าอยู่ที่ทิมดาบใหม่ เพลาบ่ายสามโมงเศษ เสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าคุณกระลาโหม ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เข้าเฝ้า เจ้าคุณผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา แลพระยาศรีเสาวราช เข้าไปภายหลัง ยกประทุมธาราแลหีบถมเข้าไปตั้ง ทรงทอดพระเนตร ๚

 เรื่องพงษาวดารของเจ้าพระยาสงขลา บุญสังข์ หมดฉบับที่ได้มาเพียงเท่านี้ ความที่ยังขาดก็เห็นจะไม่เท่าใด ด้วยปรากฎข้างต้นว่า หนังสือพงษาวดารตอนนี้ว่า แต่งเมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมเมีย จุลศักราช ๑๒๒๑ เนื้อเรื่องในฉบับมาหมดเพียงพระยาสงขลา บุญสังข์ เข้ามากรุงเทพฯ เข้าเฝ้าเมื่อวันเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ในปีมแมนั้น ก่อนเวลาแต่งเพียง ๔ เดือน น่าเเข้าใจว่า ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเปนเจ้าพระยาในคราวที่เข้ามาเฝ้านี้ ครั้นกลับออกไปถึงเมือง ฉลองตราแล้ว จึงให้แต่พงษาวดารเมืองสงขลาตอนหลังเนื่องไปในการฉลองตรา พงษาวดารตอนนี้จึงเปนทำนองประวัติของเจ้าพระยาสงขลา บุญสังข์ ๚

จดหมายเหตุอาลักษณมีประกาศตั้งเจ้าพระยาสงขลา บุญสังข์ แต่ในจดหมายเหตุลงเปนปีวอก มีความตามประกาศ ดังนี้

มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า เมืองสงขลาได้ว่าเมืองแขกมลายูประเทศราชขึ้นหลายเมือง ตั้งอยู่สุดเขตรแดนหัวเมืองที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ฝ่ายปากใต้ต่อแดนเมืองแขกมลายูหลายทิศหลายทาง เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ล่วงมาแล้ว ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงตั้งพระยาผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาเปนแหน่งเจ้าพระยาถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ในครั้งที่ ๑ เปนอย่างมาแล้ว บัดนี้ เมืองสงขลาก็รุ่งเรืองจำเริญเปนที่ไปมาค้าขายของลูกค้าต่างประเทศ แลลูกค้าในเมืองก็ตั้งตัวทำมาหากินค้าขายแลทำสิ่งของต่าง ๆ เจริญขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ป้อมแลกำแพงเมืองก็ได้สร้างขึ้นแลทำนุบำรุงไว้ดีงามเปนสง่ากว่าเมืองปากใต้อยู่แล้ว พระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี พิริยพาห บุญสังข์ คนนี้ ได้เปนผู้สำเร็จราชการเมืองมาได้ ๙ ปีแล้ว มีความชอบต่าง ๆ เปนคุณแก่ราชการมาก แลไม่มีถ้อยความถูกอุทธรณ์ฟ้องร้องแต่กรมการผู้น้อย แลไพร่บ้านพลเมือง แลหัวเมืองแขกประเทศราช แต่สักครั้ง ๑ ก็เห็นว่า เปนความชอบมากอยู่แล้ว ควรจะเลื่อนที่ให้สูงขึ้นตามอย่างแต่ก่อน เพราะฉนั้น บัดนี้ ให้พระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยพาห ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ชื่อตัวว่า บุญสังข์ คนนี้ เปนเจ้าพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงมีอำนาจได้ว่ากล่าวสิทธิขาดในราชการทั้งปวงตลอดแขวงเมืองสงขลา แลเมืองขึ้นเมืองสงขลาทั้งปวง ตามอย่างแต่ก่อน ดังเจ้าพระยาพิไชยคิรี ศรีสมุทสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้นจงทุกประการ จงเว้นการควรเว้น หมั่นประพฤติการควรประพฤติ สมควรแก่ตำแหน่งทุกประการ แลรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างธรรมเนียมคนที่ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงทั้งปวง ขอให้สิ่งซึ่งเปนประธานในโลก คือ คุณพระพุทธาทิรัตนไตรย แลอานุภาพเทพยดาที่มีมเหศวรศักดิ จงรักษาให้เจ้าพระยาวิเชียรคิรี ศรีสมุท วิสุทธิศักดา มหาพิไชยสงคราม รามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา อยู่เย็นเป็นศุข มีความเจริญอายุวรรณศุขพละปฏิภาณศุภสุนทรสวัสดิสิ้นกาลนาน เทอญฯ

ตั้งมาวัน ค่ำ ปีวอก โทศก เปนปีที่ ๑๐ ของตราดวงที่ประทับนี้ ประจำการแผ่นดินสยาม ศักราช ๑๒๒๒ เปนวันที่ ๓๓๒๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ๚


  1. ที่จริง เจ้าฟ้าเอกทัศ จึงจะถูก
  2. เมื่อตีไม่ได้คราวแรกนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีมิได้เสด็จเอง
  3. ความที่กล่าวตรงนี้ ประหนึ่งจะศักชื่อลงไว้ที่แขน น่าสงไสย เห็นจะเปนแต่ลงทะเบียน
  4. ผิด เจ้านครต้องเอาตัวกลับเข้าไปไว้กรุงเทพฯ เมื่อปีมโรง จุลศักราช ๑๑๔๖
  5. ญวนนี้ คือ พวกองเชียงสือที่เข้ามาพึ่งพระบารมี
  6. ที่ว่านี้ว่า เฆี่ยนปืน เห็นจะเปนเรื่องโจทกันจะให้เปนอัศจรรย์
  7. ที่เรียกว่า โต๊ะแส นี้ คือ โต๊ะสยัดที่อ้างว่า เปนเชื้อวงษ์พระนาบีมหมัด
  8. ในพระราชพงษาวดารว่า พม่ามาล้อมเมืองถลางคราวแรก ตีไม่ได้ ทำอุบายถอยไป ไทยออกหาเสบียงอาหาร พม่าจู่มาใหม่ ตีเมืองได้ ทัพกรุงไปถึง จึงจับพม่าได้
  9. ในพระราชพงษาวดารแลจดหมายเหตุอื่น เมืองไทรไม่เคยขึ้นสงขลา เดิมเมืองแขกขึ้นเมืองนครนั้น ภายหลังจึงให้หัวเมืองแขกทเลท่าในขึ้นเมืองสงขลา
  10. ที่แหลมสนมีที่ฝังผู้ว่าราชการเมืองสงขลา เข้าใจว่า ฝังแต่ศพเจ้าพระยาสงขลาคนแรก ต่อมา เผาศพ แล้วฝังอิฐ
  11. เหตุที่จะตีเมืองไทร ปรากฎในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ชัดเจน
  12. ด้วยคราวนั้น พวกแขกเมืองตานีกำเริบขึ้นด้วย เมืองตรังกานูแลกะลันตันก็ให้กำลังมาช่วยพวกตานี
  13. พระยารามันนั้นว่า ฯพณฯ พาไปแล้ว นี่จะเปนพระยายะลาดอกกระมัง
  14. เรื่องยกกองทัพคราวนี้ มีความพิศดารอยู่ในหนังสือเรืองจดหมายหลวงอุดมสมบัติ
  15. ตรงนี้คลาศเคลื่อน ความจริง ครั้งนั้น ทรงตั้งตนกูอานุมเปนพระยาไทร ตนกูอาสันเปนพระยากะบังปาสู ตนกูหมัดอาเก็บเปนพระยาสตูน ต่วนเสดอุเซนเปนพระยาปลิศ ต่อมา พระยากะบังปาสูถึงแก่กรรม เจ้าพระยาไทรปะแงรันเข้ามาสารภาพรับผิด จึงโปรดให้ย้ายตนกูอานุมมาเปนพระยากะบังปาสู ให้เจ้าพระยาไทรกลับมาครองเมืองไทร เมืองที่แบ่งใหม่ทั้ง ๔ นั้นคงขึ้นเมืองนคร มิได้ขึ้นสงขลา
  16. พระยาพัทลุงคนนี้ชื่อ จุ้ย เปนบุตรพระยาพิไชยราชาครั้งรัชกาลที่ ๑
  17. ตอนนี้ว่าด้วยประวัติของเจ้าพระยาสงขลา บุญสังข์
  18. คุณจันนี้เปนเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๓ อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕
  19. หลวงสมบัติภิรมย์คนนี้เปนบุตรเจ้าพระสงขลา บุญสังข์ ชื่อ ชุ่ม ในรัชกาลที่ ๕ ได้เปนพระยาสมบัติภิรมย์ แล้วเปนพระยาสงขลา ต่อเจ้าพระยาสงขลา เม่น นายทัด มหาดเล็กนั้น เปนบุตรเจ้าพระยาสงขลา บุญสังข์ ในรัชกาลที่ ๕ ได้เปนพระยาหนองจิก
  20. อยู่ใกล้เกาะหลัก แขวงประจวบคิรีขันธ์
  21. เวลานั้น เจ้าพระยานคร น้อยกลาง ป่วยเปนอัมพาต มารับเสด็จไม่ได้ ผู้น้อยจัดการ จึงวุ่น ที่สงขลาเอาใจใส่สืบสวนร้ายดีเนื่องในความอริกันระหว่าง ๒ เมือง ดังอธิบายไว้ในเรื่อง จดหมายบอกข่าวเจ้าพระยานคร ซึ่งพิมพ์ไว้ต่อไปในสมุดเล่มนี้
  22. จ่ากลั่นคนนี้เปนที่จ่าชำนาญทั่วด้าว
  23. คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง
  24. เปนศิลาใต้น้ำ ศิลาแปรงหมู ฤๅศิลาสมิหร่า ก็เรียก
  25. พระยาพัทลุง ทับ
  26. ศิลาอย่างนี้เอามาจากเกาะสี่ เกาะห้า ในทเลสาบ
  27. คือ เจ้าพระยายมราช เฉย
  28. เข้าใจว่า เจ้าพระสงขลา บุญสังข์ ทุพลภาพ ไปตามเสด็จประพาศไม่ได้ด้วยตนเอง พระสุนทรนุรักษ์จึงเปนผู้ตามเสด็จ พระสุนทรนุรักษ์นี้ชื่อ เม่น ได้เปนพระยาสงขลาต่อมา ครั้งถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เปนพระยา
  29. ที่พระยาพัทลุงกราบทูลฯ หมายเอาทเลสาบในตอนเปนแขวงเมืองพัทลุง
  30. กปิตันฉุนนี้ แล้วเปนขุนจรเจนทเล ถึงรัชกาลที่ ๕ เปนพระชลธารพินิจจัย
  31. คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์
  32. ชื่อโหมด ในรัชกาลที่ ๕ เปนพระยากสาปน์กิจโกศล
  33. พระยากลันตันคนนี้ชื่อ ต่วนสนิปากแดง เปนมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ มีเรื่องในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ แล้วได้เลื่อนเปนพระยาเดชานุชิต จางวาง แขกยกยศเปนสุลต่าน
  34. ที่เรียกว่า ผู้หญิงหัวพริก ในหนังสือนี้ ที่จริงคือแขกดำชาวอาฟริกา เข้าใจว่า พวกมลายูที่ออกไปเมกกะจะไปซื้อเด็ก ๆ คนพวกนี้มาจากพวกแขกอาหรับ จงมักจะมีแขกดำชาวอาฟริกาอยู่ตามเมืองมลายูไม่ใคร่ขาดแม้จนทุกวันนี้ ที่เอามาถวาย ๕ คนครั้งนั้นเปนเด็ก ๆ ทั้งนั้น ในหนังสือนี้ว่า เปนผู้หญิงทั้ง ๕ คน แต่ที่จริงมีผู้ชายคน ๑ เมื่อเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ เรียกกันว่า "อ้ายยิ" โตขึ้นได้เปนตำรวจถือมัดหวายนำเสด็จมาจนในรัชกาลที่ ๕ ที่เปนผู้หญิงนั้นอยู่ในวัง ข้าพเจ้าเคยเห็น แต่พึ่งรู้ว่า เปนคนถวายครั้งเสด็จสงขลาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ก็ได้ความสมจริง
  35. มหาพิไชยเทพ
  36. คือ ประจวบคิรีขันธ์
  37. แต่ก่อน เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา ต้องถวายต้นไม้ทองเงิน เลิกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาล