ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/เรื่องที่ 1/ส่วนที่ 3
สารตราท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกระลาโหม ให้มาแก่ผู้ว่าที่พระศรีราชสงครามรามภักดี ปลัด หลวงภักดีราช ยกรบัตร หลวงศรีสุรินทรบดี หลวงเทพเสนา สัสดี หลวงไชยประชา สัสดี แลกรมการทั้งหลาย
ด้วยเสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนทั้งปวงปฤกษากราบทูลพระกรุณาว่า เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นแก่กรุงศรีอยุทยาแต่ก่อนนั้น ถ้าเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่มีบำเหน็จความชอบในราชกิจ สมเด็จบรมบพิตรปลูกเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมือง มีแต่ปลัด ยกรบัตร กรมการ รับราชการตามขนบธรรมเนียมบุราณราชประเพณี พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอบไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เปนถึงเจ้านคร มีอรรคมหาเสนา จัตุสดมภ์ มหาดเล็ก ต้องชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง ดุจดังอนุวงษ์ราชวงษ์ ถึงอนุวงษ์ราชวงษ์ก็ดี มีแต่รับสั่งตั้งแต่เจ้ากรม ปลัดกรม หลวงขุนหมื่น นายเวร ปลัดเวร หามีเสนาบดีเหมือนดังนี้ไม่ ซึ่งตั้งให้พระ ปลัดเปนเจ้านั้นผิดประเพณีแต่ปางก่อน ฝ่ายผู้ตั้งผู้แต่งประพฤติการผิดต่าง ๆ มิได้เปนยุติธรรม ฉ้อไพร่ฟ้าประชากร ๆ ประนอมพร้อมกันจับประหารชีวิตรเสีย แล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาผ่านพิภพ เสนามุขลูกขุนปฤกษาให้เจ้านครถอยยศลดเสนาบดีลงเสีย ฝ่ายเจ้านครก็หามีความชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อแผ่นดินไม่ แต่หากว่าทรงพระเมตตาเห็นว่า เปนผู้ใหญ่ ประหนึ่งจะมีความคิดเห็นผิดแลชอบ จะตั้งใจทำราชการแผ่นดินโดยสุจริต จึงให้คงว่าราชการรั้งเมืองครองเมืองสืบมา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งจำเภาะให้เจ้านครเกณฑ์เลขเข้ามาร่อนทอง เจ้านครมิได้จัดแจงกะเกณฑ์เลขให้ครบตามเกณฑ์ ให้ข้าหลวงไปสักเลขเมืองนคร ก็ได้เลขสักน้อยต่ำลงกว่าจำนวนสักแต่ก่อน แล้วมีตรารับสั่งให้หาเจ้านครเข้ามาคิดราชการถึงสองครั้ง ก็บิดพลิ้วมิได้เข้ามา เห็นว่า เจ้านครหาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ขวนขวายทำราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา เจ้านครผิด ประการหนึ่ง เจ้านครก็แก่ชราพฤฒิภาพ เกลือกมีการณรงค์สงครามทำมิได้จะเสียราชการไป จะให้เจ้านครคงว่าราชการเมืองนครสืบไปมิได้ ละไว้จะเปนเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน ให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านครศรีธรรมราช เอาตัวเข้ามาใช้ราชการณกรุง แลเจ้าพัฒน์เมืองนครนั้นสัตย์ซื่อมั่นคงจงรักภักดีโดยสุจริต ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมีความชอบมาแต่ก่อน ขอพระราชทานให้เจ้าพัฒน์ออกไปว่าราชการรักษาเมืองนครสืบไป จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ลูกขุนปฤกษาชอบด้วยราชการแลขนบธรรมเนียมบุราณราชประเพณีอยู่แล้ว ให้เอาเจ้าพัฒน์เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่าราชการรักษาเมืองนครสืบไปตามลูกขุนปฤกษานั้นเถิด จึงตั้งเจ้าพัฒน์เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชย มไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ออกมาว่าราชการบ้านเมืองสำเร็จกิจศุขทุกข์ของราษฎรด้วยพระปลัด กรมการ เมืองนครศรีธรรมราชตามพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียมสืบ ๆ มาแต่ก่อนจงพร้อมมูลกัน ให้เปนเอกจิตรเอกฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งให้เสียราชการ ให้ราษฎรได้ความยากแค้นเดือนร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลให้พระปลัด กรมการ ฟังบังคับบัญชาเจ้าพัฒน์ผู้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่ซึ่งชอบด้วยราชการพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียม ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีน้ำใจโอบอ้อมเมตตากรุณาแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุข อย่าให้มีความโลภโลโภเบียดเบียนฉ้อกระบัดอาณาประชาราษฎรให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุศสารท ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชพระหลวงขุนหมื่นกรมการชาวด่านส่วยซ่องกองช้างตราภูมคุ้มห้ามพร้อมกันกราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจณวัดพระมหาธาตุเมืองนครตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนสืบ ๆ มา ถ้าผู้ใดขาดมิได้มาถือน้ำ ก็ให้บอกส่งตัวเข้าไปณกรุง จะเอาตัวเปนโทษตามบทพระไอยการ อนึ่ง ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุศสารท ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อนจงทุกงวดทุกปีอย่าให้ขาดได้ อนึ่ง กรมการที่ใดหาตัวมิได้ ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปฤกษาด้วยกรมการจัดเอาผู้มีชื่อซึ่งมีสติกำลังมั่งคั่งสัตย์ซื่อมั่นคงดีนั้นจัดตั้งขึ้นไว้ให้ครบตามตำแหน่งที่ มีราชการจะได้กะเกณฑ์เอาราชการสดวก จัดได้ผู้ใดเปนที่ใดก็ให้บอกเข้าไปยังลูกขุนณศาลาเอากราบทูลพระกรุณาให้มีตราเจ้าพนักงานตั้งออกมาตามธรรมเนียม อนึ่ง นอระมาด งาช้าง ดีบุก ปีกนก เปนของตอบแทนลูกค้าต่างประเทศ ดินประสิวเปนกะทู้ราชการ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชขวนขวายจัดแจงส่งเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจงเนือง ๆ จะได้เปนความชอบแก่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชสืบไป อนึ่ง ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชกำชับว่ากล่าวห้ามปรามแก่เสมียนทนายพรรคพวกสมกำลังบ่าวไพร่สมัคสมาอาไศรย อย่าให้คบหากันทำข่มเหงฉ้อกระบัดทำกรรโชกราษฎรเปนโจรผู้ร้ายปล้นสดมฉกลักช้างม้าโคกระบือเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรฆ่าช้างเอางาเอาขนาย ตัดต้นไม้อันมีผล ทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่ มีผู้มาร้องฟ้อง พิจารณาเปนสัตย์ จะเอาผู้กระทำผิดเปนโทษ แลกฎหมายสำหรับที่บังคับบัญชาว่าราชการบ้านเมืองนั้นได้ปิดตราพระคชสีห์ส่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเอาออกมาด้วยแล้ว ครั้นลสารตรานี้ไซ้ ก็ให้ผู้ว่าที่พระศรีราชสงครามรามภักดี ปลัด หลวงภักดีราช ยกรบัตร หลวงศรีสุรินทรบดี หลวงเทพเสนา สัสดี หลวงไชยประชา สัสดี แลกรมการ เรียกเอาตราจำนำกฎหมายกิจราชการสารบาญชีกระทงความเก่าใหม่บโทนคนใช้ไร่นาส่วยสาอากรบรรดามีตามตำรา๑๒ เดือนสำหรับที่ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาแต่ก่อน แลสิ่งใดซึ่งเปนของนราสุริวงษ์ เจ้านคร รับต่อเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเมื่อช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มอบส่งให้แกเจ้าพัฒน์ผู้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชใหม่นี้จงเสร็จสิ้นเชิง แลให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใหม่นี้รับราชการตามพนักงานตามพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียมพิกัดอัตราสืบมาแต่ก่อนให้ชอบด้วยราชการจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลให้ปลัด ยกรบัตร พระหลวงขุนหมื่น กรมการ ทำตามท้องตรารับสั่งมานี้จงทุกประการ สารตรามาณวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรง ฉศก
วันพุฒ เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีมโรง ฉศก เพลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จออกขุนนางณท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระยาสุรเสนาได้เอาร่างตราซึ่งยกเมืองสงขลามาคงขึ้นแก่เมืองนคร แลตรายกเจ้านครออกเสียจากที่เมืองนคร เอาเจ้าพัฒน์เปนเจ้าพระยานครนั้น กราบทูลพระกรุณาอ่านถวาย ทรงตกแซกดัดแปลงบ้าง แล้วอ่านทูลเกล้าฯ ถวายจนสิ้นข้อเนื้อความแล้ว ทรงพระกรุณาสั่งว่า ดีแล้ว ให้เอาตามร่างทรงตกแซกนั้นเถิด เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงนรินทร์รณเรศ ๓ พระองค์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราช พระยาพลเทพ พระยาพิพัฒน์โกษา พระยาท้ายน้ำ พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาราชภักดี พระยาศรีพิพัฒน์ พระยามหาอำมาตย์ ๑๐ คน เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ด้วย
เรื่อง ตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)
กฎให้แก่เจ้าพัฒน์ ฝ่ายน่า ผู้เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชย มไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เจ้าพัฒน์มีความชอบสวามิภักดิ์จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อน แลครั้งนี้ มีความชอบ ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯ ให้เจ้าพัฒน์เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาครองเมืองรับกิจการโดยกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับขนบแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาแต่ก่อน แลลักขณทุกวันนี้ เมืองข้าขอบขัณฑสิมาปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกฝ่ายตวันออกโดยปริมณฑลรอบคอบไม่สงบราบคาบกอบไปด้วยจลาจลทำการณรงค์สงครามเกิดการรบพุ่งกันทุกแห่งทุกตำบลอยู่ ถ้าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ให้ตรวจตราดูกำแพงแลค่ายคูประตูเมืองพ่วงรอหอรบเชิงเทิน การสิ่งใดซึ่งชำรุดปรักหักพังอยู่นั้น ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวตักเตือนเร่งรัดแก่กรมการเจ้าหมู่พนักงานให้เร่งทำแลตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นไว้ให้ดีจงหนั่นหนามั่นคงจงทุกน่าที่พนักงาน อย่าให้ชำรุดปรักหักพังอยู่แต่น่าที่หนึ่งได้ ประการหนึ่ง ให้ตรวจดูสารบาญชีเลขคงสักจำนวนปีเถาะ เบญจศก ปีมโรง ฉศก เปนเลขหมวดใดกองใด แลเลขหัวเมืองน่าที่บรรดาแว่นแคว้นแขวงจังหวัดขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช เปนจำนวนเลขมากน้อยเท่าใด ให้คัดบาญชีมาอ่านจงเนือง ๆ ให้จะเจนจำนวนเลขไว้จงมั่นคง มีราชการจะได้กะเกณฑ์สดวก แลเลขหมวดใดกองใดซึ่งเกียจคร้านหลบหลีกหนีละมุลนายเสีย ออกไปซุ่มซ่อนอยู่ณซอกห้วยธารเขา มิได้เข้ามารับพระราชทานสักครั้งก่อนแลครั้งนี้ ขาดมิได้จับจ่ายราชการแผ่นดิน ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งพระหลวงขุนหมื่นซึ่งสัตย์ซื่อมั่นคงดีนั้นออกไปว่ากล่าวชักชวนเกลี้ยกล่อมโดยเมตตาจิตรให้ผู้มีชื่อชักชวนกันเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามถิ่นฐานที่ภูมิลำเนาให้บริบูรณ์มั่งคั่ง ได้มากน้อยเท่าใด ให้บอกบาญชีบอกเข้ามายังกรุงให้แจ้ง อนึ่ง ให้ตรวจดูปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธให้รู้จำนวนมากแลน้อยว่า ดีอยู่มากน้อยเท่าใด ชำรุดมากน้อยเท่าใด ซึ่งชำรุดนั้นให้พิเคราะห์ดู พอจะตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นเอาเปนราชการได้ ก็ให้ตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นให้ดีไว้สำหรับเมืองสำหรับราชการสืบไป ปืนใหญ่น้อยซึ่งดีอยู่มิได้ชำรุด แลดินประสิวนั้น ก็ให้ว่าแก่หมู่พนักงานให้เอาปืนโซมน้ำมัน แลหมั่นเอาดินออกตากแดดจงเนือง ๆ อย่าให้ดินประสิวแลปืนสำหรับเมืองเปนสนิมคร่ำคร่าอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง ให้ตรวจดูเรือรบเรือไล่ในอัตรานอกอัตราสำหรับเมือง มีจำนวนอยู่มากน้อยเท่าใด ดีแลชำรุดประการใด ซึ่งชำรุดอยู่นั้น ก็ให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่เจ้าหมู่พนักงานให้เร่งตกแต่งซ่อมแปลงลิ่มยาลาพอนขึ้นไว้ให้ดีจงทุกลำทุกหมู่พนักงาน อย่าให้เรือรบเรือไล่ชำรุดซุดโซมอยู่แต่ลำหนึ่งได้ แล้วให้ทำโรงร่มเงาเอาขึ้นแทงคานน้ำไว้จงทุกลำ อย่าให้เรือรบเรือไล่ตากแดดกรำฝนผุเปื่อยเสียราชการไปแต่ลำหนึ่งได้ ถ้าถึงเทศกาลสลัดศัตรูแลอ้ายญวนเหล่าร้ายจะเข้ามากระทำเบียดเบียนจับกุมผู้คนลูกค้าวานิชข้าขอบขัณฑสิมาซึ่งสัญจรไปมาค้าขายประการใด ก็ให้แต่งเรือรบเรือไล่ นายเรือปลัดเรือ ไพร่พลรบพลกรรเชียง สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธครบตามเกณฑ์ ออกลาดคอยตระเวนจงทุกอ่าวทุ่งบรรจบถึงด่านแดนหัวเมืองต่อกัน จงกวดขันทั้งกลางวันแลกลางคืน ถ้าได้ข่าวว่า อ้ายสลัดศัตรูแลญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนประการใด ก็ให้ออกก้าวสกัดติดตามรบพุ่ง แล้วให้บอกราวข่าวถึงหัวเมืองต่อกันให้แต่งเรือรบเรือไล่ออกช่วยกันก้าวสกัดติดตามรบพุ่งจับกุมเอาอ้ายสลัดแลอ้ายญวนเหล่าร้ายให้เข็ดขามย่อ ท้อ อย่าให้อ้ายสลัดศัตรูแลญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนข้าขอบขัณฑสิมาไปแต่คนหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้าแลเจ้าพระยานครศรีธรรมราชแลกรมการพนักงานประมาทละเมินเสียมิได้แต่งเรือรบเรือไล่ออกลาดคอยตระเวนโดยพระราชกำหนดนี้ แลอ้ายสลัดศัตรู ญวนเหล่าร้าย เล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนไปได้ประการใด เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแลกรมการพนักงานก็จะคงมีโทษโดยพระราชกำหนด ประการหนึ่ง เมืองสงขลาแลเมืองตรังเปนหัวเมืองปลายด่าน แดนต่อด้วยเมืองไทร เมืองตานี แลเมืองแขกทั้งปวงก็ยังมิสงบราบคาบ ให้แต่งหลวงขุนหมื่นข้าทแกล้วทหารโดยควร กอบไปด้วยปืนกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธครบมือ ออกไปตรวจด่านตระเวนปลายด่านแดนหัวเมืองสอดแนมเอาข่าวราชการให้รู้จงได้ ถ้าได้ข่าวว่า เมืองแขกมิได้ตั้งอยู่ในสุจริต คบคิดกันจะยกเข้ามาทำประทุษฐร้ายประการใด พอกำลังข้าหลวงกองตระเวนจะรบพุ่งจับกุมเอาตัวได้ ก็ให้รบพุ่งจับกุมเอาตัวจงได้ ถ้าแขกเหลือกำลัง ให้บอกหนังสือไปยังหัวเมืองให้แต่งกองออกช่วยรบพุ่งเอาไชยชำนะจงได้ อนึ่ง ทุกวันนี้ การณรงค์สงครามยังมิสงบ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช กรมการ คิดอ่านปฤกษาหารือจัดแจงบำรุงซ่องสุมหมู่โยธาทวยหาญให้ชำนิชำนาญในการยุทธไว้จงสรรพ ถ้าเห็นพรรคพวกสมกำลังของผู้ใดองอาจสามารถแกล้วหาญ ก็ให้จัดบำรุงตั้งแต่งเปนหลวงขุนหมื่นนายกองนายหมวดควบคุมเลขอาทมาตไว้เปนหมวดเปนเหล่าจงพร้อมมูล มีการณรงค์สงครามขุกค่ำคืนประการใด จะได้กะเกณฑ์เอาทันท่วงทีราชการโดยสดวก ประการหนึ่ง ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปฤกษาหารือด้วยกรมการทั้งปวงจัดแจงชำระดูพระไอยการแลพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่บทใดข้อใดซึ่งต้องด้วยขนบธรรมเนียมแผ่นดิน ควรคงเคยพิจารณาว่ากล่าวประการใด ก็ให้คงไว้บังคับบัญชาว่ากล่าวโดยพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินสืบไป ถ้าพระไอยการแลพระราชกำหนดกฎหมายบทใดข้อใดเคลือบแคลงอยู่ จะเอาไว้พิจารณาชำระว่ากล่าวมิได้ ก็ให้จัดแจงบอกส่งเข้ามาขอลอกจำลองออกไปใหม่ไว้บังคับบัญชาสำหรับการแผ่นดินสืบไป ประการหนึ่ง ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่าราชการบ้านเมืองพร้อมด้วยปลัด ยกรบัตร กรมการ จงเปนยุกดิ์เปนธรรม ให้เปนเอกจิตรเอกฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้มีความฉันทาโทสาฤษยาถือเปรียบขัดแขงแย่งกันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง จะพิจารณาพิพากษาอัดถคดีเนื้อความของทวยราษฎรทั้งปวงโดยมูลคดีประการใด ให้ควรตั้งอยู่ในคติทั้ง ๔ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ อย่าให้กอบไปด้วยความอิจฉาฤษยา ความโกรธ ความจองเวรด้วยไภยต่าง ๆ ให้พิจารณาจงเปนยุกดิ์เปนธรรมด้วยอุเบกขาญาณอันประเสริฐ อย่าให้อาสัจอาธรรม์ เห็นแก่หน้าบุคคลแลอามิศสินจ้างสินบน เข้าด้วยฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย กลับเท็จเปนจริง กลับจริงเปนเท็จ ทำกลบเกลื่อนเนื้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ทวยราษฎรทั้งปวงมีความยากแค้นเดือดร้อน ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ประการหนึ่ง ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีน้ำใจโอบอ้อมแก่สมณะชีพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองลูกค้าวานิช ให้ชักชวนกันทำบุญให้ทาน จำเริญเมตตาภาวนา สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลห้าเปนนิจศีล ศีลแปดเปนอดิเรกศีลจงเนือง ๆ แลควรให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถ โดยพระราชกำหนดซึ่งโปรดพระราชทานออกไปไว้ ก็จะได้พาตัวไปสู่สุคติภูมอันประเสริฐ ประการหนึ่ง พึงให้บำรุงพระสงฆ์เถรเณรผู้เล่าเรียนฝ่ายคันถธุระวิปัสนาธุระจงทุกวัดวาอาราม จะได้เปนการกุศลสืบไป อิกประการหนึ่ง ให้ตรวจดูพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม แห่งใดตำบลใด ซึ่งชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ประการใดนั้น ให้ชักชวนพระหลวงขุนหมื่นกรมการแลอาณาประชาราษฎรผู้มีศรัทธาบุรณปฎิสังขรณ์วัดพระขึ้นให้สุกใสรุ่งเรืองถวายพระราชกุศลสืบไป อย่าให้วัดพระชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ได้ อนึ่ง เข้าเปนกะทู้ราชการ ถ้าถึงเทศกาลทำนา ให้ตักเตือนว่ากล่าวแก่อาณาประชาราษฎรให้ชักชวนกันทำไร่นาจงเต็มภูมให้ได้ผลเมล็ดเข้าจงมาก จะได้เปนกำลังราชการแลทำบุญให้ทานเปนการกุศลสืบไป อนึ่ง ถ้าแลเจ้าพระยานครศรีธรรมราชจะมีใจประดิพัทธยินดีในสัตรีภาพผู้ใดอันมีบิดามารดาญาติวงษ์พงษาพิทักษ์รักษาปกครองอยู่โดยปรกติ ก็ให้ตกแต่งผู้ไปว่ากล่าวสู่ขอตามธรรมเนียม ถ้าบิดามารดาญาติวงษ์พงษายอมยกให้ปันโดยปรกติสุจริต จึงให้รับมาเลี้ยงดูตามประเพณีคดีโลกย์ อย่าให้ทำข่มเหงฉุดคร่าลากเอาลูกสาวหลานสาวของอาณาประชาราษฎรผู้หวงแหนโดยพละการของอาตมาตามอิฎฐารมณ์ ให้ราษฎรมีความวิบัติเดือดร้อน ผิดด้วยพระราชบัญญัติแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง ส่วยสาอากรซึ่งขึ้นณท้องพระคลังหลวงณกรุง บรรดามีอยู่ณเมืองนครแขวงหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครเปนจำนวนมากน้อยเท่าใด ถ้าถึงงวดถึงจำนวนจะได้ส่ง ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่าแก่กรมการพนักงานให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่นายที่นายอากรให้เร่งคุมส่วยของหลวงเข้าไปส่งยังเจ้าจำนวนณกรุงจงทุกงวดทุกจำนวน อย่าให้ส่วยของหลวงค้างเกินล่วงงวดล่วงจำนวนไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลจำนวนเงินทอดเงินปลงของหลวงซึ่งค้างอยู่เก่ามากน้อยเท่าใด ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวเร่งรัดส่งเข้ามาให้ครบจงเสร็จสิ้นเชิง อย่าให้พระราชทรัพย์ของหลวงค้างเกินอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมโดยประมาณ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชพึงอ่านพระราชกำหนดโดยพระโอวาทนี้จงเนื่อง ๆ ให้เจนปากเจนใจไว้จงทุกข้อทุกกระทง จะได้บังคับบัญชากิจราชการสดวกสืบไป ถ้าแลราชการผันแปรโดยปรกติเหตุแลประจุบันเหตุประการใด ก็ให้คิดอ่านผ่อนปรนผันแปรโดยข้อราชการให้ชอบจงทุกประการ สุดแต่อย่าให้เสียราชการแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ กฎให้ไว้ณวันอังคาร เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรง ฉศก