ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 2 (2457)/เรื่องที่ 1/ส่วนที่ 4
เปนพระยานครศรีธรรมราช
สารตราท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกระลาโหม ให้มาแก่หลวงเทพเสนา ผู้ว่าที่จ่า ขุนศรีสนม ผู้ว่าที่เทพเสนา แลกรมการ
ด้วยเจ้าพระยานครเข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทแจ้งข้อราชการณกรุงให้กราบทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระยานครแก่ชรา หูหนัก จักขุมืด หลงลืม จะทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปมิได้ จะขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ฝ่ายปักษ์ใต้ เมืองนครเปนเมืองเอก ใหญ่กว่าหัวเมืองทั้งปวง แล้วก็เปนที่พำนักอาไศรยแก่เมืองแขก แลลูกค้าวานิชนา ๆ ประเทศไปมาค้าขายมิได้ขาด เจ้าพระยานครสูงอายุ ว่า หลงลืม จะทำราชการสืบไปมิได้ ก็ให้เจ้าพระยานครเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ศรีโศกราชวงษ์ เชษฐพงษ์ฦาไชย อนุไทยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ แลพระบริรักษ์ภูเบศร์นั้นเปนผู้ช่วยราชการมาในเจ้าพระยานครช้านาน รู้ขนบธรรมเนียม สัตย์ซื่อมั่นคง แล้วก็ได้คุมกองทัพไปต่อเรือรบเรือไล่ยกไปตีอ้ายพม่าณเมืองถลางจนเสร็จราชการ จับได้อ้ายพม่าแลปืนส่งเข้าไปเปนอันมาก พระบริรักษ์ภูเบศร์มีความชอบ สมควรที่จะชุบเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมืองสำเร็จกิจศุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณได้ ให้เอาพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเปนพระยานครศรีธรรมราช ออกมาว่าราชการรักษาบ้านเมืองสำเร็จกิจศุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรณเมืองนครสืบไป จึงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการ เปนพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชย มไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ออกมาว่าราชการรักษาบ้านเมืองสำเร็จกิจศุขทุกข์ของราษฎรด้วยกรมการเมืองนครตามพระราชกำหนดกฎหมายพิกัดอัตราอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน แลให้กรมการฟังบังคับบัญชาพระยานครศรีธรรมราชคนใหม่แต่ซึ่งชอบด้วยราชการ อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งเสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลให้พระยานครมีน้ำใจโอบอ้อมเมตตากรุณาแก่สมณะชีพราหมณ์ ไพร่บ้านพลเมือง ลูกค้าวานิช ให้อยู่เย็นเปนศุข จะกะเกณฑ์ใช้ราชการสิ่งใด ให้ทั่วหน้าเสมอกัน จะพิพากษาตัดสินคดีถ้อยความกิจศุขทุกข์ของราษฎรประการใด ให้เปนยุกดิ์เปนธรรม อย่าให้เห็นแก่อามิศสินจ้างสินบนลำเอียงเข้าด้วยฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย กลับเท็จเปนจริง กลับจริงเปนเท็จ กลบเกลื่อนข้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ผู้มีชื่อได้ความยากแค้นเดือนร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง พระราชกำหนดกฎหมายแลพระไอยการข้อใดกะทงใดเคลือบแฝงแคลงอยู่ จะเอาไว้พิจารณามิได้ ก็ให้ส่งเข้าไปณกรุง แล้วให้แต่งเสมียนทนายเข้าไปจำลองคัดเอาพระราชกำหนดกฎหมายพระไอยการซึ่งชำระณกรุงออกมาไว้พิจารณาว่ากล่าวตัดสินคดีถ้อยความของราษฎรสืบไป อนึ่ง เรือรบเรือไล่ ค่ายคูประตูเมือง พ่วงรอหอรบ ศาลากลาง จวนทำเนียบ คุกตรางสำหรับใส่ผู้ร้าย โรงปืนใหญ่น้อยสำหรับเมือง สิ่งใดไม่มีแลชำรุดปรักหักพังอยู่ ก็ให้พระยานครว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงานให้ตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นไว้ให้มั่นคงจงดี อย่าให้ชำรุดปรักหักพังอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่ง เมืองตรังเปนเมืองล่อแหลมอยู่ฝ่ายทเลตวันตก จะไว้ใจมิได้ ให้พระยานครปฤกษาด้วยกรมการกะเกณฑ์หลวงขุนหมื่นแลชาวด่านคุมเรือรบเรือไล่สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธออกไปอยู่พิทักษ์รักษาประจำฅอด่านทั้งกลางวันกลางคืน ลาดตระเวนฟังข่าวราชการน่าด่านต่อแดนจงเนือง ๆ อย่าให้อ้ายสลัดเหล่าร้ายแลพม่ารามัญเล็ดลอดจู่โจมเข้ามาจับเอาผู้คนไปได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้ามีราชการมาประการใด ให้ช่วยกันรบพุ่งต้านทานเอาไชยชำนะไว้ให้จงได้ แล้วให้เร่งรีบบอกหนังสือเข้าไปณกรุงแลหัวเมืองต่อกันโดยเร็ว อนึ่ง ปืนใหญ่น้อย กระสุน ดินประสิว เปนกะทู้ราชการ ให้พระยานครจัดแจงหาปืนใหญ่น้อย กระสุน ดินประสิว ขึ้นไว้สำหรับเมืองให้ได้จงมาก ขุกมีราชการมาประการใด จะได้เอาจ่ายราชการทันท่วงทีไม่ขัดสน แล้วให้ว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงานให้เอาปืนใหญ่น้อยออกขัดสีโซมน้ำมัน เอาดินประสิวออกตากแดดจงเนือง ๆ อย่าให้ปืนเปนสนิมคร่ำคร่าแลดินอับราเสียไปได้ ปืนใหญ่นั้นให้มีรางล้อรางเกวียนใส่ แลปืนน้อยนั้นให้มีบันไดแก้ววางจงทุกบอก อนึ่ง เข้าเปนกะทู้ราชการข้อใหญ่ ถึงเทศกาลจะได้เรียกหางเข้าค่านาแล้ว ให้พระยานครว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงานกำกับกันรังวัดนาเรียกหางเข้าค่านาขึ้นใส่ยุ้งฉางไว้จงทุกปี ได้เปนจำนวนเข้าค่านาปีละมากน้อยเท่าใด ให้บอกเข้าไปให้แจ้ง อนึ่ง ส่วยสาอากรซึ่งขึ้นท้องพระคลังหลวง บรรดามีอยู่ณเมืองนคร แขวงเมืองนคร มากน้อยเท่าใด ถึงงวดปีแล้ว ก็ให้ว่ากล่าวตักเตือนเร่งรัดนายอากรแลนายกองนายหมวดผู้คุมเลขค่าส่วยให้คุมเอาส่วยสาอากรเข้าไปส่งแก่ชาวพระคลังณกรุงให้ครบจงทุกงวดทุกปี อย่าให้ส่วยสาอากรของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้ อนึ่ง ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุศสารท ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชพร้อมด้วยกรมการพระหลวงขุนหมื่นส่วยซ่องกองช้างตราภูมคุ้มห้ามกราบถวายบังคมรับพระราชทานถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาทุกปีอย่าให้ขาด ถ้าผู้ใดขาดมิได้ถือน้ำ ให้บอกส่งตัวผู้นั้นเข้าไปยังลูกขุนณศาลา จะเอาตัวเปนโทษตามบทพระไอยการ อนึ่ง เมืองนครเปนเมืองเอก ถึงงวดปีแล้ว ให้จัดแจงแต่งดอกไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ ส่งเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปีละ ๒ งวดตามบุราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อนจงทุกปีอย่าให้ขาด อนึ่ง พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ณเมืองนคร แขวงเมืองนคร แห่งใดตำบลใด ชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชมีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธสาสนา ชักชวนกรมการแลอาณาประชาราษฎรปฏิสังขรณ์ขึ้นให้รุ่งเรืองสุกใส ถวายพระราชกุศลเข้าไปณกรุง อนึ่ง ดีบุก นอระมาด งาช้าง เปนสินค้าหลวงสำหรับจะได้ตอบแทนสลุบกำปั่นลูกค้านา ๆ ประเทศ ให้พระยานครศรีธรรมราชขวนขวายจัดแจงหาดีบุก นอระมาด งาช้าง ส่งเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจงเนือง ๆ จะได้เปนความชอบสืบไป แลให้พระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวกำชับห้ามปรามแก่เสมียนทนายสมัคสมาอาไศรยพรรคพวกสมกำลังข้าทาษอย่าให้คบหากันสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่น ขายฝิ่น เปนโจรผู้ร้ายปล้นสดมฉกลักช้างม้าโคกระบือ แลกระทำข่มเหงตัดพกฉกชิงฉ้อกระบัดเอาพัสดุทองเงินเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวานิชณทางบกทางเรือ ให้ผู้มีชื่อได้ความยากแค้นเดือนร้อน แลอย่าให้คบหากันทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ฆ่าช้างเอางาแลขนาย ฆ่าสัตว์อันมีคุณ ตัดต้นไม้อันมีผล ลอบลักซื้อขายสิ่งของต้องห้าม แลกระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปนอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟัง มีผู้ร้องฟ้องว่ากล่าว พิจารณาเปนสัตย์ จะเอาตัวผู้กระทำผิดเปนโทษตามโทษานุโทษ แลกฎหมายสำหรับที่จะบังคับบัญชาว่าราชการบ้านเมืองนั้น ได้ปิดตราพระคชสีห์ส่งให้พระยานครใหม่ออกมาด้วยแล้ว ครั้นลุสารตรานี้ไซ้ ก็ให้กรมการผู้อยู่ว่าราชการเมืองจัดแจงตราจำนำ แลกฎหมาย สารบาญชี กระทงความเก่าใหม่ บโทนคนใช้ ไร่นา ส่วยสาอากร บรรดามีตามตำรา ๑๒ เดือนสำหรับผู้ครองเมืองนครสืบมาแต่ก่อน ส่งให้แก่พระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้เปนพระยานครใหม่ ตามอย่างธรรมเนียม ให้พระยานครรับราชการตามตำแหน่งพนักงานพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียมพิกัดอัตราสืบมาแต่ก่อน ห้ชอบด้วยราชการจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลให้กรมการผู้อยู่ว่าราชการเมืองกระทำตามท้องตรารับสั่งมานี้จงทุกประการ สารตรามาณวัดพุฒ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมแม ตรีศก
วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีมแม ตรีศก เสด็จออกณพระชาลาพลับพลาน้อยริมท้องพระโรง พระยาเทพวรชุณกราบทูลถวายร่างตรา หมื่นเทพเสนีอ่านจนสิ้นข้อความแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้เอาตามร่างนี้เถิด เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชนิกูล พระยาพระราม พระยาราชสงคราม เฝ้าอยู่ด้วย