ที่
|
กฎหมาย
|
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม
|
1
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมย่อมส่งผลเสียหายร้ายแรงแก่รัฐและประชาชน โทษสำหรับการกระทำความผิดเหล่านี้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายปัจจุบันยังมีอัตราต่ำกว่าควร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้สูงขึ้นและกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าวนี้ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป
|
|
2
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่า ขณะนี้ มีผู้ร้ายลอบลักเอาพระพุทธรูปอันล้ำค่าซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนและมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ตามวัดวาอารามและพิพิธภัณฑสถานไปเป็นจำนวนมาก บางแห่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งทำให้ประชาชนในถิ่นนั้นเศร้าสลดใจในต่อการขาดวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพบูชาในทางพุทธศาสนาไปอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น บางแห่ง การลอบลักพระพุทธรูปนั้นได้กระทำการแสดงถึงความโหดร้ายทารุณไร้ศีลธรรมอย่างหนัก เช่น ตัดเอาเศียรพระพุทธรูปไป คงเหลือแต่องค์พระ นับว่า เป็นการเสื่อมเสียแก่ชาติบ้านเมือง และเป็นผลเสียหายแก่พุทธศาสนา โดยไม่นึกถึงศาสนสมบัติของชาติ บุคคลประเภทนี้สมควรจะได้รับโทษหนักกว่าการกระทำต่อทรัพย์สินธรรมดาของส่วนบุคคล รวมทั้งผู้รับของโจรและผู้ส่งออกต่างประเทศด้วย จะอาศัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเดิมโทษก็เบามาก ไม่เป็นการป้องกันได้เพียงพอ โดยเหตุนี้ จึงเป็นการสมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาไว้ซึ่งทรัพย์อันล้ำค่าของชาตินี้มิให้มีการลอบลักเอาไปต่างประเทศเสียหมด ก่อนที่จะสายเกินไป
|
|
3
|
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514
|
|
โดยที่คณะปฏิวัติมีความปรารถนาจะให้ประชาชนได้รับความสงบสุขและปลอดภัยจากอาชญากรรม ในการนี้ คณะปฏิวัติเห็นว่า อัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดบางประเภทตามประมวลกฎหมายอาญายังไม่เพียงพอแก่การป้องกันและปราบปราม สมควรแก้ไขให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะปฏิวัติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
|
|
4
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2518
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงจำนวนเงินที่ถือเป็นอัตราในการกักขังแทนค่าปรับให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
5
|
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519
|
|
โดยที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินพิจารณาเห็นว่า อัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ศาลหรือผู้พิพากษา และประชาชนทั่วไป ตลอดจนการกระทำอื่นเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ รัฐต่างประเทศซึ่งมีสัมพันธไมตรี หรือการกระทำอันเป็นการเหยียดหยามศาสนา และความผิดเกี่ยวกับต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาล ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันสมควรแก้ไขอัตราโทษเหล่านั้นให้สูงขึ้น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
|
|
6
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2522
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้น อันเป็นเท็จ เพิ่มมากขึ้น และความผิดฐานนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่อาจดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดโดยไม่มีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายได้ แม้จะปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า มีการเสนอขายของดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปในร้านค้าหรือที่สาธารณะ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าที่จะจับกุมผู้เสนอขายโดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดร้องทุกข์เสียก่อน การปราบปรามการกระทำผิดฐานนี้จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๗๑ เสียใหม่ โดยให้ความผิดตามมาตราดังกล่าวไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย และสมควรเพิ่มโทษสำหรับความผิดฐานนี้ให้สูงขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำความผิดเกรงกลัว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
|
|
7
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันอาชญากรรมบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชญากรรมที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพ ได้ทวีความรุนแรง และความผิดฐานลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป และโคหรือกระบือของผู้มีอาชีพกสิกรรม มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความผิดเหล่านี้ในบางกรณีได้มีการเพิ่มอัตราโทษมาครั้งหนึ่งแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ ในการนี้ สมควรเพิ่มอัตราโทษสำหรับผู้กระทำความผิดให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
8
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 (แก้คำผิด)
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔๑ และมาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ มิได้กำหนดโทษจำคุกขั้นสูงในกรณีที่มีการเพิ่มโทษและเรียงกระทงลงโทษไว้ ทั้งในกรณีความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ยังกำหนดให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มโทษหรือเรียงกระทงลงโทษ แล้วแต่กรณี อีกด้วย ในบางคดีโทษจำคุกที่มีการเพิ่มโทษหรือโทษจำคุกรวมของการเรียงกระทงลงโทษจึงสูงเกินสมควรหรือไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่มีลักษณะและผลร้ายแรงต่างกัน ทำให้การลงโทษเป็นไปโดยไม่เป็นธรรมและไม่ได้ผลเท่าที่ควร สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าว โดยกำหนดขั้นสูงของโทษจำคุกในกรณีที่มีการเพิ่มโทษและโทษจำคุกรวมในกรณีเรียงกระทงลงโทษ เพื่อให้การลงโทษเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและได้ผลดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
9
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่า ในปัจจุบัน อาชญากรรมบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมที่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เกี่ยวกับโค กระบือ หรือเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือเครื่องจักรกล ของเกษตรกร ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เดือดร้อนที่สุด เพราะเมื่อถึงฤดูกาลทำนาหรือเพาะปลูกเกษตรกร ไม่สามารถหาโค กระบือ หรือจักรกลต่าง ๆ มาทำการเพาะปลูกได้ทันตามฤดูกาล แม้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะได้คอยสอดส่องดูแลอยู่ตลอดเวลาและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษเป็นจำนวนมากรายแล้วก็ตาม แต่ไม่ทำให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำหรือเกรงกลัวอาญาแผ่นดิน ทั้งนี้ เพราะกฎหมายกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไว้ต่ำ สมควรเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดให้สูงขึ้น เพื่อให้เป็นที่หลาบจำและเกรงกลัวต่ออาญาแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
|
|
10
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๘ มาตรา ๒๗๙ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ มาตรา ๓๑๓ มาตรา ๓๑๗ มาตรา ๓๑๘ มาตรา ๓๑๙ และมาตรา ๓๙๘ กำหนดอายุเด็กที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษตามกฎหมายจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ การกระทำความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ และการกระทำทารุณต่อเด็ก ไว้เพียงอายุไม่เกินสิบสามปีเท่านั้น ผู้กระทำผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงสามารถอ้างความยินยอมของเด็กอายุกว่าสิบสามปีขึ้นเป็นเหตุยกเว้นความผิดหรือบรรเทาโทษตามกฎหมายได้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแสวงประโยชน์ในทางมิชอบจากเด็กอายุระหว่างสิบสามปีถึงสิบห้าปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีความเจริญเติบโตและพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ เช่น ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การศึกษาอบรม และประสบการณ์ ไม่เพียงพอได้ นอกจากนี้ บทบัญญัติเกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งหญิงเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่นในกฎหมายปัจจุบันนั้น มาตรา ๒๘๒ จะเป็นความผิดต่อเมื่อได้กระทำต่อหญิงอายุไม่เกินสิบแปดปี ทำให้หญิงได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดไม่ว่าหญิงจะมีอายุเท่าใดก็ตาม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
11
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2530
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราการกักขังแทนค่าปรับต่อวันตามประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังแออัดห้องขัง อันเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุม ตลอดจนเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมากในการเลี้ยงดูผู้ต้องขัง สมควรปรับปรุงอัตราการกักขังแทนค่าปรับต่อวันเสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
12
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2532
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดที่ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้หรือรอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันนั้นยังไม่เหมาะสมแก่การแก้ไขให้ผู้กระทำความผิดนั้นกลับตัวได้อย่างได้ผลดี สมควรปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวให้มีขอบเขตกว้างขวางขึ้น เพื่อที่ศาลจะสามารถใช้ดุลพินิจได้โดยเหมาะสมแก่กรณี นอกจากนี้เพื่อให้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้นำโทษของผู้กระทำความผิดที่ถูกคุมความประพฤติในคดีที่รอการกำหนดโทษไว้ หรือรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน มาบวกเข้ากับโทษในคดีหลังของผู้กระทำความผิดผู้นั้นด้วย บังเกิดผลในการใช้บังคับตามความประสงค์อย่างแท้จริง สมควรกำหนดให้ศาลนำโทษที่รอไว้ดังกล่าวมาบวกกับโทษในคดีหลัง โดยให้ศาลกระทำได้ ไม่ว่าเมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำแถลงของพนักงานอัยการหรือพนักงานควบคุมความประพฤติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
13
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่า ในปัจจุบันมีผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทมากขึ้น ขณะเดียวกัน บทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราโทษที่ใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ จึงทำให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวไม่เกรงกลัว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษให้สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
14
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2535
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการรับฝากเงินโดยวิธีออกบัตรเงินฝากโดยธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ รวมตลอดถึงบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และบัตรเงินฝากดังกล่าวเป็นตราสารซึ่งเปลี่ยนมือได้ สมควรกำหนดมาตรการป้องกันการปลอมตราสารดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมซึ่งอาจเกิดความเสียหายจากการใช้บัตรเงินฝากปลอม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ได้
|
|
15
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2537
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่า ได้มีการล่อลวงเด็กไปทำงานในโรงงาน และเจ้าของโรงงานได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเด็กเหล่านั้นโดยให้ทำงานอย่างไร้มนุษยธรรม และฝ่าฝืนมาตรฐานขั้นต่ำในการใช้แรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนความสงบสุขในสังคม สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานใหม่ขึ้นเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
16
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2540
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้ปรากฏว่า มีการกระทำความผิดต่อหญิงและเด็กโดยการซื้อ ขาย จำหน่าย พา หรือจัดหาหญิงหรือเด็กนั้นไปด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อสำเร็จความใคร่ทั้งแก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อการอนาจาร หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นอันมิชอบ ไม่ว่าโดยการขายเด็กให้เด็กเป็นขอทาน หรือทำงานในสภาพที่ใช้แรงงานโดยทารุณโหดร้าย สมควรกำหนดบทกำหนดความผิดใหม่ให้ครอบคลุมการกระทำดังกล่าว นอกจากนั้น ในปัจจุบันการกระทำดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะการกระทำต่อหญิงหรือเด็กหญิงเท่านั้น แต่ได้ขยายไปยังเด็กชาย และมีแนวโน้มเป็นการกระทำต่อบุคคลโดยไม่จำกัดเพศ สมควรแก้ไขฐานความผิดในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้กว้างขวางขึ้น และสมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติให้ศาลไทยมีอำนาจลงโทษการกระทำความผิดดังกล่าว แม้จะกระทำในต่างประเทศ โดยแยกไว้เป็นเอกเทศให้เห็นเด่นชัดในมาตรา ๗ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลไทยในการลงโทษการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
17
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2545
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญามีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ เพื่อแก้ไขให้ผู้นั้นสามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดี ดังนั้น โทษที่ผู้กระทำความผิดควรจะได้รับจึงต้องมีความเหมาะสมกับสภาพความผิด อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ในปัจจุบัน มีผู้ได้รับโทษปรับต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งผู้รับโทษนั้น ๆ ต้องสูญเสียอิสรภาพโดยไม่สมควร ทำให้บุคคลในครอบครัวต้องเดือดร้อนและรัฐต้องรับภาระในการดูแลเพิ่มมากขึ้น สมควรปรับเปลี่ยนมาตรการลงโทษเสียใหม่ โดยกำหนดมาตรการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้อีกทางหนึ่ง และในกรณีที่อาจต้องถูกกักขังอยู่นั้น บุคคลดังกล่าวสมควรได้รับความคุ้มครองมิให้ต้องถูกเปลี่ยนโทษจากกักขังเป็นจำคุกอันเป็นโทษที่หนักยิ่งกว่า รวมทั้งมิให้ต้องถูกคุมขังรวมกับผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับสมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน นอกจากนี้ สมควรเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
18
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีตามประมวลกฎหมายอาญายังไม่สอดคล้องกับข้อ ๖ วรรคห้า แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๖๖ ที่กำหนดว่า บุคคลอายุต่ำกว่าสิบแปดปีที่กระทำความผิดจะถูกพิพากษาประหารชีวิตมิได้ และข้อ ๓๗ ก) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙ ที่กำหนดว่า จะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า จะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัว สำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี นอกจากนั้น บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับวิธีการประหารชีวิตโดยการเอาไปยิงเสียให้ตายยังไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทารุณ โหดร้าย และไร้มนุษยธรรม ที่รัฐไม่พึงปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดมิให้นำโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่า ระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี และเพื่อเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการเอาไปยิงเสียให้ตายเป็นดำเนินการฉีดสารพิษให้ตายแทน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
19
|
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2546 (การอนุมัติ)
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏว่า มีภัยคุกคามจากการก่อการร้าย โดยมุ่งประสงค์ต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือทำลายทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและทำให้เกิดความวุ่นวายในประเทศ หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญให้รัฐบาลไทย รัฐบาลของรัฐใด หรือองค์การระหว่างประเทศ จำยอมต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำตามที่มีการเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย ซึ่งการกระทำเช่นนั้นได้เกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นภายในประเทศ อันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังเป็นการกระทำในลักษณะการร่วมมือกระทำความผิดระหว่างประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติ ที่ ๑๓๗๓ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ขอให้ทุกประเทศร่วมมือดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำใดที่เป็นการก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางทรัพย์สินหรือกรณีอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ดำเนินการก่อการร้าย หรือเป็นสมาชิกขององค์กรก่อการร้าย โดยเหตุที่การก่อการร้ายเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรง ต้องแก้ไขปัญหาให้ยุติลงอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
|
|
20
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2547
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันการใช้เอกสาร วัตถุอื่นใด หรือข้อมูลที่จัดทำขึ้นในลักษณะบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรสมาร์ทการ์ด หรือบัตรอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หรือหนี้อื่น หรือเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด กำลังเพิ่มปริมาณและประเภทการใช้งานอย่างแพร่หลาย และปรากฏว่า ได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรและลักลอบนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นมาใช้ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภคในวงกว้าง สมควรกำหนดความผิดอาญาสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับบัตรและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ และให้มีอัตราโทษเหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
21
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2550
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติได้ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และได้มีการใช้หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขึ้น และสมควรกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
22
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่บทบัญญัติมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ และมาตรา ๒๘๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นบทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และหลักการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ ที่เคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
23
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2550
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๗๖ และมาตรา ๒๗๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทำให้การอ้างถึงบทบัญญัติดังกล่าวในมาตรา ๒๗๗ ทวิ และมาตรา ๒๗๗ ตรี เปลี่ยนแปลงไป กรณีจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงการอ้างถึงบทบัญญัติดังกล่าวในมาตรา ๒๗๗ ทวิ และมาตรา ๒๗๗ ตรี ให้สอดคล้องกัน จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
24
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดทางอาญายังไม่เหมาะสม และยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์อายุของเด็กที่กำหนดในกฎหมายหลายฉบับของไทย และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๖๖ ของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี โดยการศึกษาทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า เด็กที่มีอายุระหว่างเจ็ดปีถึงสิบสองปีมีพัฒนาการด้านความคิดสติปัญญาและจริยธรรมยังไม่สมบูรณ์ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และไม่สามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้ ประกอบกับได้มีการศึกษาสถิติในการกระทำความผิดของเด็กช่วงวัยต่าง ๆ ปรากฏว่า เด็กที่มีอายุระหว่างเจ็ดปีถึงสิบสองปีมีสถิติการกระทำความผิดน้อยหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ กฎหมายของไทยหลายฉบับกำหนดเกณฑ์อายุเด็กไว้ที่อายุสิบห้าปี เช่น มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อมีอายุครบสิบห้าปีบริบูรณ์ มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก แสดงให้เห็นว่า เด็กอายุสิบห้าปี กฎหมายยอมรับว่า เริ่มก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ มีความสามารถรับผิดชอบได้ ประกอบกับเด็กช่วงอายุดังกล่าวยังอยู่ในวัยเรียน สมควรได้รับโอกาสเพื่อบำบัดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มากกว่าจะมารับโทษทางอาญา ในขณะเดียวกัน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๖๖ ของสหประชาชาติ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ได้กำหนดเกณฑ์อายุเด็กไว้ที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายของไทยและอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
25
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 (แก้คำผิด)
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในการพิจารณาคดีในปัจจุบันมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "เจ้าพนักงาน" สมควรกำหนดบทนิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ไว้ให้ชัดเจน นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายอาญายังมิได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับศพ ได้แก่ การกระทำชำเราศพ การกระทำอนาจารแก่ศพ การกระทำให้ศพเสียหาย และการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียง ซึ่งมาตรา ๔ และมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองไว้ สมควรให้มีบทบัญญัติความผิดดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๓๙๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติเฉพาะกรณีกระทำการอันเป็นการรังแก ข่มเหง หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการกระทำในที่รโหฐาน การคุกคาม การกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ และการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งมาตรา ๓๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับรองไว้ด้วย อีกทั้งอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สมควรปรับปรุงอัตราโทษปรับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
26
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2558
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุกว่าสิบสามปี แต่ไม่เกินสิบห้าปี ไม่ต้องรับโทษ หากศาลอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดสมรสกับผู้เสียหายที่เป็นเด็กนั้น ทำให้เกิดปัญหากรณีเด็กถูกบังคับให้ยินยอมสมรสกับผู้กระทำความผิดโดยศาลไม่อาจตรวจสอบได้ สมควรกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีในลักษณะนี้ นำมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กมาใช้ หรือพิจารณาอนุญาตให้สมรสโดยกำหนดเงื่อนไขที่จะดำเนินการภายหลังการสมรสด้วย เพื่อให้มีการตรวจสอบความยินยอมของเด็กในการสมรสได้อย่างละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้นและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็กอย่างแท้จริง และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอย่างใดแล้ว ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดใช้การสมรสเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษ และโดยที่บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพที่กระทำต่อเด็กได้กำหนดให้อายุเด็กเป็นองค์ประกอบความผิด ทำให้ผู้กระทำความผิดอ้างความสำคัญผิดหรือความไม่รู้ในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือได้รับยกเว้นโทษหรือได้รับโทษน้อยลงได้ สมควรกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือความผิดต่อเสรีภาพซึ่งได้กระทำต่อเด็กที่มีอายุไม่เกินสิบสามปีไม่อาจอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสมควรปรับปรุงอัตราโทษปรับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
27
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2558
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็ก ประกอบกับความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทำให้แพร่หลายซึ่งวัตถุหรือสิ่งลามกไม่ได้แยกประเภทระหว่างสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่กับสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ ทั้งที่ลักษณะความผิดมีความร้ายแรงแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและป้องกันจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น สมควรกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทำให้แพร่หลายซึ่งวัตถุหรือสิ่งลามกที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิดที่ผู้กระทำต้องได้รับโทษหนักขึ้น รวมทั้งกำหนดให้การครอบครองและส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
28
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่หลักเกณฑ์และวิธีการบังคับโทษปรับในเรื่องการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับยังไม่ได้กำหนดไว้ และการกำหนดอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้ รวมทั้งกำหนดอัตราเงินในการกักขังแทนค่าปรับให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำและภาวะเศรษฐกิจ ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่ไม่ควรถูกส่งเข้าสู่ระบบเรือนจำ ยังไม่มีการนำมาใช้กับผู้ที่จะถูกลงโทษปรับ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกแม้เพียงเล็กน้อยหรือมิใช่ผู้กระทำผิดติดนิสัยได้รับโอกาสในการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ ทำให้มีผู้ต้องถูกจำคุกระยะสั้นอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก สมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการใช้ผู้ที่มีความอ่อนแอทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะจำยอมให้กระทำความผิดมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรม ยังทำให้ผู้ที่ถูกใช้ซึ่งไม่มีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดมาก่อนต้องกระทำความผิดและได้รับโทษ ทั้งอาจต้องตกอยู่ในภยันตรายและได้รับความเดือดร้อนต่อตนเองและครอบครัว สมควรกำหนดให้ผู้ใช้ในกรณีดังกล่าวต้องรับโทษหนักขึ้น และให้มีมาตรการลดโทษแก่ผู้ถูกใช้หรือผู้กระทำตามคำโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดที่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญจนสามารถดำเนินคดีกับผู้ใช้หรือผู้โฆษณาหรือประกาศดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
29
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรกำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับโทษปรับให้รวมถึงเรื่องการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับด้วยเพื่อความชัดเจน และเนื่องจากบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญายังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งสมควรปรับปรุงความผิดที่มีโทษทางอาญาซึ่งไม่มีโทษปรับให้มีโทษปรับด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
30
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงบทนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ในบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศและบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับศพในประมวลกฎหมายอาญาให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราตามธรรมชาติ และปรับปรุงบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศบางประการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลซึ่งถูกกระทำทางเพศกลุ่มต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น เด็ก ผู้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้กระทำ และผู้ซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้ อีกทั้งเพื่อป้องปรามมิให้มีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบหรือรับประโยชน์จากผู้ซึ่งค้าประเวณีหรือจากการค้าประเวณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
31
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากการแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมาย ที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่า เป็นความผิดอาญา และกำหนดโทษแก่หญิงเพียงฝ่ายเดียวที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ทั้งนี้ ความผิดฐานทำให้แท้งลูกมีเจตนารมณ์และคุณธรรมทางกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ โดยเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่กำลังจะเกิดมา แต่เนื่องจากรากฐานของสังคมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเป็นรากฐานของสังคมประกอบด้วย เช่นเดียวกับการคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของทารกในครรภ์ หากมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว โดยมิได้พิจารณาการคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์อันมีมาก่อนสิทธิของทารกในครรภ์ เป็นสิ่งที่อาจส่งผลกระทบให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรม และถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิง ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ อันเป็นสิทธิพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดต่อชีวิตและร่างกายของตนได้ ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปรบกวนหรือล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของหญิงตั้งครรภ์ ที่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจของหญิงว่า จะยุติการตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องให้เกิดสมดุลกัน โดยอาจต้องนำช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา การปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เหมาะสมดังเช่นมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของหญิงเกินความจำเป็น ประกอบกับรัฐมีหน้าที่กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยจัดให้มีมาตรการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิของหญิง และในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าไปดูแลและคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มิให้ถูกกระทบสิทธิในการมีชีวิตด้วยเช่นกัน บทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วน และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ให้ข้อเสนอแนะด้วยว่า ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องการทำแท้งสมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยกำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา ๓๐๕ ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว และสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|
32
|
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565
|
|
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่อายุยังไม่เกินสิบปี แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เด็กอายุสิบสองปีกับเด็กอายุสิบปีไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดียังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ อีกทั้งเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีอยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก กรณีจึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุสิบปีแต่ไม่เกินสิบสองปีได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญเพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป ประกอบกับการกำหนดเกณฑ์อายุของเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดจากอายุยังไม่เกินสิบปีเป็นอายุยังไม่เกินสิบสองปี เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะทั่วไป ฉบับที่ ๑๐ (ค.ศ. ๒๐๐๗) (General Comment No. 10 (2007) Children's rights in juvenile justice) ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๓) อีกด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
|
|